• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เมื่อเด็กเข้าเรียนใหม่ เป็นไข้หวัดบ่อย

ในช่วงเปิดเทอมของทุกปี มักมีเด็กเล็กที่เข้าเรียน ใหม่เจ็บป่วยเป็นไข้หวัดกันงอมแงม
บ้างก็เป็นๆ หายๆ เดือนละ 2-3 ครั้ง บ้างก็กินยาแทบทุกวันตลอดทั้งเทอม จนพ่อแม่รู้สึกกังวล การที่เด็กเข้าเรียนใหม่ป่วยเป็นไข้หวัดบ่อย ก็เนื่องมาจากการติดเชื้อหวัดจากเพื่อนใหม่ในห้อง

เชื้อหวัดเป็นกลุ่มเชื้อไวรัส ซึ่งมีอยู่มากกว่า 200 ชนิด เมื่อติดเชื้อหวัดชนิดหนึ่งแล้วก็จะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อหวัดชนิดนั้น แต่จะไม่มีภูมิต้านทานต่อเชื้อหวัดชนิดอื่น ๆ ที่เหลือจึงมีโอกาสติดเชื้อหวัดชนิดใหม่ไปเรื่อยๆ
ในห้องเรียนหนึ่งซึ่งมีเด็กอนุบาลเข้าใหม่อยู่ 20-30 คน ก็อาจมีเชื้อหวัดที่ไม่ซ้ำกันอยู่ 10-15 ชนิด ดังนั้นเด็ก ๆจึงมีโอกาสติดเชื้อหวัดแลกกันไปมาจนครบทั้งหมด ซึ่งอาจใช้เวลา 2-3 เดือน หรือตลอดทั้งเทอม พอพ้นเทอมแรกไป เด็กจะมีภูมิต้านทาน ต่อเชื้อหวัดในห้องนั้นครบทุกชนิดแล้วก็จะห่างหายจากไข้หวัดไปได้

นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมเด็กเข้าเรียนเทอมแรกจึงเป็นไข้หวัดบ่อย
การหลีกเลี่ยงมิให้เด็กเหล่านี้เป็นไข้หวัด ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ยากจะปฏิบัติได้ เพราะธรรมชาติของเด็กที่ชอบเล่นคลุกคลีกันอย่างใกล้ชิด

เมื่อลูกป่วยเป็นไข้หวัด ก็ควรจะหาทางดูแลที่เหมาะสมและประหยัด โดยปฏิบัติดังนี้
1. ควรให้หยุดเรียน จนกว่าไข้จะทุเลา
2. เวลามีไข้สูง ควรใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวบ่อยๆ และให้กินยาลดไข้พาราเซตามอล ซ้ำได้ทุก 6 ชั่วโมง
3. ให้เด็กดื่มน้ำ ดื่มนม น้ำหวาน น้ำผลไม้ ทีละน้อยแต่บ่อยๆ (สังเกตดูว่าถ้ามีปัสสาวะออกมาก และใส แสดงว่าได้รับน้ำพอเพียง)
4. ถ้ามีน้ำมูกมากให้ใช้กระดาษทิชชูเช็ดออกหรือใช้ลูกยางสีแดงขนาดเล็ก (เบอร์ 2) ดูดออก (น้ำมูกมักจะมีมากใน 2-3 วันแรก)
5. ถ้าไอให้จิบน้ำผึ้งผสมมะนาว (น้ำผึ้ง 4 ส่วน+ น้ำมะนาว 1 ส่วน)
6. ควรหาหมอเมื่อมีอาการข้อใดข้อหนึ่งดัง ต่อไปนี้
ก. เด็กมีไข้เกิน 4 วัน (โดยทั่วไปไข้หวัดมักจะหายตัวร้อนภายใน 3-4 วัน)
ข. มีน้ำมูกหรือเสลดข้นเหลืองหรือเขียว เกิน 24 ชั่วโมงขึ้นไป
ค. มีอาการหายใจเร็วกว่าปกติ (มากกว่านาทีละ 40 ครั้ง)
ง. มีอาการปวดหู หูอื้อร่วมด้วย
จ. เมื่อมีความวิตกกังวลว่าอาจไม่ได้เป็นเพียง ไข้หวัดธรรมดา เช่น มีไข้สูงโดยไม่มีน้ำมูก ซึม ปวดท้อง อาเจียน ท้องเดิน กินไม่ได้ เป็นต้น

จะเห็นว่า ยาจำเป็นสำหรับการรักษาไข้หวัด (ซึ่งเป็นโรคที่หายได้เองเป็นส่วนใหญ่) มีเพียงตัวเดียวคือยาลดไข้

ไม่จำเป็นต้องกินยาแก้หวัด แก้ไอ ยาปฏิชีวนะ (ยาแก้อักเสบ) ซึ่งมักจะมีการใช้กันอย่างพร่ำเพรื่อ นอกจากสิ้นเปลืองแล้ว ยังอาจได้รับพิษภัยจากยา ที่ใช้จนเกิด “โรคยาทำ” ได้

ข้อมูลสื่อ

266-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 266
มิถุนายน 2544
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ