• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การพัฒนาแบบสมดุล

การพัฒนาแบบสมดุล


ขณะที่เขียนคุยกับผู้อ่านนี้เป็นกลางเดือนเมษายนพอดี อากาศกำลังร้อนจัด ความแห้งแล้งแผ่ซ่านไปทั่ว ผู้คน พืช สัตว์ แผ่นดิน ถูกเผาเกรียมทั้งกายและใจ และอาจถึงล้มตาย

คำถามก็คือ อากาศร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ ความแห้งแล้งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆจริงหรือไม่ ถ้าจริงก็เป็นสัญญาณอันตราย ถ้าร้อนกว่านี้และแล้งกว่านี้เราจะอยู่กันได้อย่างไร

ป่าไม้ของเราถูกทำลายไปมาก ความเป็นทะเลทรายกำลังคืบคลานเข้ามา ต้นน้ำลำธารเหือดแห้งไป คนไทยกำลังขาดแคลนน้ำจืด เราพัฒนาและดำรงชีวิตอยู่อย่างทำลายธรรมชาติมากเกินไป ถ้าธรรมชาติตายเราก็ตายด้วย การที่เราเป็นแบบนี้เพราะอวิชชาและตัณหา เรื่องวิกฤติการณ์สิ่งแวดล้อมจึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะทำอะไรกันนิดๆหน่อยๆ แต่เป็นเรื่องลึกถึงชีวทัศน์โลกทัศน์ทีเดียวว่า

เราคิดว่าชีวิตคืออะไร

โลกคืออะไร

และชีวิตควรเป็นอย่างไร อันเป็นคำถามพื้นฐาน ถ้าเราไม่กลับไปแก้ไขความคิดพื้นฐานและวิถีชีวิต คงจะแก้วิกฤติการณ์สิ่งแวดล้อมไม่ได้ ถ้าเราพัฒนาแบบเน้นเศรษฐกิจอย่างเดียวย่อมกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม และก็มีแต่นักเศรษฐศาสตร์เท่านั้นที่เป็นผู้รู้ คนอื่นไม่มีความสำคัญ แต่ถ้าเราจะพัฒนาแบบได้สมดุลกันแล้ว ทุกคนทุกฝ่ายมีความสำคัญทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นนักปรัชญา นักศาสนา ผู้นำชุมชน ครู ฯลฯ

อากาศร้อน ถ้าเพียงแต่ร้อนเฉยๆ หรือหงุดหงิดก็ไม่เกิดประโยชน์เพราะรู้แต่ร้อนๆเท่านั้น แต่ถ้าร้อนแล้วทำให้เกิดปัญญา ก็จะเห็นอะไรต่ออะไรเชื่อมโยงถักทอกันเข้ามา ทำให้เกิดปรากฏการณ์อากาศร้อน ปัญญาอย่างเดียวก็ยังไม่พอ ต้องเชื่อมโยงให้เกิดจิตสำนึกด้วยว่าเราจะต้องทำให้ถูกต้องอย่างไร เป็นคนต้องมีความถูกต้อง เมื่อถูกต้อง ทุกอย่างก็จะเป็นไปด้วยความเรียบร้อยทั้งมนุษย์และธรรมชาติ

ข้อมูลสื่อ

157-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 157
พฤษภาคม 2535
ศ.นพ.ประเวศ วะสี