• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ออทิสติก คนที่มีโลกของตัวเอง

อาจยากที่เราจะเข้าใจคนที่มองเห็นโลกแตกต่างจากเรา คนบางคนรับรู้ ได้ยิน ในสิ่งที่แปลก จากที่เรารับรู้ โดยที่เขาอาจไม่รู้เลยว่าเขากำลังเห็นและได้ยินในสิ่งที่แปลกไปจากคนอื่นๆ และนั่นทำให้เขาทำอะไรแบบที่ใครๆไม่เข้าใจ ถ้าเบื้องหน้าของเราคือ ท้องทะเลสีคราม ฟ้าใส มีเสียงคลื่นกระทบฝั่ง กับสายลมที่หอบโอโซนมาให้หายใจอย่างสดชื่น คุณจะเชื่อไหมว่า “ใครคนหนึ่ง” ที่ยืนอยู่ตรงจุดเดียวกับที่เรายืนอยู่นั้น ไม่อาจมองเห็นและสัมผัสสิ่งตรงหน้าได้เหมือนเรา เขาอาจมองเห็นเพียงคลื่นที่แยกส่วนเป็นชิ้นๆ ครั้งหนึ่งพอภาพนั้นลบเลือนไป เขาจึงได้ยินเสียงคลื่นที่ดังสนั่นเหมือนจะโถมทับลงมาบนร่าง ...ไม่ต้องกังวล ถ้าคุณจะรู้สึกว่าไม่ค่อยเข้าใจ...

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในอีกหลายสิ่งของใครบางคนที่แตกต่างไป เกือบ 60 ปีมาแล้ว ที่โลกได้รู้จักกับคนที่มีช่องทางการสัมผัสรับรู้แตกต่างไปจากคนอื่น ซึ่งเป็นความ บกพร่องของสมองส่วนที่มีหน้าที่เกี่ยวกับประสาทสัมผัสและการเรียนรู้ แพทย์จัดว่ามันเป็นโรคชนิดหนึ่งตั้งชื่อว่า “ออทิซึม” (Autism) และเรียกคนที่มีลักษณะเช่นนี้ว่า “ออทิสติก”(Autistic)

ออทิซึม
มีความหมายว่า “ตัวเอง” เป็นการตั้งชื่อตามพฤติกรรมที่เห็นชัดเจนตั้งแต่วัยเด็ก คือการแยกตัวอยู่ในโลกของตัวเอง ไม่ค่อยสื่อสารกับใคร จนทำให้เขาขาดการรับรู้จากสิ่งแวดล้อมรอบตัวอย่าง สิ้นเชิง มีความล่าช้าในด้านพัฒนาการสังคม การพูด การใช้ภาษา การสื่อความหมาย ไม่มีจินตนาการ มีพฤติกรรมซ้ำๆ บางอย่าง ทั้งการกระทำและความคิด
 
อย่างไรจะเรียกว่าเป็นออทิสติก
การจะรู้ว่าเป็นออทิสติกหรือไม่ รู้ได้จากการสังเกตพฤติกรรมในวัยเด็ก พฤติกรรมของออทิสติกจะเริ่มสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ขวบปีแรก ซึ่งพ่อแม่มักจะไม่สังเกตเห็น แต่พฤติกรรมจะเริ่มแสดงชัดเมื่อเด็กอายุประมาณ 2 ขวบครึ่ง หรือ 30 เดือน โดยมีลักษณะปรากฏชัดในความล่าช้าเรื่องการพูด และการใช้ภาษา
ข้อสังเกตพฤติกรรมที่น่าสงสัยว่าเป็นออทิสติกมี 3 ด้าน คือด้านปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่น ด้านการสื่อความหมาย และการมีพฤติกรรมที่จำกัดหรือซ้ำๆ

ในด้านปฏิสัมพันธ์กับสังคมสังเกตได้จากการที่เด็กจะไม่สบตา ไม่แสดงออกทางสีหน้าและท่าทางเหมือนไม่สนใจจะผูกสัมพันธ์หรือเล่นกับใคร และไม่สามารถแสดง ออกทางอารมณ์ให้เหมาะสมได้เมื่ออยู่ในสังคม
เช่นเด็กเล็กขวบกว่าๆ ถ้าเราเล่นกับเขา เขาจะเล่นด้วย ส่งเสียงตอบ แต่เด็กออทิสติก บางทีก็มี บางทีก็ไม่มี ความคงที่ของพฤติกรรมตรงนี้ไม่มี บางครั้งเราเรียกเขาอาจไม่หัน แต่จดจ้องอยู่กับสิ่งที่เขามองอยู่ คือจะสนใจวัตถุมากกว่าคนอื่น ทำให้เขาไม่มองสบตากับเรา ถ้าสัมผัส จั๊กจี้ เขาอาจหัวเราะ แต่หัวเราะแบบไม่มีอารมณ์

ในด้านการสื่อความหมาย จะมีความล่าช้าในการพูด หรือไม่สามารถใช้กิริยาท่าทางในการสื่อความหมายกับผู้อื่นได้ บางรายที่พูดได้แล้วอาจไม่สามารถตอบโต้ได้อย่างเหมาะสม แต่อาจพูดซ้ำๆ ในสิ่งที่ตนเองสนใจ โดยไม่สนใจว่าจะมีผู้ฟังหรือไม่ และไม่สามารถเล่นสมมุติหรือเล่นเลียนแบบสิ่งที่เคยพบเห็นในสังคมได้อย่างเหมาะสม

ตามปกติเด็ก 2 ขวบกว่าจะเริ่มเรียกพ่อแม่ เริ่มพูดเป็นคำ และบอกความต้องการของตัวเองได้ชัดเจน มากขึ้นแล้ว แต่ในเด็กออทิสติก หลายคนทำเหมือนจะเรียกแล้วหายไปนานๆเข้าจะสื่อไม่เป็นคำ ส่วนใหญ่มีภาษาของตัวเองเหมือนเป็นภาษาต่างดาวที่ฟังไม่รู้เรื่อง

นอกจากนี้ ยังดูได้จากพฤติกรรมที่มีความจำกัด หรือมักจะทำสิ่งใดซ้ำๆ เช่น มองพัดลมที่กำลัง หมุนได้ทั้งวันไม่ละสายตา เด็กออทิสติกจะชอบมองสิ่งของที่เคลื่อนไหว ชอบแสงไฟ หรือเคลื่อนไหวซ้ำๆ เช่น กระดิกนิ้วมือไปมา มีการเล่นเสียงในคอ เสียงดังอยู่ตลอดเวลาไม่มีหยุด จะไม่สามารถยืดหยุ่นในการทำสิ่งที่เคยทำเป็นประจำ โดยต้องทำตามขั้นตอนเหมือนเดิมทุกครั้ง จนบางครั้งพ่อแม่อาจคิดว่าลูกเป็นเด็กเจ้าระเบียบ

เด็กออทิสติกจะขาดจินตนาการในการเล่น อย่างเด็กทั่วไปถ้าเล่นรถ ก็จะเข็นและปล่อยให้รถวิ่งไป แต่เด็กออทิสติกจะไม่ปล่อยให้รถวิ่ง จะลากรถแล้วหยิบรถขึ้นมาดูล้อที่หมุน นี่เป็นพฤติกรรมที่เป็นสากล ลักษณะการเล่นจะค่อนข้างจำกัด บางคนเล่นมือ บางคนชอบติดของเป็นเวลานานเกิน

ส่วนใหญ่เด็กออทิสติกจะ มีปัญหาเรื่องสมาธิ สั้นหรือเรียกว่าไฮเปอร์แอกทีฟ(Hyperactive) ด้วย เป็นอาการที่เด็กอยู่ไม่สุข มีการเคลื่อนไหวมากกว่าเด็กอื่นที่มีอายุเท่ากัน แสดงถึงภาวะการควบคุม การเคลื่อนไหวของร่างกายด้อยกว่าวัย บางคนวิ่งพลุ่งพล่าน อยู่ไม่นิ่ง ควบคุมตัวเองไม่ได้ ขณะที่บางคนจะเป็นออทิสติกแบบนิ่งก็มีเหมือนกัน

แพทย์จะตรวจรู้ได้อย่างไรว่าเป็นออทิสติก
เมื่อเด็กยิ่งโตขึ้นปัญหาเรื่องพฤติกรรมจะเริ่มเด่นชัดมากขึ้นจนพ่อแม่สังเกตได้ และอาจเริ่มรู้สึกกังวลใจว่าลูกเราเป็นอะไรหรือเปล่า ทำไมไม่เหมือนเด็กคนอื่น กุมารแพทย์ หรือจิตแพทย์จะเป็นผู้ช่วยในการวินิจฉัย โดยศึกษาพัฒนาการของเด็ก เปรียบเทียบกับความสามารถของเด็กปกติ อาศัยการซักประวัติอย่างละเอียดจากพ่อแม่ ซึ่งจะพบความแตกต่างกันชัดเจนในหลายด้าน
 
โดยดูจากพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กตั้งแต่แรกเกิด กิน นอน ขับถ่าย การแสดงออกทางพฤติกรรม การเข้าสังคม การตอบสนองต่อสิ่งเร้า การสบตา การได้ยิน ความเข้าใจภาษา การพูดและการสื่อความหมาย พฤติกรรมซ้ำซาก การแสดงออกทางอารมณ์ การใช้จินตนาการ และการใช้กล้ามเนื้อ

ในการตรวจวินิจฉัยว่าเด็กเป็นออทิสติกหรือไม่ ไม่มีเครื่องวัดที่เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ แต่อาจมีการตรวจประกอบการวินิจฉัยจากพฤติกรรม เช่น ตรวจการได้ยิน ตรวจคลื่นสมอง เพราะข้อสังเกตเบื้องต้นของเด็กออทิสติกคือเมื่อเรียกแล้ว จะไม่หัน หมอจึงจะตรวจการได้ยินก่อน ซึ่งถ้าเป็นออทิสติกจริงจะไม่มีปัญหาเรื่องการได้ยิน นอกจากจะมีหูหนวก หูตึงมาร่วมด้วย
 
การที่จะรู้ว่าลูกเป็นออทิสติกหรือไม่ พ่อแม่จึงเป็นคนสำคัญที่จะต้องคอยสังเกตพฤติกรรมและพัฒนาการด้านต่างๆ ของลูกตั้งแต่แรกเกิดอย่างใกล้ชิด
 
                        
ออทิสติกเกิดขึ้นได้อย่างไร
ปัจจุบันยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญ คนใดตอบได้เฉพาะเจาะจงลงไปว่า สาเหตุที่แท้จริงของออทิสติกคืออะไร รู้เพียงแต่ว่าเป็นความบกพร่อง ของสมองส่วนที่มีหน้าที่เกี่ยวกับระบบประสาทสัมผัสและการรับรู้

และมีเพียงข้อสันนิษฐานถึงสาเหตุของออทิสติกว่ามาจากภาวะต่างๆ ที่ทำให้สมองบางส่วนผิดปกติอาจเป็นเรื่องโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ อุบัติเหตุทั้งระหว่างการตั้งครรภ์และระหว่างการคลอด หรือเรื่องความไม่สมดุลของสารเคมีในร่างกาย เช่น แม่ที่เป็นโรคหัดเยอรมันหรือได้รับเชื้อระหว่างการตั้งครรภ์ เด็กขาดออกซิเจนระหว่างคลอด ตลอดจนการเจ็บป่วยของเด็กหลังคลอด เช่น โรคไข้สมองอักเสบ ไอกรน
กรรมพันธุ์ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่พูดถึงกันมาก เพราะพบว่าในครอบครัวที่มีบุคคลออทิสติกจะมีโอกาสเป็นออทิสติกสูงกว่า ประชากรทั่วไปประมาณ 1 : 50 ส่วนในคนทั่วไป 1 : 2500 คน ถ้าเป็นคู่แฝดจะยิ่งเกิดได้สูง ถึงร้อยละ 8-9
รวมถึงเรื่องสภาวะแวดล้อม มลพิษ สารเคมีต่างๆ ที่แม่อาจได้รับ เหล่านี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน และปัจจัยประกอบ แต่เป็นสิ่งที่เราต้องป้องกันในการดูแลสุขภาพระหว่างการตั้งครรภ์ ระหว่างคลอด และในการดูแลเด็กระยะเริ่มแรก

ออทิสติกพบได้ในเด็กทั่วไปโดยไม่จำกัดพื้นฐานทางสังคม เช่น การศึกษา เศรษฐกิจ แต่จะพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง 4 เท่า สถิติของเด็กออทิสติกประมาณ 5-20 คน ใน 10,000 คน ยังไม่มีหลักฐานยืนยันเช่นกันว่าอะไรเป็นตัวการที่ทำให้ออทิสติกเป็นในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง
 
ออทิสติกกินยารักษาได้ไหม
ใครๆ มักคิดว่าโรคสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยา และวิธีทางการแพทย์ แต่สำหรับออทิสติกนั้นเป็นความบกพร่องของสมอง ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ จึงไม่มียาหรือเครื่องมือทางการแพทย์ใดๆ จะรักษาให้หายจากออทิสติกได้
แต่หมอจะมีการนำยาด้านจิต ประสาทมาใช้ เพื่อช่วยควบคุมพฤติกรรมในเด็กบางคนที่มีอารมณ์รุนแรง หงุดหงิด ก้าวร้าว ทำร้ายตนเอง ฟุ้งซ่าน ไม่มีสมาธิ ซึมเศร้า หรือชัก ซึ่งเป็นการใช้ยาเพื่อช่วยแก้ปัญหาเป็นเรื่องๆไป และเมื่ออาการเหล่านี้ดีขึ้นก็ต้องหยุดยา แต่ไม่ใช่เป็นยารักษาออทิสติก เพียงแต่ยาจะช่วยบรรเทาความรุนแรงและทำให้การฝึกฝนเด็กดำเนินไปอย่างราบรื่นขึ้น

ยาหลายตัวที่นำมาใช้มีผลข้างเคียงซึ่งยังเป็นที่คัดค้านในต่างประเทศ จึงต้องระมัดระวังในการใช้ และยังเป็นยาที่นำมาจากต่างประเทศ มีราคาแพง โดยเฉพาะถ้าซื้อในโรงพยาบาลเอกชน อย่างไรก็ตามการใช้ยาต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่ง

มียาบางตัวที่ใช้ควบคุมพฤติกรรมในเด็กออทิสติก เพื่อช่วยให้การฝึกฝนเด็กดำเนินไปอย่างราบรื่นยาที่ใช้คือ
1. Risperidlo ใช้ในเด็กที่มีความก้าวร้าว รุนแรง เพ้อคลั่ง หรือทำร้ายตัวเอง
2. Ritelin ใช้ในเด็กที่สมาธิสั้น หรือซนมากๆ
3. Tegretalcr ใช้ในเด็กที่คลื่นสมองมีความผิดปกติ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการชัก จึงกินเพื่อปรับคลื่นสมอง ป้องกันอาการชัก มักจะให้ในเด็กที่อายุใกล้ๆ 10 ปี

เป็นออทิสติกแล้วรักษาได้อย่างไร
หลายคนไม่เรียกสิ่งนี้ว่าเป็นโรค ถ้าเป็นโรครักษาโดยการกินยาก็มีโอกาสหาย แต่ออทิสติกไม่ใช่ เป็น ออทิสติกแล้วรักษาไม่หาย แต่การกระตุ้นพัฒนาการของเด็กตั้งแต่ต้นอย่าง ต่อเนื่องจะช่วยให้ดีขึ้น จนสามารถช่วยตัวเองและดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่น ในสังคมได้โดยไม่แตกต่าง หัวใจของการช่วยเหลือเด็กออทิสติกจึงอยู่ที่การกระตุ้นพัฒนาการซึ่งควรทำให้เร็วที่สุด ทำอย่างต่อเนื่อง ทำตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน โดยต้องร่วมกันเป็นทีมสหวิชาชีพ ทั้งพ่อแม่ คนในครอบครัว กุมารแพทย์ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักแก้ไขการพูด นักสังคมสงเคราะห์ นักอาชีวบำบัด

แต่สำหรับคนใกล้ชิดอย่างพ่อแม่เป็นคนสำคัญที่สุดที่จะเยียวยาช่วยเหลือลูกได้ด้วยความรักและความเข้าใจที่เด็กออทิสติกต้องการมากกว่าเด็กปกติ เพื่อจะเข้าไปให้ถึงโลกของเขา การทำใจให้ยอมรับว่า เด็กเป็นออทิสติกและกำลังต้องการความช่วยเหลือ จึงเป็นสิ่งแรกที่ต้องทำก่อน

พ่อแม่ส่วนมากมักจะยังตั้งตัวไม่ติดกับความจริงที่ได้รับรู้ มีทั้งความกังวลใจ เครียด และลึกๆแล้วอาจเจ็บปวด ความรู้สึกต่างๆที่เกิดขึ้นจำเป็นที่ต้องขจัดออกไปให้ได้ หรือรักษาให้อยู่ในระดับที่ไม่ทำร้ายตัวเองจนเกินไป เก็บแรงใจไว้ แล้วสวมวิญญาณคุณพ่อคุณแม่ที่เข้มแข็ง ตั้งตนหาทางช่วยเหลือลูก ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต พร้อมเตรียมเผชิญความยุ่งยาก ความลำบากต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยตั้งเป้าหมายว่าให้ลูกสามารถช่วยเหลือตัวเอง และอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคมได้
 
หลักการในการช่วยเหลือจะต้องเริ่มต้นจากการพยายามทำความเข้าใจธรรมชาติของเด็กออทิสติก ด้วยการสังเกตอย่างใกล้ชิด เข้าใจในพฤติกรรมที่เด็กแสดงออกว่าเขาต้องการอะไร เพื่อจะได้ค่อยๆเข้าไปในโลกของเขามากขึ้น ขณะเดียวกันต้องมองดูพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กที่ยังขาดยังบกพร่อง หรือมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ จากนั้นจึงวางแผนจัดการช่วยเหลือหรือจัดกิจกรรมที่เหมาะสม ในการช่วยปรับกระตุ้นพฤติกรรมให้เกิดการเรียนรู้

การฝึกฝนและกระตุ้นพฤติกรรมที่สำคัญสำหรับเด็กออทิสติก คือ การฝึกทักษะความเข้าใจภาษาหรือการฝึกพูดโดยต้องสอนจากรูปธรรมให้มากที่สุด คือสอนจากของจริงหรือของจำลองที่ใกล้เคียงมากที่สุด ให้เขาสัมผัสได้ แล้วถึงสอนให้พูดว่าคืออะไร โดยต้องนำสิ่งที่ฝึกฝน ไปใช้ในชีวิตประจำวันตามสถานการณ์จริงให้สามารถเชื่อมโยงคำ เกิดการรับรู้และจดจำได้ด้วย
 
ตามธรรมชาติของเด็กออทิสติกมักชอบทำสิ่งใดซ้ำๆ และต่อต้านการเปลี่ยนแปลง จึงต้องพยายามฝึกฝนให้เด็กสร้างพฤติกรรมใหม่ สอนให้เขารู้ว่าโลกของความจริงเป็นอย่างไร เขาต้องทำหน้าที่ และต้องเรียนรู้สิ่งใดในชีวิตบ้าง โดยเลือกสิ่งที่เขาคุ้นเคยนำมาสอน

การสอนต้องทำเป็นขั้นตอนอย่างจริงจัง โดยทำให้ดูเป็นตัวอย่างให้ทำตาม เมื่อเด็กทำตามได้ดีก็เริ่มช่วยเหลือน้อยลง ปล่อยให้ทำเอง และให้รางวัลเพื่อสร้างแรงจูงใจและเขาจะได้เรียนรู้ว่านี่เป็นสิ่งที่ควรทำ ทั้งหมดต้องทำด้วยความรัก สร้างบรรยากาศที่ไม่เคร่งเครียด แต่แสดงความรักอย่างเชื่อมั่นว่าเด็กจะทำได้

นอกจากการช่วยเหลือให้เด็กอยู่ในบ้านโดยสามารถช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว หากเขาพร้อมให้เริ่มนำเขาออกมาสู่สังคมภายนอก อย่าพยายามกีดกันเด็กออกจากสังคมเมื่อเห็นว่าเขาไม่ค่อยอยากเข้าสังคม แต่ต้องค่อยๆปรับสอนพฤติกรรม จะเป็นการช่วยให้เด็กสามารถปรับตัวดำรงชีวิตร่วมกับคนอื่นในสังคมได้ด้วย
 
แม้การปรับพฤติกรรมต่างๆ จะเป็นสิ่งที่ยาก เด็กอาจแสดงความไม่พอใจ เพราะเขาจะต่อต้านการเปลี่ยนแปลง พ่อแม่ต้องอย่าใจอ่อน ยอมตามใจ เพราะเท่ากับเด็กจะไม่ได้รับการฝึกฝน ซึ่งเป็นการทำ ร้ายเขามากกว่าการฝืน ทำใจแข็งฝึกพฤติกรรม พึงประสงค์ให้เด็กแต่แรก

การให้การช่วยเหลือเด็กแต่ละคนจะมีความแตกต่างกัน เพราะเด็กออทิสติกแต่ละคนจะไม่มีใครเหมือนกัน และไม่มีใครในโลกนี้บอกได้อีกเช่นกันว่า เด็กแต่ละคนจะพัฒนาไปได้ถึงที่สุดแค่ไหน การได้รับความเอาใจใส่ใกล้ชิดด้วยความรักและความเข้าใจอย่างที่ สุดเท่านั้นที่จะช่วยเหลือเด็กได้

ขอขอบคุณข้อมูลจากบทความเรื่อง...
เด็กออทิสติก : มุ่งหวังจะรักษาให้หาย โดย ศ. พญ.เพ็ญแข ลิ่มศิลา
คู่มือเด็กออทิสติก โดย พญ.วินัดดา ปิยะศิลป์
การพัฒนาเด็กออทิสติก โดยศูนย์พัฒนาหลักสูตร กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ
 
ตัวอย่างเปรียบเทียบสภาพจิตที่รับรู้ของเด็กปกติ และเด็กออทิสติก
1. เด็กคนแรกใส่ลูกหินของเธอลงไปในตะกร้า ปิดฝา แล้วเดินออกจากห้องไป
2. ขณะที่เด็กคนแรกออกไปแล้ว เด็กคนที่ 2 ก็เข้ามาหยิบลูกหินออกจากตะกร้า ใส่ลงไปในกล่อง แล้วปิดทั้งฝาตะกร้า และฝากล่องไว้
3. เมื่อเด็กคนแรกเข้ามาอีกครั้ง ลองดูซิว่าเด็กคนแรกจะมองหาลูกหินของเธอจากที่ไหน ในตะกร้าที่เธอใส่ไว้ หรือในกล่องที่มันมีลูกหินอยู่จริงๆ
 
ในเด็กปกติอายุ 4 ขวบ ง่ายมากที่เขาจะเห็นว่า เด็กคนแรกจะต้องมองหาลูกหินในตะกร้าที่เธอใส่ไว้ แต่สำหรับเด็กออทิสติกแล้วมีแนวโน้มที่จะคิดว่าเด็กคนแรกจะต้องดูจากในกล่อง ในเมื่อลูกหินอยู่ในกล่องนั้น เด็กออทิสติกจะไม่เข้าใจในสิ่งที่เด็กคนแรกมองเห็น ออทิสติกหรือออทิซึม

เป็นความผิดปกติที่พบได้ตั้งแต่วัยก่อน 2 ขวบ 6 เดือน โดยเด็กจะมีความบกพร่องดังต่อไปนี้
1. ด้านภาษา พูดช้ากว่าปกติ และไม่สามารถใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารได้ เช่น เปล่งเสียงที่ไม่มีความหมาย หรือพูดทวนวลีซ้ำๆ
2. ด้านการเล่น ไม่เล่นกับเด็กคนอื่นๆ สนใจของเล่นเฉพาะบางประเภทเป็นพิเศษ
3. ด้านความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง ไม่แสดงความผูกพันแบบเด็กทั่วๆ ไปเช่น ไม่สนใจบุคคลรอบข้าง ไม่สบตา ไม่กลัวคนแปลกหน้า เข้ามาหาแบบผิวเผิน
 
ระดับอาการออทิสติก ระดับอาการของบุคคลออทิสติก ดูได้จากพฤติกรรมหรือการเรียนรู้ ไม่มีสูตรตายตัว อาจจำแนกระดับอาการกว้างๆ ได้ 3 ระดับ ดังนี้
1. ระดับกลุ่มที่มีอาการน้อย
เรียกว่ากลุ่ม Mild autism หรือบางครั้งเรียก กลุ่มออทิสติกที่มีศักยภาพสูง (high functioning autism) ซึ่งจะมีระดับสติปัญญาปกติ หรือสูงกว่าปกติ มีพัฒนาการทางภาษาดีกว่ากลุ่มอื่น อาจมีความสามารถบางอย่างแฝงอยู่หรือเป็นอัจฉริยะ แต่ยังมีความบกพร่องในทักษะด้านสังคม การรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของบุคคลอื่น ในปัจจุบันมีผู้เรียกเด็กกลุ่มนี้อีกชื่อหนึ่งว่า แอสเพอเกอร์ (Asperger Sydrome) ตามชื่อแพทย์ผู้ค้นพบ มีประมาณ ร้อยละ 5-20
2. ระดับกลุ่มที่มีอาการปานกลาง
เรียกว่ากลุ่ม Moderate autism ในกลุ่มนี้จะมีความล่าช้าในพัฒนาการด้านภาษา การสื่อสาร ทักษะสังคม การเรียนรู้รวมทั้งด้านการช่วยเหลือตนเอง และมีปัญหาพฤติกรรมกระตุ้นตนเองพอสมควร แต่สามารถพัฒนาจนสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และอาจเรียนในระบบได้ถึงระดับหนึ่ง มีประมาณร้อยละ 50-75
3. ระดับกลุ่มที่มีอาการรุนแรง
เรียกว่ากลุ่ม Severe autism ในกลุ่มนี้จะมีความล่าช้าในพัฒนาการเกือบทุกด้าน และอาจเกิดร่วมกับภาวะความพิการอื่น เช่น ปัญญาอ่อน รวมทั้งมีปัญหาพฤติกรรมที่รุนแรง มีพัฒนาการช้า หากไม่ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการมาตั้งแต่ต้นจะสามารถพัฒนาได้แค่ช่วยเหลือตนเองได้ เรียนรู้อะไรไม่ได้มาก มีประมาณร้อยละ 20-30

การช่วยเหลือเด็กออทิสติก
เด็กออทิสติกเป็นเด็กที่มีปัญหาด้านพฤติกรรม ดังนั้นการปรับพฤติกรรมที่เป็นปัญหา การส่งเสริมฟื้นฟูและ พัฒนาพฤติกรรมที่เหมาะสม จึงจำเป็นสำหรับเด็กออทิสติกมาก การดำเนินการดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับเด็ก โดยเฉพาะฝ่ายพ่อแม่ ผู้ปกครอง ฝ่ายแพทย์ จิตแพทย์ นักบำบัด และฝ่ายครู อาจารย์ ทั้ง 3 ฝ่ายต้องประสานงานอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
พ่อแม่เป็นครูคนแรกของลูก ต้องเอาใจใส่ให้ความอบอุ่น รู้จักวิธีสังเกตพัฒนาการของลูก เพื่อเป็นข้อมูลในการรักษาบำบัดพฤติกรรมที่เป็นปัญหา และพัฒนาพฤติกรรมที่เหมาะสม พ่อแม่เด็กออทิสติกต้องมีความอดทนสูง ทำใจยอมรับสภาพความจริงที่เกิดขึ้น ปรับสถานการณ์ภายในบ้านให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการเลี้ยงดู
แพทย์ หมายถึง กุมารแพทย์ จิตแพทย์ พยาบาลจิตเวช นักจิตวิทยา นักฝึกพูด นักบำบัดทั้งหลาย ต้องร่วมมือประสานงานกับพ่อแม่และครู ช่วยรักษาบำบัด ให้คำแนะนำฝึกอบรม เพื่อลดพฤติกรรมที่เป็นปัญหา เสริมสร้างทักษะการช่วยตนเอง และทักษะอื่นๆ
ครูและบุคลากรในโรงเรียน ต้องมีความรู้และเข้าใจในเรื่องของเด็กออทิสติก มีจิตใจที่เมตตาเห็นใจและต้องการจะให้ความช่วยเหลือ ต้องมีความอดทนในการที่จะช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สร้างเสริมทักษะใหม่ๆ และให้การศึกษาพิเศษ ตามความถนัดของเด็กแต่ละคน

ข้อมูลสื่อ

268-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 268
สิงหาคม 2544
กองบรรณาธิการ