• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เมื่อฟันอักเสบ

เมื่อฟันอักเสบ


หากท่านไปพบทันตแพทย์ด้วยอาการปวดฟันสุดแสนทรมาน แล้วทันตแพทย์แนะนำให้ท่านถอนฟัน ท่านจะรู้สึกทรมานใจมากเสียกว่าความปวดทรมานจากโรคฟันหรือไม่ บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยถามทันตแพทย์ด้วยความรู้สึกหวาดหวั่นพรั่นพรึงยิ่งนักว่า

“ถอนฟันแล้วจะกระเทือนประสาทหรือไม่”

“ถอนฟันแล้วจะทำให้ปวดฟันไหม”

“ถอนฟันแล้วตาจะโปนเหมือนที่ลงหนังสือพิมพ์ไหม”

ยิ่งคำถามสุดท้ายดูเหมือนว่าจะเป็นคำถามยอดนิยมในขณะนี้ เพราะข่าวที่ลงในหนังสือพิมพ์ได้ไปเพิ่มความหวาดหวั่นต่อการถอนฟันให้แก่คนทั่วไปมากยิ่งขึ้น หลายคนจึงยอมทนทุกข์ทรมานจากการปวดฟันต่อไป เพียงแค่ทนปวดฟันเท่านั้นก็แทบชีวาวายแล้ว แต่บางรายนอกจากอาการปวดไม่ยอมหาย ยังมีอาการบวมตามมาอีก เพราะฟันที่ปวดมักมาจากการผุจนลุกลามไปถึงโพรงประสาทฟัน ทำให้เนื้อเยื่อภายในโพรงประสาทฟันนั้นเน่า เกิดเป็นหนอง ซึ่งหากทิ้งไว้นานเชื้อโรคจะลุกลามออกไปทางปลายรากฟัน ทำให้เกิดอาการอักเสบของเนื้อเยื่อที่อยู่รอบรากฟัน นั่นก็คือ กระดูกที่รองรับฟันซี่นั้นอยู่มีการละลายของกระดูกเนื่องจากหนองพยายามหาทางระบาย

หากร่างกายไม่แข็งแรงพอ หรือเชื้อโรคที่ทำให้เกิดการอักเสบนั้นมีความรุนแรงสูง ก็ไม่สามารถจำกัดวงของการอักเสบไม่ให้ขยายได้ ในที่สุดการอักเสบจะลุกลามไปสู่เนื้อเยื่อของใบหน้า เช่น บริเวณคอ หรือใต้ตา บางรายอาจรุนแรงจนทำให้เปลือกตาบนและล่างบวมได้ แต่ไม่ใช่ทำให้เกิดเนื้องอกอย่างที่เป็นข่าว อันตรายจากการลุกลามของเชื้อโรคเช่นนี้มีสูงยิ่งนัก มีตั้งแต่

1. ทำให้มีไข้สูง คนไข้รู้สึกเบื่ออาหาร ทำให้ความต้านทานของร่างกายยิ่งลดลงเมื่อกินอาหารไม่ได้

2. อ้าปากไม่ได้ เนื่องจากการอักเสบลุกลามไปที่กล้ามเนื้อที่ช่วยในการอ้าปาก ทำให้กล้ามเนื้อเหล่านั้นไม่สามารถทำงานได้

3. มีการแตกทะลุของหนองออกมาทางผิวหนัง

4. การอักเสบลุกลามเข้าไปยังกระดูกขากรรไกร ทำให้มีการอักเสบและกล้ามเนื้อของกระดูกขากรรไกรตาย เกิดการสูญเสียของกระดูกขากรรไกร ทำให้มีการพิการตามมา

5. การอักเสบลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง เช่น ไซนัส ทำให้ไซนัสอักเสบ หรือหากลุกลามเข้าไปถึงเนื้อเยื่อของดวงตา ก็จะเป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวงต่อดวงตา

จะเห็นได้ว่าอันตรายจากการที่ไม่ยอมรักษาฟันที่มีการอักเสบนั้นมีมากมายมหาศาล อาจทำให้พิการหรือถึงแก่ชีวิตได้ หากเริ่มรักษาเสียตั้งแต่มีอาการปวดเพียงเล็กน้อย ยังไม่ถึงกับมีอาการบวม ก็จะไม่มีปัญหาแทรกซ้อนตามมาให้เกิดเป็นเรื่องใหญ่ หากเริ่มมีอาการบวมแล้วก็ยิ่งนิ่งนอนใจไม่ได้ ต้องรีบรักษา อย่าปล่อยให้อาการลุกลาม

แต่ทางที่ดีที่สุดคือ การดูแลสุขภาพช่องปากให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ปราศจากทั้งโรคฟันผุและโรคเหงือกอักเสบ

 

ข้อมูลสื่อ

158-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 158
มิถุนายน 2535
ทพญ.เสมอแข ทรงสถาพร