• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ท้องเดินเรื้อรัง – โรคธาตุอ่อน

ท้องเดินเรื้อรัง – โรคธาตุอ่อน


ข้อน่ารู้

1. บางคนอาจมีอาการถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำบ่อยครั้ง เป็นๆหายๆเป็นประจำ โดยที่สุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี คนพวกนี้มักไม่มีความผิดปกติทางร่างกายแต่อย่างไร แต่เกิดเพราะกระเพาะลำไส้มีความไวต่อสิ่งเร้าต่างๆ ภาษาหมอเรียกว่า “กลุ่มอาการลำไส้ไวต่อสิ่งเร้า” (irritable bowel syndrome) ในที่นี้ขอเรียกว่า “โรคธาตุอ่อน” แทน เพื่อแสดงว่าโรคนี้เกิดกับบุคคลบางคนเป็นเฉพาะ ดังที่ชาวบ้านพูดกันว่าเป็นเพราะ “ธาตุ(การย่อย) ของคนๆนั้นอ่อน (แอ)”

2. คนที่เป็นโรคนี้จะมีอาการท้องเดินเป็นๆหายๆเป็นประจำ นานนับสิบปี หรือตลอดชีวิต โดยไม่มีโทษหรือเกิดอันตรายแทรกซ้อนแต่อย่างไรทั้งสิ้น เพียงแต่สร้างความรำคาญและมีความลำบากในการต้องคอยวิ่งหาห้องสุขาอยู่เป็นนิตย์

3. สิ่งเร้าที่ทำให้เกิดอาการท้องเดิน ได้แก่ ความเครียดทางอารมณ์ (เช่น วิตกกังวล คิดมาก เศร้า กลัว ตื่นเต้น โกรธ) หรืออาหาร (เช่น ของเผ็ด ของเปรี้ยว น้ำส้มสายชู ของมัน กะทิ เหล้า เบียร์ นมสด ชา กาแฟ) ทำให้ลำไส้มีการบีบตัวผิดปกติ เกิดอาการปวดท้อง ท้องเดินขึ้นทันทีที่ถูกกับสิ่งเร้า ดังนั้นคนที่มีอาการนี้ควรต้องสังเกตดูว่าเกิดจากอะไร หากสามารถหลีกเลี่ยงได้ ก็จะทำให้อาการท้องเดินทุเลาลงไป

4. โรคนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษา การออกกำลังกาย การฝึกผ่อนคลายความเครียด และการกินอาหารที่มีกากมาก (เช่น ผัก ผลไม้ เป็นประจำ จะมีส่วนช่วยให้อาการดีขึ้น)

รู้ได้อย่างไรว่าไม่ได้เป็นอื่น

คนที่เป็นโรคธาตุอ่อน จะมีอาการปวดท้อง และถ่ายท้องทันทีที่กระทบถูกสิ่งเร้า เช่น เวลาเครียด หรือหลังกินอาหารบางชนิด คนไข้มักถ่ายวันละ 2-7 ครั้ง หลังตื่นนอนตอนเช้ามักถ่ายเป็นก้อนเหมือนปกติ แล้วหลังอาหารเช้าประมาณ 10-30 นาทีจะมีอาการปวดบิดในท้องต้องเข้าส้วมถ่าย 2-3 ครั้ง ซึ่งมักถ่ายเหลวหรือเป็นน้ำ บางคนอาจถ่ายอีกหลายครั้ง โดยเฉพาะหลังอาหารแต่ละมื้อ คนไข้มักมีอาการปวดบิดในท้องก่อนถ่าย พอถ่ายแล้วก็หายปวดดังปลิดทิ้ง แต่เมื่อเข้านอนแล้ว จะไม่มีอาการถ่ายท้องเลยจนกระทั่งเช้า (ถ้ามีอาการท้องเดินหลังเข้านอนแล้ว มักมีสาเหตุอย่างอื่นมากกว่าโรคธาตุอ่อน)
อาการท้องเดินแบบนี้อาจเป็นสัปดาห์ละ 1-2 หน หรือเดือนละหลายๆ หน ขึ้นกับอาหารและความเครียด

จะเป็นๆหายๆ นับเป็นสิบๆปี หรือตลอดชีวิต โดยที่คนไข้แข็งแรงดี กินอาหารได้ น้ำหนักไม่ลด ไม่มีไข้
บางครั้งอาจถ่ายมีมูกปน ซึ่งไม่มีกลิ่น และไม่มีเลือดปน (ถ้าถ่ายเป็นเลือดปนต้องคิดถึงสาเหตุอื่น) แต่อย่างไรก็ตาม คนที่มีอาการท้องเดินเรื้อรัง อาจมีสาเหตุจากความผิดปกติทางร่างกายก็ได้ เช่น

1. โรคบิดเรื้อรัง เกิดจากเชื้อบิดอะมีบา ทำให้มีอาการถ่ายเป็นมูกปนเลือดเรื้อรัง อาจมีน้ำหนกลด อ่อนเพลียร่วมด้วย

2. โรคพยาธิเรื้อรัง พยาธิบางชนิดเมื่อเข้าสู่ร่างกายอาจทำให้คนไข้มีอาการท้องเดิน ถ่ายเหลว หรือเป็นน้ำหรือมีมูกปน แต่มักมีอาการอ่อนเพลีย น้ำหนักลดร่วมด้วย

3. วัณโรคลำไส้ มีอาการถ่ายเหลว เรื้อรัง อาจมีไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดร่วมด้วย

4. คอพอกเป็นพิษ มีอาการถ่ายเหลวเรื้อรังร่วมกับอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น น้ำหนักลด

5. มะเร็งของลำไส้ จะมีอาการท้องเดินสลับท้องผูกเรื้อรัง อาจถ่ายเป็นเลือดสด หรือมีมูกปนเลือด ระยะท้ายจะมีอาการอ่อนเพลีย น้ำหนักลด


เมื่อไรควรไปหาหมอ

ควรไปหาหมอเมื่อ

1. มีไข้ อ่อนเพลีย หรือน้ำหนักลดร่วมด้วย

2. ถ่ายมีเลือดปน

3. ถ่ายกลางดึกหลังเข้านอนแล้ว

4. มีอาการครั้งแรกเมื่ออายุมากกว่า 4o ปี (โดยก่อนหน้านี้ไม่เคยมีอาการท้องเดินบ่อยๆ)

5. มีความวิตกกังวลว่าจะเป็นโรคร้ายแรง


แพทย์จะทำอะไรให้

ถ้าซักถามและตรวจร่างกายแล้วแน่ใจว่าเป็นโรคธาตุอ่อนจริง ก็จะแนะนำให้คนไข้ปฏิบัติตัวดังกล่าว ในรายที่มีความเครียดมากๆ อาจให้กินยากล่อมประสาท-ไดอะซีแพม ซึ่งจะช่วยให้อาการถ่ายท้องทุเลาไปได้ ในรายที่ไม่แน่ใจจริงๆ แพทย์อาจทำการตรวจหาสาเหตุ เช่น ตรวจอุจจาระ (ดูว่ามีตัวพยาธิหรือไม่ มีเลือดออกหรือไม่) ตรวจเลือด เอกซเรย์โดยการสวนแป้งแบเรียมทางลำไส้ใหญ่ หรือใช้กล้องส่องตรวจทางทวารหนัก (ดูว่ามีความผิดปกติอะไรหรือไม่) ถ้าพบโรคที่เป็นสาเหตุ ก็จะให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ

โดยสรุป โรคธาตุอ่อนจะเกิดกับคนบางคนเป็นเฉพาะ เนื่องจากลำไส้ไวต่อสิ่งเร้า ได้แก่ ความเครียด และ อาหารบางชนิด เป็นโรคที่ไม่มีอันตรายร้ายแรง แต่จะเป็นประจำตัวไปตลอดชีวิต ควรหาทางปฏิบัติดูแลตัวเองให้เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นสาเหตุกระตุ้น ฝึกผ่อนคลายความเครียด และออกกำลังกายเป็นประจำ


การดูแลรักษาตนเอง

คนที่มีอาการท้องเดินเป็นประจำ เป็นๆหายๆ มาเป็นแรมปี ถ้าสุขภาพทั่วไปยังแข็งแรงดี ก็มักมีสาเหตุมาจาก “โรคธาตุอ่อน” ควรปฏิบัติตัว ดังนี้

1. สังเกตดูว่า เกิดจากการกินอาหารประเภทใด เช่นรสเผ็ด รสเปรี้ยว น้ำส้มสายชู (ใส่ในก๋วยเตี๋ยว) กะทิ เหล้า นมสด ชา กาแฟ ฯลฯ แล้วพยายามหลีกเลี่ยงเสีย ก็จะทำให้อาการดีขึ้นได้

2. หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อคลายเครียด

3. กินผักและผลไม้ให้มากๆ อาจกินเมล็ดแมงลัก (2-3 ช้อนชา ผสมในน้ำหวาน 1 แก้ว) ก่อนนอนทุกคืนก็ได้

4. ถ้าจำเป็นต้องเดินทางไกล หรือมีกิจธุระจำเป็น (เช่น สอบ) หากกลัวจะมีอาการท้องเดิน ให้กินยาแก้ท้องเดิน ได้แก่ โลโมติล (Lomotil) หรืออิโมเดียม (Imodium) 1 เม็ด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการท้องเดิน (ยานี้ไม่ควรกินเป็นประจำ)

 

ข้อมูลสื่อ

160-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 160
สิงหาคม 2535
แนะยา-แจงโรค
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ