• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สอบเทียบ โอกาสเลือกหรือลวงทางการศึกษา ?

สอบเทียบ โอกาสเลือกหรือลวงทางการศึกษา ?


“แม่คะ...หนูอยากสอบเทียบ” คือประโยคแรกที่ลูกพูดเมื่อกลับถึงบ้านในวันแรกที่เข้าเรียนชั้นมัธยมหนึ่ง

“โอ๊ย...ไม่ต้องสอบหรอกลูก เรียนตามปกติธรรมดานี่แหละ” ดิฉันห้ามลูกทันทีเพราะคิดว่าการสอบเทียบจะเพิ่มภาระทำให้ลูกต้องเรียนหนักขึ้น แถมยังต้องไปเรียนกวดวิชาเพื่อให้สอบได้อีกด้วย เวลาผ่านไปครึ่งปี ลูกบ่นว่า “เพื่อนหนูเขาสอบเทียบม.3 กันได้เกือบทั้งห้องแล้ว มีหนูกับเพื่อนแค่คนสองคนเท่านั้นที่ไม่ได้สมัครสอบนะคะแม่...”

ดิฉันเริ่มรู้สึกทึ่ง เด็กอะไรเก่งกันเหลือเกิน อยู่ ม.1 เรียนแค่ครึ่งปีสอบเทียบ ม.3 กันได้หมดแล้ว ชักอยากจะรู้ขึ้นมาบ้างแล้วสิว่า “สอบเทียบ” นั้นคืออะไร โทรศัพท์ไปถามเพื่อนซึ่งให้ลูกไปสมัครสอบเทียบก็ได้ความว่าการสอบนั้นง่ายมาก เดาส่งเดชก็มีโอกาสได้แล้วร้อยละ 25 อีกร้อยละ 25 ใช้ไหวพริบทำข้อสอบ ตอบได้เกินร้อยละ 50 ก็ถือว่าสอบผ่าน เพราะฉะนั้นเด็กที่พื้นฐานดีอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องกวดวิชาเลย อาจจะไม่ต้องดูหนังสือเตรียมสอบเลยก็ได้ด้วยซ้ำ แต่ที่ยากสาหัสคือการแหวกผู้คนเข้าไปซื้อใบสมัครสอบเพื่อนเล่าว่าแทบจะเหยียบกันตาย บางศูนย์พ่อแม่ต้องไปเข้าคิวรอตั้งแต่ตี 4 ตี 5 เพื่อให้ได้ใบสมัคร น่าสงสารพ่อแม่...

เมื่อลูกขึ้นชั้น ม.2 ก็รบเร้าขอไปสมัครสอบเทียบอีกเพราะเพื่อนที่เหลืออยู่ 2 คนก็จะไปสมัครกันแล้ว เพื่อนที่สอบเทียบ ม.3 ได้แล้ว ก็กำลังจะสมัครสอบเทียบ ม.6 ดิฉันมีคนรู้จักเป็นอาจารย์สอนอยู่ในโรงเรียนซึ่งเป็นศูนย์สอบเทียบ จึงฝากซื้อใบสมัครได้โดยไม่ต้องไปแย่งซื้อ แต่วันที่พาลูกไปสมัครก็ได้เห็นสภาพอันน่าเวทนาของพ่อแม่ลูก (อีกแล้ว!)

การจัดการรับสมัครอยู่ในสภาพย่ำแย่ ไม่เป็นระบบ ผู้คนเข้าคิวรอ รอ รอ...กันอย่างแน่นขนัด ขนาดมีเฉพาะผู้ที่สามารถใช้กำลังภายในและภายนอกซื้อใบสมัครได้แล้วเท่านั้น ไม่น่าสงสัยเลยที่เพื่อนเล่าว่าแทบจะเหยียบกันตายในวันแย่งกันซื้อใบสมัครที่พ่อแม่ลูกอยู่ในสภาพเหมือนขอทานที่ไปขอแบ่งส่วนบุญจากผู้ยิ่งใหญ่ เรื่องจึงโวยวายจนเป็นข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ จนกระทั่งกรมการศึกษานอกโรงเรียนปรับระบบใหม่โดยขายใบสมัครแบบไม่จำกัดจำนวน ปีนี้จึงไม่มีข่าววุ่นวายเรื่องนี้อีก

อย่างไรก็ดี การที่ระบบรับสมัครสอบเทียบไม่เป็นระบบเป็นเรื่องยุ่งยาก ยืดยาด และน่าเหนื่อยหน่ายนั้น ทราบมาว่าเป็นเพราะโรงเรียนที่เป็นศูนย์สอบไม่ค่อยอยากเป็นกันนัก อาจารย์ที่จำต้องมาทำงานในวันหยุดเพื่อกศน. (กรมการศึกษานอกโรงเรียน) ก็ได้ค่าตอบแทนที่ต่ำมาก ไม่คุ้มกับที่ต้องเสียเวลามาเผชิญหน้ากับคนนับพันนับหมื่น จึงทำงานอย่างซังกะตายเสมือนประหนึ่งว่าเท่าที่จำใจทำให้นี่ก็ดีนักหนาแล้ว พ่อแม่ลูกเมื่อเจอสภาพเช่นนี้ก็มีทั้งด่ากระทรวงศึกษาฯอยู่ในใจ และที่ด่าดังๆ ให้ได้ยินกันทั่วเพราะทนไม่ไหวก็มี เขาก่นว่า “กระทรวงฯ เต่าล้านปี!” สะใจดีนักแล...

เราเสียค่าสมัครและค่าลงทะเบียนเรียนไปประมาณ 500 บาท ค่าลงทะเบียนเรียนหมวดวิชาละ 50 บาท ต้องสอบให้ผ่าน 7 หมวดวิชาขึ้นไป (วิชาบังคับ 4 หมวดวิชา วิชาเลือกไม่น้อยกว่า 3 หมวดวิชา) และต้องผ่านเกณฑ์การพบกลุ่มและกิจกรรมการพบกลุ่มตามเกณฑ์ที่กำหนด จึงจะได้รับการพิจารณาอนุมัติให้จบหลักสูตร ซึ่งจะมีศักดิ์และสิทธิ์เท่ากับผู้ที่จบในระบบโรงเรียนทุกประการ หลักฐานการเรียนและใบประกาศนียบัตรสามารถนำไปใช้ศึกษาต่อในสถาบันต่างๆ ได้ ทั้งนี้ต้องใช้เวลาในการเรียนไม่น้อยกว่า 2 ปี ยกเว้นมีการเทียบโอนวิชาสามัญหรือวิชาอาชีพ จึงจะขอจบก่อน 2 ปีได้

ลูกได้ความรู้จากเพื่อนมาว่าควรสมัครหมวดวิชาอาชีพไว้จะได้จบเร็ว และแนะนำว่า วิชาอาชีพที่ดีที่สุดคือ พิมพ์ดีด แถมยังบอกเสร็จสรรพว่าต้องไปสมัครเรียนพิมพ์ดีดที่โรงเรียนไหนจึงจะได้ใบรับรองโดยไม่ต้องไปเรียนเลยก็ได้ ตอนที่พาลูกไปสมัครเรียนพิมพ์ดีด ลูกเปิดหาชื่อเพื่อนๆที่สอบเทียบได้แล้ว ปรากฏว่า มีข้อความอยู่ท้ายชื่อผู้ที่รับหลักฐานรับรองการเรียนและใบคะแนนสอบไปแล้วว่า “จะมาเรียนทีหลัง” จดเรียงกันเป็นแถวยาวเหยียด

ลูกเสียค่าสมัครเรียนพิมพ์ดีดไป 500 บาท แต่ไม่เคยไปเรียนเลย แกหัดพิมพ์เองที่บ้านจนพอจะพิมพ์ได้ก๊อกแก๊กจึงไปสอบ และได้ใบคะแนนพร้อมทั้งใบรับรองระบุว่าเรียนพิมพ์ดีดมาแล้ว 200 ชั่วโมงตามข้อกำหนดของกศน. นอกจากวิชาชีพแล้ว เด็กสอบเทียบยังมีกิจกรรมสำคัญ คือ “การพบกลุ่ม”

คู่มือนักศึกษาของ กศน. ระบุวัตถุประสงค์ของการพบกลุ่มว่า เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสพบปะรู้จักคุ้นเคย ฝึกกระบวนการคิด การตัดสินใจ แก้ปัญหา และการทำกิจกรรมร่วมกันเป็นกลุ่ม เพื่อให้นักศึกษารู้จักปรับตนเองให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างเป็นสุข กิจกรรมในการพบกลุ่มส่วนใหญ่จะดำเนินการ ดังนี้

- แก้ปัญหาการเรียนจากบทเรียนด้วยกระบวนการกลุ่ม

- ฝึกทักษากระบวนการกลุ่ม การคิด การตัดสินใจ และการทำงานร่วมกันอย่างมีระบบ

- ประยุกต์ความรู้จากบทเรียนและประสบการณ์มาใช้ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันและในสังคม

- ร่วมกันคิดหาแนวทางเพื่อทำกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม วัฒนธรรม และประเพณีที่ดีงาม

- เสริมสรุปการเรียนรู้ทั่วๆ ไปตามหลักสูตร ฯลฯ

เด็กจำเป็นต้องไปพบกลุ่มไม่น้อยกว่า 6 ครั้ง จึงจะมีคุณสมบัติครบถ้วนในการจบหลักสูตร การพบกลุ่มซึ่งนับว่าเป็นกิจกรรมสำคัญของเด็กสอบเทียบนี้ ลูกมีประสบการณ์จริงดังนี้ คือ

ครั้งที่ 1 ปฐมนิเทศ

ครั้งที่ 2 ไปเที่ยววัดพระแก้ว

ครั้งที่ 3 ไปเที่ยวบางแสน

ครั้งที่ 4 ดูคอนเสิร์ตเพื่อบำรุงโรงเรียนที่เป็นศูนย์สอบ

ครั้งที่ 5 ฟังธรรมเทศนา

ครั้งที่ 6 ปัจฉิมนิเทศ

เป็นอันจบกิจกรรมสำคัญในการเรียน แต่ปีนี้ลูกมีข่าวดีมาบอกว่า เดี๋ยวนี้เขามีแบบใหม่ไม่ต้องเสียเวลาไปพบกลุ่มก็ได้ เพียงแต่จ่ายเงินทอดผ้าป่าและค่ารถก็ถือว่าผ่านกิจกรรมพบกลุ่มเรียบร้อย เมื่อถึงกำหนดสอบ เด็กๆ ก็พากันไปสอบโดยแทบจะมิได้เตรียมตัวกันเลย แบบเรียนของ กศน. ก็ไม่มีเวลาอ่าน เพราะการเรียนและการบ้านของโรงเรียนปกติก็ท่วมหัวอยู่แล้ว พอผลสอบออกมา ทุกคนก็สอบได้ตามความคาดหมาย ลูกขอสมัครสอบเทียบ ม.6 ต่อทันที เพราะเพื่อนๆ ที่สอบเทียบ ม.3 ได้ตั้งแต่อยู่ ม.1 ก็สอบเทียบ ม.6 ได้แล้วตั้งแต่เทอมแรกของ ม.2

ดิฉันเลยไม่รู้ว่าสอบเทียบของ กศน. นี้คือสอบเทียบอะไร ถ้าเทียบวุฒิความรู้ ความรู้ของเด็กที่เพิ่งจบ ป.6 มาหยกๆ เทียบได้กับ ม.3 พอเรียนต่อไปอีกปีครึ่งปีก็เทียบได้จบ ม.6 สามารถนำประกาศนียบัตรไปสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้เลย อีกหน่อยถ้ามีปริญญามหาวิทยาลัยห้องแถวตามมา เด็กไทยก็สบาย อายุ 12 จบ ป.6 ก็สอบเทียบ ม.3 อายุ 13 สอบเทียบ ม.6 อายุ 14 สอบเทียบปริญญา หรือจะพัฒนาขึ้นไปอีกขั้นให้เด็กสอบเทียบ ป.6 ได้ตั้งแต่ตอนอยู่ ป.1 เด็กก็จะถึงปริญญาก่อนอายุ 10 ขวบ!

ใบสมัครสอบเทียบของกศน.ขายดีจนถึงกับแย่งกันอุตลุตเพราะอย่างนี้นี่เอง กระดาษมีค่า ราคาไม่แพงนัก ซื้อหาได้ทุกขั้นตอนโดยไม่ยากลำบาก แถมยังมีรัฐบาลประกันคุณภาพให้แบบนี้ เด็กคนไหนจะไม่อยากได้เล่า เพราะเอาไปใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ พ่อแม่ก็สนับสนุนเพราะคิดว่าเป็นการเพิ่มโอกาสให้ลูกในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทำให้มีโอกาสสอบได้หลายครั้งโดยลืมนึกไปว่า โอกาสที่ว่านั้นคิดโดยรวมแล้วเป็น “โอกาสลวง”

อาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดลท่านหนึ่งซึ่งประสบปัญหากับการสอนลูกศิษย์ชนิดสอบเทียบ ทำให้อาจารย์คัดค้านการสอบเทียบจอมปลอม เพราะเห็นว่าเป็นการสูญเปล่าทางการศึกษา และทำบันทึกสรุปความไว้ว่า...

“จากการคุยกับผู้ปกครองหลายท่านที่มีลูกหลานที่กำลังจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยหรือสอบเข้าได้แล้ว เพื่อทราบความเห็นเกี่ยวกับระบบสอบเทียบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เราสามารถแยกความเห็นได้เป็น 2 อย่างที่ตรงข้ามกัน

ฝ่ายแรกเห็นว่า ระบบสอบเทียบช่วยทำให้ลูกหลานมีโอกาสสอบเข้าถึง 2-3 ครั้ง เมื่อจบ ม.4, ม.5 และ ม.6 แต่ถ้าไม่สอบเทียบจะมีโอกาสสอบเข้าเพียงครั้งเดียวตอนจบ ม.6 ถ้าสอบไม่ติดอายุก็มากเกินไปที่จะสอบใหม่ อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า ระบบสอบเทียบทำให้ลูกหลานจำต้องเรียนในคณะที่ไม่ได้เลือกเป็นอันดับหนึ่งเพราะเด็กมักสอบได้อันดับท้ายๆในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยครั้งแรก เพราะยังไม่มีความรู้เพียงพอ แต่เมื่อสอบได้เด็กบางคนก็ตัดสินใจคว้าเอาไว้ก่อน ความเห็นของฝ่ายแรกนั้น พบว่า มีจำนวนมากทีเดียว ทำให้ผู้เสนอให้เลิกระบบสอบเทียบหรือปรับปรุงใหม่มักถูกกล่าวหาว่าตัดโอกาสเด็ก แต่ความจริงโอกาสเด็กมิได้มีมากขึ้นอย่างที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่คิด เพราะจำนวนที่มหาวิทยาลัยรับได้นั้นมีจำนวนจำกัด นักเรียนที่ต้องการเข้าก็มีจำนวนเท่าที่เป็นอยู่ โอกาสสอบได้จึงมีเท่าเดิม ซ้ำร้ายโอกาสสอบแต่ละครั้งยังมีน้อยกว่าเก่าถึง 3 เท่า เพราะแทนที่เด็กจะแข่งขันกันเองในระหว่างเด็ก ม.6 ด้วยกันเท่านั้น กลับต้องแข่งกับเด็ก ม.4 และ ม.5 ด้วย จำนวนเด็กสมัครสอบเข้าจึงมากกว่าที่ควรจะเป็นถึง 2-3 เท่า แต่จำนวนที่รับได้มีเท่าเดิม เด็กจึงมีโอกาสพลาดหวังจากการสอบแต่ละครั้งมากขึ้น โอกาสสอบหลายครั้งที่ทำให้เด็กอยากสอบเทียบ จึงเป็น “โอกาสลวง” และเป็นการสูญเปล่าของทั้งระบบการศึกษา รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการสอบเทียบ และเวลาที่เด็กสูญเสียไปในการกวดวิชาและดูหนังสือสอบ คนละ 2-3 ครั้ง แทนที่จะเอาเวลาไปทำกิจกรรมอื่นที่มีประโยชน์กว่านี้

เด็กที่สอบได้อันดับท้ายๆ แล้วตัดสินใจคว้าไว้ก่อน แล้วค่อยสอบใหม่ในปีหน้านั้นก็มีจำนวนไม่น้อยเลย เด็กกลุ่มนี้ขณะเรียนก็จะพะวักพะวน ทั้งเรียนในมหาวิทยาลัย ทั้งจะต้องแบ่งเวลามาเตรียมสอบเข้าใหม่ ถ้าเด็กสอบได้แล้วลาออกไปเข้าคณะใหม่ เท่ากับเราสูญเสียที่เรียนซึ่งมีน้อยอยู่แล้วให้น้อยลงไปอีก ที่ว่างในมหาวิทยาลัยปี 2 ซึ่งเกิดจากการเผื่อเลือกของเด็กที่สอบได้คะแนนดีกว่านี้ นับว่าเป็นความสูญเปล่าซึ่งขัดกับปรัชญาของการกระจายโอกาสทางการศึกษาไปสู่คนหมู่มากอย่างยิ่ง”

ระบบการสอบเทียบหรือการศึกษานอกโรงเรียนประเภทบุคคลภายนอกซึ่งผันแปรจนเกือบจะกลายเป็นการสอบนอกโรงเรียนประเภทบุคคลในโรงเรียนนั้น ก่อให้เกิดปัญหามากมายต่อทั้งระบบการศึกษาโดยรวมและต่อปัจเจกบุคคล โรงเรียนหลายโรงเรียนแทบจะไม่มีนักเรียนชั้น ม.6 เด็กบางคนออกจากระบบโรงเรียนไปทั้งๆ ที่ยังขาดวุฒิภาวะ เด็กต่างจังหวัดเมื่อสอบเทียบ ม.6 ได้ก็ออกจากโรงเรียนเพื่อเข้ามาเรียนกวดวิชาในกรุงเทพฯ เพราะคิดว่าจะทำให้มีโอกาสสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้มากกว่า ผู้สนับสนุนการสอบเทียบมักอ้างผลการวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งติดตามผลการเรียนของนิสิตคณะแพทยศาสตร์ ระหว่างปี 2527-2531 และพบว่า นิสิตแพทย์ที่มาจากการสอบเทียบมีผลการเรียนดีกว่านิสิตที่จบ ม.6 ตามปกติ และอัตราการสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ของผู้สอบเทียบมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ผลจากการวิจัยนี้ไม่น่าแปลกใจเลย เพราะเด็กที่ผ่านการสอบเทียบและสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้นั้น ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่กระตือรือร้นสนใจเรียน เป็นเด็กที่เรียนดีกว่าระดับเฉลี่ยอยู่แล้ว การเอาหัวกะทิไปเปรียบเทียบกับหางกะทิ ผลย่อมออกมาเช่นนั้นแล...

ส่วนอัตราการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของผู้สอบเทียบย่อมมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างแน่นอน เพราะจำนวนผู้สมัครสอบเทียบเพิ่มสูงขึ้นทุกปีจนกลายเป็นระบบซ้อนระบบ คือ เรียนในโรงเรียนแต่สอบนอกโรงเรียน เพราะสอบง่ายดี ผู้ปกครองบางคนก็บ้าจี้ไปตามระบบ ลูกอยู่ ม.1 สอบเทียบ ม.3 ได้ก็ให้ไปสอบเข้าเรียนต่อ ม.4 ทันที อยู่ ม.4 สอบเทียบ ม.6 ได้ ก็สมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัยแล้วก็สอบได้เสียด้วย ตกลงเรียน ม.ต้น 1 ปี ม.ปลาย 1 ปี อายุ 14 เข้ามหาวิทยาลัยได้ ผู้คนพากันชื่นชมว่าเก่งเหลือหลาย อย่างไรก็ตาม ครูทุกคนรู้ดีว่าการเรียนการสอนที่แท้จริงนั้น มิใช่การเรียนเพื่อสอบเพียงอย่างเดียว กิจกรรมต่างๆ ในโรงเรียนมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ของนักเรียนพอๆ กัน หรือยิ่งกว่าการเรียนจากตำราเสียอีก โดยเฉพาะการอบรมบ่มเพาะปลูกฝังคุณธรรมในจิตใจ การรู้จักทำงานร่วมกับผู้อื่น รู้จักใช้ชีวิตอยู่ในสังคมคนหมู่มาก รู้จักปรับตัวประสานประโยชน์ รวมทั้งการกีฬาและสุขอนามัย สิ่งเหล่านี้ไม่มีทางปฏิบัติได้จริงในระบบสอบเทียบและโรงเรียนกวดวิชา

คนในกระทรวงศึกษาธิการก็รู้ดีว่าระบบสอบเทียบก่อให้เกิดปัญหาต่อการศึกษาทั้งระบบอย่างไร แต่อ้างว่าเลิกไม่ได้เพราะผู้ปกครองไม่ยอมให้เลิก มีการเดินขบวนคัดค้าน มีผู้เสียผลประโยชน์มากมาย เด็กเสียโอกาสสอบเข้ามหาวิทยาลัยหลายครั้ง ฯลฯ หากเรามองปัญหาทีละส่วนอาจเห็นเป็นเช่นนั้น แต่ถ้ามองสังคมโดยรวมแล้ว การที่เด็กนักเรียนในระบบโรงเรียนทุกคนเรียนจนจบ ม.6 นั้น มีอะไรไม่ดีที่ตรงไหน ทำไมจะต้องรีบเร่งเข้ามหาวิทยาลัยก่อนกำหนด และหากเลิกระบบสอบเทียบสำหรับนักเรียนในระบบไม่ได้ ก็น่าจะเทียบให้สมศักดิ์ศรีของนักเรียน มิใช่เอาข้อสอบสำหรับกรรมกร ชาวนา มาให้นักเรียนสอบเหมือนยื่นอ้อยเข้าปากช้าง มารู้ทีหลังว่าเป็นอ้อนอาบยาพิษ จะดึงออกจากปากช้าง ช้างก็ไม่ยอมง่ายๆ หรอก แล้วจะปล่อยให้ช้างล้มเพราะอ้อยอาบยาพิษกระนั้นหรือ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับประจำวันที่ 31 กรกฎาคม 2535 พาดหัวข่าวหน้าการศึกษาว่า

เด็กไทยทำงามหน้าโกงสอง “โทเฟล”

“หวั่น” อเมริกาตัดสิทธิ์ วอนรัฐฯ สอดส่อง

เด็กไทยถูกสังคมสอนให้รู้จักโกง รู้จักซื้อประกาศนียบัตรมาตั้งแต่เล็ก จนกลายเป็นความเคยชินเช่นนี้แล้วจะโทษใครดี หากคนไทยไม่ช่วยกันแก้ไขในสิ่งผิดเสียแต่วันนี้ ใครเขาจะเข้ามาช่วยแก้ไขให้เราเล่า ดิฉันถามลูกว่า “ถ้าไม่มีระบบสอบเทียบจะมีปัญหาอะไรไหม” ลูกตอบว่า “ไม่เห็นเดือดร้อนอะไร หนูก็เรียนไปตามปกติ แต่ถ้ามีหนูก็สอบเพราะเพื่อนๆ เขาสอบกัน”

ระบบสอบเทียบถือกำเนิดขึ้นจากเจตนาดี เพื่อเปิดโอกาสทางการศึกษาให้แก่คนทั่วไป แต่เนื้อหาทางภาคปฏิบัติมิได้เป็นไปตามเป้าหมายเดิม ก่อให้เกิดปัญหาต่อการศึกษาทั้งระบบ และยังส่งผลทางด้านสุขภาพจิตต่อเยาวชนของชาติ รวมทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองและครูจำนวนมากด้วย

 

เวทีทัศนะ

  • ดร.เสรี ลาชโรจน์ : ผู้อำนวยการโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย

“ระบบสอบเทียบนี้ผมเห็นด้วยในส่วนที่เป็นการเปิดสำหรับให้คนที่ไม่มีโอกาสเรียนในระบบโรงเรียน เช่น พวกพ่อค้า คนงาน พวกนี้มีประสบการณ์จริงในชีวิต แล้วก็ต้องการเพิ่มความรู้ทางการเรียน เป็นการยกระดับความรู้ของคนที่ไม่มีโอกาส เป็นสิ่งที่ดี แต่ที่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่ว่าเปิดโอกาสให้เด็กในระบบโรงเรียนนี่ไปสอบเทียบ ถ้าเราดูตัวเลขแล้วนี่จุดประสงค์ของการสอบเทียบนี่มันผิดไป เด็กที่สอบเทียบทั้งหมดคือเด็กที่เรียนในโรงเรียนอยู่แล้วเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้นจึงเป็นการสิ้นเปลือง เป็นการทำงานซ้อน เป็นการทำลายเศรษฐกิจ ทำลายเวลาของเด็กเปล่าๆ เด็กเรียนอยู่แล้วแทนที่จะได้อยู่กับพ่อแม่ หรือได้เล่นตามสภาพก็ไม่ได้ เสียหมด

แล้วมาตรฐานการสอบเทียบต้องยอมรับว่า กระทรวงฯเรานี่ลดมาตรฐานต่ำลงมาก เด็ก ม.4 สอบเทียบ ม.6 ได้แล้ว เด็กก็เข้าใจว่าจบ ม.6 แล้ว ความจริงไม่จบ ประสบการณ์ยังต่ำอยู่ก็ไปสอบเทียบ ไปสอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย ทีนี้ข้อสอบบางทีส่วนใหญ่ต้องยอมรับว่าเป็นความจำ คือ เด็กฉลาดก็เร่งเอาหน่อยนะ พ่อแม่รวยหน่อยก็เรียนพิเศษ มันก็พาลไปตีกับระบบโรงเรียนเสียหมดเลย เด็กก็เลยไม่เรียนในโรงเรียน ขณะนี้ทางโรงเรียนประชุมผู้ปกครองทุกปีเลย แล้วก็มีการชี้แจงผู้ปกครองเรื่องนี้ เพราะชีวิตคนนี้ไม่ใช่ว่าลูกอายุ 13 ปี 14 ปีแล้วเอนทรานซ์ได้ถือว่าเก่ง บางทีในระยะยาวของชีวิตล้มเหลว เหมือนกับเด็กเรียนแพทย์นี่ตกใจยังเรียกหาแม่อยู่เลย ในชีวิตคนนี่ไม่ได้หมายความว่าอายุน้อยน้อยแล้วก็เรียนสำเร็จ ทำงานได้ตำแหน่งสูงๆ คือ สำเร็จ ไม่ใช่นะ

นั่นคือ ความไม่มีวุฒิภาวะทั้งทางอารมณ์ ทางจิตใจ และทางร่างกาย เด็กรู้อย่างเดียว คือ จำเก่ง แต่พ่อแม่หารู้ไม่ว่านั่นคือ การทารุณเด็กล่ะ เป็นการมอบภาระให้เด็ก แล้วเป็นการตัดชีวิตของเด็กๆหมดเลย คิดดูสิเด็กอายุ 11-12 ปี ควรจะได้วิ่งเล่นกับเพื่อน ไปสนุกสนานบ้างนะ จะมาหมกมุ่นอยู่กับเรียนพิเศษ ไปสอบเทียบวันเสาร์ โดยไม่มีเวลาทำอย่างอื่นเลย กลับถึงบ้านก็ไล่เด็กเข้าห้อง ในชีวิตคนน่ะคิดดูสิเกิดมาทำอะไร เกิดมาเพื่อสอบหรือ จะทำงานอย่างเดียวหรือ แล้วการที่ให้เด็กไปทดลองสอบเอนทรานซ์ทั้งๆ ที่ไม่พร้อม เป็นการลองผิดลองถูก เท่ากับเพิ่มความเครียดให้กับเด็กหลายครั้ง การไปสอบเอ็นฯแต่ละครั้งเนี่ยเครียดนะ ไม่ใช่ไม่เครียด ทีนี้พ่อแม่ไม่มองในแง่นั้นนะ พ่อแม่ก็ได้แต่ เออ สอบหลายหนดีนะ พลาดปีนี้เที่ยวหน้าก็ได้ นั่นแหละเป็นการทารุณเด็กโดยไม่รู้ตัว ถ้าเกิดได้คณะไม่ดีก็เสียดาย สองจิตสองใจ เกิดความกังวล ไม่มีสมาธิในการที่จะทำอะไร

ส่วนใหญ่เมื่อสอบเทียบได้แล้ว จะรู้สึกว่าตัวเองจบการศึกษาแน่นอนแล้ว มาก็เรียนบ้างไม่เรียนบ้าง เพราะค่านิยมของคนไทยถือประกาศนียบัตรสำคัญมาก เป็นสิ่งสูงสุดในชีวิต แต่ในชีวิตจริงๆ แล้วไม่ใช่ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของนโยบาย กระทรวงศึกษาธิการต้องกล้า ต้องเอาความจริงออกมาให้ชาวบ้านเขาเห็นว่าจุดหมายที่ทำ ทำอย่างนี้ วิธีการทำ ทำอย่างนี้ เขาจะได้เลือกว่าวิธีการอย่างนี้เหมาะกับเขามั้ย เพราะที่แล้วๆ มาเราไม่ได้ชี้แจงละเอียดอย่างนี้ เราไม่กล้าพูด ไปอ้างอย่างเดียวว่ากลัวเด็กจะเดินขบวน กลัวผู้ปกครองไม่นิยม ถ้าชี้แจงให้เขาเห็นโทษ เห็นความเสียหายที่จะเกิดขึ้น เขาก็ไม่เอา เพราะฉะนั้นในเรื่องสอบเทียบ เราก็ควรตัดประโยชน์ที่คิดว่าจะได้ออกเสียบ้าง”

 

  • น.พ.พนม เกตุมาน : จิตแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

“สำหรับเด็กที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นเนื่องจากการเรียนการสอบเทียบตอนนี้ก็พบได้บ้างประปราย ไม่ถึงกับมากนัก แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะมากขึ้นเรื่อยๆ ผมคิดว่าระดับการศึกษาในขั้นเตรียมอุดมศึกษาอายุประมาณ 18 ปีก็เหมาะสมดีอยู่แล้วกับพัฒนาการของเด็ก เพราะการที่เด็กยังอยู่ในระบบโรงเรียน เขาจะมีการเรียนทุกๆด้านไปพร้อมกัน ทางด้านวิชาการที่อยู่ในหนังสือนั้นเป็นการพัฒนา”ด้านหนึ่งทางสติปัญญาเท่านั้น ขณะเดียวกันพัฒนาการทางด้านอื่นๆ เด็กจะต้องเรียนรู้ไปด้วยในโรงเรียน เช่น พัฒนาการทางด้านอารมณ์และสังคม

การที่เด็กถูกยัดเยียดเรื่องการเรียนอย่างเดียว พัฒนาการด้านอื่นก็จะบกพร่องไป หรือบางทีอาจจะขาดไปเลย เช่น เด็กทุกคนเอาแต่เรียนก็จะไม่สนใจสังคมเลย ไม่สนใจการมีเพื่อน ไม่ใส่ใจการปรับตัวเข้ากับคนอื่น ปัญหาอันนี้จะมีผลตอนที่เขาเรียนจบแล้ว บางทีก็มีปัญหาในเรื่องการทำงาน ในเรื่องความสุขส่วนตัว ซึ่งจะเป็นปัญหาบุคลิกภาพตามมา อาจจะเป็นลักษณะที่ไม่ค่อยโต เนื่องจากวุฒิภาวะยังน้อยอยู่ เพราะเร่งเรียนกันมา ทักษะทางสังคมไม่ค่อยมีมากเท่าไร การปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ที่เป็นผู้ใหญ่มากขึ้นเด็กก็มักจะทำได้ไม่ค่อยดีเท่าไร

บางส่วนเมื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ก็จะไม่สนใจ ไม่รับผิดชอบการเรียน อาจจะเป็นเพราะว่าหลังจากสอบเทียบเขาไม่มีเป้าหมายแล้ว ถ้าก่อนสอบเขายังมีเป้าหมายว่าต้องพยายามสอบให้ได้ แต่พอเข้ามหาวิทยาลัยได้เป้าหมายก็น้อยลง ไม่ค่อยมีแรงจูงใจเท่าไร ส่วนหนึ่งก็เลยเบื่อๆ ไป ไม่ค่อยสนใจเรื่องการเรียน คุณพ่อคุณแม่ที่ลูกมีปัญหาอยากจะสอบเทียบ จึงไม่ควรจะไปสนับสนุนเขา อาจจะคุยกับเขาว่าทำไมต้องการสอบเทียบ เขาอาจจะตามเพื่อน เขาอาจจะรู้สึกว่ามันเป็นการทดสอบตัวเองอะไรของเขา แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องยืนยันว่าต้องการให้เรียนอยู่ในชั้นอุดมศึกษาตามกำหนด ส่วนเรื่องการจะสอบหรือไม่เป็นเรื่องของเขา แต่ถึงสอบได้เขาก็จะต้องเรียนไปจนจบ ม.6 แล้วค่อยไปสอบเข้ามหาวิทยาลัย

การที่จะให้เขาเรียนอยู่ในโรงเรียนจนจบ ม.6 เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากในความเป็นจริง แต่พ่อแม่ควรจะเน้นให้เขาเห็นถึงข้อดีของการอยู่โรงเรียนดีกว่า เพราะคงจะไปห้ามเขายาก โดยอาจจะบอกเขาว่าการที่เขาได้อยู่ในระบบโรงเรียนก็มีอะไรอีกเยอะที่น่าสนใจ ซึ่งโรงเรียนคงไม่ตัดโอกาสนั้นแม้นักเรียนจะเหลืออยู่น้อยก็ตาม ส่วนเรื่องการสอบเทียบนั้นผมเห็นว่าก็ควรจะมีต่อไป แต่ต้องจำกัดและไม่ควรส่งเสริมเด็กที่เรียนในโปรแกรมปกติไปสอบเทียบ อาจจะยกเว้นเป็นกรณีพิเศษโดยโรงเรียนต้องพิจารณาอนุญาตเป็นกรณีพิเศษสำหรับเด็กที่มีปัญหา”

 

  • พิภพ ธงไชย : ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก

“ผลสะท้อนจากการสอบเทียบ คือ หนึ่ง มีคนไปสมัครสอบกันเยอะ สอง สอบเทียบได้แล้วไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ซึ่งเป็นการสะท้อนว่าระบบการศึกษาของเราในปัจจุบันเป็นการเรียนเพื่อสอบ ไม่ใช่เรียนเพื่อความรู้ ก็แสดงว่าไม่ได้สอบเพื่อความรู้มากนัก แต่ว่าสอบเพื่อความจำเยอะ จึงเห็นได้ว่าคนไทยทั่วไปไม่มีความรู้จริง เรามีแค่ประกาศนียบัตรเราก็พอใจแล้ว เพราะฉะนั้นการที่ กศน. บอกจะกระจายการศึกษาออกไป แสดงว่าเป็นการกระจายประกาศนียบัตรมากกว่า

แล้วกิจกรรมต่างๆ ที่โรงเรียนจัดขึ้นก็ไม่ได้ส่งเสริมความรู้ หรือทำให้สนุกต่อการเรียนรู้ แล้วเรื่องการไปพบกลุ่มก็เหมือนกัน ก็เป็นการไปเพื่อเที่ยว แล้วมีการเก็บเงินกันด้วย ถ้าไม่เสียเงินก็จะไม่ได้คะแนน อันนี้เห็นชัดว่าระบบล้มเหลว แต่ความรู้ผมเชื่อว่าเด็กทั่วไปคงไม่ค่อยได้ความรู้เท่าไร เมื่อมีโอกาสที่จะออกได้เร็วกว่าเพื่อจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย ก็จะหาทางที่จะออกไป เพราะถึงอยู่ต่อก็ไม่ได้ความรู้เพิ่ม เด็กจึงกระตือรือร้นจะไปเรียนมหาวิทยาลัยต่อ เพื่อให้มีโอกาสจบเร็วขึ้น เพื่อจะได้ทำงานเร็ว เพราะระบบของไทยเป็นระบบแข่งขัน ใครถึงเส้นชัยก่อนก็จะมีโอกาสชนะมากกว่า

ส่วนเรื่องที่เด็กสอบเทียบได้แล้วมองว่าจะมีโอกาสในการเข้ามหาวิทยาลัยได้มากกว่านั้น จริงๆ แล้วเป็นแง่ของการฝึกซ้ำๆ ทำให้เกิดการได้เปรียบ แต่เมื่อทุกคนได้ทำอย่างนี้ความได้เปรียบก็หมดไป ฉะนั้นจึงไปเน้นการแข่งขันที่การฝึกซ้ำซึ่งเป็นเทคนิคมากกว่าความเชี่ยวชาญทางความรู้ การสอบเทียบก็คือ ความชำนาญทางเทคนิคเท่านั้นเอง ทางออกในเรื่องนี้ผมคิดว่าจะต้องจัดระบบการศึกษาใหม่ ต้องมีการปฏิรูปใหม่ขนานใหญ่ ต้องเปลี่ยนระบบความรู้ ระบบการสอบ ระบบการเรียนการสอนต้องเป็นไปเพื่อความรู้มากกว่าเพื่อการสอบ การเรียนรู้ต้องเป็นการเรียนรู้จริง เรียนรู้กว้าง ต้องปรับปรุงระบบของ กศน. ให้มีคุณภาพมากขึ้น ประเด็นไม่ได้อยู่ที่โครงสร้างหลักสูตร อยู่ที่การเคร่งครัดคุณภาพมากกว่า หลักสูตรดีอย่างเดียวไม่พอ ขึ้นอยู่กับคนที่ดูแล กศน. ด้วย แล้วก็ต้องมีกระบวนการอย่างอื่นเข้ามาช่วย เช่น ห้องสมุดของ กศน. ต้องดี หรือว่าห้องสมุดของจังหวัดต้องดี หากเด็กไม่มีแหล่งแสวงหาความรู้ มีแต่ตำราของ กศน. เพียงเล่มเดียว ความรู้จะเกิดขึ้นได้อย่างไรเมื่อไม่มีความรู้ที่จะไปสอบ ข้อสอบก็ต้องอ่อน ถ้าข้อสอบยากคนสอบไม่ได้ ระบบการสอบเทียบคนก็จะไม่นิยม ต่อไปคนก็จะกลับเข้าระบบโรงเรียนเหมือนเดิม”

 

  • อ.สุนันทา วิบูลย์จันทร์ : คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

“การที่เด็กที่เรียนอยู่ในระบบแล้วมาสอบเทียบทำให้แผนการศึกษาของมัธยมศึกษาตอนปลายที่จัดไว้ 3 ปีเกิดปรวนแปร เพราะในเวลา 3 ปี ที่กำหนดไว้นั้นมีจุดมุ่งหมายในการเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กในวัยนี้ เมื่อเด็กใช้เวลาเพียง 1 หรือ 2 ปี จึงไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เราต้องยอมรับว่า การที่เด็กจะขึ้นม.4 นั้น ต้องแย่งกันพอสมควรจึงจะเข้าไปในระบบโรงเรียนได้ เมื่อเด็กได้เข้าเรียนก็ใช้เวลาเพียง 1-2 ปี แล้วสอบเทียบออกจากระบบไป ตรงนี้เป็นความสูญเสียระดับหนึ่งแล้วเพราะเป็นการปิดกั้นเด็กบางส่วนทำให้ไม่ได้เรียนในในชั้น ม.4

เมื่อเด็กสอบเทียบและสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้นั้น คณะที่สอบได้อาจไม่ใช่คณะที่ชอบ แต่ก็ตัดสินใจเรียนเพราะถือว่าโอกาสจะสอบได้นั้นยาก จึงจำใจเรียนไป เมื่อมีความคิดเช่นนี้จึงไม่มีความมุ่งมั่นที่จะเรียนจริงๆ คุณภาพของเด็กที่จบออกมาจะไม่ดีเท่าที่ควร แต่อาจมีอีกประเภทหนึ่งที่เตรียมตัวเพื่อสอบใหม่ ถ้าสอบได้ก็ทิ้งที่เดิม ทำให้เกิดความสูญเปล่าในระดับอุดมศึกษา และนับเป็นการตัดโอกาสบางคนไปด้วย ถ้าการสอบใหม่ไม่ติด เด็กจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนที่เหลือ จึงมีความรู้สึกไม่ดีต่อคณะของตัวเอง หรือแม้แต่ในระดับโรงเรียน ถ้าเรายังอยู่ ม.6 แต่เพื่อนไปหมดแล้ว ก็มีความรู้สึกท้อแท้หรืออาจออกจากโรงเรียนไปเลย โดยไปกวดวิชาเพื่อสอบเอ็นฯใหม่ในครั้งต่อไป จะเห็นว่าการสอบเทียบมีผลเกี่ยวเนื่องไปหมด

อย่างคณะวิทยาศาสตร์ มีนักศึกษาประมาณ 100 กว่าคน ที่ออกไปคิดเป็นประมาณร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับผู้สอบได้ทั้งประเทศ ถ้ารับได้ 30,000 ก็จะออกไปถึง 3,000 คน แม้แต่คณะที่ดี เช่น ทันตแพทย์ หรือเภสัชฯ ก็ยังมีเด็กสอบใหม่เพื่อเรียนแพทย์ คณะเหล่านี้ต้องเรียนวิชาทางวิทยาศาสตร์ที่มีการลงทุนสูง มีทั้งแล็บ ที่มีค่าใช้จ่ายด้านเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์มาก อันนี้นับเป็นการสูญเปล่ามากทีเดียว

ในส่วนตัวอยากถามว่า คนที่สร้างระบบการศึกษานอกโรงเรียนเข้าใจหรือเปล่าว่ากำลังทำอะไร ทำเพื่อใคร ทุกวันนี้คล้ายกับว่าต้องการตัวเลขของผู้มาสมัครอยู่นอกระบบให้มากเท่านั้น ถ้ามากก็นับว่าสำเร็จ อันนี้ไม่ถูกต้อง ตอนนี้ทุกคนบ่น พ่อแม่บ่น แต่ก็อยากให้ลูกเรียนเร็ว ขณะเดียวกันก็บ่นว่าเหนื่อย เพราะต้องจัดการให้ลูกทุกอย่าง ซึ่งเป็นการบั่นทอนจิตใจเพราะเกิดความกังวล การจัดนอกระบบชนิดนี้จึงไม่จำเป็น แต่ถ้าคนด้อยโอกาสจริงได้ใช้ประโยชน์จากการเรียนนอกระบบก็น่าจะพอแล้ว

ส่วนคำถามที่ว่าถ้าเด็กเก่งจริงทำไมต้องเรียนถึง 3 ปี อันนี้น่าจะแก้ได้เพราะถ้ามีความสามารถสูงจะให้เรียนวิชาในปีที่สูงขึ้นในโรงเรียนเดิม และถ้าผ่านก็ข้ามชั้นได้ แทนที่จะให้เด็กกระโดดออกมานอกระบบ ซึ่งทำให้แผนการศึกษาล้มเหลว ...คิดว่าการกำหนดอายุเด็กในการสอบเทียบก็เป็นทางแก้หนึ่ง หรืออีกทางหนึ่งคือ จะกำหนดได้หรือไม่ว่าเด็กที่เรียนในระบบต้องอยู่ในระบบ ไม่มีสิทธิ์อยู่นอกระบบ แต่ถ้าอยู่นอกระบบก็อยู่เลย จะได้ไม่มีการกันที่กัน ถ้าการศึกษาทั้งสองระบบนี้มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ ให้สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้แล้ว การศึกษานอกโรงเรียนจะมีประโยชน์อะไร เพราะหลักการควรจะให้โอกาสคนส่วนหนึ่งที่พลาดโอกาสในระหว่างที่มีอายุเกณฑ์ปกติเรียน เขาจะได้เรียนรู้เพื่อให้มีความก้าวหน้าขึ้น ไม่ใช่ได้แค่วุฒิ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่ต้องสอบ ใช้จับฉลากเลยดีกว่า”

 

  • อ.ยุวดี เชี่ยววัฒนา : ผู้ปกครอง

“ค่านิยมของเด็กวัยรุ่นนะคะ นักจิตวิทยาบอกว่าเด็กวัยรุ่นมักจะเชื่อเพื่อนมากกว่าพ่อแม่ นอกจากครูบาอาจารย์ เพราะเด็กวัยนี้จะติดเพื่อนมาก การจะไปฝืนธรรมชาติของเขาคงจะทำได้ยาก เราน่าจะมาคิดว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้เขามีค่านิยมที่ถูกแล้วพากันมีค่านิยมที่ดีที่ถูกตามๆ กันไป ครูในโรงเรียนน่าจะช่วยได้มาก อย่างเรื่องการสอบเทียบนี่ พี่สังเกตเห็นบางโรงเรียนมีเด็กๆไปสอบกันทั้งนั้น เด็กไปโรงเรียนก็จะคุยกันเรื่องเรียนกวดวิชาที่โน่นที่นี่ตั้งแต่เด็กเข้ามัธยม 1 ไปใหม่ๆ สังเกตให้ดีจะเห็นว่าโรงเรียนประเภทนี้ครูจะสอนกวดวิชากันมาก ลูกคนโตพี่เรียนมัธยมต้นที่โรงเรียนสาธิตปทุมวัน พี่ก็พยายามถามเขาว่า เพื่อนไปสอบเทียบกันบ้างไหม เขาก็ว่าไม่ค่อยมี เพราะอาจารย์ไม่สนับสนุน พออาจารย์ไม่สนับสนุน เด็กก็จะไม่มาพูดกัน ไม่เกิดการชักจูง

พี่มาเริ่มรู้เรื่องสอบเทียบก็เพราะอยากให้ลูกสอบเทียบ ม.3 เพราะเห็นว่าเขาเสียเวลาตอนไปอยู่เมืองนอกเสีย 1 ปี อยากให้เขาทันเพื่อนในอายุเท่ากัน ประกอบกับเห็นว่าเขาเรียนดี จึงสนับสนุนให้ไปสอบ แต่มาได้เห็นวิธีทำงานของโรงเรียนหน่วยจัดแล้วเวทนาจริงๆ เริ่มตั้งแต่การให้เด็กต้องไปแย่งกันซื้อใบสมัครจนแทบจะต้องเหยียบกันตาย การจัดให้มีการพบกลุ่มตามจำนวนครั้งที่กำหนด แต่สามารถพบกลุ่มทางลัดโดยการซื้อบัตรโบว์ลิ่งการกุศล ก็คิดว่าจะไม่แนะนำให้ลูกหลานไปสอบเทียบอีก ให้เขาเรียนไปตามขั้นตามตอน ได้ใช้ชีวิตในวัยเด็กของเขาให้คุ้มค่า ได้ใช้เวลาว่างจากการเรียนในการทำกิจกรรมที่จะทำให้เขารู้จักโลกรู้จักชีวิตที่กว้างขวาง เมื่อเขาอยู่ ม.6 เขาจะได้มีวุฒิภาวะเพียงพอ มีประสบการณ์ต่างๆ เพียงพอที่เขาจะตัดสินใจว่าเขาจะเลือกเรียนอะไร มิใช่เลือกไปตามๆ กันอย่างที่เป็นอยู่

เรื่องสอบเทียบนี้ไม่ใช่เป็นค่านิยมเฉพาะในหมู่เด็กนักเรียน แต่รู้สึกจะลามไประบาดในหมู่พ่อแม่ด้วย ไม่ใช่พ่อแม่จะไปสอบเทียบกับลูกนะคะ แต่จะเป็นฝ่ายกระตุ้นลูกให้ไปสอบ ให้ไปกวดวิชา หาครูมาสอนให้ถึงบ้าน แล้วก็ตั้งความหวังว่าลูกจะต้องสอบเทียบได้ และสอบเอนทรานซ์ติด สอบเทียบน่ะพ่อแม่มักจะไม่ผิดหวังนะคะ เพราะ กศน. คงจะสงสารพ่อแม่ ช่วยออกข้อสอบง่ายๆ ให้เด็กสอบให้ได้มากๆ เด็กสมัยนี้จึงเริ่มสอบเอนทรานซ์กันตั้งแต่จบ ม.4 หรือ ม.5 กลายเป็นประเพณีไปแล้ว ใครจบ ม.5 แล้วไม่ไปเอนทรานซ์กลายเป็นเรื่องเชย ใครเอนทรานซ์ไม่ติดกลายเป็นปมด้อย

อันที่จริงพี่ไม่ได้คิดว่าไม่ควรมีการสอบเทียบเลย เพราะสำหรับคนที่ไม่มีโอกาสเข้าเรียนในระบบ อันนี้จะช่วยเขาได้ แต่เราจะต้องมีหลักเกณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย ไม่ใช่ไปดึงเอาเด็กออกมาจากระบบหมด แล้วเด็กส่วนใหญ่ถูกหลอกให้เข้าใจว่าระบบสอบเทียบทำให้เขามีโอกาสสอบเอนทรานซ์ได้มากขึ้น ซึ่งจริงๆไม่ใช่ เพราะจำนวนที่มหาวิทยาลัยรับไว้ไม่เปลี่ยน จำนวนเด็กที่ต้องการเข้ามหาวิทยาลัยก็ไม่เปลี่ยน ไม่ว่าใช้ระบบอะไรโอกาสเด็กจะเท่าเดิม พี่คิดว่าวิธีแก้คือจะต้องมีการกำหนดเกณฑ์อายุ เช่น ต้องมีอายุครบ 18 ปี อย่างที่เคยทำในอดีต หรือมิเช่นนั้นก็ต้องออกข้อสอบให้ยากขึ้น ให้ความยากง่ายเท่าเทียมกับการเรียนในระบบ เพราะถือว่าจบแล้วมีศักดิ์และสิทธิ์เท่ากัน ระบบการสอบไม่ควรจะเปิดโอกาสให้เด็กสอบได้เพราะเดาถูก ข้อสอบประเภทให้เลือกให้เลือกคำตอบที่ถูก เปิดโอกาสให้เด็กสอบได้เพราะดวง แต่แก้ไขได้ง่ายๆ โดยป้องกันไม่ให้เด็กเดาโดยให้คะแนนติดลบในข้อที่กาผิด เด็กก็จะไม่กล้าเดา”

 

  • อริศรา ปั้นดี : นักศึกษาปี 1 คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“ตอนอยู่ม.ต้นต่อต้านการสอบเทียบมากเลย เพราะไม่พร้อมเลย อยู่ดีๆ ก็สอบเทียบได้ ม.3 พอสอบ ม.3 ได้ก็ไปสอบ ม.4 เข้าโรงเรียนเตรียมฯ ก่อนหน้าที่จะไปสอบโรงเรียนเตรียมฯ ก็ไปเรียนพิเศษ แต่เรียนไม่รู้เรื่องเลย เขาเรียนอะไรกันก็ไม่รู้ พอสอบเข้าเตรียมฯไม่ได้ ก็มาเรียน ม.4 แล้วกลับไปสอบใหม่ แต่ก็สอบไม่ได้ เพราะพื้น ม.3 ไม่แน่น มันเหมือนเป็นการเร่งเด็กเกินไปนะ

พอถึง ม.5 เทอมปลายก็สอบเทียบ ม.6 ได้ ช่วงนี้พอสอบได้แล้วก็เข้าเรียนแค่บางวิชา แต่นอกนั้นก็โดดหมดเลย คิดว่าเรียนส่วนมากก็จะเป็นแบบอ่านเอาเอง จึงตั้งใจอ่านหนังสือเตรียมสอบเอ็นฯ อย่างเดียวดีกว่า ถ้าจะพูดถึงข้อสอบสอบเทียบก็ไม่ค่อยยากเท่าไร ถ้าอ่านหนังสือไปดีๆ ก็ทำได้ ในห้องสอบได้ประมาณ 10 กว่าคนจาก 54 คน ตอนที่สอบเทียบเกิดความรู้สึกนะคะว่า การสอบเทียบทำให้เด็กรู้สึกสับสนตรงที่ว่าต้องไปสอบเทียบแล้วต้องไปสอบมิดเทอมของโรงเรียนอีก คือ ต้องอ่านของสอบเทียบ อ่านของสอบที่โรงเรียน มันทำให้ตีกัน แล้วคิดว่าชีวิต ม.ปลายสนุกที่สุดแล้ว พอสอบเทียบรู้สึกขาดรสชาติของ ม.ปลายไปใจยังนึกเสียดายอยู่เลย

ช่วงที่สอบเทียบได้แล้วและยังไปเรียนอยู่บางวิชา ก็มีปัญหากับเพื่อนๆ ที่โรงเรียนเหมือนกัน คือ ตอนนั้นในห้องจะแบ่งเป็นพวกที่สอบเทียบได้แล้วและกำลังจะไป กับพวกที่สอบเทียบไม่ได้ต้องติดอยู่ พวกนี้คล้ายๆกับจะเกิดปมด้อย เกิดการแบ่งแยกว่า เดี๋ยวพวกเธอก็จะไปแล้วไม่ต้องมายุ่ง ช่วงแรกๆจะเห็นความแตกต่างได้ เราก็รู้สึกว่าทำไมเพื่อนๆ ทำอย่างนี้ มันไม่ใช่ความผิดของเรานะที่สอบเทียบได้ แต่พอขึ้น ม.6 ทุกอย่างก็เคลียร์เรียบร้อย ไม่มีอะไร

ถ้าสอบเทียบไม่ได้...ก็คงเสียใจประมาณร้อยละ 5 เพราะมีความมั่นใจพอสมควรว่าตัวเองต้องได้ แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ก็อยู่โรงเรียนเก่าต่อก็ได้ แต่คุณพ่อคงจะเสียใจมาก เพราะท่านอยากให้เราสอบได้ จะได้จบไวๆ ...กับเพื่อนสนิทบางคนที่สอบไม่ได้ ก็รู้สึกเศร้าไปเลย เพราะตั้งใจจะออกไปด้วยกัน

ชีวิตในมหาวิทยาลัยตอนนี้รู้สึกว่าตัวเองยังไม่พร้อม ยังไม่มีความรับผิดชอบพอ อย่างเวลาทำรายงานเราต้องขวนขวายหาความรู้เอง ผิดกับสมัยที่เรียนมัธยมครูจะเป็นคนป้อนให้ แต่ตอนนี้เราต้องหาใส่ปากเอง แล้วคิดว่าเรายังเด็กอยู่ อยากจะใช้ชีวิตแบบนักเรียนในโรงเรียนก็ไม่ได้ มันต้องมีการวางเชิง วางฟอร์ม วางมาดกันทั้งนั้นเลย”

ข้อมูลสื่อ

161-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 161
กันยายน 2535
บทความพิเศษ
พรอนงค์ นิยมค้า