• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วิธีเลือกร้านอาหารขณะเดินทาง

วิธีเลือกร้านอาหารขณะเดินทาง


“ไหน แวะร้านไหนดี” คนขับรถ ถามเพื่อนร่วมทาง

“เอาร้านโน้นสิ คนเยอะดี สงสัยอร่อย” นั่นคือ คำตอบที่ได้รับ

บทสนทนาข้างต้นนี้เป็นตัวอย่างของวิธีการหนึ่งในการเลือกร้านอาหารที่จะเข้าไปบริโภคของคนทั่วไป ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นวิธีที่มีความเหมาะสมในระดับหนึ่ง เพราะร้านที่คนเข้าไปใช้บริการกันมากมักเป็นร้านที่อาหารอร่อย ราคาไม่แพงเกินไป นอกจากนั้นอาจมีข้อดีอย่างอื่นอีก เช่น บริการดี รวดเร็วทันใจ สถานที่สะอาด บรรยากาศดี ห้องน้ำห้องส้วมสะอาด แต่อย่างไรก็ดี ร้านอาหารที่ขายดี ลูกค้าแยะ ก็ใช่ว่าจะเป็นร้านที่จะพึงเข้าไปบริโภคได้เสมอไป

ในเรื่องของการบริโภคนั้น คงต้องยอมรับว่าการทำอาหารกินเองหรือกินข้าวในบ้านเป็นวิธีที่ปลอดภัย และสะอาดถูกหลักอนามัยมากที่สุด แต่ในสภาพปัจจุบันที่คนต้องทำงานแข่งกับเวลา โดยเฉพาะคนในเมืองหลวง การกินอาหารนอกบ้านจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หากเป็นร้านอาหารที่เราเคยรู้จักมาก่อน หรือเป็นย่านที่คุ้นเคยก็คงจะไม่มีปัญหาอะไร

แต่ในกรณีที่เดินทางไปต่างจังหวัดหรือต่างถิ่น การเลือกร้านอาหารนั้นโดยทั่วไปคนจำนวนมากมักยึดถือเรื่อง “ความอร่อย” หรือรสชาติเป็นเกณฑ์ ส่วนปัจจัยอื่นๆ เช่น ราคา ความสะอาด ก็เป็นปัจจัยที่พิจารณาประกอบรองๆลงมา ซึ่งบางครั้งก็อาจต้องประสบปัญหาท้องเสีย หรือเดือดร้อนจากอาหารเป็นพิษ ทำให้การเดินทางไม่ราบรื่นและอาจเสียงานเสียการตามที่ตั้งใจไว้ จึงมีข้อคิดบางประการในการเลือกร้านอาหารต่างถิ่นมาเสนอให้ทราบกัน

1. ให้ดูสภาพความสะอาดของสถานที่ บริเวณที่ปรุงอาหาร การจัดเก็บอาหาร สภาพภาชนะถ้วยชาม การแต่งเนื้อแต่งตัวของผู้ปรุงอาหารเป็นสำคัญ ถึงแม้ว่าอาหารร้านนั้นอาจจะมีรสชาติธรรมดาๆ แต่ก็ยังดีกว่ากินของอร่อยที่เป็นพิษเป็นภัยกับเราเข้าไป เคยมีคนกล่าวว่า “เวลาไปกินอาหารตามร้าน อย่าเข้าไปดูบริเวณที่ปรุงอาหาร หรือที่ล้างถ้วยล้างชาม เพราะจะกินไม่ลง” ทั้งที่จริงแล้วข้อนี้บางทีก็จำเป็นต้องสังเกตให้ดี เพราะแม้อาหารที่ปรุงจะสะอาด แต่ถ้วยชามสกปรกก็คงไม่ไหวเหมือนกัน

2. ป้ายรับรองคุณภาพต่างๆ เช่น เชลล์ชวนชิม แม่ช้อยนางรำ อาจพอเป็นการรับรองได้คร่าวๆ ถึงความอร่อยของอาหารร้านนั้น แต่บางครั้งก็ไม่แน่เหมือนกัน เพราะบางแหล่ง เช่น แถวหนองมน จังหวัดชลบุรี จะพบว่า แทบทุกร้านมีป้ายรับประกันคุณภาพเหมือนกันหมด ฉะนั้นถ้าจะดูให้ครบถ้วนสมบูรณ์จริงๆ ควรเป็นร้านที่ได้รับการรับรองว่าเป็นร้านอาหารถูกสุขลักษณะของกรมอนามัยดูจะปลอดภัยที่สุด

3. เลือกสั่งอาหารที่ปรุงเสร็จใหม่ๆ หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงค้างคืน หรืออาหารที่ไม่มีภาชนะปกปิด มีฝุ่นหรือแมลงวันตอม และควรหลีกเลี่ยงอาหารบางประเภท เช่น

- อาหารพวกยำ พล่าทั้งหลาย เพราะมีโอกาสปนเปื้อนสูง

- อาหารทะเลที่อาจปรุงไม่สุก เช่น หอยแครงลวก ยำหอยนางรม อาหารสุกๆดิบๆทุกอย่าง

- อาหารที่รสจัดมากๆ เช่น ลาบ เสือร้องไห้ ซึ่งมีรสเผ็ดมาก อาจทำให้บางท่านที่กระเพาะไม่ค่อยดีหรือมีโรคกระเพาะประจำตัวเดือดร้อนได้

4. น้ำแข็งเปล่าก็ควรระวัง เพราะบางครั้งอาจผลิตจากน้ำประปาซึ่งไม่ได้ผ่านการกรองเชื้อโรคบางชนิดที่เป็นสาเหตุของอาการท้องเสีย ท้องร่วง ถ้าเป็นไปได้ควรบริโภคน้ำบรรจุขวดสำเร็จ และควรเลือกดูชนิดที่ข้างขวดมีเครื่องหมาย อย. รับรองคุณภาพ

5. อาหารบางประเภทที่เติมผงชูรสมากเกินไป เช่น ต้มยำ ทอดมัน ผู้เขียนเคยมีอาการอึดอัดแน่นหน้าอก ชาร้าวไปทั่วบริเวณหัวไหล่และต้นคอเพราะกินทอดมันที่เติมผงชูรสมากเกินไป ดังนั้น ใครที่แพ้ผงชูรสจึงควรบอกทางร้านให้งดเติมผงชูรสลงในอาหาร

6. คนขับรถไม่ควรกินอาหารให้อิ่มจนเกินไป เพราะอาจง่วงนอน ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

7. บางครั้งยอมกินอาหารที่มีราคาแพงสักนิดแต่สะอาดปลอดภัยจะดีกว่าที่ต้องเสี่ยงกับอาการท้องเสียหรือเจ็บป่วยในขณะเดินทาง โดยเฉพาะถ้าท่านมีเด็กเดินทางไปด้วยยิ่งจำเป็น บางพื้นที่มีปัญหาเรื่องอหิวาต์ หรืออุจจาระร่วงอย่างแรง เกิดขึ้นอยู่เสมอ เช่น จังหวัด 3 ส. (สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม) หรือจังหวัดที่อยู่ริมทะเลยิ่งมีโอกาสเสี่ยงสูง ถ้ากินอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะเข้าไป

8. บางครั้งเราอาจมีปัญหาเรื่องมีเวลาจำกัด เวลาเร่งรัด ไม่สามารถขับรถตระเวนหาร้านอาหารที่ถูกใจ สะอาดถูกหลักอนามัยได้ การจอดรถแวะถามคนท้องถิ่นแถวนั้นหรือถามตำรวจคงจะช่วยให้ประหยัดเวลาได้มาก อีกทั้งจะได้กินอาหารอร่อย และสะอาดถูกหลักอนามัยด้วย

9. ปัญหาอีกประการหนึ่งที่อาจประสบคือ เรื่องราคา โดยเฉพาะพ่อค้าบางคนมองออกว่าท่านเป็นคนต่างถิ่น เป็นขาจร ไม่ใช่ลูกค้าประจำ จึงอาจถูกโก่งราคา หรือขายแพงกว่าที่ควรจะเป็น ถ้าเป็นไปได้จึงควรเลือกร้านที่มีรายการอาหารบอกราคาไว้เรียบร้อยแล้วจะดีกว่า

10. อาหารประเภทจานเดียว เช่น เกี๋ยวเตี๋ยว ผัดไทย อาจเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่งสำหรับท่านที่มีเวลาไม่มากนัก แถมยังราคาไม่แพงจนเกินไป และค่อนข้างสะอาด เพราะปรุงเสร็จใหม่ๆ

ไม่ยากเลยใช่มั้ยครับ หากคุณระมัดระวังได้ตามข้อแนะนำ ไม่ว่าจะเป็นโรคท้องร่วงหรือท้องเสีย ก็ไม่มีสิทธิ์มาเดินพาเหรดรบกวนเวลาท่องเที่ยวของคุณแน่ๆ

ข้อมูลสื่อ

163-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 163
พฤศจิกายน 2535
รู้ก่อนกิน
นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ