• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

error ถึงเวลา...หญิงไทยร่วมใจต้านภัยเอดส์

ถึงเวลา...หญิงไทยร่วมใจต้านภัยเอดส์


“ไป...ผมก็ไปแป๊บเดียว แต่ต้องกินเหล้าก่อน ส่วนใหญ่แล้วไปคนเดียวครับ เพราะเวลากินเหล้าชอบนั่งคนเดียว ตอนไปแดง (ภรรยา) เขาไม่รู้หรอก แต่กลับมาผมก็บอกเขาทุกที จะว่าไปบ่อยหรือเปล่าก็ไม่รู้เหมือนกัน อย่างปีที่แล้วนี่ไม่ได้เที่ยวเลย มาปีนี้เที่ยว มกราคม-มิถุนายน 6-7 ครั้ง”

จนเมื่อประมาณเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เขามีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง จนภรรยาต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดได้วินิจฉัยว่าเป็น “ไส้ติ่งอักเสบ” เมื่อผ่าแล้วปรากฏว่าแผลที่เย็บไว้ไม่หายสนิท ต้องนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลต่ออีกถึงเกือบ 2 เดือนเต็ม ซึ่งก่อให้เกิดความสงสัยแก่แพทย์เป็นอย่างยิ่ง เพราะโดยปกติแผลผ่าตัดทั่วไปจะหายสนิทเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 1 สัปดาห์
ในระหว่างที่อยู่ที่โรงพยาบาลนั่นเอง แพทย์จึงได้เจาะเลือดไปตรวจเพื่อหาสาเหตุ และพร้อมกับตรวจหาเชื้อเอดส์ด้วย ซึ่งผลจากการตรวจพบว่าเขาติดเชื้อไวรัสเอดส์

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของชายนักเที่ยวที่ติดเชื้อเอดส์โดยไม่รู้ตัว อันเกิดขึ้นจากการขาดความระมัดระวัง เมื่อเป็นเช่นนี้ลองคิดดูเถิดว่าภรรยาที่ร่วมเรียงเคียงหมอนจะตกอยู่ในอันตรายเพียงใดในการที่จะมีโอกาสติดเชื้อเอดส์จากสามี

“สามีดิฉันเกิดอุบัติเหตุรถชนกับรถเมล์ ได้รับบาดเจ็บเข้าโรงพยาบาลลำพังบาดเจ็บยังไม่เท่าไร นี่หมอบอกว่าแฟนดิฉันเป็นเอดส์ด้วย หมอขอตรวจเลือดดิฉัน วันนี้นัดไปฟังผลบอกว่าดิฉันติดเชื้อด้วย ไม่อยากเชื่อว่าดิฉันจะเป็นโรคนี้ด้วย ก็ในเมื่อดูจากภายนอกก็ยังอ้วนท้วน แข็งแรงดี โชคดีที่ลูกๆดิฉันไม่มีใครเป็น...”

เหตุการณ์ข้างต้นอาจเกิดกับครอบครัวของใครก็ได้หากสามียังเป็นคนที่ชอบเที่ยว (ผู้หญิง) โดยที่ภรรยาไม่รู้ จึงไม่ทันได้ป้องกันตัว
 


มองสถานการณ์เอดส์

จากข้อมูลของกองโรคเอดส์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ผู้หญิงที่ไม่ได้ประกอบอาชีพบริการทางเพศมีจำนวนผู้ติดเชื้อเอดส์ถึง 1,808 คน และมีเด็กทารกที่คลอดจากแม่ที่ติดเอดส์มีถึง 349 คน (กันยายน 2527-15 กรกฎาคม 2534)

เชื่อแน่ว่าหากมีการเก็บตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อต่อไปอีก คงจะมีจำนวนมากกว่านี้อีกหลายเท่าทีเดียว (ปัจจุบันจะเก็บแต่เฉพาะจำนวนผู้ป่วยเอดส์และผู้มีอาการสัมพันธ์กับเอดส์เท่านั้น)
ก่อนหน้านี้เราเคยเชื่อกันว่าหากไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง อาทิ มีพฤติกรรมการรักร่วมเพศ เช่น เกย์ ติดยาเสพติด หรือขายบริการทางเพศ ก็จะไม่มีโอกาสติดเอดส์
แต่ปัจจุบันเป็นที่ตระหนักโดยทั่วไปแล้วว่า ทุกคนที่มีเพศสัมพันธ์สำส่อน หรือมีคู่นอนที่มีเพศสัมพันธ์สำส่อน ย่อมมีโอกาสติดเชื้อเอดส์ได้
การเที่ยวหญิงบริการเดือนละครั้งหรือปีละครั้งสองครั้ง หรือนานๆครั้งของคุณพ่อบ้านทั้งหลาย ย่อมมีโอกาสที่คุณจะได้รับเชื้อไวรัสเอดส์เป็นของแถมกลับมาบ้าน และซ้ำร้ายยิ่งกว่านั้นยังพลอยทำให้ภรรยาและลูกได้รับเชื้อโรคร้ายนี้ไปจากคุณพ่อบ้านด้วย
หากจะมองภาพรวมของสถานการณ์โรคเอดส์ในด้านจำนวนผู้ติดเชื้อเอดส์ในเมืองไทยในขณะนี้จะยังคงมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆอย่างไม่มีทีท่าว่าจะชะลอตัวลง อย่างน้อยก็ในอีก 5 ปีข้างหน้าจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วประเทศจะเพิ่มขึ้นจาก 3 แสนกว่าคนในปีนี้ และเป็นกว่า 3 ล้านคนในอีก 9 ปีข้างหน้าอย่างแน่นอน
จากการศึกษาผู้ติดเชื้อในบ้านเราพบว่า ในแต่ละปีจะมีผู้ติดเชื้อเอดส์ร้อยละ 6-7 ที่ยังไม่มีอาการ จะเกิดอาการของโรคเอดส์ขึ้น ดังนั้น ภายใน 5 ปีจะมีผู้ป่วยเอดส์ที่มีอาการกระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งรวมทั้งผู้ป่วยเอดส์ที่เป็นแม่บ้าน และทารกน้อยซึ่งต้องมารับเคราะห์กรรมทั้งที่มิได้รู้อิโหน่อิเหน่กับการกับการประพฤติสำส่อนทางเพศด้วยเลยแม้แต่น้อย
สำหรับทางองค์การอนามัยโลกได้รายงานไว้เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2534 ว่า แม้จะมีรายงานผู้ป่วยเอดส์จากประเทศต่างๆทั่วโลกรวม 366,455 ราย แต่จำนวนผู้ป่วยที่แท้จริง (ทั้งที่ไม่มีการรายงานหรือไม่ได้มีการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเอดส์) น่าจะเป็น 1 ล้าน 5 แสนคน และในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยเด็กประมาณ 5 แสนคน
นอกจากนี้ทางองค์การอนามัยโลกยังคาดว่ามีผู้ติดเชื้อเอดส์ (ทั้งที่ป่วยและไม่ป่วย) ทั่วโลกประมาณ 9-11 ล้านคน โดยในจำนวนนี้เป็นเด็ก 1 ล้านคน และเป็นสตรีกว่า 3 ล้านคน และที่น่ากลัวกว่านั้นก็คือ พอถึงปี พ.ศ.2543 คาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อทั้งหมด 3o-4o ล้านคน
วงจรเอดส์จากพ่อบ้านสู่สมาชิกในครอบครัว
ลองมาดูกันว่าวงจรอุบาทว์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
- ทัศนคติในการเที่ยวหญิงโสเภณี
หากมีการตั้งคำถามกับชายไทยทั่วประเทศในประเด็นที่ว่า “รู้สึกอย่างไรกับการที่ผู้ชายเที่ยวโสเภณี”
เกือบร้อยทั้งร้อยคงจะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “เป็นเรื่องปกติ”
นั่นเพราะผู้ชายส่วนใหญ่คิดว่าการเที่ยวหญิงบริการถือเป็นส่วนหนึ่งของการหาความสำราญส่วนตัวในยามค่ำคืน ถ้าใครไม่เคยเที่ยวนี่สิดูจะเป็นเรื่องแปลก ที่แย่กว่านั้นก็คืออาจจะถูกมองว่าเป็น “ตุ๊ด” หรือ “ไอ้แหย” ไปเลยก็ได้ ทั้งที่คนที่ไม่เที่ยวคือคนที่เป็นชายชาตรีมากกว่า
ด้วยทัศนคติดังกล่าวของชายไทยได้นำไปสู่พฤติกรรมต่างๆที่ทำให้ตกเป็น “เหยื่อ” ของโรคเอดส์ได้ และวิถีที่นำไปสู่การเป็นโรคเอดส์ของพ่อบ้านก็มีปัจจัยต่างๆมากมาย อันได้แก่
1. วัฒนธรรมการ “ขึ้นครู”
ค่านิยมในการเที่ยวโสเภณีของผู้ชายนั้น บางคนอาจจะเริ่มตั้งแต่วัยรุ่น เพราะโดยธรรมชาติแล้ววัยรุ่นมักจะเป็นวัยที่อยากรู้อยากเห็น อยากลอง ประกอบกับการชักชวนของเพื่อนฝูง ผนวกเข้ากับสื่อต่างๆมากมายที่ออกมายั่วยุและกระตุ้นความอยากรู้อยากลองของเด็กให้มากยิ่งขึ้น จึงไม่เป็นการยากเลยที่ปัจจัยต่างๆเหล่านี้จะนำเด็กวัยรุ่นไปสู่การ “ขึ้นครู” กับสาวเจ้าผู้เจนโลกในสถานบริการทางเพศ และด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงทำให้วัยรุ่นไม่ทันเตรียม “เสื้อเกราะ” หรือถุงยางอนามัยก่อนลงสนามรบ ผลก็คือเด็กน้อยผู้น่าสงสารอาจได้ของแถมคือ “เอดส์” กลับไปด้วย
2. ไปที่ไหนต้องถึงที่นั่น
เหตุผลในการที่จะหาเรื่องเที่ยวของผู้ชายนั้นมีอยู่ร้อยแปด โดยมักจะอ้างว่า “มาถึงที่แล้ว ไม่ได้ชม (กิน) ของดีของที่นี่แล้วเหมือนกับมาไม่ถึง” และส่วนมาก “ของดี” ที่ว่านั้นมักจะหนีไม่พ้นการลิ้มลอง “ผู้หญิง” ของเมืองนั้นๆ และถ้าหากโชคร้ายบังเอิญพลัดหลงเข้าไปในแหล่งที่หญิงบริการเป็นโรคเอดส์ร้อยละ 1oo แล้วล่ะก็ จะหาว่าไม่เตือนนะ จะบอกให้
3. เลี้ยงดูแล้วต้องปูเสื่อ
“ธรรมเนียมไทยแต่โบราณ ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ” ซึ่งนอกจากการเลี้ยงดูแขกเหรื่อจนอิ่มหมีพีมันแล้วเจ้าภาพคนไทยยังยึดถือธรรมเนียมว่าต้องสร้างความบันเทิงให้กับแขกผู้มาเยือนด้วยวิธีต่างๆด้วยจึงจะครบสูตร และส่วนมากรายการสุดท้ายมักจะต้องจบลงด้วยการ “ปูเสื่อ” กับสาวๆตามสถานเริงรมย์ต่างๆ ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่รับเลี้ยงจากเจ้าภาพในลักษณะเช่นนี้บ่อยๆ ก็ควรเปลี่ยนพฤติกรรมเจ้าภาพหรือของตนเองไว้บ้างก็ดี
- ดื่มเหล้าแล้วต้องเที่ยวผู้หญิง
พ่อบ้านนักดื่มมักชอบ “แว่บ” ภรรยาที่บ้านออกมาดื่มเหล้ากับพรรคพวกเพื่อนฝูง และไหนๆก็หนีออกมาเที่ยวได้สำเร็จแล้ว การจะกลับเข้าบ้านง่ายๆโดยไม่ไปเที่ยวต่อก็ดูจะกระไรอยู่ พวกเขาจึงอาจจะชวนกันไปต่อที่อื่นซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็มักจะเป็นสถานบริการทางเพศที่มีกระจายอยู่ทุกหนทุกแห่งทั่วไป และในเวลาที่เมามายจนเกือบขาดสติเช่นนี้ การรู้จักป้องกันตนเองด้วยการสวมถุงยางอนามัยก็คงจะเป็นเรื่องที่คิดไม่ถึง แต่เขาหารู้ไม่ว่าความผิดพลาดเพียงครั้งเดียวนี้ อาจมีผลทำให้เขาเหล่านั้นเสียใจไปตลอดชีวิต...หากได้รู้จักกับ “เอดส์”
- ปัญหาการไม่ยอมใช้ถุงยางอนามัย
นอกจากการเมามายจนขาดสติจึงทำให้ไม่ยอมสวมถุงยางอนามัยแล้ว หลายคนก็ต่างมีเหตุผลของตนเองในการที่ไม่ยอมใช้ถุงยางอนามัย อาทิเช่น
- ค่านิยมที่ว่าชายใดสวมถุงยางอนามัยเวลาเที่ยวผู้หญิงแสดงว่าไม่แน่จริง จึงกลัวติดโรค
- ความรู้สึกที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “อุปาทาน” ที่คิดว่าสวมถุงยางอนามัยแล้วได้ความรู้สึกที่ด้อยกว่าการไม่สวม โดยบางคนให้เหตุผลว่ารู้สึกไม่เป็นธรรมชาติ
- บางคนตั้งแต่เริ่มมีพฤติกรรมทางเพศมาก็ไม่เคยใส่ถุงยางอนามัยเลย จึงไม่กล้าลองสวม
- หลายคนเคยใช้ถุงยางอนามัยแล้วบอกว่ารู้สึกเจ็บ เพราะรัดแน่นจนเกินไป
- บางคนรู้สึกเหมือนกับอวัยวะเพศต้องแช่อยู่ในน้ำอสุจินานๆ สร้างความรำคาญให้ตนเอง
- บางคนเชื่อว่าหญิงบริการที่ไม่ค่อยสวย คนไม่ค่อยใช้บริการ จึงไม่จำเป็นต้องสวมถุงยางอนามัยก็ได้ จะสวมเฉพาะเวลาที่ร่วมเพศกับคนสวยๆเท่านั้น
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือส่วนหนึ่งของสาเหตุอันเกิดจากทัศนคติที่ผิดในด้านพฤติกรรมทางเพศของผู้ชายหรือคุณพ่อบ้าน ซึ่งมักจะเป็นผู้นำเชื้อเอดส์มาฝากสมาชิกในครอบครัว
ภัยของแม่บ้าน
อันที่จริงแล้วคุณแม่บ้านเองก็มีส่วนทำให้เอดส์เข้ามาถึงตัวได้ง่ายขึ้นด้วยเช่นกัน ดังเหตุผลต่างๆต่อไปนี้
1. คิดว่าตนเองไม่ได้อยู่ในกลุ่ม
แม่บ้านหลายคนเพิกเฉยในการให้ความสำคัญกับโรคเอดส์ ด้วยคิดว่าตนเองไม่ได้อยู่ใน “กลุ่มเสี่ยง” ก็ไม่น่าจะเข้าข่ายที่ต้องป้องกันแต่อย่างใด ทั้งที่จริงแล้วแม่บ้านที่มีพ่อบ้านเป็นนักเที่ยวทุกคนต่างมี “พฤติกรรมเสี่ยง” ต่อการติดโรคเอดส์ได้ค่อนข้างมากทีเดียว
2. เชื่อมั่นในตัวสามีมากเกินไป
มีแม่บ้านจำนวนมากทีเดียวที่ความสัมพันธ์กับสามียังไม่อยู่ในสภาพที่จะทำให้สามีเปลี่ยนพฤติกรรมการเที่ยวได้ แต่ทั้งนี้สามีอาจจะให้สัญญาว่าจะเลิกเที่ยว หากยังเที่ยวต่อ หรืออาจสัญญาว่าจะสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่เที่ยว ทั้งที่จริงแล้วอาจจะใส่บ้างลืมบ้าง ในกรณีเช่นนี้หากแม่บ้านให้ความไว้วางใจจนจนเกินไปแก่สามีซึ่งอดีตเป็นนักเที่ยวตัวฉกาจก็อาจจะต้องยกหัวเข่าขึ้นมาซับน้ำตาเป็นครั้งคราวเมื่อได้รู้ความจริงหลังการตรวจเลือด และก็เชื่อว่ามีแม่บ้านประเภทนี้อยู่ในสังคมไทยเรามากทีเดียว
3. คิดว่าการสวมถุงยางอนามัยเพียงเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์เท่านั้น
ความเข้าใจของผู้หญิงไทยส่วนใหญ่ (ยกเว้นหญิงที่มีอาชีพบริการทางเพศ) มักมีความคิดว่าหากจะให้สามีสวมถุงยางอนามัยขณะร่วมเพศ จุดประสงค์ก็เพียงเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์เท่านั้น มิใช่เพื่อปกป้องตนเองให้พ้นจากการติดโรคจากสามี ทั้งนี้อาจจะด้วยเหตุผลที่มีความเชื่อมั่นในตัวสามีว่าจะไม่ไปนอกใจหรือเที่ยวสำส่อนที่ใดดังที่กล่าวไว้ข้างต้น เหตุนี้จึงทำให้แม่บ้านหลายๆคนถึงกับตกใจเมื่อรู้ว่าสามีเป็นเอดส์ และยิ่งไปกว่านั้นเธอถึงกับช็อกเมื่อรู้ว่าจนเองได้ติดโรคนี้ไปจากสามีเสียแล้ว
4. คิดว่าสามีรังเกียจจึงใส่ถุงยางอนามัยขณะร่วมเพศกับตน
พ่อบ้านบางคนด้วยความที่รู้ว่าตนเองไปเที่ยวมาและได้ลืมป้องกันด้วยการสวมถุงยางอนามัย ก็เป็นห่วงว่าภรรยาและลูกอาจจะพลอยติดโรคไปจากเขาด้วยในกรณีที่เขาบังเอิญไปรับเชื้อจากข้างนอกบ้านมา เขาจึงหาทางป้องกันด้วยการสวมถุงยางขณะร่วมเพศกับภรรยา แต่ฝ่ายภรรยากลับไม่เข้าใจ คิดว่าสามีรังเกียจตน ถ้าจะอธิบายเหตุผลตามความเป็นจริง ภรรยาบางคนอาจจะยอมรับไม่ได้ สามีจึงยอมทำตามใจภรรยาด้วยไม่อยากขัดใจเธอก็มี อย่างนี้ถ้าติดโรคทั้งคู่ก็ไม่รู้ว่าจะโทษใครดีเหมือนกัน
ความทุกข์ที่เกิดขึ้นของชีวิตคู่ภายหลังการติดเชื้อเอดส์
ภาพของ “เอดส์” ในความเข้าใจของคนในสังคมโดยทั่วไปคือ เป็นโรคร้ายที่สร้างความทุกข์ทรมานให้แก่ผู้ป่วยอย่างมาก เมื่อเป็นโรคนี้ก็มีแต่จะรอวันตายเท่านั้น และคนที่เป็นโรคนี้มักจะเป็นคนที่มีพฤติกรรมที่ “ผิด” ไปจากมาตรฐานของสังคม
นั่นคือภาพของเอดส์ที่เราท่านรู้จักกันในอดีต แต่ปัจจุบันหลายคนเข้าใจได้ถึงปัญหา และได้ช่วยกันสร้างกำลังใจให้แก่ผู้ติดเชื้อ แต่...ยังมีอีกหลายๆคนที่ไม่เข้าใจต่อโรคนี้ ต่อคนที่เป็นโรคนี้ และคนเหล่านี้นี่แหละที่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความทุกข์ให้เกิดขึ้นในจิตใจของคนที่ติดเชื้อเอดส์...อย่างไม่รู้ตัว ผลกระทบต่างๆนั้น ได้แก่
1. ความทุกข์ทางจิตใจที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ผู้ที่ทราบว่าตนติดเชื้อ และผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ อาทิเช่น
ความกังวลของแม่บ้านที่สามีชอบเที่ยว ความกังวลเรื่องอนาคต ความรู้สึกผิดและความปั่นป่วนทางจิตใจในการปรับตัวกับสภาพใหม่ของผู้ที่เพิ่งทราบว่าตนติดเชื้อ ความห่วงใย ความกังวล และความกลัวของภรรยา (สามี) และลูกของผู้ติดเชื้อ
2. ความทุกข์ที่เกิดจากปฏิกิริยาทางสังคม
ความทุกข์ที่เกิดจากทัศนคติและการแสดงออกที่มีลักษณะรังเกียจ กลัว ดูถูก หรือโทษผู้ติดเชื้อ หรือความทุกข์ที่เกิดจากการปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อในลักษณะที่ซ้ำเติมปัญหาของเขา เช่น การให้ออกจากงาน การจำกัดสิทธิต่างๆ การบังคับให้ไปอยู่สถานสงเคราะห์ และอื่นๆ
3. ความทุกข์ที่เกิดจากอาการเจ็บป่วยต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อเอดส์
ทุกคนมีส่วนช่วยผู้ติดเชื้อเอดส์ได้
สังคมไทยในวันนี้ โดยเฉพาะสังคมของคนเมือง ดูเหมือนจะมีแนวโน้มไปในลักษณะต่างคนต่างอยู่กันมากขึ้น ชีวิตที่ผ่านไปในแต่ละวันนั้น แต่ละคนก็เฝ้าคิดแต่เรื่องของตน และของครอบครัวเท่านั้น ช่องว่างระหว่างตนกับคนอื่นๆในสังคมจึงห่างออกไปทุกที
หากเราทุกคนตระหนักได้ว่ามนุษย์ที่เกิดมาบนโลกเบี้ยวๆใบนี้ทั้งหมดคือพี่น้องกัน หรืออย่างน้อยก็เป็นเพื่อนร่วมชะตากรรมเดียวกันบนผืนพิภพนี้ เราก็ควรจะเกื้อกูลและเอื้ออาทรแก่คนที่ตกอยู่ในสภาพที่ด้อยกว่าเราในสังคมให้มากยิ่งๆขึ้น โดยเฉพาะกับผู้ที่กำลังตกอยู่ในความทุกข์...จากโรคเอดส์
สำหรับความทุกข์ประเภทแรกดังที่กล่าวข้างต้นนั้น สามารถผ่อนหนักเป็นเบาได้ หากมีการให้บริการช่วยเหลือแก่ผู้ที่เป็นทุกข์ เช่น การบริการให้คำปรึกษาปรึกษาเพื่อเสริมกำลังใจ และช่วยให้ผู้ติดเชื้อและครอบครัวสามารถปรับตัวได้ดีที่สุด และอยากจะขอย้ำว่าการติดเชื้อไม่จำเป็นต้องทำให้สิ้นอนาคตหรือสิ้นความสุขแต่อย่างใด เพราะมีผู้ติดเชื้อบางรายที่สามารถพัฒนาชีวิตตนให้มีคุณค่ายิ่งขึ้นหลังจากที่รู้ว่าตนติดเชื้อ หรือแม้กระทั่งในช่วงที่เกิดอาการป่วย แต่การพัฒนาคุณภาพชีวิตเช่นนี้ต้องได้รับการส่งเสริมจากคนรอบข้างและจากผู้ให้คำปรึกษาที่ดี
ส่วนความทุกข์ประเภทที่ 2 นั้น ต้องถือว่าเป็นความทุกข์ที่ขาดความจำเป็นโดยสิ้นเชิง อีกทั้งยังเป็นความทุกข์ที่ทำลายจิตใจและกำลังใจของผู้ติดเชื้อเอดส์ยิ่งกว่าความทุกข์ประเภทอื่น แต่การกำจัดความกลัวที่ไร้เหตุผล อคติที่ทำลายคน และความเห็นแก่ตัวแบบคับแคบที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยมิใช่เรื่องง่าย แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกันแก้ โดยเฉพาะหน่วยงานราชการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเอดส์ ควรปฏิบัติตนเป็นตัวอย่าง และให้การศึกษาที่ถูกต้องแก่ประชาชน
ในส่วนของความทุกข์ประเภทที่ 3 นั้น เป็นเรื่องที่สามารถบรรเทาได้เช่นกัน หากรัฐบาลมีบริการและสวัสดิการทางด้านการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ดี ซึ่งต่อไปวิวัฒนาการทางด้านการแพทย์จะสามารถยืดอายุและบรรเทาอาการป่วยได้มากขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาใหญ่อยู่ที่ความพร้อมของรัฐบาลที่จะทุ่มเททรัพยากรเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยเอดส์ แต่ในปัจจุบันความพร้อมนี้ก็ยังไม่ปรากฏตัวเท่าที่ควร
หญิงไทยร่วมใจต้านภัยเอดส์
เอดส์...หาใช่มฤตยูแห่งความตายดังที่หลายคนกลัวกันนักหนา หากเป็นเพียงเชื้อโรคตัวเล็กๆที่พอถูกอากาศภายนอกได้ไม่นานก็จะสิ้นฤทธิ์ แต่ที่หลายคนเกิดความหวาดกลัวเจ้าโรคนี้และพาลรังเกียจคนที่เป็นโรคนี้ก็เป็นเพราะรู้ว่ายังไม่มียาใดที่จะรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้
แต่เราสามารถป้องกันได้
หากคุณเป็นภรรยาที่มีสามีชอบเที่ยวหรือน่าสงสัยว่าชอบแอบไปเที่ยว คุณอาจจะรู้สึกวิตกกังวลว่าสักวันหนึ่งบังเอิญเคราะห์หามยามซวย สามีคุณเกิดพลาดท่าไปรับเชื้อเอดส์มาไว้กับตัวเข้าให้แล้ว นอกจากเขาจะเป็นสมาชิกใหม่ของสมาคมผู้ติดเชื้อเอดส์ คุณและลูกก็อาจจะต้องพลอยรับกรรมนี้ไปด้วย
ในสถานการณ์เช่นนี้ คุณเป็นคนเดียวที่จะคุ้มครองตัวคุณเอง ลูกน้อย และสามีให้ปลอดภัยจากโรคนี้ได้ โดย
ขั้นแรก วางสื่อไว้ในบ้าน คุณควรพยายามหาสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ โปสเตอร์ สติกเกอร์ หรือวิดีโอที่เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันเอดส์มาไว้ในที่ที่สามีคุณจะเห็นได้ หรือหยิบไปเปิดอ่านหรือดูได้ เพื่อที่เขาจะได้ซึมซับข้อมูลเหล่านี้โดยที่คุณไม่ต้องเสียเวลาอธิบายให้เขาฟัง และจะเป็นการดีอีกด้วยเพราะผู้ชายบางคนไม่ชอบตกอยู่ในฐานะที่จะต้องฟังคำสั่งสอนจากใครเหมือนตอนที่เขายังเป็นเด็ก วิธีนี้เขาจะมีโอกาสศึกษาข้อมูลได้ด้วยตัวเอง
ขั้นที่สอง คอยตอกย้ำ พยายามให้ข้อมูลแก่สามีเรื่องแนวคิดในการป้องกันโรคเอดส์ซึ่งคุณได้ยินได้ฟังมาจากที่อื่นๆ เช่น จากรายการวิทยุ รายการโทรทัศน์ หรือแนวคิดของคนรอบข้างที่มีต่อปัญหาอันเกิดจากโรคเอดส์ เพื่อเป็นการตอกย้ำแผนขั้นที่ 1 ของคุณให้หนักแน่นยิ่งขึ้น
ขั้นที่สาม คอยตรวจสอบ ในกรณีที่คุณไม่แน่ใจว่าสามีไปรับเชื้อจากนอกบ้านมาหรือยัง ควรชักชวนกันไปตรวจเลือดเพื่อความแน่ใจ แต่ก่อนที่จะไปตรวจจะต้องคุยกันให้เข้าใจก่อนว่า สิ่งที่ทำนี้ไม่ใช่ไม่ใช่เป็นการแสดงอาการรังเกียจเขา แต่ทำเพื่อปกป้องสวัสดิภาพของคุณเองและลูกน้อยเท่านั้น เพราะคุณเองก็เชื่อมั่นว่าสามีก็รักคุณและลูกมาก คงไม่อยากให้คุณและลูกต้องพลอยได้รับเชื้อไปด้วย
ในระหว่างที่รอผลการตรวจเลือด คุณแม่บ้านและสามีควรสวมถุงยางอนามัยขณะร่วมเพศด้วยเพื่อความปลอดภัย ถึงแม้สามีเคยตรวจเลือดแล้วไม่พบเชื้อ แต่หากสามีมีพฤติกรรมชอบเที่ยว คุณแม่บ้านควรป้องกันโดยใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เพราะเราไม่ทราบว่าจะติดเชื้อมาเมื่อไร
ขั้นที่สี่ อย่าวางใจฺ การควบคุมพฤติกรรมทางเพศให้มีความปลอดภัย ทุกคนต้องตั้งตนอยู่บนพื้นฐานของการมีสติสัมปชัญญะที่ครบถ้วน หากในคืนนั้นเป็นคืนแห่งการฉลองครบรอบวันแต่งงาน หรือโอกาสพิเศษใดๆก็ตาม ถ้าคุณดื่มเหล้าพอๆกับสามีก่อนมีเพศสัมพันธ์กัน โปรดระวังว่าคุณอาจลืมบอกสามีให้สวมถุงยางอนามัยได้ ฉะนั้นจงอย่าเสี่ยง ถ้าจำเป็นต้องดื่ม ก็ให้จิบเพียงเล็กน้อยก็พอ
ขั้นสุดท้าย อย่าใจอ่อน ข้ออ้างในการใช้ถุงยางอนามัยของผู้ชายนั้นมีร้อยแปดดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว ดังนั้นจึงเป็นการยากที่คุณแม่บ้านจะบังคับให้สามีสวมถุงยางอนามัยได้สำเร็จ เพราะเขาอาจจะอิดออดอยู่หลายกระบวนท่า และในที่สุดหากคุณยอมใจอ่อน เขาก็จะไม่ยอมสวมถุงยางอนามัยเลยในคืนนั้น ดังนั้นคุณจะต้องใจแข็ง และยืนกรานโดยยื่นคำขาดไปเลย ถ้าเขายังไม่ยอม คุณก็จงอย่ายอมเขา อาจจะใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดโดยแยกห้องกันนอนไปเลย
เฮ้อ! คุณสามีหากอ่านบทความนี้จบแล้ว ก็อย่าหาว่าผู้เขียนมุ่งประเด็นไปที่ความผิดของคุณแต่ฝ่ายเดียวเลยนะคะ เราเพียงแต่มองจากสถานการณ์โดยรวมที่เกิดขึ้นในสังคมขณะนี้เท่านั้น ซึ่งหากว่าคุณสามีที่ถือศีล 5 มาตลอด และซื่อสัตย์ต่อภรรยาอยู่เป็นนิตย์ก็คงไม่อยู่ในประเด็นที่พูดถึงนี้ และก็ขอฝากให้คุณช่วยรักษาความดีนี้ไว้ให้นานๆต่อไปด้วย
ขณะนี้ก็ย่างเข้าฤดูหนาวแล้ว เห็นมีหลายคู่กำลังจะจูงมือกันเข้าสู่ประตูวิวาห์ ก็ขอฝากความปรารถนาดีมายังคู่บ่าว-สาวในอนาคตว่า ก่อนจะตัดสินใจร่วมหอลงโรงกันให้ยาวนาน ก็ขอให้ชักชวนกันไปตรวจเลือดเสียก่อนเพื่อความสบายใจของทั้งสองฝ่าย แต่เมื่อผลออกมาไม่เป็นที่พอใจแล้ว หากรักกันจริง ก็คงไม่ทิ้งกันหรอก... จริงมั้ยคะ
เพราะคุณก็รู้นี่ว่า เอดส์นั้น...ป้องกันได้

ข้อมูล :

  • วิทยานิพนธ์เรื่อง “การศึกษาพฤติกรรมการสื่อสารและปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการอยู่ร่วมกันระหว่างผู้ติดเชื้อเอดส์ในระยะที่ไม่มีอาการกับครอบครัว” ของนางสาวเกศินี จุฑาวิจิตร บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2533
  • บทความเรื่อง “เอดส์กับความทุกข์ในสังคมไทย” โดยอ.จอน อึ้งภากรณ์ และชูศรี เลิศผดุงชัย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
  • บทความเรื่อง “สถานการณ์โรคเอดส์ของไทย” โดย น.พ.ประพันธ์ ภานุภาค ในนิตยสารเพื่อนสุขภาพ ปีที่ 3 ฉ.2 2534
  • กองโรคเอดส์ กระทรวงสาธารณสุข
  • โครงการเข้าถึงเอดส์ (แอกเซส)

เวทีทัศนะ
ศ.น.พ.สุพร เกิดสว่าง
ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
“แนวโน้มของการติดเชื้อเอดส์ในหญิงมีครรภ์ไม่สูงขึ้นไปเร็วนัก แต่ก็ยังถือว่าสูง คือประมาณร้อยละ 1 ทั่วประเทศ ในส่วนของโรงพยาบาลศิริราชก็ประมาณร้อยละ 1 เฉลี่ยประมาณเดือนละ 2o คน ซึ่งส่วนมากแล้วรับเชื้อมาจากสามี
ถ้าพูดถึงโอกาสที่เชื้อเอดส์จะถ่ายทอดถึงลูกนั้นประมาณร้อยละ 15-3o ขึ้นอยู่กับการรับเชื้อของแม่ ถ้าหากแม่เริ่มรับเชื้อตอนตั้งครรภ์ โอกาสที่ถ่ายทอดถึงลูกก็มีมาก แต่ถ้ารับเชื้อก่อน พ้นระยะที่มีไวรัสในเลือดมากแล้ว และแม่ไม่มีอาการ โอกาสที่ลูกจะได้รับเชื้อก็น้อยลง
สำหรับการให้คำปรึกษาแก่คนไข้ เราจะให้คนไข้เข้าใจถึงสถานการณ์ของคนติดเชื้อเอดส์ว่าจะเป็นอย่างไร จะถ่ายทอดถึงลูกได้มากน้อยแค่ไหน รวมถึงเรื่องของสังคมด้วยว่า สภาพแวดล้อมทางสังคมเขาเป็นอย่างไร ฐานะทางเศรษฐกิจ ญาติพี่น้องเป็นอย่างไร เพราะจะเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งที่จะช่วยทำให้เขาตัดสินใจว่าจะเลี้ยงลูกหรือเปล่า ในการตัดสินใจเหล่านี้ผู้ป่วยจะเป็นผู้ตัดสินใจเองทั้งหมด เราจะไม่ไปช่วยตัดสินใจให้ เพียงแต่ให้ข้อมูลทางการแพทย์ไป
การจะชี้ชัดว่าเด็กทารกในครรภ์จะติดเชื้อเอดส์หรือไม่นั้น จะทำไม่ได้จนกว่าเด็กจะคลอดแล้ว 15-18 เดือน โดยการตรวจเลือด การให้การศึกษาเรื่องโรคเอดส์จะต้องให้การศึกษาตั้งแต่เริ่มเข้าสู่วัยรุ่น ให้รู้จักการป้องกันตัวเอง ถ้ารอตอนแต่งงานก็จะช้าไป และก่อนแต่งงานควรที่จะตรวจเช็กเลือดดูทั้งหญิงและชาย ถ้าหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีเลือดบวก ก็ให้เขาตัดสินใจว่าจะแต่งงานกันหรือเปล่า และการให้การศึกษาก็ต้องไม่ให้ในแง่ที่เป็นภาพลบอย่างเดียว แต่ให้เขารู้จักโรคเอดส์ และรู้จักป้องกัน ตลอดจนเข้าใจด้วยว่าคนที่ติดโรคเอดส์ไม่ใช่คนที่เราจะขับออกจากสังคม
มาตรการอย่างหนึ่งที่มีการเสนอก็คือพยายามลดธุรกิจทางเพศ ซึ่งเป็นเรื่องยาก แต่เราสามารถทำได้โดยขอความร่วมมือจากผู้ประกอบธุรกิจทางเพศให้ช่วยควบคุมดูแล สถานบริการที่เขาดูแลอยู่ ให้แขกที่มาใช้บริการใช้ถุงยางอนามัย ถ้าแขกไม่ยอมก็อาจจะปฏิเสธที่จะให้บริการ ถ้าหากทำได้ทั้งประเทศ การแพร่กระจายของโรคเอดส์ก็จะลดลง...”

นายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค
ผู้อำนวยการโครงการโรคเอดส์ สภากาชาดไทย
“จากกราฟสถิติ หญิงที่มาฝากครรภ์แล้วติดเชื้อเอดส์ทั่วประเทศมีจำนวนสูงขึ้น ทั้งกลุ่มชายวัยฉกรรจ์ หญิงวัยเจริญพันธุ์ เป็นการบอกว่าเชื้อเอดส์ได้เข้ามาถึงสถาบันครอบครัวเต็มรูปแบบแล้ว นอกจากนั้นเรายังพบว่า อัตราการติดเชื้อในประชาชนกลุ่มต่างๆ เพิ่มขึ้นเป็นระยะๆตลอดมา ยังไม่มีทีท่าว่าถึงจุด “อิ่มตัว” คือ จุดที่ไม่มีคนติดเชื้อเพิ่มขึ้น... การให้ความรู้แก่ประชาชนให้ตระหนักถึงการป้องกันการติดเชื้อเอดส์ทั้งตนเองและครอบครัว ถ้าหากการรณรงค์ได้ผล คาดว่าจะถึงจุดอิ่มตัวในอีกในอีกสองถึงสามปีข้างหน้า
ทางด้านสถาบันครอบครัว สามีและภรรยาคงต้องพูดกันให้ชัดเจนและเข้าใจถึงปัญหาโรคเอดส์ โดยเฉพาะสามีจะต้องรับผิดชอบต่อครอบครัว ไม่เห็นแก่ความสุขเล็กๆน้อยๆ ที่อาจจะทำให้ครอบครัวเดือดร้อน ขณะเดียวกันภรรยาก็ควรจะทำอะไรบางอย่างที่สามารถดึงดูดใจสามีไม่ให้ออกไปเที่ยว เช่น ทำตัวให้สดชื่น มีความน่ารัก เป็นต้น เป็นส่วนหนึ่งของเทคนิคที่แม่บ้านควรนำออกมาใช้ควบคู่กับการพูดคุยกันระหว่างสามีภรรยา
อีกส่วนหนึ่งคือเราน่าจะมีการรณรงค์ปลุกจิตสำนึกให้ผู้หญิงตระหนักถึงสิทธิของตนที่จะป้องกันตัวเอง เคยคุยกับกลุ่มแม่บ้านบางกลุ่ม มีคนเล่าว่า “ถ้าหากรู้ว่าสามีไปเที่ยวมา จะไม่ยอมให้สามีหลับนอนด้วยเป็นอันขาด ไม่ว่าจะมาประจบ หรือใช้กำลังตบตี ก็จะไม่ยอมใจอ่อน หรือถึงกับต้องแยกไปนอนบ้านแม่ก็ยอม เพื่อป้องกันชีวิตตนเอง” หรือบางครั้งแม่บ้านก็ต้องให้สามีใช้ถุงยาง”
อรอนงค์ อินทรจิตร
ผู้อำนวยการและเลขาธิการมูลนิธิศูนย์ฮอทไลน์
“การตรวจเลือดในคู่บ่าว-สาวถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะการตรวจเลือดไม่ได้เป็นการตรวจเอชไอวีอย่างเดียว เป็นการตรวจหากามโรคด้วย เพราะฉะนั้นคงมีการตรวจสอบทั้งสองคนก่อน แม้ว่าคนสองคนจะมีความไว้วางใจกัน ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการแต่งงาน
สำหรับการให้ความรู้การศึกษาเรื่องเอดส์กับคนที่สนใจโทรศัพท์เข้ามาสอบถาม เราจะแนะนำในเรื่องการดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล ผู้หญิงสมัยก่อนเขาจะไม่พูดถึงถุงยางอนามัยกัน แม่บ้านบางคนถามว่า ถุงยางอนามัยใช้อย่างไร ก่อนหรือหลังอาหาร ซื้อได้ที่ไหน เป็นคำถามที่นึกไม่ถึงว่าจะมีถามกัน บางทีคิดว่าถุงยางอนามัยมีไว้สำหรับใช้กับโสเภณีเท่านั้น เราจะต้องเริ่มสอนตั้งแต่เยาวชนเลยว่าถุงยางอนามัยมีโทษและมีประโยชน์อย่างไร ให้รู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเป็นเรื่องสุขภาพ
ทุกวันนี้ผู้หญิงที่เขามาปรึกษาเรา มีแนวโน้มว่ามีการเปลี่ยนแปลงความคิดมากขึ้น คือระหว่างความรัก ความตาย ส่วนใหญ่ก็จะเลือกการมีชีวิตอยู่ นั่นก็หมายความว่าเริ่มคิดถึงการป้องกันตัวเองกันมากขึ้น
ในการฟ้องร้องกรณีที่ผู้หญิงต้องการหย่าหากว่าสามีติดเชื้อเอดส์ กฎหมายต่างประเทศเขาสามารถทำได้ แต่เมืองไทยเรายังไม่มี อีกอย่างคิดว่าทนายความเมืองไทยเรายังไม่ชำนาญเกี่ยวกับการว่าความกรณีโรคเอดส์อย่างเพียงพอ”

นรินทร์ กรินชัย
ผู้อำนวยการองค์การผู้ติดเชื้อเอชไอวีแห่งประเทศไทย
“ในจำนวนผู้ที่ติดเชื้อเอดส์ทั้งหมดมีทั้งดีและไม่ดี แต่มีไม่กี่คนหรอกที่เอาเชื้อไปแพร่กับคนอื่น ถ้าหากว่าคนที่ได้รับเชื้อมาแล้ว ได้รับความเห็นอกเห็นใจจากสังคม ทุกคนก็จะไม่ทำร้ายสังคม แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะว่าทัศนคติในแง่ลบที่มีต่อคนติดเชื้อเอดส์ ทำให้เขาอยากแก้แค้น อยากตอบโต้สังคม
เรารู้กันอยู่แล้วว่าคนที่ตายด้วยโรคเอดส์นั้นไม่มี แต่ตายด้วยโรคฉวยโอกาส โรคแทรกซ้อน เพราะฉะนั้นเป็นอะไรให้รีบรักษาตรงนั้น แล้วคนที่กลัวส่วนใหญ่แล้วคือคนที่ขาดข้อมูลที่ชัดเจนเพียงพอ จะเห็นว่าเมื่อเทียบโรคเอดส์กับไวรัสตับอักเสบบี แค่การดื่มน้ำร่วมกัน มันก็ติด หรือโรคหวัด ซึ่งติดทางระบบทางเดินหายใจ จริงๆแล้วโรคเหล่านี้ติดง่ายกว่าเอดส์ ซึ่งต้องร่วมเพศร่วมเลือดกันจึงจะติด และการมีเพศสัมพันธ์ไม่ได้หมายความว่าเราจะมีเพศสัมพันธ์กับใครง่ายๆเหมือนกับสัมผัส ซึ่งเรารู้แล้วว่าการสัมผัสไม่ทำให้ติดโรค ฉะนั้นคนที่กลัว และแสดงความรังเกียจผู้ติดเชื้อ จริงๆแล้วแสดงว่าเขาขาดความรู้
สำหรับการแก้ปัญหาโรคเอดส์ การเสนอภาพที่น่ากลัว การขู่ จะไปทำให้ไม่ได้ผลเต็มที่ เพราะว่ามองเห็นไม่ชัดไม่เหมือนกามโรคอื่นๆ การจะควบคุมสถานการณ์จำเป็นต้องมีตัวอย่าง การนำเอาผู้ติดเชื้อเอชไอวีมามีส่วนร่วมในการบอกเล่าประสบการณ์ การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสู่สังคม จึงเป็นวิธีที่สื่อถึงคนอื่นได้ดีอีกวิธีหนึ่ง ”

สุจิตรา วุฒิดำรง
โครงการเข้าถึงเอดส์ (แอกเซส)
“ผลกระทบที่ผู้ติดเชื้อเอดส์จะได้รับก็คือ ในช่วงแรกจะเป็นช่วงการยอมรับ คือต้องยอมรับทั้งตัวเองและครอบครัว
หมายความว่าตัวเองต้องยอมรับสภาพและทำใจให้ได้ว่าตัวเองต้องเสียชีวิต สำหรับครอบครัวต้องใช้เวลาในการทำใจและยอมรับพอสมควร ตอนแรกจะยอมรับในภาวะที่กดดันทั้งครอบครัว แต่พอผ่านไปก็จะเข้าใจและช่วยดูแลรักษาเมื่อเกิดอาการ
ผลกระทบทางด้านอื่นจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของเศรษฐกิจ เพราะถ้าหากว่าทำงานปัญหาเรื่องสุขภาพก็จะทำให้มีผลกระทบกับงาน บางทีอาจต้องออกจากงาน และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวเองสูง ถ้าเป็นคนเดียว อีกคนก็ยังพอช่วยประคับประคองในเรื่องของอาชีพ เรื่องของค่าใช้จ่ายได้ แต่ถ้าเป็นทั้งสามีและภรรยา สุขภาพจิตก็คงต้องแย่มาก แล้วยิ่งถ้ามีลูก ก็ต้องวางแผนว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร
ส่วนแม่บ้านที่สามีชอบเที่ยว ก็คงต้องคุยกับสามีอย่างตรงไปตรงมาว่าเที่ยวได้แต่ต้องป้องกัน อย่าเอาเชื้อมาติดครอบครัว จะเกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย และภรรยาจะต้องเป็นฝ่ายดูแลเรื่องถุงยาง มีเพศสัมพันธ์กับสามีต้องใช้ถุงยางอนามัยเพื่อความปลอดภัย
ในอนาคต โรคเอดส์จะทวีความรุนแรงมากขึ้น ในอีก 5 ปีข้างหน้าคาดว่าจะมีคนติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีกมาก เพราะฉะนั้นประเด็นการรณรงค์จะต้องมุ่งเน้นไปที่การยอมรับ และการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ติดเชื้อเอดส์มากขึ้น เพราะคนติดเชื้อจะมีมากขึ้น โรงพยาบาลจะรับไม่ได้ สถาบันที่จะรองรับผู้ป่วยเหล่านั้นคือครอบครัว ซึ่งความจริงแล้วโรคเอดส์ไม่จำเป็นต้องอยู่โรงพยาบาล ครอบครัวสามารถดูแลได้ ยกเว้นบางโรคเท่านั้นที่ต้องนอนโรงพยาบาลได้ ”

ผู้ติดเชื้อเอดส์
“ดิฉันติดเชื้อมาจากสามี สามีชอบเที่ยวผู้หญิง ตอนไปตรวจที่โรงพยาบาลครั้งแรก เขาไม่ยอมบอก แล้วเขาก็เรียกสามีไปตรวจ พอสามีไปตรวจกลับมาก็บอกว่า เราสองคนติดเชื้อเอดส์ ครั้งแรกดิฉันไม่เชื่อ ก็ว่าเขาว่าพูดเล่นน่า ยังไม่เชื่อ คิดอยู่ว่า เอ๊ะ! เป็นเอดส์นี่เป็นยังไง คิดวนไปวนมา มาเชื่อเอาตอนที่ลูกผอม ไอ ลิ้นเป็นแผล ท้องร่วงบ่อย พอรู้แน่ชัดเสียใจมาก อยากฆ่าตัวตาย เพื่อนก็มาบอกว่าจะฆ่าตัวตายทำไม เพื่อนเป็นมาตั้งนานแล้วไม่เห็นเป็นไร
รู้จักศูนย์ฮอทไลน์ครั้งแรกตอนที่เจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมที่บ้าน แต่ครั้งแรกไม่ยอมบอกเขาหรอกว่าติดเชื้อเอดส์ ไม่อยากบอกให้ใครรู้ ตอนหลังพอบอกเขาแล้ว เขาก็ให้ความช่วยเหลือเรื่องการเงิน เพราะตอนนั้นไม่มีเงินซื้อนมให้ลูกกิน ไม่สบายก็ไม่มีเงินรักษา ส่วนสามีพอรู้ว่าติดเอดส์ก็ทิ้งไปมีเมียใหม่!”

ข้อมูลสื่อ

164-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 164
ธันวาคม 2535
บทความพิเศษ
สุกาญจน์ เลิศบุศย์