• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ต้นเหตุของการปวดหลัง

ต้นเหตุของการปวดหลัง


อาการปวดหลังเป็นความเจ็บปวดที่มีมาคู่กับมนุษย์ จนอาจกล่าวได้ว่า เมื่อเริ่มปรากฏมีมนุษย์เดินด้วยสองขาบนพื้นพิภพนี้ มนุษย์ก็รู้จักกับอาการปวดหลังแล้ว มนุษย์เคลื่อนที่ในลักษณะที่แตกต่างจากสัตว์สี่เท้าอื่นๆ และแตกต่างจากลิง ค่าง ชะนี ที่มีมือห้อยโหนไปมาบนต้นไม้มากกว่าเดินอยู่บน 2 ขา ผลที่ตามมา คือ มนุษย์สามารถใช้มือทั้งสองในการทำกิจกรรมต่างๆได้อย่างสะดวกคล่องแคล่ว แต่ข้อเสียคือ เกิดอาการปวดหลัง โดยเฉพาะบริเวณบั้นเอว และปวดคอเนื่องจากต้องรักษากระดูกสันหลังให้อยู่ในแนวตั้งตรงตลอดเวลา

ความล้มเหลวในการรักษาอาการปวดหลัง

การรักษาอาการปวดหลังในปัจจุบันแทบจะกล่าวได้ว่าประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ถึงแม้วิธีการรักษาจะได้รับการพัฒนาให้ดูเหมือนมีประสิทธิภาพดีขึ้น แต่อาการปวดหลังก็กลับมาเยือนอีกครั้ง แล้วครั้งเล่า จนคลินิกและโรงพยาบาลทุกแห่งรักษากันไม่ไหว ไม่ว่าจะเป็นการกินยาแก้ปวด ยาต้านอักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ การผ่าตัดเอาหมอนรองกระดูกออก หรือเชื่อมกระดูกสันหลังให้ติดกันทีละระดับ สองระดับก็ตาม การรักษาทางกายภาพบำบัดโดยใช้ความร้อนตื้น ความร้อนลึก ความเย็น การกระตุ้นเพื่อลดปวด คลื่นเหนือเสียง การดึงดัด ตลอดจนการใช้วิธีการบริหารมาบำบัด การนวดทางแผนไทยแผนโบราณอื่นๆ และการแนะนำท่าทางอิริยาบถในท่านั่ง ท่ายืน และท่ายกของ แต่ประชากรที่ปวดหลังก็ไม่มีทีท่าว่าจะลดจำนวนลง หากกลับเพิ่มมากขึ้น

ได้เคยมีการเสนอว่า ถ้าการเดินด้วยสองขาทำให้ปวดหลังทำไมไม่เปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์เสียใหม่มาเป็นการคลานอยู่บนสี่เท้าเยี่ยงสัตว์บกอื่นๆ เพราะไม่ปรากฏมีรายงานเกี่ยวกับอาการปวดหลังเกิดขึ้นในสัตว์สี่เท้าเหล่านั้น จริงเท็จแค่ไหนที่ว่าสัตว์บกอื่นๆ ไม่ปวดหลังคงพิสูจน์ได้ยากเพราะสื่อความหมายกันไม่ค่อยได้ แต่การที่จะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมจากการเดินบนเท้าทั้งสองไปเป็นการเดินสี่เท้าดูเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก จึงควรมาดูว่าต้นเหตุของการปวดหลังนั้นเกิดจากอะไรกันแน่ เพื่อจะได้เข้าใจว่าเหตุใดวิธีการรักษาต่างๆ จึงไม่ค่อยได้ผล หรือได้ผลในชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น

โครงสร้างของกระดูกสันหลัง

เคยมีการเปรียบเปรยว่า กระดูกสันหลังนั้นเปรียบเสมือนเสาธงที่ตั้งตรงตระหง่านโดยมีเชือกหรือลวดขึงตรึงไว้รอบเสาจึงไม่ล้ม ถ้าลวดเส้นใดหย่อนลง จะทำให้เสาธงเอนเอียงไป ทำให้เสียหลักได้ กล้ามเนื้อที่อยู่ข้างหน้า ข้างหลัง และด้านหน้าของกระดูกสันหลังจึงคล้ายคลึงกับลวดที่ขึงเสาธงไว้ ถ้ามีความตึงเท่ากันกระดูกสันหลังจะไม่เบี้ยว เมื่อไม่เบี้ยวย่อมไม่เกิดอาการเจ็บปวดขึ้น ฟังดูก็เข้าท่าดี แต่ความจริงกล้ามเนื้อด้านหลังมีความแข็งแรงมากกว่ากล้ามเนื้อท้องที่อยู่ข้างหน้ากระดูกสันหลังถึง 2 เท่า และในคนๆ เดียวกันที่ปวดหลัง กำลังกล้ามเนื้อไม่ได้แตกต่างกันเมื่ออยู่ในภาวะที่ไม่ปวดหลัง หมายถึง คนที่ปวดหลังนั้นกำลังของกล้ามเนื้อหลังไม่ลดลงมามากกว่าคนที่ไม่ปวดหลัง เพียงแต่ว่าขณะที่ปวดหลังมักไม่กล้าที่จะทำกิจกรรมต่างๆ จนทำให้กล้ามเนื้อทั่วๆไปอ่อนแอกว่าคนที่ไม่ปวดหลังนั่นเอง

การนำเอาความสมดุลของกล้ามเนื้อมาอธิบาย จึงยังไม่เพียงพอที่จะตอบคำถามต่างๆได้ แต่ถ้ามาพิจารณาโครงสร้างของกระดูกสันหลัง ซึ่งกระกอบด้วยกระดูกชิ้นเล็กๆ เกือบ 30 ชิ้นมาเรียงกัน ในลักษณะเดียวกับการนำเอาก้อนลูกบาศก์สี่เหลี่ยมไม้ในของเล่นเด็กมาเรียงเป็นเสาตรงย่อมลำบากมากอยู่แล้ว หากยังมีหมอนรองกระดูกคั่นระหว่างกระดูกสันหลัง แต่ละชิ้นอีกด้วย และเสาต้นนี้ยังไม่อยู่ในลักษณะตรง แต่มีส่วนโค้งถึง 4 โค้ง คือ โค้งมาด้านหลังที่บริเวณคอและบั้นเอว โค้งไปข้างหน้าที่

ช่วงอกและกระเบนเหน็บ

ปัจจัยเหล่านี้ยิ่งทำให้เกิดความยุ่งยากมากขึ้นจนแทบไม่น่าเชื่อว่าแท่งกระดูกสันหลังนี้จะตั้งอยู่ได้อย่างไร มีการศึกษาคลื่นไฟฟ้าของกล้ามเนื้อท้องและกล้ามเนื้อหลังเพื่อหยั่งรู้ถึงการหดตัวของกล้ามเนื้อในขณะยืนตัวตรงหรือนั่งตรง จึงพบว่า กล้ามเนื้อหลังและกล้ามเนื้อท้องแทบไม่ทำงานเลย แสดงว่าการที่กระดูกสันหลังตั้งตรงได้นั้น ไม่จำเป็นต้องพึ่งการหดตัวของกล้ามเนื้อ แต่ถ้ามีการเคลื่อนตัวไปจากท่าเดิม เช่น ก้มไปข้างหน้า กล้ามเนื้อหลังจะหดตัวทันทีเพื่อทำหน้าที่เหนี่ยวรั้งให้กระดูกทรงตัวได้ หรือถ้าเอนตัวไปข้างหลัง กล้ามเนื้อท้องจะหดตัวทันที

การที่กระดูกสันหลังตั้งตรงได้จึงเกิดจากสมดุลของโครงสร้างกระดูกสันหลังนั่นเอง มิใช่เกิดจากกำลังของกล้ามเนื้อ ลองกลับมาพิจารณาโครงสร้างกระดูกสันหลังอีกครั้งหนึ่ง กระดูกสันหลังแต่ละชิ้นมีข้อต่ออยู่ 2 ข้างซึ่งยื่นออกมาประกบกัน และเชื่อมโยงปกคลุมด้วยพังผืดหุ้มข้อต่อ การเรียงตัวของข้อต่อเหล่านี้ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวที่แตกต่างกัน

ในระดับคอจะช่วยการหันหน้าได้ดี

ในระดับบั้นเอวจะช่วยการก้มเงยได้ดี

ส่วนที่ระดับช่วงอก เนื่องจากมีกระดูกซี่โครงค้ำไว้ การเคลื่อนไหวแทบจะไม่เกิดขึ้น

นักวิทยาศาสตร์ทางสุขภาพพบอีกว่า การที่กระดูกสันหลังไม่ได้อยู่ในแนวตรง แต่มีส่วนโค้งถึง 4 แห่งนั้นทำให้รับน้ำหนักได้ดีกว่า เพราะเป็นการเพิ่มเส้นผ่าศูนย์กลางของแท่งกระดูกสันหลังได้อย่างดี เรื่องเช่นนี้อาจจะเข้าใจยากหน่อย แต่ถ้าลองเอาน้ำหนักมากดที่แท่งกระดูกสันหลัง แท่งกระดูกสันหลังที่มีส่วนโค้งปกติสามารถรับแรงกดได้ดีกว่าแท่งกระดูกสันหลังที่ส่วนโค้งหายไป ทางคลินิกเราพบบ่อยว่าคนที่ปวดหลังนั้นมักเกิดจากการที่ส่วนโค้งเหล่านี้มักเปลี่ยนแปลงไปหรือหายไป โดยเฉพาะที่บริเวณบั้นเอวกลายเป็นแท่งตรง จึงทำให้รับน้ำหนักของตนเองไม่ได้เวลานั่งนานๆ

การเรียงตัวของกระดูกสันหลังจึงมีความสำคัญมาก การทำให้เกิดความสมดุลโดยรักษาส่วนโค้งของแท่งกระดูกสันหลังจำเป็นต้องพึ่งข้อต่อเล็กๆ สองข้างของกระดูกสันหลัง และพังผืดที่หุ้มข้อต่อเหล่านี้ ดังนั้น การนั่งให้ตัวตรง การยืนตรง ไม่ก้มไปข้างหน้าหรือแอ่นหลัง จึงเป็นวิธีป้องกันอาการปวดหลังได้ดีที่สุด ผู้ที่เมื่อยหลังเนื่องจากกล้ามเนื้อต้องทำงานหนักอยู่ตลอดเวลาจึงควรตรวจสอบว่า หลังอยู่ในแนวตรงหรือไม่ และส่วนโค้งต่างๆ ยังคงรักษาไว้ได้หรือไม่ ตราบใดที่แท่งกระดูกสันหลังสามารถปรับให้อยู่ในแนวเดิมได้ ตราบนั้นอาการปวดหลังย่อมไม่มาเยือน และไม่ต้องลงไปคลานบนสี่เท้าอย่างแน่นอน

ข้อมูลสื่อ

164-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 164
ธันวาคม 2535
ดุลชีวิต
รศ.ประโยชน์ บุญสินสุข