• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ว่าด้วยเรื่องฟันสึก

ว่าด้วยเรื่องฟันสึก


หลายคนสงสัยว่า ฟันที่เราเฝ้าขยันดูแลด้วยการหมั่นแปรงฟันหลังอาหารแทบจะทุกมื้อก็ว่าได้ อีกทั้งดูภายนอกก็ยังดีๆ ไม่ผุ ไม่โยก แต่ครั้นพอวันร้ายคืนร้ายกลับออกอาการเสียวฟันเวลาดื่มน้ำเย็น กินของเปรี้ยวหรือหวานเมื่ออ้าปากสำรวจความเรียบร้อยครั้งแล้วครั้งเล่า ก็ไม่เห็นความผิดปกติแต่อย่างใด แล้วอะไรกันแน่ที่เป็นสาเหตุ อาการเท่าที่บอกมาน่าจะมีสาเหตุมาจากฟันสึก (attrition) แล้วฟันสึก คืออะไรล่ะ

ฟันสึก หมายถึง การที่ผิวฟันส่วนใดส่วนหนึ่งค่อยๆ กร่อนหลุดไปทีละน้อย ซึ่งมักจะเกิดแบบค่อยเป็นค่อยไป การสึกของฟันที่พบบ่อยๆ จะมี 2 ด้าน คือ ด้านบดเคี้ยวกับด้านติดแก้มในตำแหน่งรอยต่อระหว่างตัวฟันกับรากฟัน ที่พวกหมอๆ เขาเรียกกันว่า คอฟัน คิดง่ายๆ ก็คือ สมมติให้ตัวฟันเป็นหัว รากฟันเป็นลำตัว ตำแหน่งระหว่างหัวกับตัวของฟันก็คือคอฟันนั่นเอง แต่ก็มีบางรายเหมือนกันที่พบว่า มีฟันสึกด้านในลิ้นของฟันล่าง

ในคนที่มีฟันสึกด้านบดเคี้ยวส่วนมากมักจะพบในฟันกราม ซึ่งอาการเสียวฟันเริ่มขึ้นเมื่อผิวเคลือบฟันสึกหายไปจนถึงชั้นเนื้อฟัน เพราะในชั้นเนื้อฟันนี้จะไวต่อการรับความร้อน-เย็น หรือของที่มีรสเปรี้ยวจัดหวานจัด ในบางรายอาการที่ว่านี้จะเป็นอยู่ไม่นานก็จะมีการปรับตัว ไม่มีอาการเสียวฟันอีก แต่เมื่อฟันสึกต่อไปเรื่อยๆ ก็จะถึงชั้นโพรงประสาทฟัน ทีนี้ก็จะเริ่มมีอาการเสียวฟันใหม่ ซึ่งจะเป็นบ่อยครั้งกว่า และนานกว่าจะหาย ถ้ายังไม่แก้ไขก็จะมีอาการปวดตามมา

ส่วนคนที่มีฟันสึกด้านแก้มที่บริเวณคอฟันนั้น มีการพบบ่อยที่ฟันกรามน้อยและฟันเขี้ยว เพราะเป็นตำแหน่งที่สัมผัสกับแปรงสีฟันได้ง่าย และพบมากในคนที่ขยันแปรงฟัน กลุ่มนี้จะมีอาการเสียวฟันเริ่มแรกตอนที่เหงือกที่คลุมผิวรากฟันร่นลงไป จะมีการเสียวฟันอยู่บ่อยครั้ง และมีอาการแบบนี้ค่อนข้างนาน ทั้งนี้เป็นเพราะที่ผิวรากฟันจะมีความไวต่อความรู้สึกร้อนเย็นได้เร็วกว่าส่วนผิวเคลือบฟัน ดังนั้นเมื่อผิวรากฟันไม่มีเหงือกคลุมก็จะเสียวฟันได้ทันที เมื่อสึกลงไปเรื่อยๆ ก็จะถึงผิวเนื้อฟันและคลองรากฟันตามลำดับ

สาเหตุที่ทำให้ฟันสึก
มีสาเหตุมาจากหลายๆ ปัจจัย ได้แก่

1. การขบเคี้ยวของแข็งๆ บ่อยๆ หรือกินอาหารที่มีความเป็นกรดสูงบ่อยๆ ได้แก่ พวกที่ชอบเคี้ยวกระดูกไก่ ชอบขบเปลือกถั่ว หรือผลไม้ที่มีเปลือกแข็ง หรือชอบขบเคี้ยวประเภทมะขาม มะม่วง ของดองต่างๆ ซึ่งจะทำให้ด้านบดเคี้ยวของกรามสึกได้

2. การนอนกัดฟัน คนที่นอนกัดฟันจนเป็นนิสัย มักจะมีฟันกรามสึก

3. การแปรงฟันด้วยแปรงขนแข็ง คนส่วนใหญ่มักมีความเชื่อว่าแปรงสีฟันที่ดีต้องมีขนแปรงแข็ง จึงจะทำให้แปรงฟันได้สะอาด และยังใช้ได้นานๆ ไม่ต้องเปลี่ยนแปรงบ่อยๆ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง เพราะการทำความสะอาดฟันนั้น ไม่จำเป็นต้องขัดหรือออกแรงเหมือนขัดภาชนะหรือพื้น เพราะฟันของเราไม่ได้สกปรกถึงขนาดนั้นหากเราทำความสะอาดทุกวัน ถ้ามีสาเหตุจากการใช้แปรงแข็ง ก็จะพบว่า มีฟันสึกบริเวณด้านข้างแก้มที่ตำแหน่งคอฟัน

แปรงสีฟันที่ดีควรมีขนแปรงนิ่ม ปลายขนแปรงมน ไม่คม เพราะนอกจากจะไม่เป็นอันตรายต่อฟันแล้ว ยังเป็นการนวดเหงือก ให้มีการหมุนเวียนของโลหิตดีขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เหงือกแข็งแรงขึ้น นอกจากนี้ในยาสีฟันต้องเลือกใช้ชนิดที่มีส่วนผสมเป็นผงขัดที่ไม่หยาบมาก ยาสีฟันชนิดที่ขัดคราบบุหรี่หรือขจัดคราบติดแน่นที่ผิวฟันจะมีผงขัดหยาบกว่าชนิดอื่นๆ

4. การแปรงฟันที่ไม่ถูกวิธี เช่น คนที่ชอบแปรงฟันถูไปถูมา แถมออกแรงขัดมากๆ ก็จะทำให้เกิดฟันสึกบริเวณคอฟัน หรือตำแหน่งที่แปรงสีฟันสัมผัสบ่อยๆ

ฟันสึกมีผลเสียอย่างไร

อย่างแรก คือ ทำให้เกิดอาการเสียวฟันเป็นครั้งคราว ถ้าสึกมากๆ ก็อาจทำให้ฟันตายได้ คือ ถ้าฟันสึกจนถึงชั้นโพรงประสาทฟันก็จะทำให้ฟันตาย มีอาการปวด และอาจต้องถอนฟันในที่สุด ในส่วนที่มีฟันสึกด้านบดเคี้ยวมากๆ นอกจากผลเสียดังที่กล่าวมาแล้ว ยังมีผลให้ระยะห่างระหว่างขากรรไกรบนและล่างลดลง ซึ่งทำให้ความยาวใบหน้าโดยส่วนรวมดูสั้นลงกว่าเดิมเล็กน้อย คล้ายผู้สูงอายุที่ไม่มีฟัน และที่สำคัญคือ มักจะปวดข้อต่อขากรรไกรหรือปวดกล้ามเนื้อที่ยึดขากรรไกร เกิดปัญหาเรื้อรังตามมา

วิธีป้องกันฟันสึก

เมื่อรู้สาเหตุแล้ว การป้องกัน ก็คือ พยายามหลีกเลี่ยงสภาวะที่จะทำให้เกิดฟันสึกต่างๆ เหล่านั้น คือพยายามลดความถี่และปริมาณการบริโภคของขบเคี้ยวที่มีผลต่อการสึกของฟัน รวมทั้งเลือกใช้แปรงสีฟันที่มีขนนิ่ม แปรงแต่เพียงเบาๆ พยายามฝึกการแปรงฟันให้ถูกวิธี แปรงให้ทั่วๆ และไม่ควรเลือกใช้ยาสีฟันที่มีผงขัดหยาบเกินไป

การแก้ไข
ก็คือ เมื่อฟันสึกมากๆ ก็ต้องทำการอุดฟัน หรือครอบฟัน กรณีที่เนื้อฟันหายไปมากๆ จะต้องรักษารากฟันก่อนในรายที่ฟันผุทะลุโพรงประสาทฟัน ในคนที่ฟันสึกไม่มาก และมีอาการเสียวฟัน หมอจะแนะนำให้ใช้ยาสีฟันชนิดที่มีส่วนผสมของสารลดการเสียวฟัน ซึ่งก็จะใช้ระงับอาการได้เป็นครั้งคราว

ข้อมูลสื่อ

165-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 165
มกราคม 2536
หมอปุ้ย