• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

error ความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิตสูง


ในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกๆปี ทั่วโลกได้กำหนดให้มีวันสำคัญสำหรับหนุ่มสาวขึ้นมาวันหนึ่ง นั่นคือ วันแห่งความรัก (Valentine’s day) โดยให้ถือเอาวันที่ 14 ของเดือนเป็นวันพิเศษสำหรับวาระนี้ เคยลองถามคนข้างเคียงแถวนี้ดูว่าใครเคยมีความรักบ้าง ก็ยกมือยอมรับกันให้พรึ่บพรั่บไปหมด จึงหยอดคำถามข้อต่อไปว่า เวลาที่มีโอกาสได้พบคนรักครั้งแรกๆ แล้วรู้สึกอย่างไร

บางคนตอบว่าหัวใจมันเต้นโครมครามเหมือนจะกระโดดออกมานอกอกให้ได้ หรือบางคนก็บอกว่าแค่เพียงหัวใจเต้นตุบๆ ให้พอรู้สึกได้เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการทำงานของหัวใจเพียงแค่การเต้นธรรมดา หรือเต้นโครมครามด้วยจังหวะร็อกก็ตาม เจ้าตัวก็รู้สึกได้ถึงความไม่เป็นปกติธรรมดานี้ อันที่จริงแล้วการที่หัวใจเต้นแรงหรือเต้นเร็วเช่นนั้น เพราะสมองของเราสั่งงานลงมาตามเส้นประสาทที่มาควบคุมหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นแรงขึ้นหรือเร็วขึ้นนั่นเอง ซึ่งจังหวะการเต้นของหัวใจนี้ ก็เป็นสิ่งที่แสดงถึงความสามารถในการบีบหรือคลายตัวของหัวใจ อันมีผลต่อความดันเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงทั่วร่างกายว่าจะมีประสิทธิผลเพียงใด สำหรับเรื่องความดันเลือดนี้ดูจะเป็นปัญหาอยู่มากเหมือนกันในสังคมยุคไฮเทคเช่นทุกวันนี้ และที่มีการกล่าวถึงกันมากที่สุดก็คงจะเป็นเรื่องโรคความดันโลหิตสูง แต่ก่อนอื่นเรามารู้จักความดันเลือดกันสักนิดว่าเป็นอย่างไร
 

ความดันเลือดคืออะไร

ความดันเลือด (blood pressure) โดยทั่วๆไปหมายถึงความดันในหลอดเลือดแดง (arterial blood pressure) ไม่ได้หมายถึงความดันในหลอดเลือดดำ (venous blood pressure) หรือความดันในหลอดเลือดฝอย (capillary blood pressure) หรืออื่นๆ
เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึง “ความดันเลือด” เราจะหมายถึงความดันในหลอดเลือดแดงเสมอ ถ้าจะพูดถึงความดันในหลอดเลือดอื่น เราก็จะใช้คำที่สมบูรณ์เต็มที่ เป็นความดันในหลอดเลือดดำ ความดันในหลอดเลือดฝอย หรืออื่นๆ
โดยปกติเราจะมองไม่เห็นหลอดเลือดแดง นอกจากในผู้สูงอายุที่ผอมและมีหลอดเลือดแดงแข็ง เราก็จะเห็นหลอดเลือดแดงเป็นเส้นนูนขึ้นมาใต้ผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณข้อพับของข้อศอกด้านใน และหลอดเลือดที่เห็นนี้จะเต้นเป็นจังหวะที่เราเรียกว่า “ชีพจร” (pulse) ซึ่งคลำได้นั่นเอง
ส่วนหลอดเลือดดำนั้นเราเห็นง่าย โดยเฉพาะในคนที่ออกกำลังเป็นประจำจะเห็นเป็นเส้นเขียวๆ ตามหลังมือ แขน ขา และหลังเท้า โดยเฉพาะเวลาที่เชือกหรือสายยางรัดต้นแขนหรือต้นขาไว้ชั่วขณะหนึ่งหลอดเลือดดำเหล่านี้ก็จะโป่งจนเห็นชัดเจนขึ้น แต่หลอดเลือดดำจะไม่เต้นแรงจนเราสามารถคลำหรือเห็นการเต้นของมันได้ (เวลาที่เราเจาะเลือดไปตรวจหาน้ำตาล ไขมัน และอื่นๆเกือบทั้งหมด เราก็จะเจาะเลือดจากหลอดเลือดดำเหล่านี้)
ส่วนหลอดเลือดฝอยนั้นไม่เห็น นอกจากในคนที่ผิวขาวและหนังบางมาก ก็อาจจะเห็นเป็นเส้นเลือดละเอียดฝอยสีแดงหรือสีชมพูในบางส่วนของร่างกายได้ หลอดเลือดฝอยที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่ามักจะเป็นหลอดเลือดฝอยที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติมาก
ระบบของความดันเลือด
ความดันเลือด คือความดันของน้ำเลือดในหลอดเลือดที่เป็นตัวผลักดันให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายเช่นเดียวกับระบบน้ำประปา
ในท่อน้ำประปาจะมีความดันผลักดันให้น้ำไหลตามท่อประปาไปเลี้ยงบ้านเรือนในที่ต่างๆถ้าไม่มีความดัน หรือความดันตก (เช่น ในกรณีที่ท่อประปาใหญ่แตก) น้ำก็จะหยุดไหล เป็นต้น ความดันในท่อน้ำประปาเกิดจากการตั้งถังประปาไว้ในที่สูง ทำให้น้ำหนักของน้ำในที่สูงเป็นตัวผลักดัน หรือเกิดจากการใช้เครื่องอัด (ปั๊ม หรือ pump)
ส่วนความดันเลือดเกิดจากการบีบตัวของหัวใจและหลอดเลือด
เมื่อหัวใจบีบตัวครั้งหนึ่งก็จะบีบเลือดออกจากหัวใจไปตามหลอดเลือดแดง ความดันในหลอดเลือดแดงก็จะขึ้นสูงทันที
พอหัวใจคลายตัว ความดันในหลอดเลือดแดงก็ลดลงทันที แต่ยังคงมีความดันอยู่ เพื่อให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายได้
ความดันในหลอดเลือดแดงหรือความดันเลือดจึงมี 2 ช่วง คือ ช่วงบนกับช่วงล่าง
ทางการแพทย์เรียกความดันเลือดช่วงบนว่า ความดันซิสโตลิก (systolic pressure) และเรียกความดันเลือดช่วงล่างว่า ความดันไดแอสโตลิก (diastolic pressure)
ค่าความดันเลือดตัวบน เป็นค่าความดันเลือดในขณะที่หัวใจบีบตัวเพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย (ค่าปกติจะเท่ากับ 8o-14o)
ส่วนค่าความดันเลือดตัวล่างเป็นค่าความดันเลือดในขณะที่หัวใจคลายตัว เพื่อรับเลือดกลับเข้าไปในห้องหัวใจ (ค่าปกติจะเท่ากับ 5o-9o)
โดยทั่วไป เมื่อเราพูดว่าหัวใจบีบตัวหรือคลายตัว เราหมายถึงหัวใจห้องล่าง (ventricle) บีบตัวหรือคลายตัว ไม่ได้หมายถึงหัวใจห้องบน (atrium)
เพราะหัวใจห้องบนทำหน้าที่รับเลือดและส่งเลือดให้หัวใจห้องล่าง แล้วหัวใจห้องล่างจึงบีบตัวส่งเลือดออกไปยังส่วนต่างๆของร่างกาย
หัวใจห้องล่างขวาส่งเลือดดำไปฟอกที่ปอดให้กลายเป็นเลือดแดงไหลกลับไปสู่หัวใจหัวใจห้องบนซ้าย และห้องล่างซ้ายตามลำดับ
แล้วหัวใจห้องล่างซ้ายจึงส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย และเป็นเครื่องอัด (ปั๊ม) ตัวสำคัญที่ทำให้เกิดแรงดันเลือด หรือความดันเลือด
เมื่อหัวใจบีบตัว ความดันจึงสูง
เมื่อหัวใจคลายตัว ความดันจึงต่ำ
ค่าความดันเลือด
ค่าความดันเลือดจึงมี 2 ช่วง คือ ช่วงสูงกับช่วงต่ำ หรือช่วงบนกับช่วงล่าง
ชาวบ้านทั่วไปมักไม่ทราบว่าความดันมี 2 ช่วง
“ความดันอีชั้น 12o เจ้าค่ะ” ป้าบอกกับหมอ
“ความดันอันไหนครับคุณป้า อันบนหรืออันล่าง” หมอถาม
“อีชั้นก็ไม่ทราบเจ้าค่ะ ทราบแต่ว่า 12o”
อย่างนี้หมอก็บอกไม่ได้ว่าสูงหรือไม่ เพราะถ้าเป็นความดันช่วงบน 12o ก็มักปกติ แต่ถ้าเป็นความดันช่วงล่าง 12o ก็ถือว่าสูงผิดปกติ
แล้วไอ้ตัวเลขที่ว่า 12o นี่มันอะไรกัน?
ตัวเลขนี้หมายถึงแรงดันในหลอดเลือดแดงที่สามารถดันลำปรอทขึ้นไปได้สูง 12o มิลลิลิตร
การใช้ความสูงของลำปรอทในการวัดแรงดันเลือด จึงทำให้เราใช้หน่วยของแรงดันเลือดเป็นมิลลิเมตรปรอท (ปัจจุบันใช้คำว่า “ทอรร์” แทน)
12o ก็หมายความว่า แรงดันนั้นสามารถดันปรอทขึ้นสูงจากระดับหัวใจได้ 12o มิลลิเมตร ซึ่งจะสังเกตได้ว่าที่เครื่องวัดความดันเลือดมีปรอทวิ่งขึ้นลงอยู่ในหลอดแก้วที่มีขีดและตัวเลขบอกความสูงเอาไว้
การวัดความดันนี้ง่ายมาก ถ้าไม่เชื่อ เวลาเจอหมอหรือพยาบาลที่ใจดี ลองขอหัดวัดดูก็ได้
ถ้าบอกว่าความดันเลือด 12o/8o ก็หมายถึง
ความดันช่วงบน 12o
ความดันช่วงล่าง 8o
เขาจะบอกเป็นคู่อย่างนี้เสมอ
ความเข้าใจผิดเรื่องความดันเลือด
“ป้าเคยตรวจครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีมาแล้ว หมอเขาว่าความดันเลือดสูง” ป้าคนหนึ่งบอกหมอ
“แล้วป้าทำไมไม่ตรวจซ้ำอีกเล่าครับ” หมอถาม
“อ้าว! ป้ารู้ว่ามันไม่สูงแล้วน่ะสิ”
“ป้ารู้ได้อย่างไรครับ” หมอชักฉุน
“อ้าว! ก็มันไม่ปวดหัวนี่”
ตัวอย่างข้างต้นเป็นความเข้าใจผิดที่พบบ่อย คือเข้าใจว่าถ้าความดันเลือดสูงล่ะก็ต้องปวดหัว ถ้าไม่ปวดหัวแสดงว่าความดันเลือดไม่สูง
แต่ความจริงคือ คนที่มีความดันเลือดสูงส่วนใหญ่ไม่ปวดหัว และคนที่ปวดหัวส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นโรคความดันโลหิตสูง
นอกจากนั้นคนที่มีความดันเลือดสูงไม่จำเป็นต้องมีอาการเลย ฉะนั้นวิธีที่จะทราบแน่ว่าความดันเลือดสูงหรือไม่ จำเป็นต้องใช้เครื่องวัดวัดดู
การพยายามเดาหรือคิดเอาเองว่าตนเองหรือคนนั้นคนนี้มีความดันเลือดสูงเพราะปวดศีรษะบ่อยๆ หรือเพราะอาการอื่นๆ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และอาจทำให้เกิดอันตรายได้ง่าย
การพยายามเดาหรือคิดเอาเองว่าตนเองหรือคนนั้นคนนี้มีความดันเลือดปกติเพราะผอม หรือไม่เคยปวดศีรษะ หรืออื่นๆ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเช่นเดียวกัน
เพราะคนที่มีความดันเลือดสูงส่วนมากจะไม่มีอาการปรากฏให้เห็น (จะมีอาการต่อเมื่อความดันเลือดสูงมากหรือสูงอยู่นาน)
ปัญหาก็มีอยู่ว่าประเทศไทยมีพลเมืองกว่า 5o ล้านคน ถ้าสมมุติคนสัก 2o ล้านคน ต้องการวัดความดันเลือด แล้วพากันเฮละโลไปวัดกันที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลก็พัง และจะไปหาหมอที่ไหนได้พอเพียงกับการวัดความดันเลือดของคน 2o ล้านคนได้
แล้วจะทำอย่างไร
อ้าว! ถ้าไม่มีหมอวัดให้ ก็ไม่ต้องวัดน่ะซี
แล้วถ้าเผื่อมันสูงล่ะ
ก็แล้วจะให้ทำอย่างไร ในเมื่อไม่มีหมอพอวัด
ก็ให้คนอื่นวัดไม่ได้หรือ ชาวบ้านก็วัดได้ไหนว่าวัดไม่ยากไงล่ะ
จริงสิ! ชาวบ้านก็หัดวัดความดันเลือดกันได้
อ้าว! เดี๋ยวไม่หลอกลวงกันใหญ่หรือว่าสูงไม่สูง?
การหลอกลวงนี้มันจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง
ผลประโยชน์ส่วนใหญ่จะเป็นค่ายา
ถ้ายาราคาถูกหรือขอได้ ใครจะคิดปลอมยา
แต่เมื่อยาแพงขึ้นจึงมียาปลอมเกิดขึ้น
ถ้าชาวบ้านที่เป็นญาติกัน เป็นเพื่อนกัน รู้จักวิธีการรักษาโรคให้กันและกันมากเท่าไร การปลอมหรือการหลอกลวงเพื่อแสวงหาประโยชน์ก็จะมีน้อยลงเท่านั้น
นี่ล่ะเป็นเหตุที่เราต้องมารู้จักวัดความดันเลือดเพื่อความเข้าใจที่ไม่ก่อให้เกิดความยุ่งยาก
ความดันเลือดในคนไทย
ความดันเลือดในคนปกติจะขึ้นกับอายุและสัดส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะในเด็ก
เด็กที่เกิดใหม่ซึ่งมีตัวเล็กและน้ำหนักประมาณ 3 กิโลกรัม จะมีความดันเลือดตัวบนประมาณ 5o (ความดันเลือดตัวล่างวัดยาก) ความดันเลือดในเด็กจึงมีค่าต่ำกว่าในผู้ใหญ่มาก
เมื่อเด็กมีอายุมากขึ้น ตัวโตขึ้น น้ำหนักมากขึ้น ความดันเลือดจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่น ความดันเลือดจึงมีค่าเท่ากับในผู้ใหญ่
ความดันเลือดในผู้ใหญ่ก็ขึ้นกับสัดส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะน้ำหนัก ดังนั้นคนที่รูปร่างใหญ่โตหรืออ้วน จะมีความดันเลือดสูงกว่าคนที่รูปร่างเล็กและผอม โดยทั่วไปถ้าน้ำหนักเพิ่มขึ้น 1o กิโลกรัม มักจะทำให้ความดันเลือดทั้งตัวบนและตัวล่างสูงขึ้นประมาณ 3 ทอรร์ หรือ 3 มิลลิเมตรปรอท
ความดันเลือดในผู้ใหญ่ไทยปกติจะอยู่ระหว่าง 8o-14o/5o-9o
ความดันเลือดในผู้ใหญ่ที่สูงกว่า 16o/95 ในขณะที่นอนพักอยู่ให้ถือว่าเป็นความดันเลือดสูง โดยเฉพาะถ้าให้นอนพักอีก 5-1o นาทีแล้ววัดใหม่ ความดันเลือดก็ยังเท่าเดิมหรือใกล้เคียงกับที่วัดครั้งก่อน และอีก 1-2 สัปดาห์ต่อมา วัดแล้วก็ยังสูงกว่า 16o/95
ส่วนความดันเลือดในผู้ใหญ่ที่วัดได้ระหว่าง 14o/9o กับ 16o/95 ให้ถือว่าอาจจะเป็น “ความดันเลือดสูง” แต่ถ้าพบว่ามีหัวใจห้องล่างซ้ายโต หรือมีการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดภายในลูกตา (ซึ่งต้องมองผ่านแก้วตาเข้าไปจึงจะเห็น) ก็ให้ถือว่าเป็นความดันเลือดสูงได้
ในผู้สูงอายุ ความดันเลือดช่วงบนอาจสูงกว่าของคนหนุ่มสาว เช่น คนอายุ 6o ความดันเลือดช่วงบน 16o ถือว่าปกติได้ แต่ในคนอายุ 2o ถ้าวัดความดันเลือดช่วงบนได้ 16o ทุกครั้งที่วัด ถือว่าผิดปกติ
ฉะนั้น ถ้าเจอคุณตาคนหนึ่งอายุ 7o และความดันของแก 17o/6o ก็อย่าไปโวยวายอะไร ให้ถือว่าปกติได้
สาเหตุที่ความดันเลือดของผู้สูงอายุขึ้นลงหวือหวามากกว่าของคนหนุ่มสาว ก็เพราะผนังของหลอดเลือดแข็งตัว ไม่ยืดหยุ่นเท่าที่ควร ความยืดหยุ่นนั้นทำให้ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงที่หวือหวาเกินไป
ในเด็กเล็กๆ ความดันเลือดสูงกว่า 13o/8o อาจถือว่าเป็นความดันเลือดสูงได้
จะต้องทราบอีกอย่างหนึ่งว่า ความดันของคนเรานั้นในวันหนึ่งๆมันไม่คงที่
“ความดันของคุณ 12o/8o ปกติครับ” หมอบอก
“เดี๋ยวก่อนครับคุณหมอ เมื่อวันก่อนผมวัดกับหมออีกคนได้ 13o นี่ครับ”
“ปู้ดโธ่!” หมอชักความดันขึ้นนิดๆ “ไอ้ความดันของคนนี่มันไม่ได้คงที่เป็นเส้นตรงนะครับ”
“มันแกว่งขึ้นลงได้เหมือนคลื่น” หมออธิบายต่อ “ถ้าตอนไหนอารมณ์ตึงเครียด ความดันเลือดก็สูงขึ้นได้”
มิน่าล่ะ หมู่นี้คนโน้นคนนี้จึงมีความดันเลือดสูงกันใหญ่ เพราะมันมีเรื่องเครียดๆกันมาก ยิ่งบ้านเมืองเจริญทางวัตถุมาก ผู้คนยิ่งยุ่งมาก ยิ่งสับสนมาก ยิ่งแก่งแย่งกันมาก ความดันมันก็ยิ่งขึ้นมาก
นอกจากความเครียดแล้ว ความดันเลือดสูงยังเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ที่สำคัญที่สุดคือโรคไต ดังจะได้กล่าวต่อไป
จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นว่าความดันเลือดมี 2 ค่าคือ ค่าตัวบนและค่าตัวล่าง
ค่าความดันเลือดตัวบนเป็นค่าความดันเลือดขณะหัวใจเต้น (หัวใจห้องล่างหดตัว)
ส่วนค่าความดันเลือดตัวล่างเป็นค่าความดันเลือดขณะหัวใจหยุดเต้น (หัวใจห้องล่างคลายตัว)
ภาวะความดันเลือดสูง
ความดันเลือดสูงเป็นสิ่งที่เราวัดได้ ในภาษาหมอเราเรียกว่า “อาการแสดง” (sign) ซึ่งต่างกับอาการ (symptom)
เพราะอาการคือสิ่งที่ผู้ป่วยรู้สึกและเล่าให้หมอฟัง
แต่อาการแสดง คือสิ่งที่ตรวจพบ ผู้ป่วยอาจจะรู้สึกหรือไม่รู้สึกก็ได้
ความดันเลือดสูงจึงไม่ใช่อาการ เพราะผู้ป่วยไม่สามารถรู้สึกได้ ต้องใช้เครื่องมือวัดจึงจะรู้ได้
ความดันเลือดสูงจึงเป็นภาวะหรือสภาพอย่างหนึ่ง ซึ่งในคนปกติก็พบได้เป็นครั้งคราว เช่น ในเวลาโกรธ เวลาออกกำลังมากๆ เป็นต้น ซึ่งไม่ถือว่าเป็นสิ่งผิดปกติ
ส่วนภาวะความดันเลือดสูงที่ผิดปกติ อาจจะแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดคือ
1. ภาวะความดันเลือดตัวล่างสูง
เมื่อความดันเลือดตัวล่างสูง ความดันเลือดตัวบนมักจะสูงขึ้นด้วย เช่น 18o/11o , 19o/11o , 19o/12o , 17o/12o เป็นต้น
แต่ในบางครั้งความดันเลือดตัวบนอาจไม่สูงก็ได้ เช่น 14o/11o , 15o/11o , 15o/12o เป็นต้น
ภาวะความดันเลือดตัวล่างสูงเกิดจากหลอดเลือดแดงฝอย (arterioles) ทั่วร่างกายตีบแคบลง ความดันเลือดตัวล่างสูงจึงสูงขึ้น
ถ้าความดันเลือดตัวล่างสูงขึ้นมาก ก็จะไปกระทบกระเทือนหลอดเลือดแดงฝอยเหล่านั้น ทำให้หลอดเลือดแดงฝอยเหล่านั้นแข็งและตีบแคบมากขึ้น ทำให้ความดันเลือดสูงมากขึ้นไปอีก ซึ่งจะยิ่งทำให้หลอดเลือดแดงฝอยเหล่านั้นแข็งและตีบแคบมากขึ้นไปอีก เกิดเป็นวัฏจักรแห่งความเสื่อม หรือวงจรอุบาทว์ (vicious cycle) ทำให้หลอดเลือดเล็กๆในตา ในสมอง ในหัวใจ และในไตตีบแคบไปด้วย
ถ้าเป็นมากทำให้ตาฝ้าฟางหรือบอด ทำให้หลอดเลือดเล็กๆในสมองตีบตันหรือแตก เกิดเป็นอัมพาต ทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบ และกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เกิดอาการเจ็บแน่นในอก จนถึงสิ้นใจทันทีได้ และทำให้หลอดเลือดไตตีบ ทำให้เลือดไปเลี้ยงไตไม่พอ ทำให้ไตพิการได้
ภาวะความดันเลือดตัวล่างสูงเป็นภาวะที่มักจะเรียกกันว่า “โรคความดันโลหิตสูง” ซึ่งส่วนใหญ่ (ร้อยละ 85-9o) จะไม่รู้สาเหตุที่ทำให้หลอดเลือดแดงฝอยทั่วร่างกายตีบ เวลาพูดกันโดยทั่วไปว่าเป็น “โรคความดันโลหิตสูง” จึงมักหมายถึงโรคความดันโลหิตตัวล่างสูงที่ไม่รู้สาเหตุ
ส่วนโรคความดันโลหิตสูงที่รู้สาเหตุ ซึ่งมีเพียงส่วนน้อย (ร้อยละ 1o-15) เราจะวินิจฉัยหรือเรียกชื่อโรคที่เป็นสาเหตุโดยตรง เพราะภาวะความดันเลือดสูงเป็นเพียงอาการแสดงอย่างหนึ่งของโรคเหล่านี้เท่านั้น เช่น
ก. โรคครรภ์เป็นพิษ จะทำให้เกิดภาวะความดันเลือดสูง ซึ่งเป็นเพียงภาวะหรืออาการแสดงเพียงอย่างหนึ่งเท่านั้นที่เกิดร่วมกับโรคครรภ์เป็นพิษ
โรคครรภ์เป็นพิษมีอาการอื่นด้วย เช่น บวม ปัสสาวะเป็นฟองเพราะมีไข่ขาว เป็นต้น เมื่อคลอดหรือเอาเด็กออกแล้วความดันเลือดจะลดลงและภาวะความดันเลือดสูงจะหายไป
ข. โรคไต เช่น โรคไตอักเสบเฉียบพลันจะทำให้ความดันเลือดสูง พอหายแล้วความดันเลือดก็กลับเป็นปกติ โรคไตเรื้อรังบางชนิดก็ทำให้ความดันเลือดสูง โรคหลอดเลือดไตตีบก็อาจจะทำให้ความดันเลือดสูงได้ เป็นต้น แต่ความดันเลือดสูงเป็นเพียงภาวะหรืออาการแสดงเพียงอย่างหนึ่งเท่านั้น เพราะจะมีภาวะหรืออาการแสดงอื่นๆของโรคไตด้วย เช่น บวม ปัสสาวะผิดปกติ เป็นต้น
ค. โรคเนื้องอกของต่อมหมวกไตบางชนิด ก็ทำให้ความดันเลือดสูงได้ แต่ความดันเลือดสูงก็เป็นอาการเพียงอย่างหนึ่งของโรคนี้ เมื่อผ่าตัดเนื้องอกออกแล้ว ความดันเลือดมักจะกลับเป็นปกติ
ง. โรคหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องอกหรือช่องท้องตีบ ซึ่งอาจจะเป็นตั้งแต่กำเนิดหรือมาเกิดขึ้นทีหลัง ในบางครั้งการผ่าตัดหลอดเลือดส่วนที่ตีบออกและต่อด้วยหลอดเลือดเทียมอาจจะช่วยให้ความดันเลือดสูงลดลงได้เช่นเดียวกัน
จ. การใช้ยาคุมกำเนิด ในสตรีบางคนจะทำให้ความดันเลือดสูงได้ เมื่องดใช้ยาคุมกำเนิดแล้ว ความดันเลือดจะกลับเป็นปกติ
ดังนั้น ถ้าพบความดันเลือดสูงในคนที่มีอายุต่ำกว่า 3o ปี หรือร่วมด้วยอาการใจเต้นเร็ว หรืออาการผอมลงอย่างรวดเร็ว หรืออาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว หรือรักษาแล้วควบคุมความดันเลือดไม่ได้ดี จะต้องหาดูว่ามีสาเหตุอะไรที่ทำให้ผู้ป่วยมีความดันเลือดสูงและรีบแก้สาเหตุด้วย มิฉะนั้นจะคุมความดันไม่ได้ผลเท่าที่ควร
2. ภาวะความดันเลือดตัวบนสูง
ภาวะความดันเลือดชนิดนี้จะสูงเฉพาะตัวบน ตัวล่างจะปกติหรือสูงเพียงเล็กน้อย เช่น 24o/1oo , 19o/9o , 2oo/8o , 18o/9o เป็นต้น
ภาวะความดันเลือดตัวบนสูงเกิดจากหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องอกและช่องท้องมีผนังหนาแข็ง ยืดหยุ่นได้น้อย เมื่อหัวใจหดตัวผลักดันเลือดออกมาสู่หลอดเลือดแดงใหญ่ หลอดเลือดแดงใหญ่จะขยายตัวออกรับเลือดไม่ได้ดี ความดันเลือดตัวแรกจึงสูงขึ้นมาก แต่เนื่องจากหลอดเลือดแดงฝอยยังไม่ตีบแข็ง ความดันเลือดตัวล่างจึงยังปกติ หรือถ้าสูงขึ้น ก็สูงขึ้นเพียงเล็กน้อย เพราะหลอดเลือดแดงเล็ก บางส่วนอาจตีบแข็งด้วย
ภาวะความดันเลือดตัวบนสูงส่วนใหญ่เกิดในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะคนที่อายุมากกว่า 5o-6o ปี จนบางคนถือว่าเป็นภาวะปกติสำหรับผู้สูงอายุ ถึงพูดว่าความดันเลือดตัวบนให้เอา 1oo + อายุ เช่น
ถ้าอายุ 5o
ก็ให้เอา 1oo + 5o = 15o
ถ้าอายุ 7o ก็ให้เอา 1oo + 7o = 17o
แต่อันที่จริงแล้ว คนที่อายุ 4o ปี ความดันเลือดตัวบนอาจจะต่ำกว่า 1oo โดยเฉพาะหญิงไทย หรืออาจจะสูงถึง 16o ก็ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติได้
ภาวะความดันเลือดตัวบนสูงส่วนน้อยเกิดขึ้นจากสาเหตุ เช่น โรคคอพอกเป็นพิษ โรคลิ้นหัวใจแอออร์ติกรั่ว โรคหัวใจบางชนิด หรือแม้แต่ภาวะปกติ เช่น ในขณะออกกำลังหรือหลังออกกำลังกายใหม่ๆ ในขณะโกรธ ตื่นเต้น หรืออื่นๆ
ภาวะความดันเลือดตัวบนสูงที่มีสาเหตุจากการเป็นโรค จะรักษาได้ผลดีโดยการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ
ส่วนภาวะความดันเลือดตัวบนสูงที่เกิดจากหลอดเลือดแดงใหญ่แข็งตัวในผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลง (การเสื่อม) ตามธรรมชาติ ยังไม่มีวิธีรักษา และไม่มียารักษาที่ให้ผลได้ดี และการพยายามรักษาด้วยยาลดความดันเลือดโดยตรงมักจะทำให้เกิดผลร้ายมากกว่าผลดีต่อผู้ป่วย จึงไม่ควรจะใช้ยาลดความดันเลือดในกรณีนี้ แต่อาจจะใช้ยากล่อมประสาทและยาขับปัสสาวะในขนาดน้อยๆ ลองดูสักระยะหนึ่ง (ประมาณ 2-4 สัปดาห์) ถ้าไม่ได้ผลดี หรือมีผลแทรกซ้อน (ผลร้าย) ควรจะหยุดยาดีกว่า มิฉะนั้นผู้ป่วยอาจเป็นอันตรายได้
สิ่งสำคัญที่ควรรู้
ก่อนจะพูดถึงการดูแลรักษาโรค จะขอกล่าวถึงสิ่งสำคัญสัก 2 ข้อ คือ
1. อย่ากลัว
พอได้ยินว่าเป็นความดันเลือดสูง ก็อย่ากลัวจนอุจจาระขึ้นสมอง หรือกลัวเหมือนกลัวผี เพราะยิ่งกลัว ยิ่งกังวล ความดันเลือดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะถ้าไม่สูงมาก เช่น 15o/1oo มักไม่ต้องไปกินหยูกกินยาอะไร เพียงแต่ปฏิบัติตัวให้ถูกต้องความดันเลือดก็จะลดลงได้
แล้วควรปฏิบัติตัวอย่างไรจึงจะถูกต้อง
อ้าว! ก็คนที่อ้วนเกินไป ก็ทำให้ผอมเสียบ้าง
คนที่ไม่ออกกำลัง ก็ออกกำลังเสียบ้าง
คนที่วิตกกังวล ก็อย่าไปวิตกกังวลมากนัก
คนที่โกรธ ก็อย่าโกรธ
คนที่เกลียด ก็อย่าเกลียด
คนที่โกง ก็อย่าโกง!
อันหลังนี่พูดแถมเข้าไปด้วย เพราะคิดว่าน่าจะเป็นความจริง ถ้าใครลองวิจัยดูโดยวัดความดันเลือดเปรียบเทียบระหว่างคนโกงกลุ่มหนึ่งกับคนไม่โกงกลุ่มหนึ่ง
กลุ่มคนโกงน่าจะมีความดันเลือดสูงกว่าเพราะมันเครียดและวิตกกังวลว่าเขาจะจับได้ หรือกลัวว่าจะถูกโกงบ้าง
แต่การวิจัยนี้คงจะทำได้ยาก เพราะขาดอาสาสมัครที่ถูกต้องของแต่ละกลุ่ม!
2. ไม่ควรละเลย
ในขณะที่บอกว่าอย่ากลัวมาก แต่ก็ไม่ควรจะละเลย โรคความดันโลหิตสูงไม่ใช่รักษาแล้วหายขาดเหมือนรักษามาลาเรีย หรือวัณโรค ถึงความดันเลือดลดไปแล้ว แต่อาจจะสูงขึ้นมาใหม่ก็ได้ ฉะนั้น ไม่ใช่ว่ากินยาทีเดียวแล้วหลังจากนั้นไม่สนใจอีกเลย
ควรจะตรวจสอบดูเป็นระยะๆ
เอ๊ะ! แนะนำอย่างนี้จะทำให้ไปเป็นเหยื่อหมอรึไง? ขืนไปวัดทุกบ่อยและเสียเงินทุกที ก็ล้มละลายกันพอดี
จะไปโรงพยาบาล คนก็แน่นอย่างกับมด ปะเหมาะเคราะห์ร้ายเป็นลมเป็นแล้งไปเลย หรือซวยน้อยหน่อยก็ถูกดุ
ใครที่มีพ่อแม่ ญาติพี่น้องเป็นโรคความดันโลหิตสูง ถ้าพอมีสตางค์บ้าง (โดยไม่ต้องไปกู้เขามาเสียดอกแพงๆ) ก็ลองซื้อเครื่องวัดความดันมา แล้วขอให้หมอหรือพยาบาลสอนให้วัด แล้วช่วยวัดให้ผู้ป่วยที่บ้านจะสะดวกสบายขึ้นเยอะทีเดียว
วิธีลดความดันเลือด
ความดันเลือดของคนเรานั้นจะขึ้นๆลงๆอยู่ตลอดเวลา ในเวลานอนหลับสบายๆ ความดันเลือดจะลงไปต่ำสุด เช่น 7o/5o , 8o/5o เป็นต้น
แต่ในขณะทำงาน ออกกำลัง ตื่นเต้น โกรธ กลัว หรืออื่นๆ ความดันเลือดอาจจะสูงขึ้นไปได้มากๆ เช่น 18o/9o , 19o/1oo เป็นต้น
ดังนั้น การจะลดความดันเลือดของผู้ใด ต้องแน่ใจเสียก่อนว่าความดันเลือดของผู้นั้นสูงจริงๆ นั่นคือให้นอนพักจนจิตใจสงบแล้วก็ยังสูง
หลักปฏิบัติทั่วไปสำหรับคนที่มีความดันเลือดสูง คือ
1. ลดอาหารเค็มลง โดยให้อาหาร ขนม และเครื่องดื่มทุกชนิด มีเกลือ น้ำปลา ฯลฯ น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ ถ้าไม่ใส่เกลือ น้ำปลา ฯลฯ ได้ก็ยิ่งดี
2. ลดความอ้วนลงถ้าอ้วน โดยกินผักเพิ่มขึ้น งดอาหารมันทุกชนิด แม้แต่ของผัด ของทอด และพยายามหลีกเลี่ยงอาหารจำพวกแป้ง เช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว วุ้นเส้น เผือก มัน กล้วย เป็นต้น
3. ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น การเดินเล่น การวิ่งเล่น การเล่นกีฬา หรือการทำงานออกกำลังแบบที่ไม่จำเจหรือเคร่งเครียด การออกกำลังแบบนี้จะเป็นการบริหารจิตด้วย
การออกกำลังต้องเริ่มแต่น้อยก่อน แล้วค่อยๆเพิ่มขึ้น ไม่ควรออกกำลังแบบที่ต้องกลั้นหายใจแล้วเบ่ง เช่น ยกน้ำหนัก ชักเย่อ เป็นต้น
4. หลีกเลี่ยงและเรียนรู้การกำจัดความหงุดหงิด โมโห ตื่นเต้น หรือเครียด เช่น พยายามสวดมนต์ภาวนาตามหลักศาสนาแห่งตนเพื่อให้จิตใจสงบ เยือกเย็น และไม่ทุกข์ร้อนจนเกินควร อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและสงบ เป็นต้น
5. หยุดหรือเลิกสูบบุหรี่ เพราะนิโคตินในบุหรี่มีส่วนทำให้ความดันเลือดสูง
6. หยุดหรือเลิกดื่มสุรา ถ้าจะดื่มเป็นครั้งคราวให้ดื่มเพียงน้อยๆ (เช่น ไม่เกิน 2 เป๊กสำหรับสุรา หรือไม่เกิน 1 ขวดใหญ่สำหรับเบียร์ เป็นต้น)
7. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เช่น อย่าตรากตรำงานหรือเที่ยวจนดึกดื่น เป็นต้น
8. ในสตรีที่ใช้ยาคุมกำเนิด ควรจะหยุดยาคุมกำเนิด (เปลี่ยนไปใส่ห่วงแทน หรือทำหมันเสียเลย) แล้วดูว่าความดันเลือดกลับเป็นปกติหรือไม่ ถ้าไม่กลับคืนสู่ปกติ จึงจะให้ยาลดความดันเลือด นอกจากความดันเลือดนั้นสูงกว่า 17o/1oo ก็อาจจะให้ยาลดความดันเลือด พร้อมกับการหยุดยาคุมกำเนิด
ถ้าคนที่มีความดันเลือดสูงได้ปฏิบัติตนดังกล่าวข้างต้นแล้ว ความดันเลือดยังไม่ลดลง หรือถ้าคนนั้นมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดหัวมาก ตาฝ้าฟาง (ตามัว) หอบ เหนื่อย จึงจะใช้ยาลดความดันเลือด
สำหรับคนที่ไม่มีอาการหรือไม่มีอาการอะไรมาก (เช่น ปวดศีรษะนานๆครั้ง) และความดันเลือดก็ไม่สูงมาก (เช่น ความดันเลือดระหว่าง 16o/1oo ถึง 18o/11o ในผู้สูงอายุ ให้ลองปฏิบัติรักษาตนด้วยวิธีดังกล่าวข้างต้นก่อน ถ้าไม่ดีขึ้นจึงใช้ยาลดความดันเลือด)

ข้อมูลสื่อ

166-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 166
กุมภาพันธ์ 2536
บทความพิเศษ
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์