• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ดูแลช่องปากผู้ป่วยที่ช่วยตัวเองไม่ได้

ดูแลช่องปากผู้ป่วยที่ช่วยตัวเองไม่ได้


ในปัจจุบันเรามักจะได้ยินอยู่บ่อยๆ ว่าคนในครอบครัว ญาติ หรือเพื่อนของเราบางครอบครัวต้องมีภาระเลี้ยงดูผู้ป่วยในครอบครัวซึ่งอยู่ในภาวะทุพพลภาพจากสาเหตุต่างๆ ที่มักพบบ่อย ได้แก่ อุบัติเหตุจราจร โรคความดันโลหิตสูง โรคระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคเลือด เป็นต้น ซึ่งเขาเหล่านี้มักตกอยู่ในสภาพที่น่าเวทนา เนื่องจากสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจเสื่อมลง ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ดีดังก่อน

แต่ยังคงรู้สึกตัวอยู่ระดับหนึ่งอาจจะมากบ้างน้อยบ้าง และต้องการการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ นอกจากสุขภาพโดยทั่วไปแล้ว สุขภาพในช่องปากก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่มักถูกละเลยทั้งโดยตัวผู้ป่วยเองและคนใกล้ชิด พลอยทำให้สุขภาพร่างกายทรุดลงไปอีก โดยเฉพาะเมื่อเกิดความผิดปกติในช่องปากขึ้นแล้วก็ยิ่งเพิ่มความทุกข์ทรมานเป็นทวีคูณ ดังนั้น ผู้ดูแลผู้ป่วยเหล่านี้ควรตระหนักและมีความรู้ที่ถูกต้องในการให้การดูแลสุขภาพในช่องปากของผู้ป่วย

สิ่งที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้จัดเป็นโปรแกรมการดูแลเชิงป้องกันเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยในช่องปากที่พึงกระทำ

1. การทำความสะอาดช่องปากอย่างสม่ำเสมอ

วิธีนี้อาจกระทำโดยตัวผู้ป่วยเองหรือผู้ดูแล สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งหรือโรคเลือด การอักเสบของเนื้อเยื่ออ่อนในช่องปากอาจเป็นอุปสรรคในการแปรงฟัน ให้เลี่ยงไปใช้ผ้ากอซ (ตัดพับเป็นรูปสี่เหลี่ยมเหมือนที่หมอฟันให้กัดหลังถอนฟัน) หรือไม้พันสำลีจุ่มน้ำยาบ้วนปากคลอเฮ็กซิดีนเช็ดถูเบาๆ ให้แทน ทั้งนี้อาจใช้ร่วมกับน้ำเกลือหรือน้ำยาโซเดียมไบคาร์บอเนต โดยการดูดน้ำยาใส่ในกระบอกฉีดยาขนาด 50 ซี.ซี. (ชนิดใช้แล้วทิ้ง) และต่อปลายกระบอกฉีดด้วยท่อยางสั้นๆ แทนเข็มฉีดยาช่วยฉีดล้างให้ ในกรณีที่มีแผลเจ็บในช่องปากอาจให้ยาชาในรูปเม็ดอม หรือชนิดสเปรย์ฉีดพ่นให้โดยตรง

2. การควบคุมแผ่นคราบฟันด้วยน้ำยาเคมี

น้ำยาเคมีที่จัดว่ามีประสิทธิภาพที่สุดในการควบคุมแผ่นคราบฟัน คือ เฮ็กซิดีน 0.2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งออกฤทธิ์ต้านการอักเสบของเหงือกและฟันผุได้ดี โดยให้เจือจางน้ำยานี้ในอัตราส่วนน้ำยาต่อน้ำเท่ากับ 1.1 โดยปริมาตร เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียง อันได้แก่ การรับรสของลิ้นลดลง เนื้อเยื่อในช่องปากแห้งและติดสีดำ ให้อม 1 นาทีหลังอาหารแล้วบ้วนทิ้ง

3. การให้ฟลูออไรด์

ด้วยวิธีนี้สามารถชดเชยการละลายธาตุแคลเซียมออกจากผิวเคลือบฟัน อันเนื่องมาจากการใช้ยาอมเคลือบน้ำตาลหรือยาน้ำเชื่อมที่มีซูโครสเป็นส่วนประกอบทำให้เกิดกรดในน้ำลาย หรือยาบางชนิดที่มีผลต่อการลดปริมาณน้ำลาย กรณีเช่นนี้ควรให้น้ำยาโซเดียมฟลูออไรด์ 0.05 เปอร์เซ็นต์ที่มีฤทธิ์เป็นกลาง (Neutral sodium fluoride) อมบ้วนปากทุกวันหลังอาหารครั้งละ 20 ซี.ซี. นาน 1 นาที

4. การป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อน

เช่น การติดเชื้อรา เชื้อไวรัส ซึ่งพบบ่อยในผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำ ได้แก่ ผู้ที่รับการเปลี่ยนอวัยวะ ผู้ป่วยเอดส์ เป็นต้น อาจให้ยาต้านเชื้อราชนิดป้ายหรืออมในปาก เช่น นิสเตติน (Nystatin) แอมโฟเทอริซิน (Amphotericin)

สำหรับผู้ป่วยที่มีฟันผุง่าย ควรใช้ยาชนิดที่ไม่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสม เช่น นิสเตติน แวจินอล ทรอชส์ (Nystatin vaginal troches) หรือชนิดกิน เช่น คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) , แอมโฟเทอริซิน (Amphotericin) , ฟลูโคนาโซล (Fluconazole)

สำหรับผู้ป่วยที่ใช้ฟันปลอมแบบถอดได้ ให้ทาครีมไมโคนาโซล ไนเตรต (Miconazole nitrate) ลงบนฟันปลอม หรือบริเวณที่ติดเชื้อจากฟันปลอม

สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิต้านทานอาจใช้อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) เป็นยาต้านการติดเชื้อไวรัส

5. การดูแล

ในผู้ป่วยที่มีปัญหาการหลั่งน้ำลายลดลง โรคบางอย่างมีความสัมพันธ์กับการหลั่งน้ำลายน้อยลง ทำให้ช่องปากแห้ง อีกสาเหตุที่พบบ่อยแต่มักถูกมองข้าม คือ การใช้ยาบางชนิดติดต่อกันนานๆ หรือการใช้ยาร่วมกันหลายๆ ชนิด หากพบว่า มีการหลั่งของน้ำลายลดลงเหลือต่ำกว่า 0.3 ซี.ซี.ต่อนาที ถือว่ามีความผิดปกติ ทั้งนี้ให้พิจารณาร่วมกับภาวะความข้น-ใสของน้ำลายและการหดตัวของเนื้อเยื่อบุผิวในปาก เมื่อพบว่า ผู้ป่วยมีภาวะปากแห้งผิดปกติต้องแก้ไข โดยอาจให้บ้วนปากบ่อยๆ หรือเคี้ยวหมากฝรั่งชนิดจืดเพื่อกระตุ้นการหลั่งน้ำลาย

6. การดูแลแผลในช่องปาก

การเกิดแผลในช่องปากมีสาเหตุหลายประการ เช่น การกัดกระพุ้งแก้มหรือริมฝีปากในผู้ป่วยที่มีปัญหาการควบคุมกล้ามเนื้อรอบปาก การอักเสบของเนื้อเยื่อบุผิวในปากจากการฉายรังสี หรือได้รับเคมีบำบัด และการติดเชื้อต่างๆ สำหรับผู้ป่วยที่ร่างกายอ่อนแอมาก แผลในช่องปากอาจเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อไปสู่กระแสเลือด ทั้งยังก่อให้เกิดภาวะทุโภชนาการ เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากขึ้นอีก

แผลในปากที่เกิดจากการใช้เคมีบำบัด หรือการฉายรังสีจะมีผลต่อเนื้อเยื่ออ่อนในปาก ซึ่งได้แก่ เยื่อบุกระพุ้งแก้ม เพดานอ่อน เยื่อบุใต้ลิ้นและด้านข้างลิ้น ส่วนบริเวณเพดานแข็งและเหงือกไม่ค่อยถูกกระทบมากนัก ในกรณีเช่นนี้ ผู้ป่วยต้องได้รับการดูแลมากเป็นพิเศษเพื่อลดการอักเสบของเนื้อเยื่อบริเวณคอส่วนต้นที่อยู่หลังช่องปาก โดยให้น้ำยาบ้วนปากบ่อยๆ เพื่อรักษาความชุ่มชื้นในช่องปาก การแปรงหรือเช็ดถูเหงือกควรกระทำด้วยความนุ่มนวลและระมัดระวังที่สุด น้ำยาบ้วนปากที่เหมาะสม คือ คลอเฮ็กซิดีน 0.2 เปอร์เซ็นต์

ผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัด หรือการฉายรังสี มักมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดกรัม-ลบ แบซิลไล (gram negative baecilli) จึงควรป้องกันโดยให้ยาอมที่มีส่วนผสมของโพลีมิกซิน อี (Polymyxin E) โทบรามันซิน (Tobramycin) , และ แอมโฟเทอริซิน (Amphotericin) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการควบคุมการติดเชื้อและการเกิดเนื้อเยื่อสีเทา (pseudo-membrane) ซึ่งเป็นสัญญาณบอกถึงการอักเสบอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม ยาอมดังกล่าวนี้ไม่อาจควบคุมการอักเสบในระดับที่อ่อนกว่าได้

7. การดูแลอวัยวะปริทันต์

อันได้แก่ เหงือกและอวัยวะครอบตัวฟัน การใช้ยาบางอย่างอาจทำให้เกิดภาวะเหงือกบวมโต (Gingival hyperplasia) ได้ง่าย เช่น

  • ไซโคลสปอริน เอ (Cyclosporin A) ซึ่งใช้ป้องกันมิให้ร่างกายปฏิเสธการเปลี่ยนถ่ายไขกระดูกหรืออวัยวะ
  • ยาเฟนิลโทอิน(Phenyltoin) ที่ใช้ลดการอาเจียน
  • ยากลุ่ม Calcium channel blocking agents เช่น ไนฟีดีน (Nifedine) และดิลไทอะเซม (Diltiazem) ที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูงในคนชรา
  • ยาไดแลนติน (Dilantin) ใช้ป้องกันการชักในเด็ก เป็นต้น

เรามักพบว่า เหงือกบริเวณฟันหน้ามักเกิดการบวมได้บ่อยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ชอบหายใจทางปากหรือมีแผ่นคราบฟัน (Dental plaque) มาก เหงือกที่บวมจะหายได้เองเมื่อหยุดใช้ยา ดังนั้นการดูแลอนามัยช่องปากจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อหลีกเลี่ยงการทำศัลยกรรมตัดแต่งเหงือกภายหลังการหยุดยา ผู้ป่วยทุพพลภาพควรได้รับการให้กำลังใจอย่างสม่ำเสมอด้วย นอกเหนือจากการดูแลทางกาย เนื่องจากสภาพจิตของผู้ป่วยก็อยู่ในสภาพไม่ดีไปกว่าร่างกายสักเท่าใด การเยี่ยมเยือนเป็นระยะๆ จากญาติมิตรก็เป็นสิ่งที่ช่วยได้มาก แต่ดูเหมือนจะทำได้ไม่ค่อยต่อเนื่อง

ดังนั้นการพูดคุยจากสมาชิกในครอบครัวจึงเป็นสิ่งที่ควรกระทำเพื่อเป็นการชดเชยทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้งหรือรังเกียจจากสังคม สำหรับผู้ป่วยที่พอจะช่วยตัวเองได้ ควรพยายามให้ช่วยตัวเองให้มากที่สุดในขอบเขตที่สมเหตุสมผล เพื่อจะได้ไม่เป็นภาระต่อผู้อื่นเกินจำเป็น ทั้งยังเป็นการรักษาความเชื่อมั่นในตนเองด้วย

ถอดความจาก บทความของ Dr.Laurence J.Walsh, Senior beturer in Preventive, Dentistry Dept. of Dentistry, University of Queensland.

ข้อมูลสื่อ

166-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 166
กุมภาพันธ์ 2536