• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อิมมูน–ภูมิคุ้มกัน (อีกครั้ง)

อิมมูน–ภูมิคุ้มกัน (อีกครั้ง)


เมื่อหลายฉบับก่อนได้กล่าวถึงความหมายของคำว่า “อิมมูน - ภูมิคุ้มกัน” และ “การสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน”  รู้สึกว่ายังมีแง่มุมบางอย่างที่ยังไม่ได้กล่าวถึง จึงใคร่ขอเพิ่มเติมเพื่อให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า “อิมมูน” (immune) หรือ “อิมมูนิตี้” (immunity) ของคนเรานั้นสามารถก่อเกิดได้หลายวิธี

ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เรียกว่า “ภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ” (natural immunity) กล่าวคือ เมื่อมีเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย เม็ดเลือดขาวก็ทำหน้าที่ในการต่อสู้กับเชื้อโรค และสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคชนิดนั้นๆ ภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นนี้จะดำรงอยู่ในร่างกายตลอดไป เมื่อติดเชื้อตัวเดิม ภูมิคุ้มกันต่อเชื้อชนิดนี้ซึ่งมีอยู่ในร่างกายแล้ว ก็สามารถพิทักษ์คนๆ นั้นมิให้เกิดโรคหรือลดความรุนแรงของโรคลงได้ มีโรคหลายชนิดที่คนเรามักจะเป็นเพียงครั้งเดียว เช่น หัด หัดเยอรมัน ไข้สุกใส คางทูม เป็นต้น เพราะเชื้อที่ทำให้เกิดโรคแต่ละอย่างนั้นจะมีเพียงชนิดเดียว เมื่อร่างกายเคยติดเชื้อครั้งหนึ่ง ก็จะมีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต

ในสมัยก่อนที่จะค้นพบวัคซีนป้องกันหัดเยอรมัน ในต่างประเทศนิยมให้เด็กสาวป่วยเป็นหัดเยอรมันก่อนที่จะเข้าสู่วัยแต่งงานมีบุตร เพราะทราบกันดีว่า โรคนี้ถ้าเป็นตอนตั้งครรภ์ ทารกมีโอกาสพิการได้ ดังนั้นเมื่อมีใครสักคนป่วยเป็นหัดเยอรมันก็พยายามให้คนไข้แพร่เชื้อต่อไปให้คนอื่นๆ ถึงกับจัดงานสังสรรค์ปาร์ตี้กันเลย เรียกว่า “ปาร์ตี้หัดเยอรมัน” (German measles party) ก็เป็นการใช้หลักการสร้างภูมิคุ้มกันธรรมชาติให้เป็นประโยชน์นั่นเอง


ทีนี้คุณผู้อ่านอาจสงสัยว่า แล้วไข้หวัดเมื่อเป็นแล้วร่างกายไม่ได้สร้างภูมิคุ้มกันธรรมชาติหรือไง ถึงได้เป็นซ้ำๆ กันบ่อยเหลือเกิน

คำตอบก็คือ เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัดนั้นมีอยู่ราว 200 ชนิด เมื่อติดเชื้อไข้หวัดชนิดที่ 1 ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันอย่างถาวร แต่ครั้งต่อไปเมื่อร่างกายรับเชื้อไข้หวัดชนิดที่ 2 ภูมิคุ้มกันที่มีผลต่อเชื้อไข้หวัดชนิดที่ 1 ไม่สามารถคุ้มภัยให้คนเราได้ ก็จะป่วยเป็นไข้หวัดอีกหน...เช่นนี้ไปเรื่อยๆ ดังนั้นชั่วชีวิตของคนเราสามารถเป็นไข้หวัดได้ถึงร่วม 200 ครั้ง

ภูมิคุ้มกันธรรมชาติที่เกิดขึ้นในสตรีสามารถถ่ายทอดไปยังทารกในครรภ์โดยผ่านเข้าไปทางรก หลังคลอด นมแม่ที่ให้ลูกกินก็มีภูมิคุ้มกันอยู่เต็มเปี่ยม นี่เป็นกลไกธรรมชาติในการสืบทอดเผ่าพันธุ์มนุษย์ กล่าวคือ คุ้มครองป้องกันให้ทารกอยู่รอดจนโต เราจะเห็นว่าทารกในช่วง 6 เดือนแรก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่กินนมแม่) มักจะไม่ค่อยเจ็บป่วยอะไร แต่พอพ้น 6 เดือนขึ้นไป ภูมิคุ้มกันธรรมชาติที่ทารกได้รับจากมารดาขณะอยู่ในครรภ์นั้นจะค่อยๆเสื่อมสลายไป และจะเริ่มเจ็บออดๆ แอดๆ เช่น เป็นไข้หวัด ท้องเดิน

จากการเรียนรู้เรื่องภูมิคุ้มกันธรรมชาติ มนุษย์จึงได้คิดค้นเรื่องวัคซีน (vaccine) และเซรุ่ม (serum)
วัคซีนที่มนุษย์รู้จักใช้ตั้งแต่สมัยโบราณ ก็คือ ไข้ทรพิษหรือฝีดาษ ชาวจีนรู้จักใช้หนองฝีของฝีดาษนำมาตากแห้งแล้วให้คนปกติทั่วไปสูดเข้าจมูก เป็นการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคฝีดาษแบบหนึ่ง ต่อมานายแพทย์ชาวอังกฤษชื่อเจนเนอร์ ได้คิดค้นวิธีปลูกฝีที่ได้ผลจนสามารถกำราบโรคนี้ให้สูญพันธุ์ไปนับ 10 ปีแล้ว หลุยส์ ปาสเตอร์ แพทย์ชาวฝรั่งเศสได้คิดค้นวิธีฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำได้สำเร็จ และต่อๆ มาก็มีการคิดค้นวัคซีนได้อีกนับ 10 ชนิดที่นำมาใช้อยู่ในปัจจุบัน นอกจากวัคซีนแล้ว ก็ยังมีการคิดค้นเซรุ่มแก้พิษงู บาดทะยัก พิษสุนัขบ้า และโรคอื่นๆ ทั้งวัคซีนและเซรุ่ม เป็นวิธีเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมา จึงเรียกว่า artificial immunization (แปลว่า ภูมิคุ้มกันประดิษฐ์)

คุณผู้อ่านอาจสงสัยว่า วัคซีนกับเซรุ่มต่างกันอย่างไร

วัคซีน คือ เชื้อโรคหรือพิษที่ผ่านกรรมวิธีทำให้อ่อนตัวลง แล้วนำไปให้กับคนทั่วไปที่ไม่ได้เจ็บป่วย (โดยการฉีดหรือกิน) เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันเอง เป็นการเลียนแบบการเกิดภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ เรียกว่า ภูมิคุ้มกันก่อเอง (active immunity)

ส่วน เซรุ่ม เป็นน้ำเลือดหรือพลาสมาของม้าหรือคนอื่นที่ถูกกระตุ้นด้วยเชื้อโรคหรือพิษที่อ่อนตัวจนมีภูมิคุ้มกัน แล้วสกัดมาเพื่อนำไปให้แก่คนไข้ที่ติดเชื้อ เพื่อให้สามารถทำลายเชื้อโรคหรือพิษได้ทันควัน เช่น คนที่ถูกตะปูตำ สงสัยว่าอาจเป็นบาดทะยัก ถ้าไม่เคยรับวัคซีนป้องกันบาดทะยักมาก่อน (ไม่มีภูมิคุ้มกันอยู่เลย) ก็จำเป็นต้องฉีดเซรุ่มป้องกันบาดทะยัก แต่ถ้าเคยรับวัคซีนมาแล้วในช่วงระยะไม่นาน ก็ไม่จำเป็นต้องให้เซรุ่ม

คนที่ถูกสุนัขบ้ากัด หมอจะแนะนำให้ฉีดเซรุ่มควบคู่กับวัคซีนพร้อมๆ กันไป เซรุ่มจะทำลายเชื้อพิษสุนัขบ้าทันควัน ส่วนวัคซีนจะกระตุ้นให้ร่างกายค่อยๆสร้างภูมิคุ้มกันเอง แต่ต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ๆ หากไม่ฉีดซุ่มให้ ภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างเอง (จากวัคซีน) อาจไม่ทันกาล ภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากเซรุ่มโดยที่ร่างกายไม่ได้สร้างเองแบบนี้เรียกว่า ภูมิคุ้มกันรับมา (passive immunity) เปรียบง่ายๆ ก็คือ วัคซีนเป็นเหมือนการสร้างศัตรูปลอมๆ ให้ซ้อมรบเพื่อให้กองทหารภายในประเทศมีความพร้อมที่จะประจัญบานกับศัตรูได้ทุกเมื่อ ส่วนเซรุ่มเป็นเหมือนกองทหารพันธมิตรที่เข้ามาช่วยเราสู้รบกับศัตรูที่เข้ามารุกรานแล้วนั่นเอง

ข้อมูลสื่อ

167-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 167
มีนาคม 2536
พูดจาภาษาหมอ
ภาษิต ประชาเวช