• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

รองเท้าส้นสูงไม่เหมาะสำหรับเดิน

รองเท้าส้นสูงไม่เหมาะสำหรับเดิน

สังเกตได้ว่า รองเท้าส้นสูงกำลังกลับมาเป็นที่นิยมในหมู่คนไทยอีก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะแต่ก่อนสาวไทยโดยเฉลี่ยสูงไม่มาก แต่ปัจจุบันสาวสมัยใหม่สูงขึ้น อาจเนื่องมาจากการกินอาหารที่ครบหมู่เหล่าและออกกำลังกายในวัยเจริญเติบโตจึงทำให้สาวๆที่มีความไม่สูงนักรู้สึกเป็นปมด้อยถ้าไม่ได้ใส่ส้นสูงสัก ๔-๕ นิ้ว เพื่อเสริมความสูงให้ทัดเทียมกับผู้อื่น

ความจริงถึงจะใส่รองเท้าส้นสูง ก็ไม่สามารถทำให้ร่างกายสูงขึ้นได้  และอาจทำให้เกิดผลเสียมากมายต่อร่างกาย แต่ถ้ามองทางด้านจิตใจคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเกิดความไม่มั่นใจในตนเองอาจก่อให้เกิดอาการซึมเศร้า มีปมด้อย ไม่กล้าฟันฝ่าอุปสรรคในชีวิตสังคมปัจจุบันที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้นถ้าใส่รองเท้าส้นสูงไม่มากนัก จะช่วยได้ทั้งจิตใจและป้องกันผลอันไม่พึงปรารถนาจากรองเท้าส้นสูงได้บ้าง

รองเท้าส้นสูงขนาดใดจึงถือว่าสูงเกินไป เป็นปัญหาที่อาจเกิดความขัดแย้งในหมู่ผู้วิจารณ์ ถ้าไม่มาศึกษาถึงบทบาทของข้อเท้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเดินในภาวะปกติ การเดินในแต่ละย่างก้าวจะประกอบด้วย ๒ ช่วง ช่วงแรก คือช่วงที่ส้นเท้าของขาข้างหนึ่งสัมผัสกับพื้นเพื่อลงน้ำหนักบนเท้าข้างนั้น และผลักตัวไปข้างหน้าเพื่อยกขาอีกข้างขึ้น ช่วงที่สอง คือช่วงที่ขาอีกข้างเหวี่ยงไปข้างหน้าจนส้นเท้าเริ่มสัมผัสกับพื้น ในเวลาเดิน แต่ละเท้าจะผลัดกันลงน้ำหนัก และผลัดกันเหวี่ยงไปข้างหน้า ย่อมสังเกตได้ว่าการเดินแตกต่างกับการวิ่ง  คือ ในการเดินเท้าข้างหนึ่งจะต้องวางอยู่บนพื้นเสมอ ส่วนการวิ่งนั้นจะมีช่วงที่ขาทั้ง ๒ ไม่สัมผัสพื้นเลย

ข้อเท้ากระดกขึ้นประมาณ ๑o องศาจากมุมฉาก ตอนส้นเท้าสัมผัสพื้น และกระดกประมาณ ๒o องศา ตอนปลายเท้าผลักตัวไปข้างหน้าก่อนยกเท้าขึ้นจากพื้นเพื่อก้าวไปข้างหน้า ดังนั้นมุมการเคลื่อนไหวของข้อเท้าจึงมีเพียง ๓o องศา ในท่าเดนปกติ โดยเฉพาะถ้าจะให้ส้นเท้าแตะพื้นเพื่อเดินอย่างปกติ ข้อเท้าจะต้องกระดกน้อยกว่า ๒o องศาเท่านั้น ตรงนี้มีความหมายมากสำหรับความสูงเต็มที่ของส้นเท้าในแต่ละบุคคล

ในผู้ที่มีขนาดของเท้ายาว หรืออีกนัยหนึ่งใส่รองเท้าเบอร์ใหญ่ ย่อมมีสิทธิ์ใส่ส้นสูงได้มากกว่าผู้ที่มีขนาดของเท้าสั้นหรือผู้ที่ใส่รองเท้าเบอร์เล็ก ทั้งนี้อาจคำนวณจากสูตรง่ายๆคือ นำ o.๓๔ คูณด้วยเบอร์รองเท้าที่ใส่ หรือวัดจากขอบส้นเท้ามาถึงโคนนิ้วหัวแม่เท้ามีหน่วยเป็นนิ้วฟุต

ตัวอย่างเช่น ใส่รองเท้าเบอร์ ๗ เมื่อคูณด้วย o.๓๔ จะได้ผลคูณเท่ากับ ๒.๓๘ นิ้ว นั่นคือ ความสูงเต็มที่ของส้นรองเท้าไม่ควรสูงกว่านี้อีก โดยทั่วไปส้นรองเท้าจึงไม่ควรสูงเกิน ๒ นิ้วโดยเฉลี่ยสำหรับสาวไทย

ผลเสียของการใส่รองเท้าที่มีส้นสูงมากเกินไป นอกจากจะทำให้เดินเขย่งเท้าไม่น่าดู และเดินไม่เหมือนคนปกติ ทำให้เสียบุคลิกภาพไม่สง่างามแล้วยังทำให้เกิดอาการต่างๆตามมามากมาย

  • ข้อเท้าจะแพลงบ่อย ยิ่งเมื่อเดินบนพื้นขรุขระหรือขึ้นลงบันได หรือพื้นที่สูงต่ำไม่เท่ากันโอกาสเหยียบพลาดสะดุดล้มลงยิ่งมีมาก เนื่องจากไม่ได้ลงน้ำหนักที่ส้นเท้าก่อนเริ่มแตะกับพื้น ถ้าอาการแพลงเกิดที่บริเวณตาตุ่มนอกอาจไม่รุนแรงมาก แต่ถ้าแพลงที่ตาตุ่มในอาการแพลงจะรุนแรงมีการอักเสบมาก และอาจมีกระดูกหักที่ปลายกระดูกด้านในได้ ในกรณีนี้ต้องรีบรักษาด่วน ถ้าแพลงบ่อยๆที่ตาตุ่มนอก ให้ใส่ที่รัดข้อเท้าซึ่งมีขายตามร้านกีฬาทั่วๆไป หรือแผนกเครื่องกีฬาของห้างสรรพสินค้า 
  • กล้ามเนื้อน่องของผู้ที่ใส่รองเท้าส้นสูงมากตลอดเวลาจะมีลักษณะแข็งเป็นลำ บางครั้งเจ็บปวดมากคล้ายเป็นตะคริว เนื่องจากกล้ามเนื้อน่องต้องเกร็งตัวอยู่ตลอดเวลาเพื่อเขย่งเท้าไว้ เลือดจึงไม่มาเลี้ยงบริเวณนี้ทำให้เกิดอาการปวด ควรถอดรองเท้าออกทุกครั้งที่มีโอกาสลงนั่ง หรือเปลี่ยนเป็นรองเท้าแตะเมื่อมาถึงที่ทำงาน การยกเท้าให้สูงกว่าระดับหัวใจก่อนเวลานอนสักครึ่งชั่วโมงทำให้เลือดเสียที่คั่งไว้ไหลกลับได้สะดวกพร้อมเคลื่อนไหวข้อเท้ากระดกขึ้นกระดกลง การที่กล้ามเนื้อน่องโตมากจนผิดปกติ ทำให้ขาไม่เรียวสวยตามธรรมชาติ และมีลักษณะเป็นผู้ชายมากกว่าสตรี ปลายเท้าโดยเฉพาะที่โคนนิ้วเท้าจะเจ็บปวดมากเพราะต้องรับน้ำหนักตัวอยู่ตลอดเวลาแทนที่น้ำหนักจะกระจายไปตามส่วนโค้งของเท้าลงไปที่ส้นเท้า โดยเฉพาะถ้านิ้วหัวแม่เท้าอักเสบแทบจะเดินไม่ได้เลยเป็นวัน เนื่องจากนิ้วหัวแม่เท้าเป็นตัวจักรสำคัญในการเดิน
  •   ข้อเข่าจะเจ็บปวด และเสื่อมเร็วขึ้นและกล้ามเนื้อต้นขาเมื่อยล้าตลอดเวลาเพราะต้องทำงานหนัก ที่ร้ายแรงมากคือ จะเกิดอาการปวดหลังมากเพราะศูนย์ของร่างกายขยับสูงขึ้นทำให้กล้ามเนื้อหลังต้องทำงานมากขึ้นตลอดเวลา และบาดเจ็บได้ง่ายถ้าไม่ระมัดระวังไปก้มตัวลงอย่างกะทันหันหรือยกของหนักเกินไป

 การใส่รองเท้าส้นสูงมากถึงจะทำให้ร่างกายดูสูงขึ้นในสายตาผู้อื่น แต่ผลเสียที่ตามมาอย่างถาวรย่อมไม่คุ้มค่าเลย

ข้อมูลสื่อ

208-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 208
สิงหาคม 2539
เรื่องน่ารู้
รศ.ประโยชน์ บุญสินสุข