• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ให้เวลากับอาหารเช้าบ้าง

ให้เวลากับอาหารเช้าบ้าง


“แดงมีแต่แดง ไม่มีเขียว เอาอีกแล้ว อยากจะไปธุระก็ไปไม่ทัน (เบื่อ)”

แว่วเสียงบ่นเป็นเพลงของพ่อวสันต์ โชติกุล ดังลอดฝูงชนที่เบียดเสียดยัดเยียดแย่งกันยืนบนรถสายทางด่วนที่ไม่ได้ด่วนสมชื่อเอาเสียเลย เพราะแช่อยู่กับที่กว่า 20 นาทีแล้วยังไม่มีทีท่าจะขยับเขยื้อน ชีวิตจริงที่ไม่ต้องเลียนแบบดาราของคนเมืองกรุง คงไม่ต้องถามกันให้เมื่อยปากว่าเบื่อไหม เพราะคำตอบก็คือ เบื่อแน่นอน แต่ก็ไม่มีทางเลือก ใครมีรถยนต์ส่วนตัวก็สบายหน่อย ยังพอมีเวลาทำอะไรในระหว่างเดินทางได้บ้าง เช่น แต่งตัว แต่งหน้า กินข้าว เป็นต้น แต่คนที่ต้องทำตัวเป็นทาร์ซานห้อยโหนรถเมล์นั้น การที่จะพกข้าวไปกินบนรถเมล์ก็ใช่ที่ เพราะแค่หาที่ยืนได้ก็นับว่าโชคดีแล้ว

ในภาวะอย่างนี้เองทำให้คนกรุงเทพฯ จำนวนไม่น้อยเลยทีเดียวที่ต้องเสียโอกาสในการได้กินอาหารมื้อที่สำคัญที่สุด นั่นก็คือ “อาหารมื้อเช้า” ไปอย่างน่าเสียดาย

หลังจากที่ร่างกายของเรานอนหลับพักผ่อนมาทั้งคืนแล้ว เมื่อตื่นนอนมาตอนเช้า ร่างกายจึงอยู่ในภาวะที่สดชื่นสมบูรณ์ทุกระบบ ทั้งนี้รวมไปถึงระบบการเคี้ยว ระบบย่อย การดูดซึมอาหาร พร้อมที่จะทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่

อาหารเช้าที่กินถ้าหากเป็นอาหารที่มีคุณภาพ มีสารอาหารครบ 5 หมู่ คือ มีทั้งเนื้อสัตว์ ไข่ นม หรือถั่วเมล็ดแห้ง ข้าว และแป้ง ไขมันหรือน้ำมันพืช ผักผลไม้ ก็จะเป็นอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายเป็นที่สุด และที่สำคัญอย่าลืมดื่มน้ำตามเข้าไปด้วย

ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าเราให้เวลากับอาหารมื้อเช้าสักนิด เพียงแค่การกินอาหารตามปกติ ไม่ต้องไปเตรียมอะไรให้พิเศษมากมายนัก เราก็จะได้สารอาหารที่ครบถ้วน แม้แต่ข้าวราดแกงธรรมดา เช่น ข้าวราดผัดผักบุ้ง ไข่ดาว เราก็จะได้ทั้งคาร์โบไฮเดรตจากข้าว ได้วิตามิน เกลือแร่จากผักบุ้ง ได้ไขมันจากน้ำมัน (ที่ใช้ผัดผักบุ้ง) ได้โปรตีนจากไข่ ยิ่งถ้าเพิ่มผลไม้เป็นฝรั่งหรือมะละกอสัก 2-3 ชิ้นแล้วล่ะก็ ก็จะเป็นอาหารมื้อเช้าที่ไม่ธรรมดาอย่างที่คุณคิดเลยทีเดียว

ตามหลักวิชาการแล้ว มื้อเช้าควรจะเป็นอาหารมื้อหนักที่สุด ถัดไปก็มื้อกลางวัน และมื้อเย็นจะเบาที่สุด แต่ทุกวันนี้คนเรากลับไปให้ความสำคัญกับอาหารมื้อกลางวันและมื้อเย็น โดยเฉพาะมื้อเย็น บางคนถึงกับขอกินเผื่อมื้อเช้าวันพรุ่งนี้เลยก็มี แล้วอย่างนี้จะไม่ถูกพ่อต่อ ต๋องเขาค่อนแคะว่า ‘เอวหาย’ ได้อย่างไร เพราะหลังอาหารมื้อเย็นแล้ว ร่างกายก็เข้าสู่ภาวะพักผ่อนเคลื่อนไหวน้อย พลังงานก็ถูกนำไปใช้น้อย คราวนี้ก็เลย ‘ไม่อ้วนเอาเท่าไหร่’ กันเป็นแถว

มีข้อเสนอแนะบางประการที่น่าสนใจและน่าลองนำไปปฏิบัติดู เพื่อให้เราตรวจสอบง่ายๆ ว่าวันๆหนึ่งเราได้รับสารอาหารครบถ้วนพอดีหรือเปล่า คำตอบที่ง่ายและตรงไปตรงมา คือ พยายามกินให้มากพอ และกินให้ถูกสัดส่วน กินอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ แต่ในทางปฏิบัติ เป็นการยากสำหรับบางคนที่จะจำว่าอาหารแต่ละหมู่มีอะไรบ้าง มีประโยชน์อย่างไร ต้องกินอย่างไร

เพื่อแก้ไขปัญหาความยุ่งยากในการจดจำหมู่อาหารต่างๆ เพราะมีความสับสนและซ้ำซ้อนกันอยู่ จึงเสนอว่าควรจำง่ายๆ ว่าวันหนึ่งๆ ควรกินอาหารให้ได้อย่างน้อยสัก 30 ชนิด ไม่ว่าจะกินกี่มื้อก็ตาม การที่เสนอเช่นนี้หลายคนคงตกใจว่า เอ๊ะ! 5 หมู่ยังจำไม่ได้ แล้ววันละ 30 ชนิดจะไปจำได้อย่างไร และจะทำได้อย่างไร

ขอบอกว่าไม่ต้องจำ เพราะจำอย่างไรก็ไม่หมด เพียงแต่ลองนับดูให้ครบถ้วนถึงอาหารทุกชนิดที่กินในทุกมื้อและระหว่างมื้อให้ได้ ก็จะรู้สึกว่าเป็นไปได้ ทำได้ และสนุก อย่างมื้อเช้ากินข้าวต้มกับผัดผักรวม และยำกุนเชียง ลองนับดูก็จะได้ชนิดอาหาร คือ ข้าว ผักดอกกะหล่ำ ข้าวโพดอ่อน มะเขือเทศ หมูกับมันหมู น้ำมันพืช กระเทียม น้ำปลา กุนเชียง มะนาว หัวหอม พริกขี้หนู น้ำตาล รวมแล้วถึง 14 ชนิด แล้วถ้ารวมกับมื้อกลางวันและมื้อเย็นอีกต้องถึง 30 ชนิดแน่นอน วิธีการนี้นอกจากจะทำให้เราสามารถเช็กได้ว่าทั้งวันเราได้สารอาหารครบหรือไม่แล้ว ยังทำให้รู้สึกสนุกกับการนับอีกด้วย

ตลอดทั้งวันร่างกายต้องใช้พลังงานในการทำงานมากมาย การกินอาหารเช้าจึงเป็นเสมือนกับการเติมพลังงานให้กับร่างกายให้พร้อมที่จะรับมือกับงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังจะเป็นผลดีต่อสุขภาพร่างกายด้วยอีกทางหนึ่ง

รู้กันอย่างนี้แล้วคุณๆ จะใจดำไม่ให้เวลากับอาหารมื้อเช้ากันเชียวหรือ

ข้อมูลสื่อ

167-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 167
มีนาคม 2536
รู้ก่อนกิน
อุทัย ช่างเกียรติ