• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ถอนฟันกับปวดหลัง

ถอนฟันกับปวดหลัง


ญาติสูงอายุผู้หญิงของผมคนหนึ่ง ท่านตื่นตี 5 เพื่อไปออกกำลังกายที่สวนลุมฯ ทุกเช้า พอตอนสายขึ้นรถเมล์ไปขายของทุกวัน ถึงตอนเย็นก็กลับบ้านพักผ่อน ปรากฏว่า สุขภาพท่านดี ไม่อ้วน กินอาหารได้ ถ่ายอุจจาระได้ หัวถึงหมอนนอนหลับทันที ไม่เคยเจ็บไข้ได้ป่วยจนล้มหมอนนอนเสื่อ แต่เมื่อไม่นานมานี้ท่านไปถอนฟันออก 5 ซี่ เพื่อเตรียมใส่ฟันปลอม น้ำหนักท่านลดลงทันที 3 กิโลกรัม

อยู่มาวันหนึ่งก่อนวันตรุษจีน ท่านช่วยคนในบ้านทำความสะอาดตามประเพณี ตกกลางคืนท่านปวดขาจนยืนไม่ได้ ตรวจพบว่ามีอาการปวดร้าวลงที่ด้านหลังขาซ้าย สาเหตุจากการกดทับถูกรากประสาทที่บริเวณบั้นเอว ถ้าดูเผินๆ การถอนฟันกับอาการปวดหลังไม่น่าจะมีความสัมพันธ์กันเลย เพราะฟันนั้นอยู่ในปาก ใช้เคี้ยวอาหาร ส่วนหลังอยู่ที่ส่วนล่างของกระดูกสันหลัง ใช้รับน้ำหนักของร่างกาย เส้นประสาทที่ทำให้ปวดฟันมาจากสมอง สำหรับรากประสาทที่ออกมาจากกระดูกสันหลังไปที่ขานั้นมาจากไขสันหลัง ดังนั้น อาการปวดหลังและมีเส้นประสาทถูกกดทับน่าจะเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นช่วงหลังจากถอนฟัน คือ ความบังเอิญ ไม่มีอาการเกี่ยวข้องกัน

การมองความผิดปกติของร่างกายแบบแยกส่วนนี้ เป็นแนวคิดที่ถูกสอนมาในหลักสูตรวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยมองว่าร่างกายถูกแบ่งเป็นระบบต่างๆ เช่น ฟันอยู่ในระบบย่อยอาหาร กระดูกสันหลังอยู่ในระบบกระดูกข้อต่อและกล้ามเนื้อ รากประสาทอยู่ในระบบประสาท เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้นในระบบใดระบบหนึ่ง การรักษาจึงมุ่งไปสู่ระบบนั้นทันที เมื่อเกิดอาการปวดฟันย่อมรักษาด้วยการถอนฟัน ถ้าปวดหลังก็รักษาด้วยวิธีการทางกายภาพบำบัดหรือผ่าตัดหลัง อาการกดทับถูกรากประสาทต้องผ่าตัดเอาหมอนรองกระดูกหรือกระดูกสันหลังบางส่วนออก จะโชคดีหน่อยที่ปวดขาไม่ต้องตัดขาทิ้งแล้วใส่ขาเทียมแทน

การรักษาที่มุ่งไปเฉพาะส่วนใดของร่างกาย จึงไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร และผลข้างเคียงอาจเกิดขึ้นมากมาย อาทิเช่น เกิดภาวะทุโภชนา ปวดหลังมากขึ้นหลังผ่าตัด 6 เดือน เนื่องจากการเหนี่ยวรั้งของพังผืดจากรอยแผลภายในกล้ามเนื้อ เยื่อหุ้มข้อต่ออาจเกิดอาการอ่อนแรงของขาหลังผ่าตัด เพราะไม่กล้าเดินเป็นเวลานาน หรือเส้นประสาทอาจฉีกขาดระหว่างการผ่าตัด ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงภาวะจิตใจที่เสื่อมโทรมและเครียดจากกระบวนการรักษาที่ค่อนข้างสลับซับซ้อนและไม่เป็นที่เข้าใจของผู้ป่วย และที่สำคัญคือ เกิดปัญหาทางเศรษฐฐานะจากค่าใช้จ่ายในการรักษา

ลองกลับมาพิจารณากรณีของผู้ป่วยรายนี้ ถ้าในช่วงนั้นไม่ถอนฟันมากครั้งเดียวถึง 5 ซี่ จะไม่เกิดอุปสรรคในการกินอาหาร ทำให้น้ำหนักลดลงมากในช่วงเวลาอันสั้น เป็นผลให้สุขภาพทรุดโทรมอย่างมาก กล้ามเนื้อไม่แข็งแรงเท่ายามปกติ การช่วยทำความสะอาดบ้านตามประเพณีจึงไม่น่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บที่หลัง และเป็นเหตุให้เกิดการกดทับรากประสาทที่ลงไปที่ขาได้

การที่ร่างกายอยู่ในภาวะสมดุลทุกระบบย่อมทำงานประสานกัน ไม่เกิดอาการเจ็บป่วยขึ้น ดังนั้น ในกรณีนี้นอกจากการรักษาทางกายภาพบำบัด และการแนะนำให้ผู้ป่วยกินอาหารที่มีโปรตีนสูงและไม่ต้องขบเคี้ยวในลักษณะของเหลว เช่น น้ำแกง หรือจัดการให้อาหารนิ่มลงโดยเอากระดูกออก ตุ๋นด้วยไฟอ่อนๆ ทำให้ผู้ป่วยหายจากอาการปวดขาและเดินได้ในเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ ซึ่งถ้ามุ่งรักษาแต่อาการปวดหลังอย่างเดียวโดยการผ่าตัด อาจต้องใช้เวลาถึง 2 เดือนจึงจะเข้าสู่สภาพนี้ได้

การมองร่างกายเป็นองค์รวมแทนที่จะแยกส่วน ทำให้สามารถแก้ที่ต้นเหตุได้ และผู้ป่วยสามารถเข้าใจในสภาวะที่ไม่สบายจึงช่วยเหลือตนเองได้ดี ประหยัดค่ารักษา ทั้งยังไม่มีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ เกิดขึ้นอีก

การปรับให้ร่างกายเข้าสู่สภาพสมดุลทั้งภายในและภายนอก จึงเป็นการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันอาการผิดปกติ และอุบัติเหตุในขณะทำงานได้ดี การพยายามรักษาที่ปลายเหตุหรือปล่อยให้มีอาการแทรกซ้อนจนรักษาไม่ได้ เกิดความพิการทางกายหรือจิตใจ แล้วจึงค่อยมาฟื้นฟูสมรรถภาพย่อมไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องอย่างแน่นอน

ข้อมูลสื่อ

167-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 167
มีนาคม 2536
ดุลชีวิต
รศ.ประโยชน์ บุญสินสุข