ผลยาหลอก
“คุณหมอครับ ยาแก้ปวดเม็ดสีขาวที่คุณหมอจ่ายให้ไปกินคราวที่แล้ว ผมกินแล้วไม่ค่อยได้ผล ขอเป็นเม็ดสีฟ้าขาวอย่างครั้งก่อนๆ โน้นดีกว่าครับ” คนไข้ที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรนเป็นประจำมาขอร้องให้หมอสั่งยาตามสีสันที่ชอบ
“เอ้า...หมอบอกตรงๆว่ายาเม็ดสีขาวกับสีฟ้าขาวเป็นตัวยาแก้ปวดพาราเซตามอลเหมือนๆกัน ต่างกันตรงยี่ห้อและสีสันเท่านั้น ฤทธิ์ยาไม่น่าจะต่างกัน...” คุณหมออธิบาย
“ผมลองดูแล้ว รู้สึกว่ายาเม็ดสีฟ้าขาวได้ผลกว่า อาจเป็นเพราะผมถูกโฉลกกับสีฟ้าขาวก็ได้นะครับ” คนไข้ยืนยัน คุณหมอก็จำใจต้องจ่ายยาตามใจคนไข้
เรื่องของยา ถ้ามองจากมุมวิทยศาสตร์ล้วนๆ ก็จะเห็นเป็นเพียงสารเคมีที่ออกฤทธิ์นั่นนี่เท่านั้น ยาต่างยี่ห้อ (ที่หน้าตาสีสันต่างกัน) แต่ประกอบด้วยตัวยาเหมือนกัน ก็น่าจะออกฤทธิ์ได้พอๆ กัน นี่คือ ทัศนะของหมอที่มองยาเป็นเพียงสารเคมีล้วนๆ แต่ในสายตาของชาวบ้านแล้ว ยามีคุณค่ามากกว่าตัวสารเคมี มันยังเกี่ยวพันกับความเชื่อ ความศรัทธา หรือเรื่องของ “อุปาทาน” อีกด้วย
ในต่างประเทศเคยมีการทดลองให้คนไข้ที่ป่วยเป็นมะเร็งระยะท้ายที่มีอาการเจ็บปวดกินยาระงับปวด โดยกลุ่มหนึ่งให้ยาระงับปวดจริงๆ อีกกลุ่มหนึ่งให้กินยาเม็ดแป้งที่ไม่มีฤทธิ์เป็นยา แต่หลอกคนไข้ว่าเป็นยา ปรากฏว่า กลุ่มที่กินเม็ดแป้งหายปวดได้ถึงร้อยละ 40-50
ในบ้านเราก็เคยมีการวิจัยให้คนไข้ที่ตรวจพบว่า เป็นแผลที่กระเพาะลำไส้ (โรคกระเพาะ) กลุ่มหนึ่งกินยาลดกรดจริงๆ อีกกลุ่มหนึ่งกินแป้ง (แต่ปรุงสีสันและรสชาติให้เหมือนยาลดกรดจริงๆ) อีก 4 สัปดาห์ตาอมาตรวจซ้ำ ปรากฏว่ากลุ่มที่กินยาลดกรดจริงๆ แผลหายประมาณร้อยละ 75 ในขณะที่กลุ่มกินยาหลอกแผลหายประมาณร้อยละ 50
แป้งไม่มีฤทธิ์เป็นยา แต่ถ้าคนไข้เชื่อว่าเป็นยาก็สามารถออกฤทธิ์ทำให้โรคหายหรือทุเลาได้ เม็ดแป้ง ภาษาหมอเรียกว่า “พลาซิโบ” (placebo) ผลของเม็ดแป้งที่ช่วยให้โรคหายได้นั้น เรียกว่า ผลยาหลอก หรือ “พลาซิโบเอฟเฟก” (placebo effect)
ทำไมจึงเป็นเช่นนี้
ทั้งนี้ก็เกี่ยวกับเรื่องของอุปาทานนั่นเอง สมองของมนุษย์เราจะว่าฉลาดก็ฉลาดเหลือล้ำ จะว่าโง่ก็โง่สุดขีด นั่นคือ เกิดอุปาทาน ยึดติดอะไรได้ง่ายๆ อุปาทานในเรื่องยานี้ก็เป็นเรื่องที่น่าแปลก ตัวเม็ดแป้งเองนั้นไม่มีสารที่เป็นยาโดยตรง แต่เมื่อเชื่อว่าเม็ดแป้งเป็นยาจริงๆ ก็จะกระตุ้นใหสมองมีการหลั่งสารสุขที่เรียกกันว่า สารเอ็นดอร์ฟิน ซึ่งมีฤทธิ์เหมือนมอร์ฟีน ทำให้จิตใจสงบ คลายเครียด หายปวดหายเมื่อย และช่วยเพิ่มพลังต้านโรค จึงทำให้โรคทุเลาหรือหายได้ ว่ากันว่า การเจ็บป่วยที่พบเห็นกันทั่วๆไปนั้นหายเพราะผลยาหลอกถึงร้อยละ 50
จำได้ว่าสมัยเป็นเด็ก เวลาเกิดอาการท้องเดินขึ้นมาทีไร พ่อจะให้สตางค์ไปซื้อยาหอมมากินซองครึ่งซองก็หายได้ทุกครา โตขึ้นพอมีความรู้ว่ายาหอมมิได้มีตัวยาแก้ท้องเดินโดยตรง ก็นึกสงสัยว่าทำไมจึงได้ผล คำตอบก็คงอยู่ที่ความบังเอิญหรือไม่ก็เป็นเพราะผลยาหลอกนั่นเอง
เคยพบฝรั่งครอบครัวหนึ่ง เวลาลูกสอบไล่ในระดับมหาวิทยาลัย แม่จะซื้อวิตามินบีรวมให้ลูกกิน บอกว่า “บำรุงสมอง” ให้ฉลาด ความจริงวิตามินนั้นมิได้มีฤทธิ์ดังว่า แต่สิ่งที่แฝงอยู่ในวิตามินนั้น คือ ความรักและกำลังใจจากแม่ที่ช่วยให้ลูกมีพลังมุมานะ นี่ก็คงเป็นผลยาหลอกอีกรูปแบบหนึ่ง ในบ้านเรามีการใช้ประโยชน์จากผลยาหลอกนี้ทำมาหากินร่ำรวยกันมามากต่อมากแล้ว เช่น ยาชูกำลังที่ผู้ใช้แรงงานนิยมบริโภคกันนั้น แท้จริงคือ น้ำหวานผสมกาเฟอีน (สารหัวกาแฟ) กับวิตามิน แต่กินแล้วรู้สึกว่าดีนั้นก็เป็นเพราะอุปาทานจากแรงโฆษณาที่ผู้ผลิตยอมทุ่มให้มากมาย จนสามารถสร้างภาพว่าช่วยทำให้เกิดพลัง “จริงๆ”
คนไข้ที่เชื่อว่ายาแพงเป็นยาดีก็จะดิ้นรนบริโภคยาหรือเทคโนโลยีที่มีราคาแพง โดยที่อาจไม่จำเป็นหรือสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ ผลประโยชน์ก็ตกอยู่กับคนขายยาหรือผู้ให้บริการ ถ้าจะใช้ผลยาหลอกให้เกิดประโยชน์และประหยัดแล้วล่ะก็ ขอให้เชื่อเรื่องการออกกำลังกาย การทำสมาธิ การกินผักผลไม้ และการคิดในเชิงบวก รวมทั้งวิธีการดูแลตนเอง หมอดูแลกันเองอย่างง่ายๆ ที่กอปรด้วยความรักความเมตตา เหล่านี้จะช่วยให้หลั่งสารสุขได้เช่นกัน ดีกว่าเชื่อเรื่องยาและวิธีการรักษาที่แพงๆ
- อ่าน 6,418 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้