• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สุขภาพมิใช่อยู่ในโรงพยาบาล

ฉบับนี้ กองบรรณาธิการได้รายงานบรรยากาศของการจัดงานตลาดนัดปฎิรูประบบสุขภาพ ณ ศูนย์การประชุมและแสดงนิทรรศการอิมแพ็ค เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 1-5 กันยายนที่ผ่านมา ในงานมีประชาชนเข้าชมวันละนับเป็นหมื่น ๆ คน นับว่างานนี้คึกคักเป็นประวัติการณ์

พร้อมกันนี้ก็ยังนำเสนอบทความพิเศษเรื่อง “ประชาคมร่วมสานสร้าง....บ้านสุขภาพ” ซึ่งได้นำเสนอประสบการณ์ของผู้คนและหน่วยงานจากทั่วสารทิศที่ต่างแสวงหาหนทางในการสร้างเสริมสุขภาพของตนเอง ครอบครัวและชุมชน โดยผนวกอยู่ในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชน โดยผนวกอยู่ในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชน

มีการกล่าวขวัญกันอย่างกว้างขวางว่าการปฎิรูประบบสุขภาพจะต้องเริ่มที่การปฎิรูปความคิด
จะต้องคิดใหม่เกี่ยวกับเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “สุขภาพ” จากเดิมที่มองว่า “สุขภาพ คือ เรื่องชองการเจ็บไข้ได้ป่วย เรื่องหมอ เรื่องยา” มาเป็น “เรื่องของความปกติสุข (สุขภาวะ) ทั้งทางกาย จิต สังคม และจิตวิญญาณ”

สุขภาพมีใช่อยู่ในโรงพยาบาล แต่อยู่ที่บ้าน ที่ทำงาน โรงเรียน ท้องไร่ ท้องนา บนท้องถนน สวนสาธารณะ ในวัด ในโบสถ์ ฯลฯ
สุขภาพมิใช่รอให้สึกหรอ (เจ็บป่วย) แล้วค่อยซ่อมแซม (รักษา) แต่จะต้องดูแลและสร้างเสริมอยู่ทุกลมหายใจ อยู่ในทุก ๆ กิจวัตร ตั้งแต่ตื่นนอน จนถึงเข้านอน

สุขภาพดี มิเพียงเกิดจากการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี (เช่น กินอาหารสุขภาพ ออกกำลังกาย บริหารจิต หลีกเลี่ยงสิ่งเสพติดให้โทษ ฯลฯ) เท่านั้น แต่ยังอยู่ที่การมีอาชีพการงานที่ดี มีรายได้พอเพียง ไม่เป็นหนี้เป็นสิน มีครอบครัวอบอุ่น มีสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย มีสังคมที่เอื้ออาทรต่อกัน มีความรู้จักอิ่มรู้จักพอ รวมทั้งมีสติและปัญญารู้เท่าทันสิ่งต่าง ๆ

สุขภาพจึงมิใช่เรื่องของการฝากผีฝากไข้กับหมอ แต่เป็นการร่วมกันสานสร้างทุกภาคส่วนของสังคม ดังกรณีตัวอย่างอันหลากหลายที่นำเสนอในฉบับนี้
 

ข้อมูลสื่อ

270-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 270
ตุลาคม 2544
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ