ผู้อภิบาลลำสนธิ (Careteam)
“ลุงๆระวังหล่นลงมานะ” เสียงตะโกนเตือนจากใต้ต้นไม้..... ผมมองขึ้นไป แทบไม่เชื่อสายตาตัวเองว่า ร่างที่ปีนลิ่วๆอยู่บนต้นสะเดาอย่างคล่องแคล่วข้างบนนั้น จะเป็นชายชราอายุ อานามปาเข้าไป ๖๕ ปีแล้ว ที่มีชื่อว่าลุงบุญธรรม
....สักพักใหญ่ ลุงบุญธรรมก็ค่อยๆปีนลงมา ในมือหอบดอกสะเดาที่กำลังตูมลงมาหอบใหญ่ในถุงพลาสติค แกหอบหายใจด้วยความเหน็ดเหนื่อย แต่ใบหน้าก็ยังฉายด้วยรอยยิ้มและดวงตาเป็นประกายแจ่มใส “เอามาฝากหมอไปกินที่บ้านครับ”
....ลุงบุญธรรมเป็นใคร มีที่มาที่ไปอย่างไร ผมจะเล่าให้ฟังนะครับ...ลุงบุญธรรมเป็นชาวบ้านธรรมดาๆที่ฐานะยากจนมาก แกอาศัยอยู่ตัวคนเดียวในบ้าน ซึ่งมีสภาพเหมือนเพิงเสียมากกว่า ไม่มีที่ดินทำกินในตำบลกุดตาเพ็ชร อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี ซึ่งห่างตัวจังหวัด ๑๓๐ กิโลเมตร
.....ในเพิงบ้านแกเมื่อมองเข้าไป แทบไม่มีสมบัติพัศฐานมีค่าใดๆแม้แต่ชิ้นเดียว มีแต่มุ้งเก่าๆ เครื่องนอน และอุปกรณ์จอบ มีด พร้า สำหรับรับจ้างแรงงานรายวัน พื้นที่ทำครัวก็ออกมาอยู่นอกเพิงบ้าน นั่นคือทั้งหมดที่แกมีอยู่
วันนั้น...พวกเราซึ่งประกอบด้วยอาสาสมัครจากกรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่อบต.กุดตาเพ็ชร เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลลำสนธิ อาสาสมัครสาธารณสุขและเพื่อนบ้าน รวมแล้วประมาณ ๒๐ คน ไปช่วยกันลงแรงสร้างส้วม และปรับปรุงสภาพบ้านให้ลุงบุญธรรม
สาเหตุที่เราต้องไปช่วย เพราะลำพังตัวแกคนเดียวดูแล้วคงไม่มีปัญญา ลุงบุญธรรม เคยมีครอบครัว มีภรรยา แต่เรื่องที่น่าเศร้าคือ อาการเจ็บป่วยทำให้แกมีอาการหวาดระแวงและเครียด ซึ่งต่อมาภายหลังจากที่แกทำร้ายภรรยาจนถึงแก่ชีวิต ตำรวจไปจับกุมและหมอไปตรวจพบว่าแกมีอาการป่วยทางจิต ที่เรียกว่า โรคจิตเภท(Schizophrenia) แกจึงถูกนำตัวไปดำเนินคดี และถูกเก็บตัวไว้ในโรงพยาบาลจิตเวชอยู่นานนับปี
หลังจากที่ได้รับการเยียวยารักษาจนอาการดีขึ้น หมอปล่อยให้กลับบ้าน แกก็อยู่ตัวคนเดียวมาตลอด ญาติพี่น้องไม่มีใครใส่ใจเหลียวแล แถมเพื่อนบ้านบางคนก็มองแกเหมือนเป็น “เศษมนุษย์” เพราะอายุมากแล้ว แถมมีคดีมีประวัติด่างพร้อย ยังดีที่พอมีคนเมตตาจ้างแกทำงานรายวันประเภทดายหญ้า, ตัดอ้อย, ช่วยถอนมันสัปะหลังในไร่เป็นครั้งคราว พอมีรายได้เล็กๆน้อยๆ รายได้หลักประจำของแกมาจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ทางราชการสนับสนุนให้เป็นรายเดือน เดือนละ ๖๐๐ บาทเท่านั้น
ทางโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพกุดตาเพ็ชร และอาสาสมัครสาธารณสุขในละแวกบ้าน พบว่าบางครั้งลุงบุญธรรมก็ยาจิตเวชหมด ไม่มียากิน มีอาการซึมเศร้ากำเริบ ซึ่งต้องคอยจัดทีมเยี่ยมบ้าน ที่เราเรียกว่าทีมอภิบาล (Careteam) ไปช่วยคอยดูแลแกอยู่เป็นระยะๆโดยมีแพทย์จากโรงพยาบาลลำสนธิเป็นที่ปรึกษา
โครงการพัฒนาผู้ดูแลที่เรียกว่า Careteam นี้ เป็นการริเริ่มร่วมมือกันระหว่างโรงพยาบาลลำสนธิ และองค์การบริหารส่วนตำบลทั้ง ๖ แห่งของอำเภอ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลด้านสังคมแก่ผู้ยากไร้ ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสทางสังคมในลักษณะต่างๆ โดยมีการรวมตัวกันเป็นทีมงานในระดับตำบลหลายๆทีม ซึ่งประกอบด้วย
- ลูกจ้างอภิบาลสังคมของอบต.ทั้งสิ้น ๒๒ คน
- อาสาสมัครสาธารณสุข ในทุกตำบล
- บางทีมก็มีอาสาสมัครอื่นๆของหน่วยราชการ เช่น ไทยอาสาป้องกันฝ่ายพลเรือน (อปพร) หรือแม้กระทั่งเพื่อนบ้านร่วมด้วย
ทั้งหมดนี้ภายใต้การสนับสนุนของเจ้าหน้าที่จากองค์การบริหารส่วนตำบลทั้ง ๖ แห่ง โรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพ (รพสต.) ทั้ง ๗ แห่ง และโรงพยาบาลลำสนธิเป็นทั้งทีมงานและที่ปรึกษา
งบประมาณที่ใช้ในการดำเนินงานในกิจกรรมเยี่ยมบ้านและว่าจ้างลูกจ้างอภิบาลสังคม ได้มาจากกองทุนสุขภาพชุมชน (ซึ่งเป็นระบบที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และอปท.ร่วมมือกันตั้งขึ้นในทุกตำบลของประเทศ) บางครั้งก็มีงบประมาณส่วนอื่นจากอบต. กระทรวงพัฒนาสังคมและทรัพยากรมนุษย์ หรืองบประมาณจากโรงพยาบาลอำเภอลงมาช่วยเสริม ในการลงไปช่วยเหลือดูแลกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว โดยมีการจัดทำทะเบียนประวัติผู้สมควรได้รับความช่วยเหลือเยียวยาไว้อย่างละเอียด
คุณหมอสันติ เบญจลาภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลำสนธิ เล่าให้ฟังว่า โครงการนี้มิได้ดูแลเฉพาะด้านสุขภาพอนามัยเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสภาพทางสังคม สภาพที่อยู่อาศัย และปัจจัยต่างๆที่จำเป็นในการดำรงชีพของกลุ่มเป้าหมายด้วย
ผมและคณะอาสาสมัครจากกรุงเทพฯ ได้มีโอกาสไปเยี่ยมบ้านกลุ่มผู้ด้อยโอกาส จำนวน ๑๕ ราย ภายใต้การดูแลของ Careteamลำสนธิ พบว่าบางรายเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ช่วยตัวเองไม่ได้ บางรายเป็นผู้สูงอายุอยู่ตัวคนเดียว บางรายเป็นผู้ป่วยทางจิต บางรายเป็นครอบครัวแม่ลูกที่ยากจนมาก และลุงบุญธรรมก็เป็นหนึ่งในนั้น......
ปัญหาอย่างหนึ่งของลุงบุญธรรม คือ แกยังชอบสูบบุหรี่ และทานเหล้าเป็นบางครั้ง ทางทีมงาน Careteam จึงยื่นข้อเสนอให้แกว่า ถ้าเลิกกินเหล้าได้ และสูบบุหรี่ให้น้อยลง จะช่วยซ่อมบ้านให้ ซึ่งต่อมาแกก็ทำได้จริงๆ นักจิตวิทยาของโรงพยาบาลลำสนธิ เล่าให้ฟังว่า หลักการในการช่วยเหลือชาวบ้านนั้น บางทีต้องมีข้อเสนอแลกเปลี่ยน หรือต่อรอง เพื่อทำให้ชาวบ้านขวนขวายรู้จักช่วยตัวเองด้วย และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมบางอย่าง
....ล่าสุด เราเสนอลุงบุญธรรมว่า ถ้าแกรับจ้างแรงงานรายวัน เก็บสะสมเงินไว้ไม่ไปสูบบุหรี่หมด จนได้ครบ ๑,๒๐๐ บาทเมื่อไหร่ (เพื่อเป็นค่าสังกะสีใหม่ที่จะใช้มุงเพิงบ้านของแก) พวกเราจะลงแขกออกแรง (และลงเงินเพิ่ม)ไปช่วยปรับปรุงครัวและนอกชานให้แก ลุงบุญธรรมยิ้มและบอกว่าผมจะพยายาม
นี่คือน้ำใจและจิตอาสาของทีมอภิบาล Careteam ลำสนธิ ซึ่งน่าชื่นใจแทนชาวบ้านทั้ง ๖ ตำบลของอำเภอที่มีระบบนี้คอยช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน สมดังคำขวัญของประชาคมอำเภอว่า “คนลำสนธิ ไม่ทอดทิ้งกัน”
มื้อเย็นวันนั้น หลังจากไปช่วยลงแรงสร้างส้วม และปรับปรุงบ้านให้ลุงบุญธรรมเสร็จ พวกเราก็กลับมากินข้าวกับสะเดาน้ำปลาหวานของลุงบุญธรรมอย่างเอร็ดอร่อย....
.....ขอเป็นกำลังใจให้กับทีมงานของขาวลำสนธินะครับ.......
- อ่าน 2,002 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้