• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ความเมื่อยล้าจากการทำงาน

ความเมื่อยล้าจากการทำงาน

อาการเมื่อยล้าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติหลังจากการทำงานทุกชนิด โดยเฉพาะงานที่ต้องออกแรงมาก เช่น การแบกหาม ยกของหนัก หรือการนั่งทำงานเป็นเวลานาน
การทำงานต้องอาศัยการหดตัวของกล้ามเนื้อจึงจะเกิดแรงตามที่ต้องการได้  โครงร่างของมนุษย์ประกอบด้วย กระดูก ข้อต่อ ที่มีกล้ามเนื้อเกาะอยู่ เมื่อกล้ามเนื้อหดตัว ข้อต่อจะเคลื่อนไหวในทิศทางต่างๆ ขึ้นอยู่กับลักษณะของข้อต่อนั้น ทำให้เกิดการงอ การเหยียด การหมุนรอบข้อต่อ ทำให้มนุษย์หายใจได้ กินอาหารได้ เดินได้ นั่งได้ ยืนได้ รวมทั้งทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันและการทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพ

การทำงานของกล้ามเนื้อ
ทุกครั้งที่กล้ามเนื้อหดตัวจะเผาผลาญอาหารที่สะสมอยู่ในกล้ามเนื้อ เพื่อให้เกิดพลังงานในการหดตัว สารเคมีที่เป็นผลพวงจากการเผาพลาญอาหารจะถูกแปรเปลี่ยนเป็นน้ำและคาร์บอนไดออกไซด์
ในภาวะที่กล้ามเนื้อคลายตัวจะมีการไหลเวียนของเลือดเข้าสู่กล้ามเนื้อได้เพื่อนำออกซิเจนและอาหารมาให้กล้ามเนื้อ และชำระเอาคาร์บอนไดออกไซด์และสารเคมีที่ตกค้างอยู่ออกไปจากกล้ามเนื้อ แต่ถ้าตราบใดที่กล้ามเนื้อหดตัวอยู่เป็นเวลานานและไม่คลายตัว สารตกค้างซึ่งเป็นกรดจะคั่งค้างอยู่ในกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดอาการเมื่อยล้าได้

กล้ามเนื้อกับการทำงาน
การทำงานมี 2 ลักษณะด้วยกันคือ การทำงานที่ข้อต่อขยับอยู่ตลอดเวลา กล้ามเนื้อจะหดตัวและคลายตัวสลับกันไป เช่น การทำนาที่ต้องก้มตัวอยู่ตลอดเวลา การยกกระสอบ การขนย้ายสิ่งของที่หนัก
ถึงแม้ว่าการทำงานทุกชนิดทำให้เกิดอาการเมื่อยล้าได้ แต่งานในลักษณะแรกมักจะไม่ค่อยเกิดอาการเมื่อยล้า เพราะการไหลเวียนของเลือดค่อนข้างสะดวก แต่งานลักษณะหลังจะเกิดความเมื่อยมาก เพราะการออกแรงทำให้กล้ามเนื้อต้องเกร็งตัวอยู่ตลอดเวลา จึงไม่คลายตัวออก การไหลเวียนของเลือดจึงไม่ดี

กล้ามเนื้อกับการเล่นกีฬา
การเล่นกีฬาต่างๆอาจแบ่งได้ 2 ลักษณะเช่นเดียวกับการทำงาน คือ กีฬาที่ข้อต่อเคลื่อนไหวตลอดเวลา เช่น การเดิน การวิ่ง การว่ายน้ำ การตีปิงปอง หรือกีฬาที่ข้อต่อไม่ค่อยเคลื่อนไหว เช่น ยกน้ำหนัก ชกมวย มวยปล้ำ
กล่าวกันว่าข้อแตกต่างระหว่างการทำงานและการเล่นกีฬาคือ การทำงานชนิดใดชนิดหนึ่งมักจะใช้กล้ามเนื้ออยู่กลุ่มเดียวกัน ขณะที่การเล่นกีฬาจะใช้กล้ามเนื้อหลายๆกลุ่ม ความเมื่อยล้าที่เกิดขึ้นจากการเล่นกีฬาจึงถูกขจัดไปได้เร็วกว่าการทำงาน
หลังจากการทำงานถ้าได้นอนพัก หรือพักการใช้กล้ามเนื้อที่เมื่อยล้าชั่วคราว โดยเปลี่ยนไปทำกิจกรรมอย่างอื่นที่ใช้กล้ามเนื้ออื่น หรือให้กล้ามเนื้อที่เป็นมัดนั้นมีการหดตัวหรือคลายตัวตลอดเวลา ความเมื่อยล้านั้นย่อมจะหายไปได้อย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น หลังการแบกหามสิ่งของหนัก นอกจากการนอนพักแล้ว อาจเดินไปมาแกว่งแขนขึ้นลงสักพักหนึ่ง อาการเมื่อยล้าจะค่อยๆหายไป

สมดุลของกล้ามเนื้อ
การทำให้เกิดความสมดุลระหว่างการทำงานและพักผ่อน ระหว่างการหดตัวและคลายตัวของกล้ามเนื้อย่อมเป็นวิธีที่แก้ความเมื่อยล้าได้เป็นอย่างดี โดยไม่ต้องกินยาแก้ปวด ยาแก้เมื่อย ซึ่งล้วนทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนของกระเพาะและลำไส้ได้
ในกรณีที่เกิดอาการปวดเมื่อยมากหลังจากการทำงาน หรือพักผ่อนแล้วยังไม่หายปวดเมื่อย หรือเกิดอาการครั่นเนื้อครั่นตัวคล้ายมีไข้ อาจมีสาเหตุจากการฉีกขาดของเส้นใยกล้ามเนื้อบางส่วนเนื่องจากออกแรงมากเกินไป หรืออดทนทำงานไม่ยอมพักผ่อน ในกรณีนี้ควรพักกล้ามเนื้อนั้นชั่วคราวโดยใช้ผ้าพันยึดรัดกล้ามเนื้อบริเวณนั้นไว้ เพื่อป้องกันการฉีกขาดอีก หรืออาจใช้ความเย็นประคบบริเวณกล้ามเนื้อ หลังจากนั้น 24 ชั่วโมงอาจจะบีบนวดกล้ามเนื้อเบาๆและประคบโดยการใช้ความร้อน
การป้องกันอาการเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อ คือ การทำให้เกิดความสมดุลในการหดตัวของกล้ามเนื้อ ในการทำงานควรปรับเปลี่ยนท่านั่งหรือท่ายืนให้เหมาะกับการทำงานชนิดนั้น โดยไม่ต้องเกร็งกล้ามเนื้อยกแขนอยู่ตลอดเวลา ทุกๆครึ่งชั่วโมงควรมีการลุกขึ้นยืนเพื่อยืดเส้นยืดสายหรือเดินไปมาสัก 5-10 นาที  ไม่ควรหยุดพักเพียงเพื่อต้องการสูบบุหรี่ เพราะในระยะยาวบุหรี่เป็นตัวการทำให้หลอดเลือดตีบตัน ทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่สะดวก เป็นบ่อเกิดของความเมื่อยล้าในภายหลัง และแทนที่จะหายใจเอาอากาศบริสุทธิ์เข้าไปเพื่อช่วยขจัดความเมื่อยล้า กลับดูดเอาควันบุหรี่ซึ่งเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไป ทำให้ยิ่งทวีความเมื่อยล้าให้มากขึ้น
หลังการทำงานควรเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายที่ไม่หนักเกินไป เช่น เดิน วิ่ง กระโดดเชือก เตะตะกร้อ ตีปิงปอง ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน ไม่ควรไปฝึกชกมวย ยกน้ำหนักอีกหลังจากทำงาน แต่อาจทำได้ในวันหยุดทำงาน

การทำงานในลักษณะให้เกิดความสมดุลของการหดตัวและคลายตัวของกล้ามเนื้อจึงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับชีวิตประจำวัน ทำนองเดียวกัน การอยู่นิ่งๆโดยไม่ต้องทำงานใดๆทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่ดี ย่อมเกิดความเมื่อยล้าได้ จนกว่าจะลุกขึ้นทำงานเพื่อให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น

ความเมื่อยล้าจึงมิใช่เกิดจากการทำงานเท่านั้น แต่ย่อมเกิดจากการไม่ทำงานเช่นเดียวกัน

 

 

ข้อมูลสื่อ

181-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 181
พฤษภาคม 2537
ดุลชีวิต
รศ.ประโยชน์ บุญสินสุข