• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อุบัติเหตุในเด็ก


อุบัติเหตุในเด็กนั้น มักเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้เด็กเสียชีวิตหรือพิการ และยังทำให้เกิดผลร้ายต่อจิตใจพ่อแม่และทุกคนที่เกี่ยวข้องด้วย คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าอุบัติเหตุป้องกันไม่ได้ แต่ความจริงแล้วเราสามารถป้องกันได้

การเกิดอุบัติเหตุในเด็ก อาจแบ่งตามสถานที่เกิดเหตุและกิจกรรมที่เด็กทำได้ดังนี้

อุบัติเหตุในบ้าน

“บ้าน” เป็นสถานที่ซึ่งเด็กใช้ชีวิตอยู่มากเป็นอันดับหนึ่ง อุบัติเหตุจึงเกิดในบ้านได้บ่อย โดยเฉพาะในห้องนอน และห้องครัว ซึ่งมีอุปกรณ์ต่างๆที่เราเข้าใจว่าไม่เป็นพิษเป็นภัย แต่ความจริงแล้วอาจเกิดผลร้ายต่อเด็กได้

ห้องนอน และสิ่งของในห้องนอน
ในห้องนอนจะมีเตียงซึ่งควรเลือกซื้อชนิดที่ปลอดภัย คือ มีราวกั้นทั้ง 4 ด้าน เตียงไม่ควรอยู่สูงจากพื้นมาก เพื่อเวลาตกจะได้ไม่เกิดการบาดเจ็บ รอบๆภายในเตียงเด็กควรมีเบาะกั้นกันศีรษะเด็กกระแทก ในเตียงไม่ควรมีสายระโยงระยาง เพราะเคยมีรายงานว่าเด็กถูกแขวนคอด้วยสายระโยงรยางค์เหล่านี้
ของเล่นที่ใส่ไว้ในเตียง หรือในห้องนอนจะต้องปลอดจากสารตะกั่ว ไม่มีชิ้นส่วนเล็กๆที่สามารถหลุดเข้าคอเด็ก ไม่มีของแหลมคม เช่น ลูกดอก มีด ไม่มีวัตถุระเบิด เช่น แก๊ป หรือปืนแก๊ป (เคยมีเด็กเอาแก๊ปใส่รวมกับหินแล้วตำทำให้ระเบิด และเด็กถึงกับตาบอดมาแล้ว)

ปลั๊กไฟ
จะต้องมีที่ปิดไม่ให้เด็กเอานิ้วหรือกิ๊บแหย่ และมีเครื่องตัดไฟอัตโนมัติ สายไฟ เครื่องใช้ไฟฟ้า ต้องหมั่นตรวจตราเพื่อดูสายที่ชำรุดกันไม่ให้เด็กถูกไฟดูด สายต่อไฟฟ้าไม่ควรใช้ในห้องนอน หรือห้องเล่นของเด็กเพราะเด็กอาจดูดปลั๊ก ทำให้ไฟดูดได้
สารเคมี เช่น ผงซักฟอก ยา น้ำยาซักผ้า น้ำยาฟอกผ้า ควรเก็บให้พ้นมือเด็กเพื่อกันไม่ให้เด็กกินเข้าไป
พื้นห้องนอน ห้องน้ำ ไม่ควรลื่น ไม่ควรขังน้ำไว้ และปิดชักโครกทุกครั้งกันเด็กเอาศีรษะทิ่มลงในชักโครกและจมน้ำ สำหรับทางลงบันไดต้องมีที่กั้นเพื่อกันเด็กตกบันได

ห้องนั่งเล่น
เช่นเดียวกับห้องนอน สิ่งสำคัญคือ เก้าอี้จะต้องมีที่กั้นหรือสายคาด ถ้าเป็นเด็กเล็ก และเก้าอี้ต้องไม่สูงจากพื้นมาก
ในต่างประเทศ เก้าอี้ที่ใช้สำหรับหัดให้เด็กเดินหรือที่เรียกว่าวอล์กเกอร์ (walker) นั้น เป็นสาเหตุของอุบัติเหตุที่พบบ่อยมาก เพราะว่าเด็กอาจล้มคว่ำหรือตกบันไดได้ จึงควรระวัง

ห้องครัว
เป็นที่ที่เกิดอุบัติเหตุได้มาก คือ อาจถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรวางของร้อนไว้ในระยะที่มือเด็กเอื้อมถึง เพราะเด็กอาจคว้าทำให้น้ำร้อนลวกได้ ไม่ควรให้เด็กเล่นไม้ขีดไฟ เพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ได้
ของมีคม เช่น มีด กรรไกร ไม่ควรให้เด็กเล่นจนกว่าเขาจะโตพอที่จะใช้ของพวกนี้เป็น

สนาม
ในสนามอาจมีเห็ดพิษ มีต้นไม้ที่เป็นพิษ เช่น ต้นยี่โถ ซึ่งเด็กอาจเก็บกินได้ พ่อแม่ต้องเฝ้าระวัง หรือถ้าเป็นสารฆ่าแมลง สารเบื่อหนู เด็กอาจจะได้รับสารพิษโดยการสัมผัสหรือกินเข้าไป

อุบัติเหตุในโรงเรียน
‘โรงเรียน’ ก็เช่นเดียวกับบ้าน คือต้องเป็นสถานที่ที่มีความปลอดภัยและมีจำนวนผู้ดูแลเด็กมากพอสมควร โดยเฉพาะถ้าเป็นเด็กเล็กฝากเลี้ยงหรืออนุบาล
อุบัติเหตุมักเกิดในสนามเด็กเล่นซึ่งไม่ได้มาตรฐาน ม้าหมุนอาจหมุนทับขาเด็กหัก ชิงช้าเป็นสิ่งที่ไม่ควรมีเพราะเด็กอาจแกว่งจนตกลงมา หรือแกว่งไปโดนเด็กอื่น ม้าลื่นถ้าสูงเกินไปเด็กอาจจะตกลงมาได้
อุบัติเหตุระหว่างการเดินทางไปกลับโรงเรียน เป็นเรื่องที่พบบ่อยอย่างไม่น่าจะเกิดขึ้น เช่น โศกนาฏกรรมที่เด็กตกจากรถผุแล้วถูกรถทับตาย เด็กที่ถูกขังอบไว้ในรถตู้ติดฟิล์มจนถึงแก่ความตาย เด็กจมน้ำตายในโรงเรียนระหว่างว่ายน้ำ เด็กถูกรถชนตายขณะรถโรงเรียนไปส่งที่บ้าน เนื่องจากครูไม่ได้ดูแลพาเด็กเล็กๆข้ามถนน เราควรมีกฎหมายต่างๆควบคุมในเรื่องนี้อย่างเคร่งครัดเพื่อไม่ให้เกิดความย่อหย่อนในการปฏิบัติ


อุบัติเหตุในการสัญจรไปมา
อุบัติเหตุในการเดินทางมักเกิดขึ้นได้บ่อยและเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กตายหรือพิการเช่นเดียวกัน โดยเด็กอาจเป็นผู้โดยสาร เป็นคนเดินเท้าหรือขับขี่จักรยาน
ในการโดยสารรถต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ส่วนตัวหรือจักรยานยนต์ ควรมีมาตรการใช้เข็มขัดนิรภัย หรือใช้หมวกกันน็อกที่เข้มงวด โดยเฉพาะเข็มขัดนิรภัยนี้ควรฝึกให้ใช้ตั้งแต่เด็กยังเล็กๆ เพื่อให้เกิดความเคยชินและพ่อแม่ควรใช้เป็นแบบอย่างให้เด็กเห็นด้วย

หมวกกันน็อกสำหรับเด็กควรมีใช้ โดยมีขนาดพอเหมาะ น้ำหนักเบาแต่แข็งแรง และมีกะบังหน้าเพื่อป้องกันส่วนหน้าด้วย ในกรณีที่เด็กเกิดอุบัติเหตุในท้องถนน ผู้ช่วยเหลือควรจะดูว่าเด็กหยุดหายใจหรือไม่ และไม่ควรขยับเขยื้อนเด็กมาก เพราะกระดูกส่วนหลังอาจจะหักทิ่มเนื้อไขสันหลังทำให้เป็นอัมพาตถาวร ก่อนเคลื่อนตัวเด็กต้องเอาไม้กระดานรองให้มีการเคลื่อนไหวกระดูกสันหลังน้อยที่สุด หรือใช้ 4 คนช่วยประคองส่วนหัว ไหล่ เอว และขา ให้ตรึงกระดูกสันหลังไว้

ถ้าเด็กหยุดหายใจ ให้ช่วยการหายใจโดยเป่าปากให้ปอดโป่งเข้าออกนาทีละ 20 ครั้ง ปั๊มหัวใจบริเวณยอดอก โดยใช้สันมือ 2 ข้างซ้อนกัน กดขึ้น-ลงนาทีละ 80 ครั้ง สลับกับการเป่าปอด วิธีนี้ใช้ในการช่วยเด็กจมน้ำด้วย เด็กที่ถูกสมองกระทบกระเทือนอาจมีอาการลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อาเจียน มีไข้ ปวดศีรษะ พูดไม่รู้เรื่อง เดินโซเซ มีน้ำหรือเลือดไหลจากหูและจมูก เพราะกะโหลกแตก ชัก ม่านตาไม่เท่ากัน ถ้ามีอาการเช่นนี้ห้ามให้ยาระงับประสาทและต้องเข้าอยู่ในโรงพยาบาลให้แพทย์รักษาทันที

เด็กทุกคนควรรู้จักการขี่จักรยานให้ถูกทาง ไม่ขี่สวนทางรถ และใส่เสื้อสีสว่างในเวลากลางคืน และติดเทปสะท้อนแสงที่ตัวรถเพื่อให้รถคันอื่นเห็นได้ในที่มืด
อุบัติเหตุจากการเดินทางด้วยวิธีอื่น เช่น ทางน้ำ ควรจะระมัดระวังว่ามีชูชีพช่วยชีวิตครบสำหรับทุกคนหรือไม่ ถ้าไม่มีควรเตรียมไปเอง หรือไม่พาเด็กที่ว่ายน้ำไม่เป็นเดินทางโดยทางเรือ

อุบัติเหตุอื่นๆ
1.การตกจากที่สูง
พบบ่อยที่เด็กตกลงมาแล้วไม่เป็นอันตราย แต่บางครั้งอาจบาดเจ็บรุนแรงมาก ทำให้แขนขาหัก กะโหลกศีรษะแตก สมองหรืออวัยวะภายในอื่นๆถูกกระทบกระเทือน เด็กภาคอีสานอาจตกจากเรือนสูงๆ และถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะทำให้หลังค่อมพิการได้

2.การเล่นกีฬา
การเล่นกีฬาบางอย่างอาจจะมีอันตราย เพราะมีการกระทบกระแทกอย่างแรง เช่น รักบี้ ฟุตบอล จึงควรระมัดระวัง การเล่นกีฬาที่ต้องใช้เครื่องมือ เช่น การฟันดาบ จะต้องมีหน้ากากปิด ต้องระวังไม่ให้ไม้เทนนิส ไม้เบสบอลตีโดนหัวตัวเองหรือคนอื่น ถ้าใส่แว่นสายตาควรเป็นแว่นที่กระชับ มีสายรัดข้างหลังเลนส์เป็นกระจกกันแตก เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่นัยน์ตา

3.การเล่นว่าว
ถ้าเล่นใกล้สายไฟฟ้าแรงสูง บางครั้งสายว่าวอาจจะพาดกับสายไฟที่รั่ว ทำให้เกิดไฟฟ้าแรงสูงไหลผ่านเข้าตัวเด็ก ทำให้มีอันตรายต่อผิวหนัง กล้ามเนื้อ หัวใจ และสมองได้

4.การถูกสัตว์กัด
เด็กควรจะได้รับคำสอนไม่ให้เล่นกับสัตว์แปลกหน้า ไม่รังแกสัตว์ ไม่ควรออกไปเดินในยามวิกาล เพราะอาจถูกงูกัดได้


วิธีการป้องกันอุบัติเหตุในเด็กเล็ก
การดูแลมิให้เด็กๆของเราได้รับอันตรายจากอุบัติเหตุ เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันระแวดระวังโดยเริ่มตั้งแต่


การให้ความรู้แก่เด็ก
การให้การศึกษากับตัวเด็กมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเมื่อโตขึ้นเด็กจะได้เรียนรู้วิธีการที่จะอยู่รอดปลอดภัยด้วยตนเอง เด็กเล็กๆอายุ 1-2 ปี ที่สามารถเข้าใจคำห้ามได้ก็ควรให้เขาเรียนรู้ว่าไม่ควรเปิด-ปิดสวิตช์ไฟเมื่อตัวเปียก ไม่เอานิ้วแหย่ปลั๊กไฟ ไม่เล่นมีดหรือของมีคม
ปัจจุบันเป็นยุคสมัยของข้อมูลข่าวสาร เด็กๆและผู้ใหญ่จะใช้เวลาอยู่หน้าจอโทรทัศน์วันละหลายชั่วโมง ดังนั้นการที่โทรทัศน์ให้ความรู้ผิดๆเช่น ให้เด็กวิ่งเล่นกับหมี การให้เด็กเล่นกีฬาโลดโผน เช่น สเก็ตบอร์ด หรือภาพยนตร์พระเอกเก่งขนาดบินได้ และชอบกระโดดจากที่สูง ภาพต่างๆเหล่านี้อาจจะทำให้เด็กเอาอย่าง ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองจำเป็นต้องให้ความรู้แก่เด็กด้วย


การออกกฎหมายและการควบคุมปราบปราม
ในกลุ่มประเทศที่เรียกขานตัวเองว่ากำลังจะเป็น “นิกส์” อาจกล่าวได้ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่อนุญาตให้ผู้ขับขี่รถยนต์ดื่มสุราได้ถ้าไม่มึนเมา ในประเทศอื่นๆแม้แต่เชโกสโลวะเกีย ซึ่งเป็นประเทศสังคมนิยม ยังมีกฎหมายห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด และกำหนดบทลงโทษรุนแรงเอาไว้ด้วย เช่น ยึดใบอนุญาต 1 ปี

นอกจากนี้การออกกฎหมายการใช้เข็มขัดนิรภัยเมื่อโดยสารรถยนต์ จะสามารถช่วยชีวิตคนจำนวนมากเช่นเดียวกับการบังคับให้ทุกคนที่ขับขี่หรือซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ต้องใส่หมวกกันน็อกที่มีคุณภาพดีทั่วประเทศ ไม่ใช่เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร การควบคุมอาคารสถานที่ ยานพาหนะ และการขับขี่ให้ถูกต้องตามกฎหมาย จะช่วยลดอุบัติเหตุร้ายแรงได้

จะเห็นได้ว่าการป้องกันอุบัติเหตุนั้นต้องเกิดขึ้นก่อนที่ระดับจุลภาคคือหน่วยครอบครัวแล้วจึงมาถึงที่ระดับมหาภาคคือ สังคม และรัฐฯ แต่ถึงที่สุดแล้วทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันเพื่อปกป้องคุ้มครองเด็กๆ ซึ่งเป็นอนาคตของชาติและเป็นที่รักของเราทุกคน การเกิดอุบัติภัยต่างๆ สาเหตุส่วนใหญ่นั้นเกิดจากความประมาท ความโลภ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมหลายครั้งในอดีต
ความสูญเสียเหล่านั้นจึงควรเป็นบทเรียนอันมีค่าสำหรับอนาคต

.................................................................................................................

อุบัติเหตุในเด็ก ตอนที่ 2

ข้อมูลสื่อ

182-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 182
กรกฎาคม 2537
เรื่องน่ารู้
พญ.เสาวนีย์ จำเดิมเผด็จศึก