• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อุบัติเหตุในเด็ก

อุบัติเหตุในเด็ก

เวลาประมาณ 2 ทุ่มครึ่ง มีเสียงกริ่งโทรศัพท์ดังที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก ตึกอุบัติเหตุ ผู้พูดเป็นหญิง ฟังน้ำเสียงดูรู้สึกว่าไม่มีเรื่องตกใจอะไรมากนัก

“ลูกดิฉันค่ะ แกกินมดเข้าไป ดิฉันเลยให้แกกิน ดี.ดี.ที. เข้าไปช้อนชาหนึ่ง คิดว่าคงพอนะคะ ตอนนี้จะให้ดิฉันทำอะไรต่อไปไหมคะ”

ฟังดูเหมือนเรื่องตลก แต่เป็นเรื่องจริง ที่เกิดขึ้นมาสักศตวรรษละครั้ง

เด็กกินมด สตางค์ น็อต ตะปู กระดาษ ฯลฯ เป็นเรื่องธรรมดา แต่การแก้โดยให้กิน ดี.ดี.ที. ตามลงไปฆ่ามดในท้องนี่ เพิ่งจะเคยปรากฏ

เด็กเล็กๆ มักหยิบอะไรใส่ปากกิน ดังนั้น การไม่เอาอะไรที่เด็กจะจับใส่ปากกินได้ ทิ้งไว้ใกล้ๆ เด็กเป็นดีที่สุด โดยเฉพาะยา ทั้งยารักษาโรคและยาฆ่าเชื้อ ฆ่าแมลง ฯลฯ

ถ้าบังเอิญเด็กกินยาพิษเข้าไปแล้วจะทำอย่างไรดี โดยมากยารักษาโรคที่ไม่มีรสขม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเคลือบน้ำตาล ให้มีรสหวาน เด็กจะกินเข้าไปได้มากจนอาจเกิดพิษ ยาที่มีรสขม หรือมีกลิ่นแรง เด็กมักจะบ้วนทิ้งเสียก่อน มีจำนวนน้อยเท่านั้นที่ลงไปถึงกระเพาะและอาจมีอันตราย

ยาที่เด็กมักกินเข้าไปได้เป็นจำนวนมาก ได้แก่ ยาประเภทน้ำเชื่อม ยาลดไข้ และยานอนหลับ ซึ่งพ่อแม่อาจใส่ซองทิ้งไว้ตามโต๊ะหรือหัวนอน ถ้ารู้ทันที คือ หลังจากกินไปใหม่ๆ ควรจะเอาออกให้มากที่สุด การเอาออกทำได้หลายวิธี

วิธีชาวบ้าน คือ การล้วงคอให้อาเจียน วิธีนี้จะออกได้ไม่มากนักและเด็กก็ไม่ค่อยทนต่อการล้วงคอ การใช้นิ้วใหญ่ๆ ล้วงคอเด็กเล็ก อาจทำให้เกิดแผล เด็กอาจสำลัก และสูดเอาสิ่งอาเจียนเข้าไปในปอด และมีโรคแทรกซ้อนได้มากขึ้น

อีกวิธีหนึ่งที่ทำได้ในบ้าน คือ การให้กินยาที่ทำให้อาเจียน ไอบีแคค 2 ช้อนชา ในเด็กเล็ก..(2-6 ขวบ) และ 3 ช้อนชา ในเด็กโต (6-10 ขวบ) และ 1 ช้อนโต๊ะ ครึ่งในเด็กที่เกิน 10 ขวบ เมื่อกินแล้ว เด็กจะอาเจียน โดยมากจะอาเจียนภายใน 5 นาที หลังจากกินเข้าไป (ยาชนิดนี้อาจหาซื้อได้ที่โรงพยาบาลของรัฐบาล) ถ้ากินแล้วไม่อาเจียน ไม่ควรให้ซ้ำอีก ยาบางส่วนที่ยังค้างอยู่ คือ ยังอาเจียนออกมาไม่หมด อาจกันไม่ให้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ โดยการให้กินชาร์โคล (charcoal) หรือที่เรียกชื่อเต็มว่า แอคติเวเตท แอนิมอล ชาร์โคล ที่ขายทั้งอย่างเป็นผงและเป็นเม็ดมีสีดำเหมือนถ่าน ที่มีขายตามร้านขายยามีหลายชื่อ เช่น อุลตราคาร์บอน

เป็นที่น่าแปลกที่ยาดีๆ ทั้ง 2 อย่างนี้ ไม่มีในรายการยาประจำบ้านขององค์การเภสัชกรรม ในอเมริกายาไอบีแคค เขาทำเป็นขวดเล็กๆ จุขวดละ 1 ช้อนโต๊ะบ้าง 2 ช้อนโต๊ะบ้าง ซื้อได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ คือ หมายความว่า ชาวบ้านใช้เองได้ มีไว้ประจำตู้ยา ถ้าเผลอกินเข้าไปก็เพียงแต่ทำให้อาเจียน แต่ไม่มีอันตรายร้ายแรงอันใด เมื่อต้องการใช้ก็ทำได้ทันที การทำให้อาเจียนนี้ต้องทำตั้งแต่ยังไม่มีอาการจึงจะได้ผลดี ดังนั้น ยาที่ทำให้อาเจียน ควรจะเตรียมไว้ก่อนในตู้ยา เพราะถ้าเกิดมีเด็กกินยาผิดเข้าไปแล้ว จึงจะไปหาซื้อยามันไม่ทันการ

ถ้ามารู้เอาตอนมีอาการและแน่ใจเด็กกินยาผิดเข้าไป ต้องรีบพามาหาแพทย์ หรือสุขศาลา สถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลที่ใกล้บ้าน โดยนำเอายาที่เด็กกินเข้าไปมาให้แพทย์ดูด้วย เพราะจะได้เข้าใจได้ตรงตามชนิดของยาที่กิน และถ้าไม่แน่ใจก็ต้องพามาหาแพทย์เหมือนกัน ให้เป็นหน้าที่ของแพทย์ เพื่อจะหาทางวินิจฉัยและช่วยเหลือเอง

นอกจากเด็กชอบเอาอะไรใส่ปากแล้ว ยังใส่หู ใส่จมูก ใส่คอ (ติดคอ) อีก

พบว่าของที่มักชอบใส่จมูก คือ เม็ดผลไม้ ใส่หู คือ กิ่งไม้และใบหญ้า ใส่คอ คือ เหรียญ กระดุม และตุ๊กตาพลาสติกตัวเล็กๆ

1. ติดในรูจมูก - กรณีที่เป็นเม็ดผลไม้ใส่ในรูจมูก ไม่ควรใช้อะไรแคะ เพราะยิ่งแคะก็ยิ่งลึกลงไปทุกที ทำให้เอาออกยากขึ้น ถ้าเป็นใหม่ๆ ให้เด็กนอนหงาย พูดจาปลอบโยนกันเสียก่อนเพื่อไม่ให้ดิ้นรน ให้มีคนจับศีรษะกันสะบัดหน้าเวลาดึงเอาเม็ดผลไม้ออก เตรียมที่ดึงเม็ดผลไม้ (หรือยางลบ พลาสติก ฯลฯ) ดังนี้

เอาลวดขนาดเล็กหรือเข็มเสียบกระดาษมาอันหนึ่ง ยืดออกและตัดปลายให้เหมือนตะขอ (ดูรูปที่ 1) งอด้ามถือเล็กน้อย โดยงอไปในทางตรงกันข้ามกับตะขอ เพื่อสะดวกในการหมุนเหล็กสำหรับดึง ค่อยๆ สอดตะขอเหล็กดึงเข้าไปข้างๆ เม็ดผลไม้ โยมากจะสอดเข้าได้ง่าย เพราะเล็กและลื่น กะดูให้ปลายตะขอพ้นขอบล่างของเม็ดผลไม้ เสร็จแล้วพลิกตะขอกลับให้ปลายงอ ช้อนใต้เม็ดผลไม้และค่อยๆ ดึงออกมา (ดูรูปที่ 2)

ถ้าเม็ดผลไม้อยู่ไม่ลึกมักจะดึงออกได้โดยง่ายเสมอ อย่าพยายามใช้คีมจับ ถึงแม้จะมีคีม เพราะการใช้คีมจะทำให้เด็กเจ็บมาก และคีมมักกินที่มาก คีบไม่อยู่ เนื่องจากลื่น

2. ถ้าอยู่ในหู - อาจต้องแคะหรือเขี่ยออก ก่อนอื่นต้องปลอบเด็กเพื่อให้สงบ เพราแก้วหูเป็นส่วนที่เปราะ ถ้าเด็กดิ้นอาจทำให้แก้วหูทะลุ หรือเยื่อบุหูลอกเป็นแผล

วิธีทำ ดึงใบหูไปทางด้านหลังเพื่อให้รูหูตรง จะได้มองเห็นได้ ส่องไฟลงไปดูในรูหู ถ้าพบเศษไม้ ใช้ไม่แคะหู ค่อยๆ เขี่ยเอาออก ถ้าอยู่ลึกหรือเขี่ยลำบาก อย่าพยายามเขี่ย จะมีอันตราย ให้พามาโรงพยาบาล เพราะทางโรงพยาบาลมีเครื่องดูด ใช้ดูดออกง่ายและปลอดภัยกว่า

3. ติดคอ – ก้างติดคอ ชาวบ้านรู้จักวิธีแก้กันดี และยังใช้ได้ผลดีอยู่ คือ กลืนข้าวทั้งก้อน กล้วยทั้งคำโดยไม่ต้องเคี้ยว เพื่อจะให้พาเอาก้างหลุดลงไปจากคอ แต่ถ้าทำแล้วไม่สำเร็จ และรู้สึกรำคาญหรือเจ็บมาก ควรพาไปสถานีอนามัย หรือโรงพยาบาล ซึ่งจะช่วยได้ดังนี้ ให้เด็กอ้าปาก ใช้ไม้กดลิ้น กดให้ลิ้นยุบลงไป บอกให้เด็กทำเฉยๆ ไม่รู้ไม่ชี้ อย่าเกร็ง ปล่อยตามสบาย อย่าใส่ปลายไม้ลงไปลึก เพราะเด็กจะแหวะหรือขย้อนจะทำให้ดูอะไรไม่เห็น พยายามมองไปที่คอข้างที่เด็กบอกว่าเจ็บบ้าง ก้างจะเป็นเส้นสีขาวค่อนข้างใส มองเห็นยาก ต้องดูให้ละเอียดจริงๆ มักติดที่ต่อมทอนซิล หรือผนังหลังของต่อมทอนซิล เมื่อพบแล้ว เอาคีมจับดึงเบาๆ ก็ออก

4. ติดหลอดลม - เม็ดผลไม้เหรียญติดหลอดลม ของที่ติดหลอดลมอันตรายมาก เพราะเด็กจะหายใจไม่ออก สิ่งที่ติดหลอดลม อาจเป็นอาหารหรือผลไม้ เช่น มะม่วง(ดิบ) ขนุน ดังนั้น ในเด็กเล็ก ไม่ควรให้กินของเหล่านี้

ถ้าเกิดการติดคอขึ้นแล้ว เด็กจะทำท่าขย้อน ไอ ครั้งแรกหน้าแดง ต่อมาจะหน้าเขียว ไม่ควรปล่อยเอาไว้จนหน้าเขียว พยายามเอาของออกจากคอเสียเลย

ในเด็กเล็ก (ไม่เกิน 2 ขวบ) อาจจับห้อยหัวลง เอามือตบหลังแรงๆ (ดูรูปที่ 3) ในเด็กโตขึ้นมาหน่อยอาจใช้มือช้อนเอวให้ศีรษะห้อยและตบหลังแรงๆ เพื่อให้ของที่ติดคอหลุดออกมา (ดูรูปที่ 4) ในเด็กที่ค่อนข้างโต (10 ขวบขึ้นไป) อาจต้องช้อนเอว แล้วตบหลัง (ดูรูปที่ 4)

การใช้นิ้วล้วงออกมา ก็อาจทำได้ ถ้าของยังลงไม่ลึกนัก หรือเมื่อเด็กไอเอาของออกมาอยู่ตรงคอหอยแล้ว อาจใช้นิ้วควักออกมาได้ แต่อาจมีอันตรายเหมือนกัน เพราะนิ้วเมื่อถูกน้ำลายมันลื่น มักควักออกมายาก และถ้าควักไม่ถูกท่า ก็อาจมาได้เป็นการกระทุ้งให้เข้าลึกลงไปอีกด้วย

ของติดหลอดลม เด็กหายใจไม่ออก ต้องแก้ไขเองทันที เพราะถ้ามัวแต่คิดนำส่งโรงพยาบาลจะไม่ทันการ เด็กอาจหายใจไม่ออก และเสียชีวิตไปเสียก่อน

.................................................................................................................

อุบัติเหตุในเด็ก ตอนแรก

ข้อมูลสื่อ

9-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 9
มกราคม 2523
รศ.นพ.เกษียร ภังคานนท์