• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

นิ่วในท่อไต

นิ่วในท่อไต

ข้อน่ารู้
1. ทางเดินปัสสาวะของคนเราเริ่มจากไตลงมาที่ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ และสิ้นสุดที่ท่อปัสสาวะ
โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะอาจเกิดขึ้นตรงจุดใดจุดหนึ่งก็ได้ ซึ่งมีสาเหตุ อาการ การรักษา และวิธีป้องกันแตกต่างกันไป
ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะโรคนิ่วในท่อไต ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการปวดท้องรุนแรง
2. นิ่วในท่อไต เป็นก้อนนิ่วขนาดเล็กที่ก่อตัวขึ้นในไตแล้วตกผ่านลงมาในท่อไต ประกอบด้วยแคลเซียม(หินปูน) สารออกซาเลตและกรดยูริกเป็นสำคัญ

สาเหตุเกิดจากปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน ได้แก่ การกินอาหารที่มีแคลเซียมสูง (เช่น นม เนย กุ้งแห้ง ปลาเล็กปลาน้อย ใบโหระพา ใบชะพลู สะเดา ยอดแค) การกินอาหารที่มีสารออกซาเลตสูง (เช่น ช็อกโกแลต โกโก้ น้ำชา มันเทศ หน่อไม้ ใบชะพลู ผักโขม ผักเสม็ด ผักกระโดน) การกินวิตามินซีปริมาณมาก (ซึ่งจะช่วยดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกาย และช่วยสร้างสารออกซาเลต) หรือการกินอาหารที่มีกรดยูริกสูง (เช่น เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ถั่ว สาหร่าย หน่อไม้ ฯลฯ) ในปริมาณมากเกินไป ร่วมกับการดื่มน้ำน้อย หรืออยู่ในที่ร้อน (ร่างกายเสียเหงื่อ ทำให้ขาดน้ำ) ทำให้ปัสสาวะมีความเข้มข้นของสารเหล่านี้ จนตกผลึกกลายเป็นก้อนนิ่วได้

นอกจากนี้ยังอาจพบบ่อยในคนที่มีความผิดปกติซ่อนเร้นอยู่ เช่น โรคเกาต์ หรือมีระดับกรดยูริกในเลือดสูง ซึ่งเป็นความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ หรือต่อมพาราธัยรอยด์ทำงานมากเกิน ซึ่งทำให้มีแคลเซียมในเลือดสูง หรือมีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะบ่อย หรือมีความผิดปกติทางโครงสร้างของไต เป็นต้น
3. เนื่องจากท่อไตมีขนาดเล็ก นิ่วที่ท่อไตจึงมักมีขนาดเล็กเท่าหัวไม้ขีด (ประมาณเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 0.5 เซนติเมตร) เมื่อคาอยู่ในท่อไต ท่อไตก็พยายามบีบขับก้อนนิ่วออกมา ทำให้มีอาการปวดบิดเกร็งในท้องเป็นพักๆ นับว่าโชคดีที่ส่วนใหญ่จะหลุดออกมากับปัสสาวะได้เอง
4. นิ่วในท่อไตมีเพียงส่วนน้อยที่อาจมีขนาดโตคาอยู่ไม่ยอมหลุด นอกจากจะทำให้มีอาการปวดท้อง เป็นๆ หายๆ เรื้อรังแล้ว ยังอาจทำให้มีการติดเชื้ออักเสบของทางเดินปัสสาวะ รวมทั้งไตอักเสบเรื้อรัง และอาจนำไปสู่ภาวะไตวายพิการได้ ดังนั้น นิ่วในท่อไตที่มีขนาดโต จำเป็นต้องให้แพทย์ทำการรักษาให้หายขาด หากปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายได้

รู้ได้อย่างไรว่าไม่ได้เป็นอื่น
คนที่เป็นนิ่วในท่อไตจะมีอาการปวดท้องตรงบริเวณบั้นเอว หรือท้องน้อยข้างใดข้างหนึ่งเพียงข้างเดียว (ตรงกับข้างที่มีนิ่วคาอยู่) อาการปวดมีลักษณะปวดบิดเกร็งเป็นพักๆ คล้ายท้องเดินหรือปวดประจำเดือน อาจปวดนานเป็นชั่วโมงๆ หรือเป็นวันๆ ลักษณะเฉพาะของโรคนี้คือจะมีอาการปวดร้าวไปที่อัณฑะหรือช่องคลอดข้างเดียวกัน
อาจมีอาการใจหวิวใจสั่น หรือคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย
จะไม่มีไข้ ถ่ายปัสสาวะเป็นปกติ ไม่แสบไม่ขัด ปัสสาวะมักจะใสเช่นปกติ
เวลาปวดเอามือกดหน้าท้องจะไม่รู้สึกเจ็บ บางครั้งกลับรู้สึกสบายขึ้น
อาการปวดท้องอาจทุเลาได้เอง แต่ก็อาจกำเริบเป็นช่วงๆ ตราบเท่าที่ก้อนนิ่วยังไม่หลุดออกมา
ถ้าก้อนนิ่วก้อนเล็กก็อาจสังเกตเห็นก้อนนิ่วหลุดออกมากับปัสสาวะภายใน 1-2  สัปดาห์

อาการปวดท้องบริเวณบั้นเอวหรือท้องน้อยอาจมีสาเหตุจากโรคอื่น เช่น
1. ไส้ติ่งอักเสบ จะมีอาการปวดตรงบริเวณท้องน้อยขวาติดต่อกันนานเป็นชั่วโมงๆ เอามือกดดูจะรู้สึกเจ็บ อาจมีไข้ร่วมด้วย
2. ตั้งครรภ์นอกมดลูก จะมีอาการปวดตรงบริเวณท้องน้อย ใจสั่น เป็นลม หน้าตาซีดเซียว มักมีประวัติขาดประจำเดือนร่วมด้วย
สำหรับสาเหตุที่ 1 และ 2  ถือเป็นโรคฉุกเฉินที่ต้องผ่าตัดทันที หากสงสัยควรพบแพทย์ทันที
3. กรวยไตอักเสบ จะมีอาการปวดตรงบริเวณบั้นเอวหรือสีข้างซีกใดซีกหนึ่ง ร่วมกับมีไข้สูง หนาวสั่น ปัสสาวะขุ่น ใช้กำปั้นทุบเบาๆในบริเวณดังกล่าวจะรู้สึกเจ็บจนสะดุ้ง หากสงสัยควรพบแพทย์โดยเร็ว
4. ปีกมดลูกอักเสบ จะมีอาการปวดตรงบริเวณท้องน้อย เอามือกดจะรู้สึกเจ็บ อาจมีไข้สูงร่วมด้วย หากสงสัยควรพบแพทย์โดยเร็ว
5. ปวดประจำเดือน จะมีอาการปวดบิดเกร็งเป็นพักๆ ตรงบริเวณท้องน้อย เฉพาะในช่วงที่มีประจำเดือน เอามือกดจะไม่รู้สึกเจ็บ

เมื่อไรควรไปพบแพทย์
คนที่มีอาการปวดท้องตรงบริเวณบั้นเอวหรือท้องน้อย ควรไปพบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการปวดรุนแรง กดหรือแตะถูกเจ็บ หรือหน้ามืดเป็นลม และควรไปพบแพทย์เมื่อ
1. มีไข้สูง
2. กินยาบรรเทาปวดแล้วไม่ทุเลา
3. มีความวิตกกังวล

แพทย์จะทำอะไรให้
แพทย์อาจส่งตรวจปัสสาวะเอกซเรย์ หรือทำการตรวจพิเศษอื่นๆ ตามสาเหตุที่สงสัย
ถ้าพบว่าเป็นนิ่วในท่อไต แพทย์จะให้ยากลุ่มแอนตี้สปาสโมดิกกินบรรเทาอาการปวดท้อง แล้วนัดให้มาตรวจซ้ำภายใน 1-2 สัปดาห์
ถ้าหากก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่ ไม่สามารถหลุดออกมาได้เอง อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด หรือใช้เครื่องสลายนิ่ว (โดยการใช้คลื่นเสียงความถี่สูง) สำหรับวิธีหลังนับว่าสะดวก ไม่ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่มีข้อเสียคือราคาแพง (ตกประมาณ 20,000-40,000 บาท) และมีโรงพยาบาลเพียงไม่กี่แห่งที่ทำได้

โรคนิ่วในท่อไตสามารถรักษาให้หายได้ แต่ก็อาจมีอาการกำเริบได้อีก ดังนั้นจึงควรปรับดุลของอาหารการกินให้เหมาะสม กล่าวคือ การกินอาหารที่มีความหลากหลาย และควรลดอาหารที่อาจมีสารที่ทำให้เกิดนิ่ว และดื่มน้ำให้มากๆ อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ

ในกรณีที่เป็นโรคนิ่วกำเริบบ่อย แพทย์อาจส่งตรวจวิเคราะห์ส่วนประกอบของนิ่ว แล้วให้คำแนะนำในเรื่องอาหารการกินที่เหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เป็นซ้ำ

โดยสรุป อาการปวดท้องตรงบริเวณบั้นเอวหรือท้องน้อย อาจเกิดจากโรคนิ่วในท่อไต เป็นโรคที่รุนแรงอื่นๆ ถ้ามีอาการปวดรุนแรง ปวดนานกว่าปกติ หรือกินยาบรรเทาปวดไม่ได้ผล ก็ควรจะรีบไปพบแพทย์
ถ้าเป็นนิ่วในท่อไต ทุกครั้งที่ถ่ายปัสสาวะควรสังเกตว่ามีก้อนนิ่วหลุดออกมาหรือไม่ ส่วนมากก้อนนิ่วจะหลุดออกมาได้เองภายใน 1-2  สัปดาห์

 

                                               การดูแลรักษาตนเอง

เมื่อมีอาการปวดท้องตรงบริเวณบั้นเอวหรือท้องน้อย ให้เอามือกดหรือใช้กำปั้นทุบเบาๆดูว่าเจ็บหรือไม่ และสังเกตว่ามีไข้หรือไม่
ถ้าลักษณะอาการเข้ากับอาการปวดประจำเดือน (ปวดบิดเกร็งตรงบริเวณท้องน้อย เวลาประจำเดือน กดถูกไม่รู้สึกเจ็บ) ก็ให้กินยาพาราเซตามอลบรรเทาปวด
แต่ถ้ามีอาการกดหรือเคาะถูกเจ็บมากขึ้น หรือมีไข้ร่วมด้วย หรือมีอาการปวดร้าวลงอัณฑะหรือช่องคลอด หรือสงสัยเป็นนิ่วในท่อไต ก็ควรจะรีบปรึกษาแพทย์

ในรายที่แพทย์ตรวจพบว่าเป็นนิ่วในท่อไต ให้ปฏิบัติตัวดังนี้
1. กินยาบรรเทาปวดท้องที่แพทย์สั่งจ่าย ได้แก่ ยากลุ่มแอนตี้สปาสโมดิก (เช่น ไฮออสซีน) สามารถกินซ้ำได้ทุก 6 ชั่วโมง
2. ดื่มน้ำมากๆ ประมาณชั่วโมงละ 1 แก้ว
3. เวลาถ่ายปัสสาวะ สังเกตดูว่ามีก้อนนิ่วหลุดออกมาหรือไม่ ถ้าเป็นไปได้ควรถ่ายลงกระโถนจะช่วยให้สังเกตได้ง่าย
4. ไปตรวจกับแพทย์ตามนัด ในกรณีที่มีอาการผิดสังเกต เช่น ปวดท้องมากขึ้น หรือมีไข้สูง ก็ควรไปพบแพทย์ก่อนวันนัด
 

ข้อมูลสื่อ

182-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 182
มิถุนายน 2537
แนะยา-แจงโรค
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ