• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยีน-โครโมโซม-ดีเอ็นเอ(การพิสูจน์ความเป็นพ่อ-แม่-ลูก ตอนที่2 )

ยีน-โครโมโซม-ดีเอ็นเอ(การพิสูจน์ความเป็นพ่อ-แม่-ลูก  ตอนที่ 2)

ตอนที่แล้วได้พูดจากันถึงความหมายของคำ 3  คำนี้
สรุปโดยย่อ ก็คือ พันธุกรรมเปรียบเหมือนรหัสข้อมูลที่สามารถถ่ายทอดไปยังลูกหลาน ข้อมูลเหล่านี้แฝงอยู่ในโครโมโซม (chromosome) หรือแถบพันธุกรรม โครโมโซมแต่ละแถบจะประกอบด้วยยีน (gene) หรือลักษณะพันธุกรรมมากมาย และยีนแต่ละลักษณะประกอบด้วยสารดีเอ็นเอ (DNA) หรือสารพันธุกรรม

















สารดีเอ็นเอเกิดจากการเรียงตัวของสารเคมี (ที่มีชื่อว่ากรดนิวคลินิก) เป็น 2 สายพันต่อกัน ทำให้เกิดเป็นรหัสข้อมูลถึง 500 ล้านคู่
รหัสข้อมูลจำนวนมหาศาลเหล่านั้นบรรจุอยู่ในส่วนที่เป็นแก่นกลาง (นิวเคลียส) ของเซลล์ (หน่วยที่เล็กที่สุดของชีวิต) ซึ่งไม่สามารถเห็นด้วยตาเปล่า
มนุษย์เรามีโครโมโซม (แถบพันธุกรรม) อยู่ 56 แถบ หรือ 23 คู่ (ลิงชิมแปนซีมี 24  คู่, วัว 30  คู่, ม้า 33 คู่, สุนัข 27  คู่)
โครโมโซม 23 คู่นี้ จะเป็นพันธุกรรมที่กำหนดลักษณะทั่วไปของร่างกายเสีย 22 คู่ เรียกว่า “โครโมโซมร่างกาย” และ 1 คู่ที่เหลือมียีนที่กำหนดความเป็นเพศหญิงเพศชายอยู่เรียกว่า “โครโมโซมเพศ”
มีการตั้งชื่อโครโมโซมเพศคู่นี้ว่า X (เอกซ์) แถบหนึ่ง และ Y (วาย) แถบหนึ่ง
ผู้หญิงจะมีโครโมโซมเพศเป็นคู่ XX (เอกซ์-เอกซ์)
ผู้ชายจะมีโครโมโซมเพศเป็นคู่ XY (เอกซ์-วาย)
เซลล์ทุกเซลล์ของผู้ชาย (ยกเว้นเซลล์สเปิร์มหรือตัวอสุจิ) จะมีโครโมโซมของร่างกาย 22  คู่ + XY
ส่วนเซลล์ทุกเซลล์ของผู้หญิง (ยกเว้นเซลล์ไข่) จะมีโครโมโซมร่างกาย 22  คู่ + XX
ส่วนเซลล์สเปิร์มของผู้ชายและเซลล์ไข่ของผู้หญิงจะมีจำนวนโครโมโซมเพียงครึ่งเดียว คือ 23 แถบ
เซลล์สเปิร์มของชายจะมีแถบโครโมโซม 2 แบบคือ 22 แถบ + X กับ 22 แถบ + Y
ส่วนเซลล์ไข่จะมีแถบโครโมโซมแบบเดียวคือ 22 แถบ + X
ถ้าเซลล์สเปิร์มแบบ 22 แถบ + X ผสมกับเซลล์ไข่ 22 แถบ + X ก็จะได้ผู้สืบสกุลเป็น 22 คู่ + XX เป็นหญิง
ตรงกันข้าม ถ้าเซลล์สเปิร์มแบบ 22 แถบ + Y ผสมกับเซลล์ไข่ 22 แถบ + X ก็จะได้ผู้สืบสกุลเป็น 22 คู่ + XY เป็นชาย

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การจะได้บุตรหญิงหรือบุตรชาย ย่อมขึ้นกับเซลล์สเปิร์มเป็นสำคัญ
พ่อบ้านที่ได้เพศบุตรไม่ได้สมใจก็อย่าไปหลงโทษแม่พันธุ์ ควรจะต้องโทษตัวเองมากกว่า
ในการผสมพันธุ์ ยีนที่อยู่บนโครโมโซมแต่ละแถบในเซลล์สเปิร์มและเซลล์ไข่ที่กำหนดลักษณะพันธุกรรมอย่างเดียวกัน (เช่น ผมหยิกผมเหยียด) ก็จะเข้ามาจับคู่กัน ดังนั้นโครโมโซมของผู้สืบสกุลในแต่ละแถบจะประกอบด้วยยีนจากพ่อครึ่งหนึ่งและยีนจากแม่อีกครึ่งหนึ่ง (เหมือนฝาของขนมครกที่ประกบเข้าเป็นคู่)
กล่าวโดยสรุปก็คือ ยีนของลูกจะมีสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) ซึ่งมีอยู่ 2 สาย สายหนึ่งจะเหมือนพ่อ และอีกสายหนึ่งจะเหมือนแม่
ข้อเท็จจริงนี้เป็นที่มาของการตรวจยีนหรือดีเอ็นเอ ในการพิสูจน์ความเป็นพ่อ-แม่-ลูกนั่นเอง

 

 

 

ข้อมูลสื่อ

181-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 181
พฤษภาคม 2537
ภาษิต ประชาเวช