• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การใช้แสงเลเซอร์กับฟันของเรา

การใช้แสงเลเซอร์กับฟันของเรา

เรื่องการใช้แสงเลเซอร์ในฉบับเดือนมีนาคม ผมได้เล่าถึงบทบาทของการประยุกต์ใช้แสงเลเซอร์ในงานด้านต่างๆทางทันตกรรมไปบ้างแล้ว ต่อไปจะเป็นรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลไกการทำงานของแสงเลเซอร์ในบางกรณี เพื่อจะได้พอเห็นภาพและเข้าใจว่า “มันทำได้อย่างไร”
                    

แสงเลเซอร์ถูกนำมาใช้ในทางทันตกรรมเมื่อประมาณ 10 ปีก่อนในประเทศสหรัฐอเมริกา (อาจจะไม่ใช่แห่งแรกในโลก) จึงอาจถือได้ว่าไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด ทว่ายังไม่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายเท่าทุกวันนี้ เนื่องจากเมื่อ 10 ปีก่อนประสิทธิภาพและความสะดวกความปลอดภัยในการใช้งานยังไม่ดีเท่าที่ควร เช่น ความร้อนที่เกิดขึ้นจากการใช้งานยังสูงเกินไป ทำให้เกิดอันตรายต่อเนื้อเยื่อข้างเคียง ตลอดจนรูปร่างของเครื่องมือก็เทอะทะ ไม่สะดวกต่อการใช้งานในบริเวณแคบๆอย่างในช่องปากของเรา

จนกระทั่งเวลาล่วงเลยมาประมาณ 7 ปีวิวัฒนาการของการผลิตเครื่องเลเซอร์ทางทันตกรรมจึงสามารถ
บรรลุถึงจุดของการยอมรับในคุณสมบัติแทบทุกประการ (ดังภาพที่ 1) แต่อุปสรรคก็ยังคงไม่หมดสิ้น เนื่องจากต้นทุนในการผลิตยังค่อนข้างสูงมาก สำหรับประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทย ซึ่งแม้จะมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับสองของโลกก็ตาม (แต่การกระจายรายได้เป็นอันดับที่เท่าไรไม่ยักมีหน่วยงานไหนพูดถึง) ต้นทุนที่ว่าสูงนั้นสูงเท่าไร เดี๋ยวจะบอก
                      
แสงเลเซอร์ที่นำมาใช้ทางทันตกรรมได้จากการนำสารกัมมันตภาพรังสีบางชนิด เช่น Neodymiumyttrium-aluminium garret มาทำการกระตุ้นให้ปล่อยพลังงานออกมาในรูปของแสงที่มีความยาวคลื่นและทิศทางเดียวกัน (แสงตามธรรมชาติหรือแสงจากหลอดไฟทั่วไป เป็นแสงที่มีความยาวคลื่นเป็นช่วงและทิศทางกระจัดกระจาย จึงมีพลังงานไม่มาก) ทำให้มีพลังงานสูงมาก แล้วผ่านเลนส์รวมแสงให้เป็นลำแคบๆ (ดังภาพที่ 2) ทั้งยังสามารถควบคุมความร้อนที่เกิดขึ้นให้มีปริมาณที่พอเหมาะกับการใช้งานทางทันตกรรม โดยผู้ใช้เพียงแต่กดสวิตช์ควบคุมการทำงาน แสงเลเซอร์ที่ออกมาเป็นจังหวะที่รวดเร็วมากคือ 10-30 ครั้งต่อวินาทีด้วยกำลังเพียง 3 วัตต์
ด้วยความเร็วที่สูงมากนี้เองทำให้ระบบประสาทรับความรู้สึกของเราไม่อาจทำหน้าที่ได้ทันจึงไม่รู้สึกเจ็บ ทำนองเดียวกับการเล่นจับเปลวไฟอย่างเร็วๆ เราก็ไม่รู้สึกร้อน

ในบทความภาคแรก ได้กล่าวถึงการใช้แสงเลเซอร์กับเนื้อเยื่ออ่อนและเนื้อเยื่อแข็ง อันได้แก่เหงือกและเยื่อบุผิวช่องปากกับฟัน ทีนี้เราลองมาดูสิว่าแสงเลเซอร์ทำให้เกิดอะไรขึ้นกับเนื้อเยื่อที่ว่านั้น เช่น การใช้แสงเลเซอร์ฉายไปบนเนื้อฟันที่ผุตื้นๆก่อนอุดฟัน เนื้อฟันส่วนที่ถูกแสงเลเซอร์จะระเหิดไปทันทีพร้อมๆกับเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดการผุก็ถูกกำจัดไปด้วย

หรือในกรณีที่แสงเลเซอร์ฉายถูกเนื้อฟันที่สึกกร่อนบริเวณคอฟันจะเกิดการหลอมรวมตัวกันของผิวเนื้อฟันนั้นเป็นการอุดปลายท่อในเนื้อฟัน (Dentinal tubules) ซึ่งเป็นทางติดต่อระหว่างผิวนอกสุดของชั้นเนื้อฟันกับโพรงประสาทฟัน ซึ่งภายในมีของเหลวบรรจุอยู่ เมื่อของเหลวนี้มีการเคลื่อนไหวจะกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกเสียวฟัน

ในฟันที่ปกติปลายท่อที่อยู่ด้านนอกสุดจะมีครอบฟันปิดไว้ ถ้าฟันผุหรือสึกกร่อนไปจนเคลือบฟันที่ปิดปลายท่อนี้อยู่ถูกทำลาย มีผลให้ปลายท่อนี้ถูกเปิดออก ของเหลวภายในจึงเสียสมดุลไป เมื่อเกิดอาการไหลของของเหลวจึงทำให้เกิดอาการเสียวฟันได้
                          

นอกจากการใช้แสงเลเซอร์ในกรปิดปลายท่อดังกล่าวแล้ว ยังมีการใช้สารเคมีบางชนิดในการนี้ด้วย ได้แก่ การใช้ฟลูออไรด์เข้มข้นในรูปน้ำยาวาร์นิช (Fluoride varnish) หรือสารสตรอนเทียมคลอไรด์ หรือแคลเซียมคลอไรด์ เป็นต้น แต่ให้ผลสู้การใช้แสงเลเซอร์ไม่ได้ โดยเฉพาะในรายที่มีอาการมาก
นอกจากนี้ประโยชน์ของแสงเลเซอร์ในการทำลายเชื้อจุลินทรีย์ยังถูกนำมาใช้ประกอบการรักษาคลองรากฟัน โดยการฉายแสงไปที่บริเวณปลายรากฟันเพื่อทำลายจุลินทรีย์ ช่วยลดการติดเชื้อได้(ดังภาพที่ 3)
                      

เป็นอย่างไรบ้าง คุณประโยชน์ของเจ้าเครื่องมือราคาแพงชิ้นนี้มิใช่ย่อยเลยใช่ไหมครับ ทีนี้ลองมาดูราคาของมันกันสักหน่อยว่าจะคู่ควรกับกระเป๋าของพวกเราแค่ไหน ราคาของมันในสหรัฐอเมริกา ณ ปักษ์นี้ก็อยู่ในราว 50,000 ดอลล่าร์ (1 ดอลล่าร์ประมาณ 25บาท) พอๆกับรถยนต์บางรุ่นบางยี่ห้อเลยนะครับ นี่ยังไม่รวมภาษีนำเข้าของเราเองแล้วยังค่าอะไรต่อมิอะไรอีกหลายประการ ขอจบเรื่องแสงเลเซอร์ลงที่ตรงนี้เลยนะครับ
 

“ร่วมฉลองปีทันตสุขภาพสากลด้วยการสนใจสุขภาพช่องปากอย่างสม่ำเสมอ”


 

ข้อมูลสื่อ

181-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 181
พฤษภาคม 2537