• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โยคะสำหรับโรคทั่วๆไป

โรค เกิดขึ้นได้ทั้งต่อกลไกการทำงานของร่างกายและทางด้านชีวภาพ โรคที่เกิดขึ้นต่อกลไกการทำงานของร่างกายในที่นี้ รวมถึงความผิดปกติของระบบภายใน รวมถึงปัญหาอันมีสาเหตุมาจากจิต มาจากความเครียด โรคเหล่านี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยโยคะ

โดยเฉพาะโรคที่มีสาเหตุพื้นฐานมาจากจิต โยคะสามารถช่วยให้เราจัดการกับความป่วยไข้เหล่านี้ในระดับต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงคุณภาพชีวิต และกระทั่งการยืดอายุให้ยืนยาวขึ้น ด้วยเทคนิคต่าง ๆ โยคะสามารถคลายอาการเจ็บปวด ลดปริมาณการใช้ยา ตลอดจนยกระดับของสุขภาพ สุขภาวะ

ในการใช้โยคะเพื่อจัดการกับโรคใดโรคหนึ่ง เราต้องฝึกปฏิบัติเทคนิคต่าง ๆ ของโยคะให้สอดคล้องกับความต้องการของเรา เทคนิคของโยคะนั้นมีเป็นจำนวนมากทั้งยังหลากหลาย

เทคนิคของโยคะที่โดดเด่น คงเป็นเทคนิคทางด้าน “ กาย ” เช่น การเตรียมความพร้อมของร่างกาย หรือที่เรียกว่า การวอร์มอัพ และทำอาสนะ ที่หลายคนเข้าใจ ( ผิด ) ว่าเป็นพระเอกขอวโยคะ คอลัมโยคะนี้พยายามเน้นย้ำมาตลอดว่าทำอาสนะเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ เท่านั้น

โยคะมีเทคนิคการหายใจแบบต่าง ๆ มากมาย ทั้งเทคนิคที่ทำให้เราเข้าใจระบบหายใจของเราเอง ตลอดจนเทคนิคการใช้ลมหายใจไปควบคุมส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย

เทคนิคการผ่อนคลาย เป็นเทคนิคที่นับวันจะได้รับความสนใจมากขึ้น เนื่องเพราะวิถีชีวิตของผู้คนในปัจจุบันเต็มไปด้วยความเร่งรีบ เต็มไปด้วยความวุ่นวายนั่นเอง
จะมีสักกี่คน ที่รู้ว่าโยคะมีเทคนิคที่กล่าวถึงการกินด้วย โยคะบอกว่า อย่ากินจนอิ่มในแต่ละมื้อ ให้กินอาหารแค่ครึ่งท้อง อีกครึ่งหนึ่งเป็นที่สำหรับของเหลว เช่น น้ำแกงสัก 1/4 และที่เหลืออีก 1/4 นั้น ต้องกันไว้เป็นพื้นที่ว่างเพื่อย่อย หัวใจของการกินอาหารเพื่อสุขภาพที่ดี นอกจากเลือกกินอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว ก็คือไม่กินจนอิ่มนั่นเอง

ที่สำคัญ โยคะมีเทคนิคเกี่ยวกับจิตใจ ซึ่งเป็นเทคนิคที่สำคัญอย่างยิ่ง กล่าวได้ว่าสำคัญที่สุดเลยด้วยซ้ำ ในเบื้องต้น โยคะแนะนำให้มนุษย์ฝึกการปรับทัศนคติของตนเอง ให้มองโลกในแง่บวก ซึ่งถือได้ว่า เป็นก้าวแรกของการเดินบนเส้นทางแห่งโยคะทีเดียว

เทคนิคของโยคะแบบหนึ่งก็เหมาะสำหรับโรคชนิดหนึ่ง ขณะที่บางโรคอาจต้องหลีกเลี่ยงเทคนิคโยคะอันนั้น ในการออกแบบชุดโยคะให้กับตนเองเราต้องรู้จักตัวเราเอง รู้จักโรคของเรา รู้รายละเอียดของเทคนิคโยคะ โดยเราจะเน้นฝึกเทคนิคโยคะที่เอื้อต่อการบำบัดอาการของเรา และหลีกเลี่ยงเทคนิคโยคะที่เป็นอันตรายต่อโรคของเรา จากนั้นก็กำหนดตารางการปฏิบัติสำหรับตนเอง

ฝึกทำเทคนิคโยคะเป็นประจำสม่ำเสมอด้วยทัศนคติที่ว่า เราคือผู้มีบทบาทสำคัญที่สุดในการดูแล เยียวยา รักษาตนเอง ฝึกโยคะด้วยสติ คอยถาม-ตอบตัวเองตลอดเวลา เทคนิคใดที่ทำแล้วทำให้เรารู้สึกดีขึ้น น่าจะเป็นเทคนิคที่เหมาะสม เทคนิคใดที่ทำแล้วทำให้เรารู้สึกแย่ลง ต้องพิจารณาว่า เราอาจรับรู้ข้อมูลที่ผิด หรือทำได้ไม่ถูกต้อง

เมื่อฝึกทำไปได้ระยะหนึ่ง จนได้รับผลจากเทคนิคโยคะที่ได้ฝึกทำ เห็นพัฒนาการที่ดีขึ้น จึงลองหาความรู้เกี่ยวกับเทคนิคต่าง ๆ เพิ่มเติม ปรึกษาผู้รู้เพิ่มเติม เพื่อปรับปรุงการปฎิบัติโยคะของเราให้เหมาะสมกับสภาวะของตนเอง ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ค่อย ๆ ดำเนินการไปตามขั้นตอน เพื่อให้แน่ใจว่า เราไม่หลงทาง เพื่อให้แน่ใจว่า เราได้รับสิ่งที่ดีที่สุดจากโยคะ
 

ข้อมูลสื่อ

271-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 271
พฤศจิกายน 2544
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์