• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เกลื้อน

เกลื้อน
 

ข้อน่ารู้

1. เกลื้อน (Tinea versicolor) เป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยโรคหนึ่งในคนหนุ่มสาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนที่มีเหงื่อออกมาก เช่น ผู้ใช้แรงงาน (ชาวไร่ ชาวนา กรรมกร) พนักงานขับรถ นักกีฬา รวมทั้งผู้ที่ทำงานกลางแดด
สาเหตุเกิดจากเชื้อรากลุ่มมาลาสซีเซียเฟอร์เฟอร์ ซึ่งเป็นเชื้อราที่มีอยู่ตามผิวหนัง(โดยเฉพาะที่หนังศีรษะ)เป็นปกติวิสัยอยู่แล้ว ในคนปกติทั่วไปเชื้อรานี้จะอยู่อย่างสงบไม่ก่อให้เกิดโรค แต่คนที่อับเหงื่อมีเหงื่อชุ่มเป็นประจำ เชื้อราจะเจริญงอกงาม จนทำให้กลายเป็นโรคเกลื้อน

2. โรคนี้จะเป็นเฉพาะคนบางคน หมายถึงว่า คนที่เป็นโรคนี้แม้ว่าจะรักษาหายแล้ว หากมีเหงื่อออกมาก ก็จะกลับกำเริบได้อีก จึงอาจเป็นๆหายๆเรื้อรัง ส่วนคนที่ไม่เป็นโรคนี้ถึงแม้จะสัมผัสใกล้ชิดกับคนที่เป็นเกลื้อน ก็ไม่เป็นโรค เนื่องเพราะแท้จริงทุกคนมีเชื้อรานี้อยู่บนร่างกายโดยธรรมชาติอยู่แล้ว แม้จะรับเชื้อราเพิ่มขึ้นมาบ้าง แต่มีสภาพร่างกายดี ไม่มีปัจจัยเสริมแต่ง(เช่นภาวะเหงื่อออกมาก) เชื้อราก็ไม่อาจแพร่พันธุ์จนทำให้ผิวหนังติดเชื้อเกิดเป็นโรคขึ้นได้ ดังนั้นโรคนี้จึงนับว่าติดต่อกันยาก ไม่เหมือนโรคกลากที่ติดต่อได้ง่ายโดยการสัมผัส

รู้ได้อย่างไรว่าไม่ได้เป็นอื่น

เกลื้อนจะมีลักษณะขึ้นเป็นดวงกลมเล็กๆขนาดประมาณ 4-5 มิลลิเมตร จำนวนหลายดวง กระจายทั่วไปในบริเวณที่มีเหงื่อออกมาก เช่น ซอกคอ แผ่นหลัง หน้าอก รักแร้ เป็นต้น โดยทั่วไปจะแยกกันอยู่เป็นดวงๆ เห็นเป็นรอยด่างหรือรอยแต้มสีขาวหรือน้ำตาล ถ้าเป็นเรื้อรังดวงของเกลื้อนเหล่านี้จะลุกลามมาต่อกันเป็นแผ่นขนาดใหญ่ มักไม่มีอาการคัน ยกเว้นบางขณะที่มีเหงื่อออกมาก อาจรู้สึกคันเล็กน้อยพอรำคาญ

ในระยะที่เป็นใหม่ๆจะเห็นเป็นสะเก็ดบาง ลักษณะเป็นเงามัน สีขาว น้ำตาลหรือแดงเรื่อๆ คลุมอยู่บนผิว เวลาขูดจะหลุดเป็นขุย ลักษณะนี้อาจต้องแยกออกจากโรคกลากซึ่งจะขึ้นดวงๆ ขอบเขตชัดเจน ขอบนูน มีตุ่มน้ำใสหรือขุยขาวๆอยู่รอบวง แต่จะมีอาการคันมาก และมักจะขึ้นเป็นหย่อมเฉพาะที่ แล้วค่อยๆลุกลามใหญ่ขึ้น ไม่ขึ้นกระจาย เป็นบริเวณกว้างแบบเกลื้อน

ส่วนในรายที่เป็นเกลื้อนเรื้อรัง เห็นเป็นรอยด่างขาวนั้นอาจดูคล้ายโรคด่างขาว หรือกลากน้ำนม
โรคด่างขาว เกิดจากเซลล์ผิวหนังบางส่วนไม่สร้างเม็ดสีเช่นปกติ ทำให้ผิวหนังส่วนนั้นเป็นรอยด่างขาว มักเกิดตรงบริเวณหน้าริมฝีปาก คอ หลังมือ และหลังเท้า ซึ่งมักจะมีลักษณะกระจายตัวเหมือนๆกันทั้ง 2 ข้างของร่างกาย(เช่น ขึ้นที่หลังมือ พร้อมกันทั้งข้างซ้ายและขวา) มักจะลามออกไปอย่างช้าๆ และเป็นอย่างถาวร

กลากน้ำนม เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่พบบ่อยในเด็กช่วงอายุ 3-16 ปี ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ไม่ได้เกิดจากเชื้อรา หรือเป็นโรคกลากตามชื่อเรียก มีลักษณะขึ้นเป็นวงสีขาว ขอบเขตไม่ชัดเจน มักขึ้นเฉพาะที่ตรงบริเวณใบหน้า(เช่น แก้มหรือหน้าผาก) อาจขึ้นที่ไหล่หรือแขน ไม่มีอาการคัน มักจะเป็นมากในหน้าร้อน หรือหลังตากแดดตากลม อาจเรื้อรังเป็นแรมเดือนแรมปี เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่จะหายไปได้เอง โรคนี้ดูคล้ายเกลื้อนมาก แต่ต่างกันที่เกลื้อนจะขึ้นที่หลัง คอ และหน้าอก และพบมากในวัยหนุ่มสาวที่มีเหงื่อออก

เมื่อไรควรไปพบแพทย์

ควรไปพบแพทย์เมื่อ
1. รักษาด้วยตนเองประมาณ 1-2 สัปดาห์แล้วยังไม่ทุเลา
2. เป็นๆหายๆเรื้อรัง

แพทย์จะทำอะไรให้

แพทย์อาจขูดเอาสะเก็ดผิวหนังบริเวณที่เป็นโรคไปพิสูจน์ หากพบว่าเป็นเกลื้อนจริง ก็จะให้ยาทาฆ่าเชื้อราชนิดใดชนิดหนึ่งดังกล่าว
ในรายที่เป็นรุนแรงหรือใช้ยาทาไม่ได้ผล แพทย์จะให้ยาเม็ดคีโตโคนาโซลขนาด 400  มิลลิกรัม กินครั้งเดียว อีก 1 เดือนซ้ำอีกครั้ง

โดยสรุป เกลื้อนเป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา พบมากในคนหนุ่มสาวที่มีเหงื่อออกมาก มักเป็นเรื้อรัง แต่ไม่มีอันตรายร้ายแรง สามารถรักษาได้ด้วยการทายาฆ่าเชื้อรา การป้องกันอยู่ที่การรักษาความสะอาดของร่างกายและเสื้อผ้า และอย่าให้อับเหงื่อ 
 

การดูแลรักษาตนเอง
ถ้าสงสัยเป็นเกลื้อน ควรปฏิบัติตัวดังนี้

1. อย่าใส่เสื้อผ้าที่อับเหงื่อนานๆ และรักษาความสะอาดของร่างกายด้วยการอาบน้ำฟอกสบู่อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง

2. เลือกใช้ยาฆ่าเชื้อราอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
ทาด้วยยาน้ำโซเดียมไทโอซัลเฟตชนิด 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสามารถซื้อเป็นยาสำเร็จรูป (หรืออาจเตรียมเองโดยใช้ไฮโปซึ่งใช้ผสมเป็นน้ำยาล้างรูป (หรืออาจเตรียมเองโดยใช้ไฮโปซึ่งใช้ผสมเป็นน้ำยาล้างรูป หนัก 12 กรัม ผสมกับน้ำกลั่นหรือน้ำสุกที่ใส่เต็มขวดยาขนาด 60 มิลลิลิตร ยานี้ผสมแล้วจะเสื่อมภายใน 2 สัปดาห์ ถ้าจะใช้อีกต้องเตรียมใหม่) ทาบางๆ วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็นหลังอาบน้ำ ถ้าดีขึ้นควรทาติดต่อกันทุกวันเป็นเวลา 3-4 สัปดาห์

ทาด้วยครีมที่เขาตัวยาไมโคนาโซล (Miconazole) เช่น แดกทาริน(Daktarin), ฟังคอร์ต(Funcort), ฟังกา(Funga), ลิโคนาร์(Liconar) เป็นต้น วันละ 2-3 ครั้ง นาน 3-4 สัปดาห์

ใช้แชมพูที่เข้าตัวยาคีโตโคนาโซล(Ketoconazole) เช่น แชมพูเคนาลิน(Kenalyn), แชมพูเคตาซอล(Ketazol), แชมพูไนโซรัล(Nizoral) เป็นต้น ทาบริเวณที่เป็นเกลื้อน ทิ้งไว้ 5 นาทีแล้วล้างออก ทาวันละครั้ง เวลาที่สะดวกคือก่อนอาบน้ำ ทำติดต่อกันนาน 5 วัน

3. ระวังอย่าซื้อยาทาแก้แพ้ผื่นคันที่เข้ายาสตีรอยด์(เช่น ครีมเพร็ดนิโซโลน ครีมเดกซาเมทาโซน)มาใช้เอง อาจทำให้โรคลุกลามได้

 

ข้อมูลสื่อ

186-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 186
ตุลาคม 2537
แนะยา-แจงโรค
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ