• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เครื่องมือ “กันที่” (กันฟันล้ม)

เครื่องมือ “กันที่” (กันฟันล้ม)
 

ฉบับนี้เรามาทำความรู้จักเครื่องมือชนิดหนึ่งที่จะต้องใส่ไว้ในปาก ซึ่งคุณพ่อคุณแม่หลายท่านก็คงจะเคยกันมาบ้างแล้ว โดยที่อาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจนักว่า ทำไมลูกของตัวจึงต้องใส่เจ้าเครื่องมือนี้ด้วย
เครื่องมือนี้เรียกกันว่าเป็นเครื่องมือ “กันที่” ซึ่งก็เรียกตามหน้าที่การงานของมันนั่นเอง เพราะเจ้าเครื่องมือที่ว่านี้ ทำหน้าที่ในการรักษาระยะห่างระหว่างฟันเอาไว้ไม่ให้ลดลงหรือหายไป โดยที่มันจะประกอบไปด้วยส่วนที่ไปสวมฟันที่อยู่หลังช่องว่างเพื่อใช้เป็นหลัก และส่วนที่ยื่นออกมาสัมผัสหรือแตะกับฟันที่อยู่ข้างหน้าช่องว่างนั้น เพื่อเป็นตัวค้ำยันไม่ให้ฟันข้างหลังขยับมาในช่องว่าง ดังนั้นเราจึงเรียกว่าเป็นเครื่องมือ “กันที่” (หรือกันท่าก็น่าจะได้) บางทีก็เรียกเป็นเครื่องมือกันฟันล้ม

ทำไมจึงต้องกันที่กันด้วย และควรจะทำเมื่อไหร่ คำถามต่อมาที่มักจะถามกันอยู่เสมอๆ เมื่อได้รับฟังในเรื่องนี้ คำตอบนั้นค่อนข้างจะยาวต้องทำความเข้าใจไปทีละขั้นก็จะเข้าใจได้อย่างทะลุปรุโปร่ง
โดยปกติฟันน้ำนมจะเริ่มขึ้นในช่องปากเมื่ออายุประมาณ 6 เดือน ไปจนเด็กอายุได้สอบขวบครึ่งถึงสามขวบ ฟันน้ำนมจะขึ้นครบมีทั้งหมด 20 ซี่ จากช่วงเวลานั้นเด็กจะใช้ฟันน้ำนมในการบดเคี้ยวอาหาร จนอายุได้ 6-7 ปี เด็กจะเริ่มมีฟันแท้ขึ้นในปากเป็นฟันกรามแท้ซี่แรกอยู่ข้างหลังฟันกรามน้ำนมอีกที ต่อมาฟันหน้าก็จะเริ่มขึ้นโดยฟันน้ำนมจะหลุดไปเพื่อให้ฟันแท้ขึ้นมาแทนที่ ฟันแท้จะทยอยกันขึ้นมาแทนที่ฟันน้ำนมไปจนเด็กอายุได้ 12 ปี ก็จะแทนที่ได้ครบ
ถ้าหากว่าการแทนที่ของฟันแท้เป็นไปอย่างปกติก็จะทำให้ฟันแท้ที่ขึ้นตามหลังมาเรียงตัวกันได้ดี แต่ที่เป็นปัญหาก็คือเด็กๆมักมีการสูญเสียฟันไปก่อนวัยอันควร โดยเฉพาะฟันกรามน้ำนมที่ควรจะหลุดเมื่ออายุ 11-12 ปี แต่ก็อาจถูกถอนไปตั้งแต่มีอายุเพียง 7-8 ปีซึ่งทำให้มีช่องว่างเกิดขึ้น ฟันกรามแท้ที่ขึ้นมาแล้วหรือฟันกรามน้ำนมที่เหลืออยู่ก็จะขยับหรือล้มมาข้างหน้าเพื่อปิดช่องว่างดังกล่าว ทำให้ฟันแท้(ฟันกรามน้อย)ที่จะขึ้นมาเมื่ออายุ 12  ปีตรงตำแหน่งนั้นไม่มีที่พอ จึงเกิดการซ้อนเกขึ้น

ข้อเสียของการที่ฟันขึ้นซ้อนเก คือ การที่ฟันซี่นั้นๆ จะไม่ได้ใช้งานอย่างเต็มที่ แต่ฟันบางซี่กลับต้องถูกใช้งานหนักเกินความจำเป็น และข้อสำคัญคือทำให้เก็บกักเศษอาหารทำความสะอาดยาก ทำให้เกิดฟันผุ รวมทั้งเป็นโรคเหงือกได้ง่าย ในบางรายก็กัดแก้มทำให้เป็นแผลบ่อยๆ หลายรายก็ทำให้ไม่สวยงาม ต้องมาจัดฟันในตอนที่อายุมากขึ้น ซึ่งใช้เวลามากขึ้น และเสียค่าใช้จ่ายมากไปด้วย
เมื่อพบว่ามีช่องว่างจากการถอนฟันไปก่อนวัยอันควร ในเด็กที่อายุยังไม่ถึง 12 ปี หรือในเด็กที่ฟันกรามน้อยยังไม่ขึ้น ทันตแพทย์จะแนะนำให้ใส่เครื่องมือกันฟันล้ม หรือเครื่องมือกันที่นี้ การใส่ก็ไม่ยุ่งยาก และ(มักจะ)ไม่เจ็บ โดยในครั้งแรกทันตแพทย์จะลอง “แบนด์” ซึ่งมีลักษณะเหมือนแหวนสวมไปที่ฟันที่จะใช้เป็นหลักเพื่อหาขนาดที่พอดีกับฟันซี่นั้นๆก่อน จากนั้นจึงพิมพ์ปากเพื่อจำลองแบบในปากออกมาใช้ในการทำเครื่องมืออีกที

ในการไปพบทันตแพทย์ครั้งต่อไปก็จะได้ใส่เครื่องมือซึ่งจะติดแน่นไว้ในปากไม่ต้องถอดมาล้าง การทำความสะอาดก็ใช้การแปรงฟันตามปกติ ตอนใส่เครื่องมือใหม่ๆ เด็กอาจรู้สึกรำคาญบ้างในเวลากินอาหาร แต่เด็กก็จะปรับตัวได้
ทันตแพทย์จะนัดพบเป็นระยะๆ เช่น ทุก 3-6 เดือน เพื่อตรวจดูว่าเครื่องมือยังใช้งานได้ดีอยู่หรือไม่ มีการขยับจากที่หรือไม่ ถ้าก่อนหน้าวันนัดหมาย รู้สึกว่าเครื่องมือขยับหรือหลุดให้ไปพบทันตแพทย์ทันที

โดยปกติทันตแพทย์จะให้ใส่เครื่องมือไปจนกว่าฟันกรามน้อยแท้ขึ้นมาในช่องปาก ทีนี้คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายก็คงจะเข้าใจมากขึ้นและสบายใจขึ้นเมื่อยามที่ทันตแพทย์แนะนำให้ลูกใส่เครื่องมือกันที่

ข้อมูลสื่อ

192-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 192
เมษายน 2537
หมอปุ้ย