• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อันตรายจากการออกกำลังกายเกินขนาด

อันตรายจากการออกกำลังกายเกินขนาด


การออกกำลังกายเป็นวิธีการส่งเสริมสุขภาพที่ดีและป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้ แต่การออกกำลังกายที่เกินขนาดหรือวิธีการออกกำลังกายที่ไม่เหมาะสมกับอายุ เพศ เวลา สถานที่ อุปกรณ์การออกกำลังกาย และสภาพของร่างกาย กลับบั่นทอนสุขภาพของร่างกาย และเกิดอันตรายขั้นร้ายแรงจนถึงกับเสียชีวิตได้ ซึ่งมักพบได้เสมอๆ และมีแนวโน้มจะสูงขึ้น เมื่อจำนวนผู้ออกกำลังกายมีมากขึ้น

ชาวออสเตรเลียถือได้ว่าเป็นชนชาติที่นิยมการออกกำลังกายมาก และเล่นกีฬาเกือบทุกประเภท และบ่อยมากจนเกิดอาการบาดเจ็บทางกีฬาเป็นประจำ

เมื่อไม่นานมานี้กลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออสเตรเลียตะวันตกยังค้นพบว่า การออกกำลังกายมากเกินไปจะทำให้ระดับสารเคมีที่ชื่อว่า “กลูทามิน” ลดลง สารกลูทามินมีบทบาทต่อการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย การขาดสารกลูทามินจึงทำให้ร่างกายอ่อนแอเป็นโรคได้ง่ายขึ้น นั่นย่อมหมายความว่า การออกกำลังกายที่มากเกินไปทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อการติดเชื้อ บั่นทอนสุขภาพแทนที่จะทำให้สุขภาพดีขึ้น
ยังมีรายงานจากสหรัฐอเมริกาว่า การที่สตรีออกกำลังกายโดยยกน้ำหนักเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้ใหญ่กว่าปกติ หรือที่เรียกว่า “เล่นกล้าม” นั้น ทำให้มีหนวดขึ้นและเกิดขนขึ้นตามบริเวณหน้าอก ทั้งนี้เนื่องจากมีการสร้างฮอร์โมนเพศชายในสตรีเหล่านี้มากเกินไป จนทำให้เสียลักษณะของความเป็นสตรีไปโดยสิ้นเชิง เพราะประจำเดือนมักจะมาไม่ตรงเวลาหรือหายไป ขนาดของเต้านมเล็กลง และไขมันใต้ผิวหนังสูญหายไป ทำให้มองเห็นกล้ามเนื้อเป็นมัดๆเยี่ยงบุรุษเพศ แน่นอนในยุคแห่งความเสมอภาคทางสิทธิของสตรี คงไม่มีใครห้ามสตรีเล่นกล้ามได้ แต่ควรตระหนักถึงผลเสียที่ตามมาถ้ายกน้ำหนักมากเกินไป

ในประเทศไทยการที่นักวิ่งมาราธอนเสียชีวิตลงจากอาการทางหัวใจ หรือหน้ามืดตกลงไปในทะเลที่เมืองศรีราชา เนื่องจากสูญเสียเหงื่อมากภายใต้แสงแดดที่เจิดจ้า คงอ่านพบได้จากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ แต่ที่ไม่ค่อยได้รับรู้จากสื่อมวลชนคือกระดูกหน้าแข้งแตกร้าวจากแรงกระแทกขณะวิ่ง ข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น ข้อเท้าแพลง เป็นต้น

ผู้ที่ออกกำลังกายจึงควรตระหนักในปัจจัยต่างๆดังนี้
1. อายุ
บางท่านที่ไม่เคยออกกำลังกายเป็นเวลานาน แต่เกิดอยากมีสุขภาพดีขึ้น จึงคึกคะนองจับไม้ตีเทนนิสแข่งขันกับรุ่นลูกรุ่นหลานอายุต่างกันหลายสิบปี ลองนึกภาพดูว่าร่างกายจะระบมขนาดไหนหลังการแข่งขันถ้ายังไม่เกิดการหกล้ม กล้ามเนื้อฉีก ข้อแพลงขึ้นมา
หลายท่านเริ่มตีกอล์ฟในวัย 50-60 อยากเป็นโปรกอล์ฟตั้งแต่เช้ายันค่ำทุกๆวัน ถึงแม้ใจอาจสู้ไหว แต่สังขารทนไม่ได้เกิดอาการช้ำชอกของกล้ามเนื้อแขนและปวดสะบัก รวมทั้งเกิดอาการเคล็ดของข้อมือและนิ้วมือ อายุช่วงใดควรเล่นกีฬาใด ออกกำลังกายขนาดใด จึงเป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจก่อนออกกำลังกายเสมอ
ในวัยกลางคน ถ้าไม่เคยวิ่งอย่างสม่ำเสมอมาก่อน ไม่ควรเริ่มวิ่งทันที เพราะกล้ามเนื้อปรับตัวไม่ทัน ทำให้เกิดแรงกระแทกต่อข้อต่อมาก ทำให้ข้อต่อของขาเสื่อมเร็วกว่าปกติ และข้อพลิกแพลงได้ง่าย ควรเริ่มจากการเดินโดยก้าวขาให้ยาว และเดินเร็วคล้ายการแข่งเดินในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก บางท่านอาจสลับการเดินกับการวิ่งได้

เมื่ออายุสูงขึ้น ไม่ควรเล่นกล้ามโดยยกตุ้มน้ำหนัก การยืดสปริงหรือเล่นยางที่มีแรงต้านขนาดต่างๆ ย่อมปลอดภัยกว่าการยกน้ำหนัก และควรฝึกแบบเพิ่มความคงทน โดยเพิ่มให้ได้ 100 ครั้งแทนที่จะทำได้เพียงครั้งเดียวหรือ 10 ครั้งแต่ใช้น้ำหนักมาก น้ำหนักที่ใช้ออกกำลังกายมากเกินไป หัวใจจะทำงานไม่ไหว

2. เพศ ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้นนี้แล้วว่า ถ้าจะรักษาความเป็นเพศของตนไว้ ควรต้องระมัดระวังวิธีการออกกำลังกายที่ไม่เกินขนาด จนทำให้ความเป็นเพศหญิงเปลี่ยนสภาพไป นักกีฬาหญิงจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นนักวิ่งเร็ว นักทุ่มน้ำหนัก นักยกน้ำหนัก ล้วนประสบปัญหาเรื่องฮอร์โมนเพศผิดปกติ ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ และมีหนวดมีขนงอกออกมามากเกินความจำเป็น

3. เวลาที่ออกกำลังกาย ควรจะเป็นตอนเช้าหรือตอนเย็นและควรตระหนักว่า ในช่วงที่แสงแดดเจิดจ้าเกินไป นอกจากมีความร้อนจัด ทำให้สูญเสียเหงื่อซึ่งขับน้ำและเกลือแร่ออกจากร่างกายมากเกินไปแล้ว ในแสงแดดยังมีรังสีอัลตราไวโอเลตซึ่งเป็นอันตรายต่อสายตาและผิวหนัง และเป็นตัวก่อมะเร็งของผิวหนัง นอกจากนี้ยังมีสารกัมมันตภาพรังสีซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเซลล์ของร่างกาย ทำให้เกิดมะเร็งและโรคภูมิแพ้ได้หลายชนิด

4. สถานที่ ควรออกกำลังกายในสภาพแวดล้อมที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก และไม่มีมลภาวะ การออกกำลังกายในห้องปรับอากาศอันเย็นฉ่ำถึงแม้จะสะดวกสบาย แต่อากาศอาจถ่ายเทไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้เป็นหวัดได้ง่าย และการที่เหงื่อไม่ออกเวลาออกกำลังกาย อาจทำให้ร่างกายอ่อนเพลียและสะสมความร้อนไว้มากเกินไป

อย่างไรก็ดี ถ้าวิ่งตามถนนที่มีแต่ควันรถยนต์และฝุ่นละออง ย่อมทำให้ระบบทางเดินหายใจย่ำแย่และเหนื่อยง่าย เนื่องจากไม่ได้รับอากาศบริสุทธิ์ การวิ่งบนเส้นทางที่ขรุขระมากทำให้ข้อต่อเสื่อมเร็วขึ้น และการวิ่งหรือออกกำลังในสภาพที่มีเสียงก่อสร้างอึกทึก เสียงเครื่องบินไอพ่นขึ้นลงสนามบิน เสียงเครื่องจักรหนักทำงาน หรือเสียงดนตรีดังกระหึ่มอยู่ตลอดเวลา ย่อมทำให้ประสาทหูพิการ ระบบทรงตัวในหูถูกกระทบกระเทือน ทำให้วิงเวียนศีรษะ และอารมณ์ฉุนเฉียวได้ง่าย แทนที่จะสบายอกสบายใจหลังออกกำลังกาย

5. อุปกรณ์การออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า รองเท้า อุปกรณ์ในการเล่นกีฬาย่อมต้องเหมาะสมกับผู้เล่นและกีฬาประเภทนั้น การใส่รองเท้าหนังเตะฟุตบอล เสียเงินราคาแพงซื้อไม้ตีเทนนิสที่หนักเหมาะสำหรับชาวต่างประเทศ หรือการเลือกใช้ไม้กอล์ฟที่ไม่เหมาะสม ล้วนทำให้บั่นทอนสุขภาพของผู้เล่นได้
การซื้อรองเท้าราคาแพงหลายพันบาทที่ใหญ่เทอะทะจนไม่เหมาะกับเท้าของตนเอง ใส่เสื้อผ้ากีฬาแพงจนไม่กล้าทำให้เปรอะเปื้อน ก็ทำให้เกิดอันตรายได้ เพราะผิดวัตถุประสงค์ของการออกกำลังกาย การใส่เสื้อผ้าสำหรับการเล่นกีฬาแต่ละประเภทเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ขับเหงื่อไคล และสัมผัสกับพื้นดินหรือสิ่งสกปรกได้เวลาหกล้มหรือนั่งบนพื้น คงไม่ใช่เพื่อการถ่ายรูปสำหรับทำโฆษณา หรือให้ผู้อื่นสนใจเท่านั้น

6. สภาพร่างกายขณะเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ไม่ควรออกกำลังกายเมื่อยังอยู่ในภาวะมีไข้ ถ้าฟื้นจากไข้ใหม่ๆควรเริ่มออกกำลังกายอย่างอ่อนและนุ่มนวล ถ้าเป็นเบาหวาน ความดันสูง โรคหัวใจ หอบหืด หรือหายใจไม่สะดวก ควรจับชีพจรก่อนระหว่างและหลังการออกกำลังกายเพื่อไม่ให้ตนเองเหนื่อยเกินไป โดยไม่ให้ชีพจรเต้นเกินร้อยละ 70 ของชีพจรสูงสุด (เอา 220 ลบด้วยอายุคูณด้วย 0.7)

การออกกำลังกายที่บั่นทอนต่อสุขภาพจึงไม่ใช่การออกกำลังกายที่เหมาะสม ยังมีความเข้าใจผิดว่าการออกกำลังกายต้องเจ็บปวดทรมาน จึงเป็นวิธีการออกกำลังที่ดี และควรบังคับให้ตนเองทำต่อไปจนไม่รู้สึกเจ็บปวดอีก ถ้าเช่นนั้นท่านอาจถึงวาระสุดท้ายที่ไม่สามารถรับความรู้สึกทุกชนิดได้

ข้อมูลสื่อ

191-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 191
มีนาคม 2538
ดุลชีวิต
รศ.ประโยชน์ บุญสินสุข