• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคอัมพาต (ครึ่งซีก)

โรคอัมพาต (ครึ่งซีก)


ข้อน่ารู้

1. โรคอัมพาต หมายถึง อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนขาอันเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของแขนขาส่วนนั้น
ที่พบบ่อยก็คือ อาการอ่อนแรงของแขนขาซีกใดซีกหนึ่ง อันเกิดจากความผิดปกติของสมอง เรียกว่า อัมพาตครึ่งซีก(hemiplegia)
นอกจากนี้ยังอาจพบอาการอัมพาตในลักษณะอื่น เช่น ขาทั้งสองข้างอ่อนแรง อันเกิดจากความผิดปกติ(เช่น บาดเจ็บ ติดเชื้อ)ของไขสันหลังส่วนล่าง เรียกว่า อัมพาตครึ่งล่าง(paraplegia) หรือแขนขาทั้ง 4 ข้างอ่อนแรง เนื่องจากไขสันหลังส่วนบนได้รับการกระทบกระเทือน(เช่น ประสบอุบัติเหตุกระดูกต้นคอหักกดไขสันหลัง) เรียกว่า อัมพาตทั้งตัว(quadriplegia) เป็นต้น
เนื่องจากโรคอัมพาตครึ่งซีกเป็นภาวะที่พบได้บ่อยกว่าอัมพาตในลักษณะอื่นๆ โดยเฉพาะในวัยกลางคนและผู้สูงอายุ ดังนั้น เมื่อพูดถึงโรคอัมพาตเราจึงมักจะหมายถึงโรคอัมพาตครึ่งซีกนั่นเอง


2. โรคอัมพาต(ครึ่งซีก) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในบ้านเราขณะนี้ มักพบในวัยกลางคนขึ้นไปเป็นส่วนใหญ่ และเป็นได้ทั้งชายและหญิง อาการมักเกิดขึ้นฉับพลันทันที จนเรียกกันว่า “ลมอัมพาต”
โรคนี้เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดแดงในสมอง กล่าวคือ อาจมีการแตกหรือตีบตันของหลอดเลือดนี้ ทำให้เนื้อสมอง(ส่วนที่หลอดเลือดนั้นไปเลี้ยง)เกิดความผิดปกติ และหยุดสั่งงาน จึงเป็นเหตุให้แขนขาที่สมองส่วนนั้นบังคับบัญชาอยู่เป็นอัมพาต เปรียบเหมือนกับสวิตช์ไฟเสีย ทำให้ดวงที่สวิตช์ควบคุมอยู่นั้นไม่ติด
ที่น่าสนใจก็คือ สมองคนเรานั้นจะสั่งงานไปยังแขนขาซีกตรงข้าม กล่าวคือ สมองซีกซ้ายจะสั่งงานแขนขาซีกขวา สมองซีกขวาจะสั่งงานแขนขาซีกซ้าย
โรคอัมพาต(ครึ่งซีก)มักจะเกิดจากความผิดปกติของสมองเพียงซีกใดซีกหนึ่ง ซึ่งจะทำให้แขนขาซีกตรงข้ามเป็นอัมพาต เช่น ถ้าเป็นอัมพาตซีกขวา ก็แสดงว่ามีความผิดปกติในสมองซีกซ้าย เป็นต้น

3. สาเหตุที่ทำให้หลอดเลือดแดงในสมองเกิดการตีบตันหรือแตกนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะเสื่อมของหลอดเลือดแดง ทำให้ผนังหลอดเลือดแข็งตัว ตีบตัน และเปราะ ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเป็นธรรมชาติในผู้สูงอายุ(อายุ 70-80 ปีขึ้นไป)
แต่ภาวะเสื่อมของหลอดเลือดแดงจะเกิดขึ้นเร็วกว่าวัยอันควร ถ้าคนๆนั้นป่วยเป็นโรคเบาหวาน ความดันเลือดสูง สูบบุหรี่จัด หรือเป็นโรคอ้วนมาตั้งแต่เล็ก ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้หลอดเลือดแดงค่อยๆเสื่อมทีละน้อย จนถึงวัยกลางคนก็จะเริ่มก่อโทษต่อสมอง

4. โรคนี้มีทางป้องกันได้ โดย
ก. อย่าสูบบุหรี่ ลดอาหารมัน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งไขมันสัตว์ กะทิ) และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อป้องกันมิให้หลอดเลือดแดงเสื่อมเร็ว
ข. บริโภคอาหารให้ถูกหลัก ควรกินผักและผลไม้สดให้มากๆ และควบคุมมิให้น้ำหนักเกิน(อ้วน) โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ในวัยเด็ก
ค. หมั่นตรวจเช็กความดันเลือดเป็นประจำ หากมีญาติเป็นเบาหวานหรือโรคอัมพาต ควรตรวจเช็กร่างกายเป็นประจำ
ง. ถ้าเป็นโรคความดันเลือดสูง หรือเบาหวาน ควรติดตามรักษากับแพทย์อย่าได้ขาด ถ้าหากสามารถควบคุมระดับความดันและน้ำตาลในเลือดให้กลับสู่ระดับปกติได้ ก็จะลดโอกาสของการเกิดโรคอัมพาตแทรกซ้อนได้

5. โรคนี้มีความรุนแรงแตกต่างกันไปในแต่ละคน ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุและความแข็งแรงของคนไข้เป็นสำคัญ ถ้าเป็นรุนแรงมากอาจถึงแก่ชีวิตในเวลาอันสั้น หรือไม่ก็อาจเป็นอัมพาตแบบร้ายแรงจนกลายเป็นคนพิการ ช่วยตัวเองไม่ได้

อย่างไรก็ตาม คนไข้ส่วนใหญ่มักจะใช้เวลานานเป็นแรมปีในการค่อยๆฟื้นตัวจนสามารถเดินได้ และช่วยตัวเองได้ อาจยังมีอาการอัมพาตหลงเหลือเพียงเล็กน้อย แต่ความคิดและความจำจะเป็นปกติ
บางคนที่มีอาการไม่รุนแรงมากก็อาจสามารถฟื้นตัวเป็นปกติได้

รู้ได้อย่างไรว่าไม่ได้เป็นอื่น

โรคอัมพาต(ครึ่งซีก)จะมีอาการอ่อนแรงของแขนขาซีกหนึ่งเกิดขึ้นฉับพลันทันที บางคนอาจสังเกตว่าจู่ๆล้มลง หรือก้าวขาไม่ได้ ขยับแขนไม่ได้ อาจมีอาการชาตามแขนขา ตามัว ตาเห็นภาพซ้อน พูดไม่ได้หรือพูดอ้อแอ้ ปากเบี้ยวหรือกลืนไม่ได้ร่วมด้วย
บางคนอาจมีอาการปวดศีรษะ วิงเวียน หรือมีความรู้สึกสับสนก่อนที่เกิดอาการอัมพาต
ในรายที่เป็นรุนแรง อาจมีอาการเป็นลม หมดสติ ซึ่งมักจะเกิดจากหลอดเลือดในสมองแตก และมีเลือดคั่งในสมอง คนไข้ในกลุ่มนี้นอกจากเกิดจากภาวะหลอดเลือดแดงเสื่อมดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังอาจเกิดจากความผิดปกติโดยกำเนิดของหลอดเลือดในสมอง ทำให้เกิดการแตกของหลอดเลือด เมื่อย่างเข้าสู่วัยหนุ่มสาวหรือวัยกลางคน


อย่างไรก็ตาม คนที่เป็นอัมพาตที่เกิดขึ้นฉับพลันทันที ยังอาจมีสาเหตุอื่น เช่น

1. อัมพฤกษ์ จะมีอาการอัมพาตของแขนขาซีกหนึ่ง แต่จะเป็นเพียงชั่วขณะ และหายได้เองภายในเวลาสั้นๆ ส่วนมากจะเป็นอยู่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง สาเหตุเกิดจากหลอดเลือดในสมองตีบตันชั่วขณะ เซลล์สมองที่ได้รับการกระทบกระเทือนสามารถฟื้นตัวได้ อาการอัมพฤกษ์นี้อาจเป็นสัญญาณเตือนภัยก่อนที่จะเกิดอัมพาต 6-12 เดือน ควรได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์อย่างจริงจัง เพื่อป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคอัมพาตตามมาในภายหลัง

2. โรคปากเบี้ยว มีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้าเพียงซีกเดียว ทำให้ปากเบี้ยว และปิดตาไม่สนิทข้างหนึ่ง โดยที่แขนขาเป็นปกติดี โรคนี้เกิดจากเส้นประสาทสมองเส้นที่ 7 เกิดการอักเสบชั่วคราว ส่วนมากมักจะหายได้เองภายใน 2-8 สัปดาห์

3. การบาดเจ็บต่อไขสันหลัง ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ เช่น รถชน ตกจากที่สูง ถูกยิง ถ้าหากกระดูกสันหลังแตกหักและเกิดการบาดเจ็บต่อไขสันหลัง ก็อาจทำให้เป็นอัมพาตครึ่งล่าง(ขาทั้ง 2 ข้าง) หรืออัมพาตทั้งตัว(ขนขาทั้ง 4 ข้าง) ก็ได้ ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลโดยด่วน


เมื่อไรควรไปพบแพทย์
ผู้ที่มีอาการอัมพาตเกิดขึ้นฉับพลันทันที ควรไปรักษาที่โรงพยาบาลโดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่มีอาการเป็นลม หมดสติ กินไม่ได้ หรือมีอาการน่าวิตก ควรจะไปพบแพทย์ทันที

แพทย์จะทำอะไรให้
แพทย์จะตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ และตรวจพิเศษอื่นๆ (เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ในรายที่สงสัยมีเลือดคั่งในสมอง) เพื่อค้นหาสาเหตุแล้วให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ
ในรายที่มีเลือดคั่งในสมองอาจต้องทำการผ่าตัดสมอง
ส่วนในรายที่เกิดจากหลอดเลือดในสมองตีบตัน ก็มักจะให้การรักษาตามอาการ
แพทย์จะรับคนไข้ไว้รักษาตัวในโรงพยาบาลสักระยะหนึ่ง เพื่อดูแลพยาบาลจนกว่าจะพ้นขีดอันตรายและอาการอยู่ตัวแล้วให้กลับไปพักฟื้นที่บ้าน กว่าจะเห็นว่าอาการดีขึ้นอาจต้องใช้เวลาหลายเดือน
การรักษาที่จำเป็นนอกจากยาที่ใช้ควบคุมโรคที่พบร่วมแล้ว ก็ยังต้องอาศัยการทำกายภาพบำบัด การฝึกพูด(ในรายที่มีอาการอัมพาตซีกขวา อาจมีปัญหาการพูดได้)
ในรายที่เป็นรุนแรงไม่มาก ก็อาจค่อยๆฟื้นตัว จนสามารถช่วยตัวเองได้ อาจใช้เวลานานเป็นแรมปี

โดยสรุป โรคอัมพาต(ครึ่งซีก)เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยการปฏิบัติตัวมิให้หลอดเลือดในสมองเสื่อมเร็วกว่าวัยอันควร โรคนี้เมื่อเป็นแล้วจะฟื้นตัวได้มากน้อยเพียงใดขึ้นกับธรรมชาติของโรคและคนไข้เป็นสำคัญ และต้องตระหนักว่าคนไข้จะมีเพียงความผิดปกติทางกายเท่านั้น ส่วนทางด้านสติปัญญามักจะเป็นปกติ จึงต้องคอยให้กำลังใจและเสริมสร้างคุณค่าของคนไข้อยู่เสมอ

                                                       การดูแลรักษาตนเอง

ถ้าหากจู่ๆ เกิดอาการอัมพาตของแขนขาขึ้นมาฉับพลันทันทีก็ควรพาไปรักษาที่โรงพยาบาลทันที
เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคอัมพาต(ครึ่งซีก) และได้รับการรักษาให้พ้นขีดอันตราย จนสามารถกลับมาพักฟื้นที่บ้านได้ ควรปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้

1. ใช้ยาตามแพทย์สั่งและไปตรวจรักษากับแพทย์ตามนัด

2. ในรายที่ยังช่วยตัวเองไม่ได้ ญาติควรเรียนรู้วิธีดูแลพยาบาลคนไข้จากโรงพยาบาล เช่น
   การป้อนอาหารทางสายยาง
   การดูแลสายสวนปัสสาวะ
⇒   การป้องกันมิให้เกิดแผลกดทับ(bed sore)ที่ก้น หลังข้อต่างๆ
⇒   การบริหารข้อต่างๆ เพื่อป้องกันมิให้ข้อเกร็งแข็ง รวมทั้งวิธีทำกายภาพบำบัดต่างๆ

3. ในรายที่เดินได้และเริ่มช่วยตัวเองได้
⇒   ควรฝึกเดินและบริหารกล้ามเนื้อเป็นประจำ
⇒  ควบคุมอาหาร อย่าให้น้ำหนักเกิน
⇒   งดบุหรี่ เหล้า

4. คนไข้มักมีสติปัญญา เช่น ความจำ ความคิด เป็นปกติ ญาติควรแสดงความเห็นอกเห็นใจ ให้กำลังใจ พยายามส่งเสริมให้คนไข้ช่วยตัวเองในกิจวัตรประจำวัน และร่วมกิจกรรมที่ทำให้คนไข้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวหรือขาดคุณค่า

5. ต้องเข้าใจว่าโรคนี้ใช้เวลาในการฟื้นตัวนานเป็นแรมปี และการฟื้นตัวได้มากน้อยเพียงใดก็ขึ้นกับธรรมชาติของโรคและคนไข้เป็นสำคัญ ยาที่ใช้รักษาเป็นเพียงการควบคุมโรคที่ซ่อนเร้น(เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง) และป้องกันมิให้อาการอัมพาตกำเริบหรือทรุดหนัก ไม่มียาที่ใช้เร่งให้อาการอัมพาตฟื้นตัวเร็วขึ้น หรือช่วยให้หายขาด ดังนั้นจึงต้องใจเย็นๆ คอยติดตามรักษาและขอคำปรึกษากับแพทย์ประจำ ส่วนการบำบัดแบบพื้นบ้าน เช่น ยาหม้อ การนวด การฝังเข็ม หากจะกระทำร่วมด้วยควรปรึกษาแพทย์ที่รักษา และควรแน่ใจว่าทำถูกหลักวิชาและราคาไม่แพง

 


 

ข้อมูลสื่อ

191-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 191
มีนาคม 2538
แนะยา-แจงโรค
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ