ใส่ฟันปลอมทั้งปากอย่างไรให้สบาย (ต่อ)
เห็นชื่อเรื่องบอกว่า “ต่อ” คุณผู้อ่านอาจจะว่าต่อจากฉบับที่แล้วตรงไหน ความจริงต่อมาจากฉบับที่ 188 ธันวาคม 2537 เนื่องจากคอลัมน์นี้ผมเขียนสลับกับคุณหมออีกท่านหนึ่ง จึงเป็นฉบับเว้นฉบับครับ
ครั้งก่อนผมได้พูดถึงปฏิกิริยาของช่องปากต่อฟันปลอมชุดใหม่ค้างอยู่ ได้แก่
1. ความรู้สึกคับปากคับลิ้น
2. น้ำลายออกมาก
3. พูดไม่ค่อยชัด
ฉบับนี้ก็มาต่อข้อ 4 กันเลยครับ
4. กัดแก้ม กัดลิ้น ขณะใช้งาน เมื่อใช้ฟันปลอมในระยะแรก อวัยวะต่างๆในช่องปากยังไม่เคยชินกับตำแหน่งใหม่ของตนเอง จึงไม่สามารถทำงานประสานกันได้ดีดังเช่นเมื่อครั้งยังมีฟันธรรมชาติอยู่ ผู้ป่วยต้องฝึกการเคี้ยวอาหารสัก 2-3 สัปดาห์ เช่น การวางลิ้นต้องให้ด้านบนของลิ้นกดตรงฐานฟันปลอมบนด้านท้าย ขณะใช้ฟันหน้ากัดอาหารก็จะช่วยไม่ให้ฟันปลอมด้านบนกระดกหลุดออกมาจากเพดานได้
หรือเมื่อขณะอยู่นิ่งไม่ได้เคี้ยวอะไร ลิ้นควรจะวางอยู่ในตำแหน่งที่ด้านบนของลิ้นอยู่ในระดับเสมอหรือกว่าระดับพื้นช่องของด้านบดเคี้ยวของฟันล่างเล็กน้อย ไม่ควรยกสูง มิฉะนั้นฟันปลอมล่างก็จะถูกปากยกหลุดขึ้นมา
ในระยะแรกที่หัดใช้ฟันปลอมควรเป็นการใช้ฟันหน้ากัดอาหาร ให้ใช้ฟันบริเวณมุมปากกัดแทน เพื่อไม่ให้ฟันปลอมกระดกเนื่องจากยังใช้ลิ้นไม่เก่ง
5. เมื่อเกิดอาการเจ็บเนื้อเยื่อรอบๆ หรือด้านใต้ฐานฟันปลอม ไม่ควรแก้ไขเองโดยการเอามีดขูดหรือใช้กระดาษทราย ตะไบ ขัดแต่งให้ฟันปลอมสั้นลง เพราะผู้ป่วยจะไม่อาจรู้แน่ชัดได้ว่าตำแหน่งใดที่เป็นปัญหา และต้องแก้ไขมากน้อยเพียงใด
โดยมากผู้ป่วยมักทำการแก้ไขมากเกินไป ทำให้ฟันปลอมหลวมจนหลุดได้ง่าย ขาดเสถียรภาพที่ดี ซึ่งจะยิ่งเป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อในช่องปากมากขึ้นอีก ที่ถูกต้องควรกลับไปให้ทันตแพทย์ทำการตรวจแก้ไขจะได้ผลดีกว่า ถึงแม้อาจจะต้องกลับไปหลายครั้งก็ตาม
เมื่อผู้ป่วยสามารถปรับตัวเข้ากับฟันปลอมได้ดีแล้ว ก็ควรรู้จักวิธีดูแลรักษาฟันปลอมให้สะอาดและทนทานใช้งานได้นานๆ ดังนี้
(1) ถอดฟันปลอมออกทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาดหลังอาหารทุกมื้อ และบ้วนปากให้สะอาดด้วย
(2) ทุกเช้าและก่อนนอนให้ใช้แปรงขนอ่อน แปรงเหงือกที่รองรับฟันปลอมเบาๆให้ทั่ว และใช้แปรงอีกด้ามแปรงฟันปลอมให้สะอาดทุกซอกทุกมุม แล้วแช่น้ำไว้ก่อนเข้านอน นั่นคือ เวลานอนไม่ใส่ฟันปลอมเลย เพื่อให้เหงือกได้พัก
(3) ใช้น้ำยาโซเดียมไฮโปคลอไรด์(น้ำยาแช่ผ้าขาว) เจือจาง 1:10 ในน้ำสะอาด(น้ำยา 1 ส่วนต่อน้ำ 10 ส่วน) แช่ฟันปลอมตอนกลางคืน สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง เพื่อขจัดหินปูนที่อาจเกาะบนฟันปลอม หรือจะใช้ยาเม็ดชนิดละลายน้ำได้ที่มีขายอยู่ตามร้านขายยาก็ได้
(4) สำหรับผู้สูงอายุที่ใช้มือไม่ถนัด อาจใช้แปรงไฟฟ้าช่วยทำความสะอาดก็ได้ โดยทำตอนเช้าและก่อนนอนเช่นกัน
(5) กลับไปรับการตรวจจากทันตแพทย์ทุก 6 เดือน หรือเมื่อมีปัญหา(ก่อนครบ 6 เดือน)
(6) ควรทำฟันปลอมสำรองไว้ 1 ชุด เผื่อกรณีที่สูญหายหรือชำรุด ซึ่งพบได้ค่อนข้างบ่อย แล้วสลับกันใช้ อย่าเก็บเอาไว้เฉยๆโดยไม่หยิบใช้เลย เพื่อจะได้เคยชินกับฟันทั้ง 2 ชุดอยู่เสมอ
(7) หมั่นดูแลสุขภาพทั่วไปให้แข็งแรง เพราะหากร่างกายทรุดโทรม เนื้อเยื่อในช่องปากรวมทั้งกระดูกขากรรไกรก็จะเสื่อมเร็ว ทำให้ฟันปลอมที่เคยใช้ได้สบาย เกิดปัญหาหลวมและเจ็บได้
ทั้งหมดนี้คือข้อแนะนำกว้างๆสำหรับผู้ที่กำลังจะมีฟันปลอม หรือผู้ที่กำลังใช้ฟันปลอมทั้งปากอยู่ คงจะช่วยให้คุณฝึกใช้ฟันปลอมได้ดีขึ้นนะครับ
- อ่าน 14,801 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้