• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคกระดูกพรุนในวัยหมดประจำเดือน

โรคกระดูกพรุนในวัยหมดประจำเดือน
 

โรคกระดูกพรุนนี้ภาษาอังกฤษการแพทย์เรียกว่า esteoporosis เป็นสภาพที่กระดูกพรุนไป ไม่แข็งแรงเหมือนเดิม อาจทำให้มีการปวดกระดูกและกระดูกหักง่าย ในผู้หญิงที่อายุมากจะเป็นโรคกระดูกพรุนมากขึ้น ดังที่เราได้ยินว่า “ผู้หญิงอาวุโส” ท่านนั้นท่านนี้กระดูกหักบ้าง หรือเตี้ยลงไปบ้าง

ขณะนี้ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กำลังมีแพทย์ที่ใช้เครื่องตรวจความทึบของกระดูกทำการศึกษาวิจัยสภาพกระดูกของคนไทยอยู่ สิ่งที่พูดกันมากในวงการแพทย์ก็คือ การใช้ฮอร์โมนเพศหญิงในวัยหมดประจำเดือนช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน แต่การใช้ฮอร์โมนเพศหญิงในกรณีดังกล่าวก็อาจเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นได้ จึงยังมีการตั้งคำถามกันอยู่ว่าหญิงหมดประจำเดือนทุกคนควรได้รับฮอร์โมนเพศหญิงเป็นการป้องกันโรคนี้โดยอัตโนมัติหรือไม่

ผมขอตั้งข้อสังเกตเป็นส่วนตัวว่าผมอยู่บ้านนอก เห็นคนแก่ผู้หญิงตามท้องไร่ท้องนาเยอะแยะ ไม่เห็นแข้งขาหัก คงจะเป็นเพราะการออกกำลังช่วยให้กระดูกแข็งแรง ผมเชื่อว่าการออกกำลังจะช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน ฉะนั้นในการพิจารณาเรื่องกระดูกพรุนในหญิงหมดประจำเดือนอยากให้พิจารณาว่า การที่จะป้องกันนั้นมีกี่ทางเลือก และแต่ละทางเลือกนำไปสู่ผลดีผลเสียอะไรบ้าง

การทำอะไรพยายามอย่ามองทางเลือกเดียว ควรมองหลายๆทางเลือก แล้ววิเคราะห์ว่าทางเลือกใดมีผลดีผลเสียอย่างไร จะได้สามารถตัดสินใจทางเลือกที่ให้ประโยชน์สูงสุด และให้โทษต่ำสุด นี่คือหน้าที่ของปัญญา อันได้แก่ปัญญาที่จะมองทางเลือก วิเคราะห์ทางเลือก และตัดสินใจทางเลือกที่ถูกต้อง

ปัญญาควรเป็นวิถีชีวิต เพราะปัญญาทำให้สำเร็จประโยชน์
แสงสว่างเสมอปัญญา ไม่มี
นตฺถิ ปญฺญา สมาอาภา

ข้อมูลสื่อ

190-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 190
กุมภาพันธ์ 2538
ศ.นพ.ประเวศ วะสี