• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตัณหาหรือปัญญาทางสื่อ

ตัณหาหรือปัญญาทางสื่อ
 

หมอชาวบ้านฉบับนี้ได้นำเรื่องผลกระทบของสื่อที่มีต่อสังคมมาตีพิมพ์ ในสมัยโบราณมีสื่อความรู้น้อย มนุษย์ได้ข้อมูลข่าวสารจากพ่อแม่ จากครู จากเพื่อนบ้าน ใครฟังมากเขาเรียกว่าเป็นพหูสูต คือคนฉลาด การฟังถือว่าเป็นทางที่มาแห่งปัญญาทางหนึ่ง ที่เรียกว่าสุตมะยะปัญญา

ในสมัยปัจจุบันที่เรียกว่าสมัยแห่งข่าวสาร มีวิทยุเป็นร้อยๆสถานี ยังมีสถานีโทรทัศน์ สิ่งพิมพ์อีกมากมาย อาจเรียกว่าเป็นสมัยข่าวสารท่วม เป็นการไม่แน่เสียแล้วว่าคนที่ดูมากฟังมากจะเป็นคนที่มีปัญญา เพราะที่เรียกว่าข่าวสารนั้นไม่ได้เป็นเรื่องจริงไปทั้งหมด มีความเท็จปนมาในรูปต่างๆ จนคนปัจจุบันแยกความจริงกับความเท็จไม่ออก

ความจริงทำให้เกิดความถูกต้อง(สัมมา) ความเท็จทำให้เกิดความไม่ถูกต้อง(มิจฉา) ในเมื่อความเท็จท่วมท้นสังคม มิจฉาทิฐิและมิจฉาปฏิบัติย่อมเกิดขึ้นเต็มไปหมด เป็นโทษแก่ตัวเอง และเป็นโทษแก่ผู้อื่นอย่างแพร่หลาย
เรื่องสื่อในส่วนที่เป็นเครื่องไม้เครื่องมือที่เรียกว่า hardware จะเกิดขึ้นโดยรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นดาวเทียมหรือใยแก้ว สิ่งที่ขาดอย่างวิกฤติก็คือตัวปัญญา หรือ software ว่าจะใช้สื่อให้เป็นประโยชน์ในการพัฒนามนุษย์อย่างไร การเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีจะมีทั้งตัณหาในเทคโนโลยี และปัญญาในเทคโนโลยี

ตัณหาในเทคโนโลยี
หมายถึง การอยากเสพเทคโนโลยี และการใช้เทคโนโลยีเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง หรือพวกของตัวเอง โดยเอาเปรียบหรือทำร้ายสังคม โดยจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็แล้วแต่ ไม่มีปัญญาสร้างเทคโนโลยีใช้เอง เอาแต่ซื้อเขาลูกเดียว

ปัญญาในเทคโนโลยี หมายถึง การมีปัญญารู้เท่าทันเทคโนโลยี ว่าควรใช้ หรือไม่ควรใช้อย่างไร จึงจะเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม และมีปัญญาสร้างเทคโนโลยีขึ้นใช้เองได้

การใช้สื่อโดยขาดปัญญาเป็นการทำร้ายสังคมมากยิ่งกว่าโดยวิธีอื่นใด คนหนุ่มสาวที่หน้าตาดีแต่ขาดปัญญามาออกทีวีกันจ๋อยๆ ทำร้ายสังคมอย่างน่าสมเพศ เพราะถ้าขาดปัญญาแล้วย่อมสื่อโมหะ หรือความโง่เขลาออกไป เมื่อสังคมเข้าใจผิดหรือโง่เขลา(โมหะ)เสียแล้ว ย่อมเกิดโลภะและโทสะต่อไป การเสียสมดุลและความรุนแรงในรูปต่างๆ ย่อมเกิดตามมา
ถ้าตัณหาขึ้นหน้าปัญญาในเรื่องสื่อแล้วไซร้ก็เท่ากับเป็นการเร่งหายนะทางสังคม จำเป็นที่สังคมจะต้องรีบคิดให้ออกว่าจะเอาปัญญาขึ้นหน้าตัณหาในทางสื่อได้อย่างไร มีความจำเป็นจะต้องคิดถึงเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. ปฏิรูปการเรียนรู้ให้คนฉลาดเลือกรับสื่อเป็น ไม่ใช่ท่องหรือรับดะลูกเดียว
2. เจ้าของสื่อควรเป็นใคร สื่อจึงไม่สื่อเพื่อการค้ากำไรเป็นสำคัญ
3. มาตรฐานของสื่อ
4. สถาบันที่เป็นอิสระที่สามารถติดตามตรวจสอบคุณภาพของสื่อสาร และรายงานให้ประชาชนทราบ
 

 

ข้อมูลสื่อ

187-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 187
พฤศจิกายน 2537
ศ.นพ.ประเวศ วะสี