• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

พฤษภาทมิฬกับชาวพุทธไทย

พฤษภาทมิฬกับชาวพุทธไทย


ศีลของชาวพุทธข้อ1 คือ การไม่ฆ่าไม่ทำร้าย ประเทศไทยก็เป็นเมืองพุทธ มีวัดกว่า 30,000 วัดมีพระสงฆ์กว่า 250,000 รูป มีประชาชนกว่าร้อยละ 90 ที่ประกาศตัวว่าเป็นชาวพุทธ ทุกวันมีการให้ศีล 5 ทั่วประเทศวันละหลายหมื่นครั้ง แต่เหตุการณ์เมื่อ 17-20 พฤษภาคม 2535 ที่เรียกว่า พฤษภาสีดำ หรือพฤษภาทมิฬนั้นมีการฆ่าและการทำร้ายผู้ไม่มีอาวุธอย่างเหี้ยมโหดอำมหิต ที่สื่อมวลชนได้นำไปแสดงแก่สายตาชาวโลกทั้งโลก ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่ป่าเถื่อนไปทันที

ชาวพุทธควรจะทบทวนตัวเองว่าในสังคมไทยมีอะไรผิดไปอย่างฉกรรจ์หรือ จึงเกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้นได้ ถ้าไม่ทำความเข้าใจถึงสาเหตุอย่างจริงจัง และสาเหตุยังดำรงอยู่ก็จะเกิดเรื่องเลวร้ายขึ้นอีกและอาจเลวร้ายกว่าเดิม อย่าลืมว่าศรีลังกากับเลบานอนเดิมก็เป็นประเทศที่สงบ ศรีลังกานั้นมีพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง ประเทศต่างๆรวมทั้งไทย พม่า มอญ ไปรับพุทธศาสนามาจากศรีลังกา เบรุตเมืองหลวงของเลบานอนนั้นขึ้นชื่อว่าเป็น “เพชรของตะวันออกกลาง” มาบัดนี้ทั้งศรีลังกาและเลบานอนเป็นดินแดนที่มีการฆ่ากันอย่างโหดเหี้ยมถึงขั้นมิคสัญญีชนิดที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดได้อย่างไร

ประเทศที่เคยสงบกลับกลายเป็นดินแดนที่รุนแรงนองเลือดได้ เพราะมีเหตุปัจจัยให้เป็นเช่นนั้น และสังคมขาดปัญญาที่จะเห็นเหตุปัจจัยเหล่านั้น และทำการป้องกันให้ได้ผล

ปัญญาของสังคมหรือสมองของสังคมเป็นเรื่องสำคัญ

คนต้องมีสมองฉันใด สังคมก็ต้องมีสมองฉันนั้น คนที่ปัญญาอ่อนเอาตัวรอดยากฉันใด สังคมก็เป็นเช่นเดียวกัน ถ้าสังคมเอาแต่หลงระเริงแต่เรื่องอำนาจ (โทสะ) และแสวงหาผลประโยชน์ (โลภะ) แต่ไม่เอาใจใส่เรื่องปัญญาของสังคม ความวิบัติจะเป็นที่ไปอย่างแน่นอน

สรรพสิ่งทั้งหลายล้วนเป็นอนิจจัง คือเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา สังคมก็เป็นอนิจจัง สังคมครั้งพุทธกาลกับสังคมปัจจุบันต่างกันลิบลับ สังคมปัจจุบันมีความสลับซับซ้อนเชื่อมโยงและเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สังคมจะต้องเข้าใจสังคมปัจจุบันและอนาคตด้วย จึงจะสามารถดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยไม่เกิดความวิบัติ บุคคล กลุ่ม องค์กร สถาบันใดในสังคมที่ไม่เข้าใจสังคมปัจจุบันและอนาคต เป็นกลุ่มที่ล้าหลัง มีส่วนทำให้เกิดความรุนแรง กลุ่มที่ก้าวหน้า (คนละความหมายกับกลุ่มที่ทันสมัย) หมายถึงมีปัญญาและความดีที่สามารถช่วยกันให้สังคมดำเนินไปได้ด้วยความเจริญและสันติ ชาวพุทธไทยต้องระวังตัวอย่าให้ตกเป็นกลุ่มที่ล้าหลัง

ข้อมูลสื่อ

159-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 159
กรกฎาคม 2535
ศ.นพ.ประเวศ วะสี