โรคหัวใจขาดเลือด
ข้อน่ารู้
1. หัวใจของคนเราทำหน้าที่เหมือนเครื่องปั๊มน้ำ เพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย ตัวมันเองประกอบด้วยกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อที่ต้องการเลือดไปเลี้ยงเช่นเดียวกับอวัยวะส่วนอื่นๆ หลอดเลือดที่นำเลือดไปเลี้ยงหัวใจ ภาษาหมอเรียกว่า หลอดเลือดหัวใจ หรือ หลอดเลือดโคโรนารี (coronary artery) ซึ่งมีอยู่หลายแขนง แต่ละแขนงจะแยกกันไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจส่วนต่างๆ
2. ถ้าหากหลอดเลือดหัวใจแขนงใดแขนงหนึ่งมีการตีบตัน ก็ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจบางส่วนขาดเลือดไปเลี้ยง เกิดอาการเจ็บจุกหน้าอกและอ่อนเปลี้ยเพลียแรง เราเรียกว่า โรคหัวใจขาดเลือด (Ischemic heart disease เรียกชื่อย่อว่า IHD) บ้างก็เรียกว่า โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน หรืออุดกั้น บ้างก็เรียกว่า โรคหัวใจโคโรนารี (coronary heart disease เรียกชื่อย่อว่า CHD)
ในระยะเริ่มแรก หลอดเลือดหัวใจจะมีอาการตีบตันเพียงชั่วขณะ กล้ามเนื้อหัวใจจะขาดเลือดไปเลี้ยงชั่วคราวก็จะเกิดอาการเจ็บหน้าอกชั่วประเดี๋ยวประด๋าว ยังไม่เกิดอันตรายต่อชีวิต เราเรียกภาวะนี้ว่า โรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ หรือโรคหัวใจแองจินา (Angina pectoris) แต่ถ้าโรคเป็นถึงขั้นร้ายแรง หลอดเลือดหัวใจมีการอุดตันอย่างถาวร กล้ามเนื้อหัวใจในส่วนนั้นจะขาดเลือดไปเลี้ยงอย่างถาวร เซลล์ของกล้ามเนื้อหัวใจส่วนนี้ก็จะเฉาตาย ทำให้มีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง และเกิดภาวะหัวใจวายกะทันหัน อาจถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ เราเรียกภาวะนี้ว่า โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย (Myocardial infarction)
3. โรคนี้เกิดจากผนังหลอดเลือดหัวใจมีการแข็งตัว ทำให้หลอดเลือดหัวใจค่อยๆ ตีบแคบลง จนถึงขั้นอุดตันในที่สุด สาเหตุเกิดจากความเสื่อมของหลอดเลือด
ผู้สูงอายุทุกคนจะมีภาวะหลอดเลือดแข็งตัว อันเป็นความเสื่อมตามธรรมชาติ ไม่มากก็น้อย ถ้าเสื่อมมากก็กลายเป็นโรค เราจึงอาจพบว่า ผู้สูงอายุบางคนจู่ๆ ก็ตายด้วยโรคหัวใจวายกะทันหัน ทั้งๆ ที่ไม่เคยเจ็บป่วยอะไรมาก่อน
ส่วนผู้ที่อยู่ในวัยกลางคน (อายุ 40-50 ปี) ก็อาจเป็นโรคหัวใจขาดเลือดได้ ถ้ามีประวัติสูบบุหรี่จัดมานานปี (สารนิโคตินในบุหรี่ทำให้หลอดเลือดแข็งตัวก่อนวัยอันควร) หรือเป็นโรคความดันเลือดสูง แต่ขาดการรักษาหรือมีระดับไขมันในเลือดสูง (โดยที่คนไข้ไม่รู้ตัว จะทราบก็ต่อเมื่อมีการตรวจเลือด) หรือป่วยเป็นโรคเบาหวานหรือโรคเกาต์มานาน
คนที่อ้วน คนที่เครียดง่าย คนที่ขาดการออกกำลังกาย จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากกว่าคนปกติ นอกจากนี้กรรมพันธุ์ก็มีส่วน เคยพบอยู่บ่อยๆ ว่าในครอบครัวเดียวกัน จะมีคนที่เป็นโรคนี้หลายคน ดังนั้นถ้าครอบครัวใดมีพ่อแม่หรือพี่น้องป่วยเป็นโรคนี้ ก็ต้องหมั่นดูแลตัวเองเพื่อป้องกันมิให้ป่วยตามไปด้วย
4. โรคนี้เมื่อเป็นแล้วมักจะเป็นเรื้อรัง ต้องคอยติดต่อรักษากับแพทย์อย่าได้ขาด และที่สำคัญต้องดูแลตัวเองอย่างจริงจัง ในรายที่เป็นไม่มากถ้ารู้จักดูแลตัวเองได้ถูกต้อง ก็อาจจะหายหรือทุเลาได้
5. โรคนี้สามารถป้องกันได้ โดยการปฏิบัติตัว ดังนี้
5.1 อย่าสูบบุหรี่
5.2 รักษาน้ำหนักตัว อย่าให้อ้วน
5.3 ลดอาหารที่มีไขมันสัตว์ กะทิ น้ำมันมะพร้าว น้ำตาล ของหวาน กินผักผลไม้ให้มากๆ
5.4 ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
5.5 อย่าให้เกิดอารมณ์เครียด หมั่นฝึกวิธีผ่อนคลายความเครียด
5.6 ถ้ามีกรรมพันธุ์ของโรคนี้ในครอบครัว ควรตรวจเช็กร่างกายเป็นประจำ
5.7 ถ้าป่วยเป็นโรคความดันเลือดสูง เบาหวาน โรคเกาต์ หรือมีภาวะไขมันในเลือดสูง ต้องติดต่อรักษากับแพทย์อย่าได้ขาด หากควบคุมโรคเหล่านี้ได้ดีก็ป้องกันมิให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดแทรกซ้อนได้
รู้ได้อย่างไรว่าไม่ได้เป็นอื่น
คนที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดในระยะเริ่มแรก ดังที่เรียกว่า โรคหัวใจแองจินา จะมีอาการปวดเจ็บหน้าอก เป็นๆหายๆ เรื้อรัง
ลักษณะพิเศษ ก็คือ
1. พบมากในวัยกลางคน อายุต่ำกว่า 30 ปี มักจะไม่เป็นโรคนี้
2. ตำแหน่งที่ปวด จะอยู่ตรงกลางยอดอก หรือลิ้นปี่ จะเจ็บตรงหน้าอกซีกซ้ายอันเป็นตำแหน่งของหัวใจโดยตรง
3. ลักษณะ จะปวดแบบจุกๆ เหมือนถูกบีบเค้น หรือถูกของกดทับ (มิใช่ปวดแสบ ใช้นิ้วกดแรงจะไม่เจ็บมากขึ้น) และมีอาการปวดร้าวขึ้นไปที่คอ ขากรรไกร หัวไหล่ หรือต้นแขนข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้าง ขณะที่มีอาการเจ็บหน้าอกจะมีอาการอ่อนเปลี้ยเพลียแรงร่วมด้วย
4. ระยะเวลา จะปวดนานครั้งละ 2-3 นาที อย่างมากไม่เกิน 15 นาที เวลานั่งพักนอนพักสักครู่จะหายปวดได้เอง
5. สาเหตุกระตุ้น มักจะปวดหลังจากออกแรง (เช่น ยกของ เดินขึ้นที่สูง ทำงานหนัก ออกกำลังกายมากเกิน เบ่งถ่าย ร่วมเพศ) หรือมีอารมณ์โกรธ ตื่นเต้น ตกใจ เสียใจ อารมณ์เครียด หรือหลังกินข้าวอิ่ม หรือหลังอาบน้ำเย็น หรือถูกอากาศเย็น หรือขณะสูบบุหรี่ ดื่มกาแฟ หรือเป็นไข้สูง
ในรายที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย จะมีอาการเจ็บจุกยอดอกในลักษณะเดียวกัน แต่จะเจ็บรุนแรงและนานเป็นชั่วโมงๆ แม้นอนพักก็ไม่ทุเลา คนไข้จะรู้สึกเหนื่อยอ่อน หมดแรง ใจสั่น หน้ามืด วิงเวียน
ถ้าเป็นรุนแรง จะเป็นลม มือเท้าเย็น หอบเหนื่อย หมดสติ และอาจเป็นหัวใจวายตายอย่างกะทันหัน
อาการเจ็บตรงยอดอกหรือลิ้นปี่อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น
1. โรคกระเพาะ จะมีอาการจุกแน่นหรือปวดแสบตรงบริเวณลิ้นปี่ เวลาหิวหรือหลังกินอิ่ม มักเป็นๆหายๆเป็นประจำ ข้อแตกต่างจากโรคหัวใจขาดเลือด คือ ขณะที่มีอาการเจ็บยอดอก จะไม่มีอาการปวดร้าวขึ้นคอ ขากรรไกร หัวไหล่ หรือต้นแขน และจะไม่รู้สึกอ่อนเปลี้ยเพลียแรง ข้อสำคัญคือ หลังดื่มนมหรือกินยาลดกรด อาการจะทุเลาได้ทันที โรคนี้พบได้ในคนทุกวัย
2. โรคหน้าอกยอก คนที่มีกระดูกหรือกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอกยอก เช่น ถูกกระแทก หรือชกต่อย หรือประสบอุบัติเหตุ จะมีอาการปวดยอก เอานิ้วกดจะเจ็บมากขึ้น และจะเจ็บอยู่เรื่อยๆ มักเป็นอยู่นาน 1-2 สัปดาห์
3. โรคกังวลใจ คนไข้บางคนที่มีความวิตกกังวลคิดมาก อาจมีอาการเจ็บหน้าอกอยู่ตลอดเวลา จะเป็นมากเวลาอยู่ว่างๆ หรือขณะนั่งนอนอยู่เฉยๆ แต่ทำอะไรเพลินๆ หรือออกกำลังกายจะหายเจ็บ มักมีอาการนอนไม่หลับร่วมด้วย
4. ปอดอักเสบหรือหลอดลมอักเสบ คนไข้จะมีอาการเจ็บหน้าอกเวลาไอหรือหายใจลึกๆ บางครั้งมีไข้สูง หรือหอบเหนื่อยร่วมด้วย
เมื่อไรควรไปหาหมอ
ควรไปหาหมอทันที ถ้ามีอาการเจ็บหน้าอกร่วมกับอาการข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
1. มีอาการเป็นลม มือเท้าเย็น
2. หอบเหนื่อย
3. เจ็บหน้าอกรุนแรง
ส่วนคนที่มีอาการเจ็บจุกยอดอกโดยที่อาการไม่รุนแรง แต่ชวนให้สงสัยว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือด เช่น อยู่ในวัยกลางคน หรือเป็นโรคประจำตัวเรื้อรัง (เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง) อยู่ก่อน หรือมีลักษณะการปวดเข้าได้กับโรคนี้ หรือกินยาลดกรดแล้วไม่ทุเลา เป็นต้น ก็ควรจะปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
แพทย์จะทำอะไรให้
นอกจากซักถามลักษณะอาการและการตรวจร่างกายอย่างละเอียด (รวมทั้งการวัดความดัน การตรวจฟังหัวใจ) แล้ว แพทย์จะทำการตรวจเลือด (รวมทั้งดูระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด) ตรวจคลื่นหัวใจ และตรวจพิเศษอื่นๆ ถ้าพบว่า เป็นโรคหัวใจแองจินาแพทย์จะแนะนำข้อปฏิบัติตัวต่างๆ และจะจ่ายยาช่วยให้เลือดขยายตัว ซึ่งมีทั้งชนิดกินเป็นประจำ และชนิดอมใต้ลิ้น เช่น ไนโตรกรีเซอรีน (Nitroglycerine) ยาอมใต้ลิ้นนี้คนไข้จะต้องพกติดตัวอยู่ตลอดเวลา และใช้อมเมื่อมีอาการเจ็บหน้าอกกำเริบ ยานี้จะช่วยให้หายเจ็บหน้าอกได้ทันที ยานี้อาจมีผลข้างเคียง คือ อมแล้วมีอาการปวดศีรษะได้
นอกจากนี้ถ้าพบว่า มีโรคที่เป็นสาเหตุซ่อนเร้นอยู่ (เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง โรคเกาต์ ภาวะไขมันในเลือดสูง) แพทย์จะให้ยารักษาโรคเหล่านี้ควบคู่ไปด้วย
โดยสรุป โรคหัวใจขาดเลือดเป็นโรคที่เป็นเรื้อรังและอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตอย่างฉับพลันทันทีได้ เมื่อเป็นโรคนี้จะต้องกินยาและดูแลรักษาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการรู้จักกินอาหาร ออกกำลังกาย ไม่เสพบุหรี่ และผ่อนคลายความเครียด
การดูแลรักษาตนเอง
คนที่มีอาการเจ็บจุกยอดอกที่มีลักษณะชวนให้สงสัยว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือด ควรจะต้องปรึกษาแพทย์ทุกคน เพื่อตรวจให้แน่ใจ ถ้าเป็นโรคนี้จริง ควรปฏิบัติตัว ดังนี้
1. กินยาและติดต่อรักษากับแพทย์เป็นประจำ อย่าได้ขาด
2. งดสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด
3. ถ้าอ้วน ควรลดน้ำหนัก
4. ลดอาหารที่มีไขมันสัตว์ กะทิ น้ำมันมะพร้าว น้ำตาล ของหวาน กินผักผลไม้ให้มากๆ
5. ควรออกกำลังกายที่ไม่ใช้แรงหักโหม เช่น การเดินเร็ว วิ่งเหยาะๆ ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน โดยควรเพิ่มทีละน้อย และอย่าให้เหนื่อยเกินไป
6. หลีกเลี่ยงสิ่งที่จะกระตุ้นให้เกิดอาการกำเริบ เช่น อย่าทำงานหักโหมเกินไป อย่ากินข้าวอิ่มเกินไป ระวังอย่าให้ท้องผูก งดดื่มชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่ใส่กาเฟอีน ระวังอย่าให้ตื่นเต้นตกใจหรือกระทบกระเทือนจิตใจ อย่าอาบน้ำเย็นหรือถูกอากาศเย็นจัด
การปฏิบัติที่ถูกต้องและจริงจัง จะช่วยให้โรคหัวใจขาดเลือดชนิดเริ่มแรกทุเลาหรือหายได้
- อ่าน 27,918 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้