• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สุขภาพ คือองค์รวมของหลายสิ่ง

สุขภาพ คือองค์รวมของหลายสิ่ง

ฉบับนี้ มีเรื่องราวเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจ คือเรื่อง “ปัสสาวะยารักษาโรค” ของคุณหมอเกษียร ภังคานนท์ เรื่อง นี้เคยฮือฮาในบ้านเราเมื่อ 2-3 ปีก่อน เมื่อมีชาวญี่ปุ่นอาวุโสท่านหนึ่งมาเผยแพร่ว่า ปัสสาวะสามารถรักษาโรคเอดส์ได้ 

คุณหมอเกษียรได้เล่าเกร็ดประวัติของเรื่องนี้ย้อนไป 5,000 ปี รวมทั้งการรณรงค์เรื่องนี้ในยุคปัจจุบัน ส่วนท่านจะมีข้อสรุปอย่างไรก็เชิญติดตามอ่านกันเอาเองเถอะครับ

ในระยะนี้มีเรื่องฮิตเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับประโยชน์ของ “แคลเซียม” ถึงกับมีนมยี่ห้อหนึ่งที่โฆษณาว่าพร่องมันเนยและมีแคลเซียมสูง

วงการแพทย์ยอมรับอย่างแน่นอนแล้วว่า แคลเซียมมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของโครงสร้างกระดูก ถ้าเด็กกินแคลเซียมได้พอเพียงตั้งแต่เล็ก ก็จะเพิ่มความสูง (สง่า) เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ร่างกายก็ยังจำเป็นต้องได้รับแคลเซียมให้พอเพียง  เพื่อป้องกันมิให้กระดูกผุกร่อนง่ายเมื่อแก่ตัว ดังนั้นทุกวัยจึงจำเป็นต้องได้รับสารตัวนี้ให้ได้เพียงพอกับความต้องการของร่างกายในแต่ละวัยทุกวัน

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการเจริญเติบโตของโครงสร้างกระดูกนั้นยังต้องอาศัยกิจกรรมอื่นๆ เช่น การออกกำลังกายหรือการใช้แรงกาย การนอนหลับพักผ่อน เป็นองค์ประกอบร่วมด้วย

กรณีนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า

สุขภาพของคนเรานั้นเป็นผลมาจากปัจจัยหลายด้านรวมกัน มิใช่อาศัยปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเพียงประการเดียว

ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ เรามักจะมุ่งไปที่เรื่องใดเรื่องหนึ่งโดดๆ (แยกส่วน) โดยขาดความเชื่อมโยงกับองค์ประกอบอื่นๆ(องค์รวม) จึงทำให้เกิดความไขว้เขวหรือความเชื่อว่า เรื่องนั้นๆเป็นสิ่งสำคัญเพียงประการเดียวต่อการพัฒนาสุขภาพ เช่น การดื่มปัสสาวะ การดื่มน้ำ 5 แก้ว ตอนเช้า การใช้ยาเสริมหรืออาหารเสริมชนิดใดชนิดหนึ่ง การกินอาหารมังสวิรัติ เป็นต้น

แท้จริงแล้ว สุขภาพเป็นผลรวมจากปัจจัยหลายๆด้านด้วยกัน ดังที่ผู้เขียนเคยเสนอไว้ในเรื่อง “9  อ. สู่วิถีชีวิตใหม่และสุขภาพ” ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 189 (มกราคม 2538)

จึงขอเสนอไว้เป็นหลักคิดในการพิจารณาข้อมูลข่าวสารต่างๆ
  
 

ข้อมูลสื่อ

210-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 210
ตุลาคม 2539
อื่น ๆ
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ