• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ความป่วยทางจิตใจรักษาได้ เพียงสังคม "กล้า" ยอมรับและเข้าใจ

ผู้ป่วยโรคจิตเภทคนหนึ่งเคยติดสารระเหย ครอบครัวไม่ได้อบอุ่นและมีความสุขมากนัก เขามีอาการทางจิตมาตั้งแต่อายุ 15 ปี ไม่ต่างจากคนป่วยจิตเภททั่วไปที่ประสาทหลอน ได้ยินเสียงจากปิศาจ พูดจาหัวเราะคนเดียว ด่าทอ ทำร้ายผู้อื่น ไม่อยู่ในสภาพที่ควบคุมความคิดและพฤติกรรมของตนเองได้ จนพ่อแม่พาไปรักษาที่โรงพยาบาลศรีธัญญา และได้เวียนเข้า-ออกรักษาตัวที่นั่นหลายครั้ง ผ่านทั้งบ้านเมตตา และนิติจิตเวช สถานที่สำหรับผู้ป่วยโรคจิตที่มีคดี ที่สุดได้มาลงเอยที่โรงพยาบาลศรีธัญญาอีกครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย อาการเขาดีขึ้นเพราะการรักษาและกินยาอย่างต่อเนื่องมาหลายปี วันหนึ่งจึงได้ตัดสินใจว่าจะเลิกดมกาว เขาได้มีสติคืนมาได้คิดและสร้างแรงจูงใจให้ตัวเอง

“ เข้าโรงพยาบาลรอบสุดท้ายนี่คิดได้เพราะเห็นข้าวที่กินมันไม่อร่อย คิดว่าเก็บเงินซื้อข้าวกินดีกว่า มองไปเห็นคนอื่นที่เคยมั่วสุมด้วยกันเขาก็ทำงานมีอนาคตกันหมดแล้ว ”

8 ปีเต็มกับเวลาที่สูญเสียไป กับการป่วยเรื้อรังที่บั่นทอนทั้งร่างกายและจิตใจ วันนี้เขาได้ทำงานในโครงการช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชในโรงพยาบาลศรีธัญญา ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่อาการดีขึ้นแบบที่เหมือนคนปกติได้เข้าทำงาน “ได้เห็นคนป่วยถูกมัดพามาก็นึกถึงตัวเองที่เคยเป็นแบบนั้น แต่วันนี้คุณค่าชีวิตเราดีขึ้นจากเดิมมาก”

ถ้าพูดถึงคนโรคจิต เชื่อว่าหลานคนคงรู้สึกไปในทางที่ไม่ดีนัก อาจน่ากลัว น่ารังเกียจ เป็นคนไม่ยอมอาบน้ำ แต่งตัวสกปรก พูดจาไม่รู้เรื่อง ไม่กล้าเข้าใกล้ เป็นตัวอันตราย สร้างความเดือดร้อน ชอบวิ่งไล่ทำร้ายใครๆ กับอะไรสารพัดนึก ไปจนถึงคิดว่า “เขาเป็นคนไม่ดี?”

คงมีน้อยคน หรือแทบไม่มีเลยที่จะคิดว่า “จริงๆ แล้ว คนโรคจิต เขาก็เป็นเพียงคนป่วยคนหนึ่ง ที่ต้องการการรักษา....เท่านั้นเอง”

แบบไหนที่เรียกว่า คนโรคจิต
ในทางการแพทย์ คนโรคจิตถือว่าเป็นคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ทั้งพฤติกรรม ความคิด อารมณ์ ความรู้สึก มีการแสดงออกที่ผิดปกติเบี่ยงเบนไปจากเกณฑ์ที่เป็นบรรทัดฐานของสังคม โดยที่เขาไม่รู้ตนเองว่าป่วยหรือผิดปกติ เขาแยกแยะไม่ได้ว่าเกิดขึ้นจริง แต่คิดว่าสิ่งที่เขาพบเห็น รู้สึก และสัมผัสได้นั้นเป็นเรื่องจริง

                              

ลักษณะอาการที่แสดงออก คือ พูดไม่เหมือนคนอื่น มีพฤติกรรม บุคลิกและอารมณ์แปรปรวน แปลกแยกแตกต่างจากคนปกติ ถ้าถามเขาอาจเล่าว่ามรประสบการณ์แปลกๆ เช่น หูแว่ว ได้ยินเสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน สามารถโทรจิตติดต่อกับคนอื่นได้ เห็นภาพหลอน หวาดระแวง บางรายอาจซึมหรือแยกตัว ขณะที่บางรายเอะอะอาละวาด ทำอะไรแบบหลุดโลก และทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่น ลักษณะเหล่านี้เองทำให้ใครๆ พากันเรียกเขาว่า “คนบ้า”

โรคจิตต่างจากโรคประสาท
เรามักจะสับสนกันระหว่างโรคจิตและโรคประสาท ซึ่งทั้ง 2 โรคนี้เป็นโรคทางสุขภาพจิตเหมือนกัน

ต่างที่ว่า “โรคจิต” เป็นปัญหาสุขภาพในระดับที่รุนแรง ไม่สามารถแยกแยะความจริง ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ รวมทั้งไม่รู้ตัวว่าตนเองป่วย

แต่สำหรับ “โรคประสาท” นั้น จะมีอาการวิตกกังวลเป็นอาการเด่น เป็นอาการที่เกิดขึ้นอย่างไม่สมเหตุสมผลจนไม่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างที่เคยเป็น และมีอาการอื่นร่วมด้วย โดยที่ผู้ป่วยจะรู้ว่าตนเองมีอาการต่างๆ เช่น หงุดหงิด โมโหง่าย ทนอะไรได้น้อยลง ปวดศีรษะ หรือนอนไม่หลับ

แต่ในคนที่เป็นโรคประสาท อาจมีอาการของโรคจิตช้อนเข้ามาได้ เมื่อเกิดความกดดันหนักๆ จนไม่สามารถปรับตัวกับสถานการณ์หรือสิ่งแวดล้อมที่กดดันนั้น โดยเกิดเป็นอาการเฉียบพลันและชั่วคราว หากพ้นไปจากสิ่งที่กดดันนั้น อาการของโรคจิตก็จะหายไป กลับเป็นโรคประสาทตามปกติ ที่รู้ตัวเองว่าป่วยเป็นอะไร

ขณะที่โรคจิตส่วนใหญ่นั้นมีสาเหตุมาจากสารเคมีในสมองหรือเป็นเรื่องกรรมพันธุ์ จึงทำให้เกิดอาการของโรคจิตอย่างเรื้อรัง ยาวนาน ไม่ใช่เกิดเพราะได้รับความกดดัน จนปรับตัวไม่ได้แล้วเกิดอาการอย่างชั่วคราวเหมือนกับคนที่เป็นโรคประสาท แต่ได้รับความกดดันอาจเป็นปัจจัยเสริมที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดอาการกำเริบขึ้นในคนที่เป็นโรคจิตเท่านั้น ไม่ใช่สาเหตุของโรคจิต

จิตเภท-โรคจิต ที่พบบ่อย
กว่าร้อยละ 80 ของคนป่วนโรคจิตในโรงพยาบาลเป็นโรคจิตที่เรียกว่า “จิตเภท” (schizophrenia)
ในครอบครัวที่เคยเป็นโรคจิตเภทมาก่อน อาจมีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติ ถ้าพ่อแม่และญาติพี่น้องเป็น ก็มีโอกาสที่จะเป็นมาก

             

จิตเภท
เป็นชื่อเรียกโรคจิตอย่างหนึ่ง ที่มีพื้นฐานความผิดปกติทางความคิด รวมทั้ง การรับรู้ การติดต่อสื่อสาร และพฤติกรรม

มีอาการคิดหลงผิด หรือประสาทหลอน เช่น คิดว่าตนเป็นเทพเจ้า คิดว่าคนอื่นจะทำร้ายหรือไม่หวังดีต่อตัวเอง มีอาการหวาดระแวง และอาจหูแว่ว ซึ่งเป็นอาการที่เป็นมากที่สุด

ในด้านการติดต่อสื่อสารกับคนอื่น ผู้ป่วยจิตเภทจะไม่สามารถรวบรวมความคิดให้เป็นทางเดียวกันตลอด จนไม่สามารถสื่อสารกันคนอื่นได้

และมีพฤติกรรมที่ผิดปกติอย่างมาก เช่น แต่งตัวสกปรก สวมเสื้อหลายชั้นทั้งที่อากาศร้อน ปัสสาวะกลางที่สาธารณะ

“จิตเภท” จัดอยู่ในกลุ่มโรคจิตที่ไม่มีสาเหตุชัด แต่เกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์และความสมดุลของสารเคมีในสมอง โดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดว่าสารเคมีในสมองที่เสียสมดุลหรือแปรปรวนนั้นมีสาเหตุจากอะไร

พบว่ากรรมพันธุ์เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สารเคมีในสมองมีความผิดปกติมาแต่กำเนิด ในครอบครัวที่เคยเป็นโรคจิตเภทมาก่อน อาจมีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติ ถ้าพ่อแม่และญาติพี่น้องเป็น ก็มีโอกาสที่จะเป็นมากและมากเป็นพิเศษสำหรับสายเลือดที่ใกล้ชิด เช่น พ่อแม่กับลูก พี่กับน้อง

จากการศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่า ในประเทศทางตะวันตก ตะวันออก หรือประเทศที่ด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา จะพบความชุกของผู่ป่วยโรคจิตเภทโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 0.5 (1 ใน 200 คน)

ในแง่ของเพศ จะพบผู้ป่วยทั้งเพศหญิงและเพศชายปริมาณพอๆ กัน และสังเกตได้ว่าเพศชายจะเริ่มเป็นตอนอายุน้อยกว่าเพศหญิง

บุคลิกภาพที่เข้มแข็ง เป็นปัจจัยสำคัญในการต้านทานโรค
คนที่มีกรรมพันธุ์หรือปัจจัยเสี่ยงจะเป็นจิตเภท ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นโรคจิตและต้องรับการรักษาทุกคนไป เพราะจิตเภทในระดับไม่รุนแรง ที่แม้จะมีปัญหาการสื่อสารคิดไม่เหมือนคนอื่น แต่ก็ยังสามารถทำงานได้ ในงานที่ไม่ต้องมีสัมพันธภาพกับคนมากนัก และอาจจะทำได้ดีในงานที่คิดทำอะไรอยู่คนเดียวได้

นอกจากนี้กรรมพันธุ์ยังเป็นแค่ปัจจัยเสี่ยงอันหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้าได้รับการเลี้ยงดูและอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีมีบุคลิกที่เข้มแข็ง มีความมั่นคงของอารมณ์ มีความสารถในการปรับตัว แก้ไขปัญหาและเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ด้วยทัศนคติเชิงบวก คนที่มีกรรมพันธุ์หรือปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นจิตเภทบางคน จึงอาจไม่มีอาการของโรคจิตตลอดชีวิตเลยก็ได้

      

สังเกตอาการจิตเภท ดูแลจิตใจคนใกล้ชิด
ระยะเริ่มที่มีอาการนั้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป มักมีปัญหาด้านหน้าที่ความรับผิดชอบหรือสัมพันธภาพการเรียน หรือการทำงาน ญาติหรือคนใกล้ชิดมักเริ่มเห็นว่าผู้ป่วยเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม
• เก็บตัวมากขึ้น จากเคยไปไหนมาไหน พบปะใครๆ ก็อาจอยู่แต่ในห้อง
• อาจหันมาสนใจด้านปรัชญา ศาสนา จิตวิทยา ใช้คำพูดแปลกๆ หรือหมกมุ่งกับบางสิ่งมากๆ ทั้งที่ไม่เคยสนใจมาก่อน เช่น สะสมพระเต็มห้อง เขียนจดหมายทุกวัน
• ไม่สนใจเรื่องการเรียนและการทำหน้าที่ของตัวเอง ถ้าเป็นนักเรียนอาจเหม่อลอย การเรียนตกต่ำลง ไม่สนใจงานที่ต้องรับผิดชอบ
• ละเลยเรื่องสุขภาพอนามัยของตนเอง ทั้งเสื้อผ้า การแต่งกายไม่สนใจ เฉยเมย เฉื่อยชา ขาดความกระตือรือร้น ดูเหมือนว่าเป็นคนเกียจคร้านกว่าเดิม ระยะนี้อาจนานเป็นเดือนหรือเป็นปี แต่ยากจะบอกว่าเริ่มผิดปกติตั้งแต่เมื่อไร โดยเฉลี่ยและจะเป็นระยะนี้ประมาณ 1 ปี จึงมีอาการกำเริบตามลักษณะอาการของจิตเภทที่จะมีอาการหลักๆ คือหลงผิด ประสาทหลอน หูแว่ว คิดอย่างไม่เป็นเหตุเป็นผล และมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน

ญาติหรือคนใกล้ชิดจะต้องเป็นคนที่สังเกตและพาผู้ป่วยไปหาหมอ เมื่อเห็นความผิดปกติของผู้ป่วยให้เลียบเคียงเข้าไปถาม เขาอาจเล่าอะไรให้ฟังที่เราจะเริ่มรู้ว่าเขามีประสบการณ์แปลกๆ ก็ควรคล้อยตามเขาไปก่อน ให้เขาไว้ใจจะได้พูดคุยกันให้ฟัง ได้ติดตามอาการ ได้รู้ว่าเขาคิดอะไร และญาติเองต้องเป็นผู้เล่าอาการให้หมอฟัง เพราะผู้ป่วยจะไม่รู้ตัวเอง

“ยา” เป็นหัวใจของการรักษาโรคจิต
การรักษาด้วยยานั้นเป็นหัวใจของการรักษาโรคจิต ยาที่ใช้เป็นยากลุ่มต้านโรคจิต ไปช่วยปรับให้สารเคมีในสมองสมดุล เพื่อคุมอาการให้สงบลงรวดเร็ว และลดอาการกำเริบช้ำของโรค ฤทธิ์ยาจะทำให้พฤติกรรมของผู้ป่วยดีขึ้นตั้งแต่ระยะแรก แต่จะต้องได้รับยาอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับสมดุล แล้วค่อยๆ ลดยาลงเรื่อยๆ

ส่วนใหญ่ในผู้ป่วยที่เป็นครั้งแรกนั้น หลังจากอาการโรคจิตดีขึ้นแล้ว จะให้ยาต่อเนื่องไปประมาณ 1 ปี ก็หยุดยา แต่ถ้ารักษาครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 หรือหหลายครั้งแล้ว อาจเป็นมากขึ้นและรักษายากขึ้น มักต้องกินยาต่อเนื่องไปนานถึง 5 ปี แต่ถ้าเป็นบ่อยกว่านี้ จะต้องกินยาต่อเนื่องไปตลอดชีวิต โรคจิตแบบเรื้อรังที่เป็นแล้วเป็นอีกไม่หายนี้ มีแนวโน้มว่าจะเป็นผู้ป่วยจิตเภทที่มีสาเหตุจากกรรมพันธุ์

แต่การเป็นแบบอย่างเรื้อรังและกินยาตลอดชีวิตไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยจะต้องคลุ้มคลั่ง
อาละวาดอยู่ตลอดเวลาจนต้องเอาโซ่ล่าม แต่ตราบเท่าที่ผู้ป่วยยังคงกินยาก็จะมีอาการสงบ ไม่มีอาการทางจิตกำเริบ และสามารถทำกิจกรรมตามปกติได้

นอกจากการรักษาด้วยยาแล้ว ยังมีการรักษาด้วยไฟฟ้า ซึ่งผลของการรักษาจะไม่เท่ากับการใช้ยา แต่จะนำมาใช้ในกรณีผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา โดยใช้ไฟฟ้าในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย เพื่อนำไฟฟ้าไปจัดระบบความคิดหรือจัดระบบสารเคมีในสมองเช่นเดียวกับการใช้ยา

เมื่อผู้ป่วยดีขึ้นแล้ว อาจจะใช้การรักษาโดยจิตบำบัด หรือการบำบัดทางพฤติกรรมต่างๆ มีการทำกลุ่มบำบัด ครอบครัวบำบัด การฝึกอาชีพ การฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตและสังคม และทดลองให้ออกสู่สังคม เช่น ที่โรงพยาบาลศรีธัญญา มีการตั้งร้าน “เพื่อน” ขายผลิตภัณฑ์ที่ผู้ป่วยทำขึ้น และให้ผู้ป่วยที่อาการดีขึ้นมาฝึกการทำงานในร้าน เพื่อให้ได้มีปฏิสัมพันธ์กับสังคม

และยังมีชมรมกัลยาณมิตรผู้ป่วยจิตเวชศรีธัญญา เพื่อให้ญาติและผู้ป่วยได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนสภาพปัญหาและการช่วยเหลือดูกันในครอบครัว เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ของแต่ละครอบครัวและช่วยให้กำลังใจต่อกัน

อาการที่หลงเหลือ หลังจากรักษาแล้ว
มีผู้ป่วยโรคจิตเภทอยู่จำนวนหนึ่งที่เป็นแค่ครั้งเดียวแล้วหายขาดหรือเป็น 2-3 ครั้ง และแต่ละครั้งก็กายกลับสู่สภาพเดิมก่อนป่วย แต่ส่วนใหญ่หลังจากอาการทุเลาลงแล้วผู้ป่วยยังมีอาการหลงเหลืออยู่บ้าง เป็นอาการเหมือนตอนที่เป็นระยะเริ่มแรก ถือว่าไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ตัวเองและคนรอบข้าง และทำกิจกรรมต่างๆ ได้ และอาจมีอาการกำเริบเป็นช่วงๆ

ซึ่งผู้ป่วยจะสังเกตตัวเองได้ก่อนอาการกำเริบ คือ มักนอนไม่หลับ วิตกกังวล แยกตัวเอง หงุดหงิด ฟุ้งช่าน หรือเชื่อมเหตุการณ์ต่างๆ เข้ากับตัวเอง ส่วนใหญ่กำเริบเมื่อเกิดความกดดันจิตใจ ยิ่งเป็นบ่อยครั้ง ก็จะมีอาการหลงเหลือมากขึ้นหรือเสื่อมลงเรื่อยๆ

                                                 

ต้องกินยาต่อเนื่อง ครอบครัวเข้าใจ และอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่กดดัน
ในช่วงที่กลับบ้านการกินยาอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ผู้ป่วยที่มีอาการกำเริบบ่อยๆ มักเป็นเพราะขาดยา ยาจะช่วยรักษาสมดุลของสารเคมีในสมอง ถ้าสามารถพ้นช่วงที่ต้องกินยาแล้ว ปัจจัยในครอบครัว ชุมชนที่อยู่ รวมทั้งอาชีพการงาน มีส่วนมากที่จะทำให้ผู้ป่วยไม่เกิดอาการกำเริบอีก

ความสำคัญที่สุดอยู่ที่ครอบครัวและชุมชนที่จะต้องช่วยมีความรู้ความเข้าใจและความพร้อมในการรองรับผู้ป่วยหลังการรักษา ที่ผ่านมามักจะมีปัญหาการสื่อสารกันในครอบครัว ทำให้ญาติและผู้ป่วยไม่เข้าใจกัน มีการตำหนิติเตือน และอาจมีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งยิ่งเป็นการสร้างความกดดันให้กับผู้ป่วยทำให้เกิดอาการกำเริบขึ้นอีกได้

ให้พยายามยอมรับผู้ป่วย ให้กำลังใจ เลิกตำหนิติเตือน ไม่ใช่ความรุนแรง อย่าไปจู้จี้ยุ่งเกี่ยวกับชีวิเขามากเกินไป

ญาติและคนใกล้ชิดไม่ควรจะเพิ่มปัญหาให้กับผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิตล้วนแต่ทนต่อปัญหาที่มากระทบไม่ได้ได้ต่ำกว่าคนปกติ ให้พยายามยอมรับผู้ป่วย ให้กำลังใจ เลิกการตำหนิติเตือนและใช้ความรุนแรง และอย่าไปจู้จี้ยุ่งเกี่ยวกับชีวิตเขามากเกินไป เพราะผู้ป่วยจิตเภทมีแนวโน้มจะอยู่คนเดียว ต้องดูแลโดยรู้ระยะห่างและควรให้โอกาสเขารับผิดชอบทำงานในสิ่งที่เขาทำได้ จะสร้างความรู้สึกมั่นใจมีคุณค่า และไม่ฟุ้งซ่าน ความรู้ในการดูแลผู้ป่วยตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งก่อนออกจากโรงพยาบาล จะมีการให้ความรู้ญาติในระดับหนึ่ง เพื่อสามารถดูแลสังเกตอาการผู้ป่วยได้

สำหรับการตรวจรักษานั้นควรไปโรงพยาบาลใกล้บ้านเป็นหลัก ทุกโรงพยาบาลจะมีการดูแลผู้ป่วยทางจิตเบื้องต้นได้ระดับหนึ่ง และหากต้องมีการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลจิตเวช ระบบประกันสุขภาพในโครงการ 30 บาทก็ครอบคลุมดูแลต่อเนื่องไป

ปลดโซ่ตรวน ผู้ป่วยโรคจิต
ในปัจจุบันยังมีผู้ป่วยทางจิตจำนวนหนึ่งที่ถูกล่ามโซ่ขังอยู่ ไม่ได้รับการดูแลบำบัดรักษาอย่างถูกต้อง ไม่มีอิสรภาพสมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงได้มีโครงการปลดโซ่ตรวนผู้ป่วยทางจิตที่ถูกล่ามขังขึ้น นำทีมหมอพยาบาลและบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ออกสำรวจและเยี่ยมผู้ป่วยที่ยังถูกล่ามขังอยู่ชุมชน ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ญาติพี่น้องและคนในชุมชนที่จะเชื่อว่าโรคจิตนั้นรักษาให้อาการดีขึ้น จนสามารถช่วยเหลือตัวเอง ทำหน้าที่การงาน อยู่ร่วมกับคนอื่น โดยไม่เป็นอันตรายกับใคร

                         

หากญาติเข้าใจผู้ป่วยจะได้รับโอกาสที่จะรักษาในโรงพยาบาลทั้งทางร่างกายและสังคม เพื่อจะได้กลับมาสู่สังคมอีกครั้ง โดยทีมงานสาธารณสุข และยังคงดูแลผู้ที่เขาจะถูกปลดโซ่ ได้รับอิสรภาพสิทธิในการฟื้นฟูคืนมา

ผู้ป่วยโรคจิต รักษาได้
โรคจิตไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นไปจนตลอดชีวิต เป็นความเจ็บป่วยอีกอย่างหนึ่งที่สามารถเยียวยารักษาได้ ยิ่งรักษาเร็วจะรักษาให้หายได้ และแม้รักษาช้าหรือเป็นเรื้อรัง แต่ก็สามารถรักษาให้อยู่ในอาการทุเลาที่จะทำมาหากินเลี้ยงชีพได้ บางคนได้กลับบ้านเกิดทำมาหาเลี้ยงชีพ ใช้ชีวิตใกล้เคียงคนปกติได้ แม้บางคนจะก้องกินยาตลอดชีวิตก็ไม่เป็นไร สำคัญที่ครอบครัวและชุมชนต้องให้โอกาส

ผู้ป่วยคนหนึ่งได้ฝากความคิดและกำลังใจไว้ว่า แม้ขยะพลาสติกที่ทิ้งแล้ว เมื่อนำมาหลอมใหม่ยังกลายเป็นกะละมังได้ คนเราแม้มีประวัติเสีย สังคมรังเกียจ แต่หากคิดเริ่มต้นใหม่ จงคิดถึงชีวิตที่ดีกว่า แล้วไปให้ถึงด้วยความเข้มแข็งและหนักแน่น


 

ข้อมูลสื่อ

272-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 272
ธันวาคม 2544
กองบรรณาธิการ