• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ฟอกสีฟัน

ฟอกสีฟัน


ถ้าคุณเห็นคนข้างๆ ไม่ค่อยชอบยิ้มอย่างเปิดเผย ก็อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าเขาเป็นคนมีปัญหาชีวิตหรืออารมณ์ไม่ดีอย่างที่เรียกว่า มะเร็งในอารมณ์ เขาอาจมีเหตุบางประการที่เป็นเช่นนั้น หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้คนไม่อยากยิ้มอย่างเปิดเผย แต่ไม่เกี่ยวกับเรื่องอารมณ์ คือ ฟันไม่สวย อาจมีสีผิดปกติมาก เช่น คนที่เคยได้รับยาเตตราซัยคลีนในวัยเด็กหรือได้รับฟลูออไรด์มากเกินไปโดยไม่รู้ตัว เป็นต้น

การแก้ไขสีที่ผิดปกติของฟันในอดีต มักจะหลีกเลี่ยงไม่พ้นวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 อย่างนี้ ได้แก่

- การทำครอบฟันด้วยพอสเลน

- การถอนฟันออกแล้วใส่ฟันปลอม

- การตกแต่งปิดผิวหน้าฟันด้วยวัสดุอุดฟันหน้าพวกคอมโพสิตเรซิน ซึ่งเป็นวิธีที่มีการกระทบกระเทือนต่อผิวเคลือบฟันและเนื้อฟันไม่มากก็น้อย นอกจากนี้ยังมีข้อด้อยบางด้าน เช่น การบิ่นกะเทาะของวัสดุที่ใช้ หรือการเปลี่ยนสีของวัสดุนั้นในภายหลัง

ในปัจจุบันนี้ได้เกิดทางเลือกใหม่ของปวงชนขึ้นได้ นั่นคือ วิธีการที่เรียกกันว่า “การฟอกสีฟัน”  (teeth bleaching) ด้วยวิธีใหม่นี้คุณจะสามารถอนุรักษ์ฟันได้อย่างดี ไม่เกิดผลกระทบต่อตัวฟัน เพราะไม่มีการกรอฟันหรือใช้กรดกัดผิวฟัน คงใช้เพียงสารละลายเม็ดสีที่เกาะในชั้นเนื้อฟันออกอย่างช้าๆคล้ายการฟอกสีน้ำตาลทรายให้ขาว ซึ่งให้ผลถาวรและเป็นธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม การฟอกสีฟันนี้ก็มีข้อจำกัดอยู่บ้าง ได้แก่ ฟันที่มีสีเข้มมากๆ (เกือบดำ) จะไม่สามารถทำให้ขาวได้อย่างฟันปกติ เพียงแต่ช่วยให้ความเข้มของสีจางลงเท่านั้น

นอกจากนั้นสารฟอกสีบางสูตรอาจมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์บ้าง เช่น อาการเสียวฟัน แสบเหงือก ระคายเคืองต่อแผลในปาก คนไข้ที่ต้องการรับการฟอกสีฟันจึงควรจะต้องไต่ถามจากทันตแพทย์ให้เข้าใจเสียก่อนที่จะตัดสินใจรับการฟอกสีฟัน นอกเหนือจากค่ารักษาที่จำเป็นต้องทราบด้วย คุณๆ ที่ปรารถนาจะมีรอยยิ้มที่สดใสกว่า อาจลองไปปรึกษาทันตแพทย์ใกล้บ้านหรือที่ทำงานดูก่อนตัดสินใจใดๆ เพื่อว่าการตัดสินใจนั้นจะไม่ทำให้คุณ “ยิ้มไม่ออก” ยิ่งกว่าเดิม!

ข้อมูลสื่อ

162-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 162
ตุลาคม 2535