• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไข้ทับระดู- ระดูทับไข้

ไข้ทับระดู- ระดูทับไข้


“คุณหมอคะ น้องสาวดิฉันที่คุณหมอฉีดยาแก้ไข้ไปเมื่อตะกี้นี้ พอกลับถึงบ้าน คุณแม่ดิฉันและเพื่อนบ้านต่างพูดใส่หูว่า เป็นไข้ทับระดู โบราณเขาห้ามฉีดยา ฉีดแล้วจะเป็นอันตรายน้องสาวตกใจหน้าซีดเลย ไม่ทราบว่าจะเป็นอะไรตามที่เขาว่าหรือเปล่าคะ?” ญาติคนไข้พาคนไข้กระหืดกระหอบกลับมาหาหมอ

หมอซักถามและตรวจดูอาการคนไข้ซ้ำอีกรอบ ไม่พบว่ามีปัญหาแทรกซ้อนแต่อย่างไร

“หมอรับรองว่าไม่เป็นไรหรอกเคยฉีดยาให้คนไข้ที่เป็นแบบนี้มามากต่อมากแล้ว ไม่เคยพบว่าเป็นอะไรสักคน” คุณหมอยืนยัน คนไข้ฟังแล้วหายตระหนกหน้าตาก็ดูดีดังเดิม พี่สาวเลยถือโอกาสถามหมอให้กระจ่างต่อไป

“คุณหมอคะ ทำไมโบราณถึงมีความเชื่อว่า เป็นไข้ทับระดูฉีดยาไม่ได้ละคะ?”

“เรื่องนี้คงต้องพูดกันยาวหน่อยครับ” คุณหมออธิบาย “จากประสบการณ์ที่ทำงานมาหลายปี พบว่า คนไทยมีความเชื่อเรื่องนี้กันแทบทุกภาคเลย แรกๆ ก็รู้สึกงงๆ เหมือนกัน เพราะตำราแพทย์แผนปัจจุบันไม่ได้พูดถึงคำว่า ‘ไข้ทับระดู’ ไว้เลย”

“ดิฉันเข้าใจว่าคงเป็นคำศัพท์โบราณ ก็รู้สึกสับสนเหมือนกันบางทีก็พูดว่า ไข้ทับระดู บางทีก็พูดว่า ระดูทับไข้” ญาติคนไข้เสริม

“เท่าที่สอบถามอาการจากคนไข้พบว่า มีสองลักษณะ ถ้ามีประจำเดือนหรือระดูมาก่อน แล้วเกิดมีไข้ตามมา เขาเรียกว่า ไข้ทับระดู แต่ถ้ามีไข้อยู่ก่อน แล้วมีประจำเดือนหรือระดูตามมาทีหลังเรียกว่า ระดูทับไข้...” คุณหมออธิบาย

“แล้วทั้งสองอย่างนี้ เป็นโรคเดียวกันหรือเปล่าคะ? มีสาเหตุเกิดจากอะไรได้บ้างคะ?” หญิงสาวถาม

“จากการสังเกตส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นไข้ทับระดู หรือระดูทับไข้พอบอกได้ว่า คนไข้จะมีอาการเป็นไข้ตัวร้อยร่วมกับการมีประจำเดือนส่วนอะไรจะทับอะไรนั้น ขึ้นกับว่าอาการไหนมาตามหลังอีกอาการหนึ่ง...”  หมอตอบ

“ฟังดูก็หมายความว่า หญิงใดมีอาการเป็นไข้ตัวร้อนขณะที่มีประจำเดือนก็เรียกว่า ไข้ทับระดูหรือระดูทับไข้ ถ้าเช่นนั้นก็อาจมีสาเหตุได้หลายๆ อย่างมิได้เจาะจงเพียงโรคใดโรคหนึ่งโดยเฉพาะใช่ไหมคะ?” หญิงสาวถาม

“ถูกแล้ว อาการไข้ตัวร้อนที่พบในหญิงที่มีประจำเดือนก็อาจมีสาเหตุได้ร้อยแปดพันอย่าง เช่นเดียวกับอาการไข้ตัวร้อนที่พบในคนทั่วไป อาจเกิดจากไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ ไข้มาลาเรีย ปอดอักเสบ หรือ โรคอื่นๆ ก็ได้ทั้งนั้น เพียงแต่บังเอิญมาเกิดอาการตอนมีประจำเดือนเท่านั้นแหละครับ” คุณหมออธิบาย “โรคเหล่านี้บางครั้งหมอจะฉีดยาให้ ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายแก่คนไข้ไม่ว่าจะมีประจำเดือนหรือไม่ก็ตาม”

“แล้วทำไมถึงเกิดความเชื่อดังกล่าวละคะ?” หญิงสาวย้ำ

“ก็ต้องสันนิษฐานเอาว่า คงมีคนไข้แบบนี้ถูกฉีดยาแล้วเกิดอันตรายขึ้นมาให้เห็นเป็นตัวอย่าง เช่น ครั้งหนึ่งเคยมีพระยืนยันว่า ได้ไปสวดศพหญิงสาวตายเนื่องจากเป็นไข้ทับระดูแล้วหมอฉีดยาให้” คุณหมออธิบาย “การที่คนไข้ตายเนื่องจากจากการฉีดยามีสาเหตุสำคัญ คือ การแพ้ยา ในสมัยก่อนถ้าคนไข้เป็นโรคปีกมดลูกอักเสบ ซึ่งมักจะมีไข้ตามมาทีหลังประจำเดือน หมอนิยมฉีดยาเพนิซิลลินฆ่าเชื้อ ยานี้มีโอกาสทำให้แพ้ได้ง่าย ถ้าแพ้รุนแรงก็อาจตายคาเข็มได้

ยานี้ในสมัยก่อนยังนิยมใช้ฉีดรักษาโรคทอนซิลอักเสบและปอดอักเสบ ถ้าหากหญิงใดขณะมีประจำเดือนแล้วเป็นโรคเหล่านี้หากหมอฉีดยาเพนิซิลลินให้ก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการแพ้ยาตายได้เช่นกัน...”

“คุณหมอหมายความว่า หญิงที่เป็นไข้ทับระดู ถ้าหากฉีดยาที่แพ้เป็นอันตรายได้” หญิงสาวทบทวน

“แต่ถ้าฉีดยาที่ไม่แพ้ ก็ไม่น่าจะเป็นอะไรใช่ไหนคะ?”

“ถูกแล้วครับ” คุณหมอยืนยัน “อย่างเช่นน้องสาวของคุณมีไข้สูงมากและอาเจียนบ่อย เกรงว่าจะกินยาไม่ได้ หมอฉีดยาแก้ไข้ซึ่งไม่แพ้ง่าย ก็ไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายแต่อย่างไร”

“ไข้ทับระดู หรือ ระดูทับไข้ อาจมีสาเหตุได้ต่างๆ นานา การฉีดยาไม่ให้เกิดอันตราย ยกเว้นถ้าแพ้ยา เช่น เพนิซิลลิน หรือยาที่แพ้ง่ายอื่นๆ” หญิงสาวสรุป

ข้อมูลสื่อ

169-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 169
พฤษภาคม 2536
ภาษิต ประชาเวช