• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ข้าวกล้อง

ข้าวกล้อง

 


 

ข้าวที่กินกันทั่วๆ ไปอยู่ทุกวันนี้ คือ ข้าวเจ้า ข้าวเจ้าแบ่งออกเป็น ข้าวกล้องกับข้าวขัดสี ซึ่งมีคุณค่าทางอาหารต่างกัน

ข้าวกล้อง (Brown rice) เป็นข้าวที่ผ่านกรรมวิธีการสีข้าวขั้นต้น คือ เปลือกข้าวจะถูกกะเทาะแตกง่ายและหลุดไป จะมีจมูกข้าวและเยื่อหุ้มเมล็ดข้าวติดอยู่ สีผิวของเมล็ดข้าวมีสีน้ำตาลปนแดง

ข้าวขัดสี (Polished or milled rice) เป็นข้าวที่ผ่านกรรมวิธีการขัดสีหลายครั้ง ทำให้เยื่อหุ้มเมล็ดข้าวหรือรำและจมูกข้าวหลุดออกไปเหลือแต่เมล็ดข้าวสีขาว

จมูกข้าวและรำเป็นส่วนประกอบของเมล็ดข้าวที่มีโปรตีน ใยอาหาร ไขมัน วิตามิน และแร่ธาตุ ดังนั้น ข้าวกล้องจึงมีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าข้าวขัดสีจนขาว คนที่กินข้าวกล้องมีความรู้สึกอิ่มเร็วและนานกว่าข้าวขัดสี เพราะว่าข้าวกล้องมีพวกใยอาหารมากกว่าข้าวขัดสี การที่คนไม่นิยมกินข้าวกล้องเพราะว่าความไม่คุ้นเคยหรือเป็นที่รสชาติของข้าวกล้องไม่นุ่มนวลเท่าการขัดสี แล้วการหุงต้มข้าวกล้องใช้เวลาทำให้สุกนานกว่าข้าวขัดสี

การหุงข้าวกล้อง

เนื่องจากข้าวกล้องเป็นข้าวที่ยังมีรำเหลืออยู่ การดูดซึมน้ำจะยากกว่าจึงใช้เวลานานในการหุงข้าว ใช้ข้าวกล้อง 1 ส่วน เติมน้ำประมาณ 2 เท่า ใช้หมอหุงข้าวไฟฟ้าหรือหม้อนึ่งก็ได้ ใช้เวลาประมาณ 40-45 นาที ถ้าจะประหยัดเวลาควรแช่ก่อนประมาณ 1 ชั่วโมง หรือมีการผัดข้าวดิบในน้ำมันก่อน แป้งในข้าวจะเปลี่ยนเป็นเดกทริน (dextrin) มีการพองตัวของแป้งในข้าว การใช้เวลาหุงต้มจึงลดลง

อีกวิธีหนึ่งสำหรับคนเพิ่งหัดกินข้าวกล้อง คือ นำข้าวขาวผสมกับข้าวกล้องในอัตราส่วนเท่าใดก็ได้ แล้วนำไปหุงต้มแบบวิธีหุงข้าวขัดสีธรรมดาจะทำให้ได้ข้าวมีคุณค่าเพิ่มมากขึ้นไปกว่าเดิม เพื่อเป็นการฝึกความเคยชินและคุ้นเคยกับรสชาติของข้าวกล้อง

ข้อมูลสื่อ

169-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 169
พฤษภาคม 2536
รู้ก่อนกิน
ราตรี พุฒิสาร
ประภาศรี ภูวเสถียร