• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคกระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุน


โรคกระดูกพรุน (osteoporosis) หมายถึง ภาวะที่คนมีปริมาณความหนาแน่นของกระดูกลดลง มีการสร้างกระดูกน้อยลง หรือมีการทำลายเร็วขึ้น มีผลทำให้กระดูกบางและเปราะ มีอัตราเสี่ยงต่อกระดูกหักเพิ่มขึ้น
คนปกติความหนาแน่นของกระดูกสูงสุดในอายุระหว่าง 25-35 ปี หลังจากนั้นความหนาแน่นของกระดูกจะลดลงทั้งหญิงและชาย โดยลดลงอัตราเฉลี่ยร้อยละ 6-8 ทุกๆ 10 ปี ในหญิงวัยหมดประจำเดือนหรือตัดรังไข่ทั้งสองข้าง จะมีอัตราการลดลงของความหนาแน่นกระดูกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึงร้อยละ 5-10 ต่อปี


โรคกระดูกพรุนยังไม่เป็นที่ตระหนักในวงการแพทย์ไทย ข้อมูลที่รวบรวมไว้มีค่อนข้างน้อยมากทั้งนี้เพราะยังขาดแคลนเครื่องมือที่เหมาะสมในการวินิจฉัยโรค แต่แนวโน้มที่จะพบปัญหานับวันจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่บ่งชี้ความเสี่ยงของโรคนี้


สถิติของกระทรวงสาธารณสุขพบว่าอายุขัยของคนไทยเพิ่มขึ้น เช่น ระหว่างปี 2533-2538 การคาดประมาณอายุขัย(life expectancy)ของสตรีไทย ประมาณ 68.75 ดังนั้นสตรีวัยหมดประจำเดือนจะเพิ่มขึ้น การป้องกันภาวะกระดูกพรุนในสตรีวัยหมดประจำเดือนและผู้สูงอายุ จึงเป็นสิ่งที่วงการแพทย์และประชาชนควรให้ความสำคัญมากขึ้น

ชนิดของภาวะกระดูกพรุน
สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดคือ
1. ภาวะกระดูกพรุนหลังหมดประจำเดือน (Postmenopausal osteoporosis) จะเกิดขึ้นภายใน ๑o ปีหลังจากหมดประจำเดือน ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดที่กระดูกสันหลังและกระดูกข้อต่อ
2. ภาวะกระดูกพรุนที่เกิดในวัยสูงอายุ (Senile osteoporosis) ซึ่งสามารถพบได้ทั้งชายและหญิง ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดความผิดปกติที่กระดูกทั้ง 2 ส่วนคือ ส่วนกระดูกซี่โครงแขน ขา และส่วนกระดูกสันหลัง กระดูกข้อต่อ

บริเวณที่เกิดภาวะกระดูกพรุนได้บ่อยๆ แล้วทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักได้คือ กระดูกข้อมือ(carpal bones) กระดูกสันหลัง(vertebral spine) และส่วนคอของกระดูกต้นขา(neck of femur) ดังจะเห็นได้จากตาราง ซึ่งแสดงถึงอัตราความหนาแน่นของกระดูกที่ลดลง(bone loss) ในช่วงอายุต่างๆ


ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน

1. เพศ จากรายงานผลการวิจัย พบว่าผู้หญิงมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชายถึง 4 เท่า ซึ่งสาเหตุอาจเนื่องมาจากการลดลงของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกาย ประกอบกับความหนาแน่นของเนื้อกระดูกในผู้หญิงน้อยกว่าในผู้ชาย
2. อายุ เนื่องจากการเจริญเติบโตของกระดูกจะมีไปเรื่อยๆจนกระทั่งอายุประมาณ 35 ปี หลังจากนั้นจะเริ่มมีการเสื่อมสลายของกระดูกเกิดขึ้น และเมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายจะมีการดูดซึมแคลเซียมได้น้อยลง
3. ความแตกต่างของเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ พบว่าคนในกลุ่มผิวขาวและผิวเหลืองจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากกว่าคนในกลุ่มผิวดำ ทั้งนี้เพราะคนในกลุ่มผิวดำส่วนใหญ่จะมีกระดูกที่มีความแข็งแกร่ง และมีความหนาแน่นของเนื้อกระดูกสูงกว่าในคนผิวขาว ทำให้พบปัญหาในโรคนี้น้อยกว่า
4. การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ได้แก่ การลดลงของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือความผิดปกติของเมตาบอลิซึมของวิตามินดี หรือฮอร์โมนพาราธัยรอยด์ จะส่งผลกระทบต่อการเสื่อมสลายของกระดูก
(4.1) ฮอร์โมนเพศ จากรายงานผลการวิจัย พบว่าผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน จะมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดต่ำลง ซึ่งมีผลทำให้อัตราการเสื่อมสลายของกระดูกเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้สันนิษฐานว่าฮอร์โมนเอสโตรเจนนี้จะช่วยลดการเสื่อมสลายของกระดูก(bone resorption) ส่วนในเพศชาย พบว่าการลดลงของฮอร์โมนเทสโตสเตอโรน ก็มีผลต่อการเสื่อมสลายของกระดูกเช่นเดียวกัน แต่ไม่ค่อยเด่นชัดเท่าในเพศหญิง
(4.2) ฮอร์โมนจากวิตามินดี และฮอร์โมนพาราธัยรอยด์ พบว่าหากเกิดความผิดปกติของเมตาบอลิซึมของวิตามินดีและฮอร์โมนพาราธัยรอยด์ จะส่งผลกระทบต่อการเสื่อมสลายของกระดูก ซึ่งสาเหตุหนึ่งอาจเนื่องจากโอกาสที่ได้สัมผัสหรือถูกแสงแดดน้อยลง
5. ปัจจัยจากสภาพแวดล้อม
(5.1) การเคลื่อนไหวของร่างกาย การออกกำลังกาย จากรายงานผลการวิจัยพบว่าในคนที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย จะมีการเสื่อมสลายของกระดูกมากกว่าในคนที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกายชนิดหักโหมอย่างต่อเนื่อง อาจก่อให้เกิดปัญหาได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ทำให้เกิดความหนาแน่นของกระดูกลดลงได้ในผู้หญิงอายุน้อย
(5.2) การสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่จะเป็นการเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุนมากขึ้น ทั้งนี้เพราะการสูบบุหรี่จะทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง
(5.3) การดื่มสุรา การดื่มสุราถือว่าเป็นการเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุนอีกอย่างหนึ่ง ทั้งนี้สาเหตุอาจเนื่องมาจากการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ การทำงานของระบบย่อยอาหาร ตับ และไต ไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้การดูดซึมแคลเซียมลดลง
(5.4) การดื่มกาแฟ การดื่มกาแฟก็จัดว่าเป็นปัจจัยเสริมให้เป็นโรคกระดูกพรุนเพิ่มขึ้นด้วย เพราะกาแฟเป็นสารที่มีฤทธิ์คล้ายยาขับปัสสาวะ จึงทำให้สูญเสียแคลเซียมไปกับปัสสาวะเพิ่มขึ้น
(5.5) ยา มียาหลายชนิดที่ทำให้เกิดการสูญเสียกระดูกเพิ่มขึ้น โดยทำให้การดูดซึมแคลเซียมลดลง และเพิ่มการขับแคลเซียมออกทางไต
6. อาหารและภาวะโภชนาการขางร่างกาย ภาวะโภชนาการของร่างกายมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อความเสี่ยงในการเป็นโรคกระดูกพรุน กล่าวคือ มีสารอาหารที่สำคัญซึ่งมีอิทธิพลต่อการเกิดโรคดังกล่าวได้ อันได้แก่ ปริมาณแคลเซียมที่พอเพียง ปริมาณโปรตีนในอาหารที่ต้องไม่มากจนเกินไป ปริมาณฟอสเฟตในอาหาร ปริมาณใยอาหาร ปริมาณฟลูออไรด์ ตลอดจนภาวะไขมันสูงในร่างกาย

อาการแสดงของภาวะกระดูกพรุน

ภาวะกระดูกพรุน จะไม่แสดงอาการที่ชัดเจนนัก แต่ที่พบทั่วๆไปคือ
⇒ เจ็บปวดกระดูก ปวดหลังอย่างมาก
⇒ ส่วนสูงลดลงจากการสึกกร่อนของกระดูก ซึ่งเป็นปกติทั่วไป แต่คนเป็นโรคนี้จะมีการลดลงมากกว่าปกติ
⇒ กระดูกหักง่ายกว่าคนปกติ

การป้องกันโรค
1. ป้องกันโดยการบริโภคแคลเซียมให้พอเพียงเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะนอกจากจะช่วยส่งเสริมให้กระดูกเติบโตเต็มที่ในวัยเด็ก และแข็งแรงในผู้ใหญ่แล้ว ยังเป็นผลดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุที่มีการดูดซึมของแคลเซียมไม่ดี ดังนั้นการเตรียมพร้อมก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุจึงมีความจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในสตรีที่ต้องประสบปัญหาการลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนในช่วงหมดประจำเดือน การสะสมแคลเซียมในช่วงหนุ่มสาวจึงจำเป็นอย่างยิ่ง แคลเซียมมีมากในอาหารประเภทนมและผลิตภัณฑ์จากนม ปลาตัวเล็กที่กินทั้งกระดูกได้ เป็นต้น
2. การออกกำลังกายเพื่อป้องกันโรค
การออกกำลังกายแบบต้านแรง(resistance type)นั้น จะช่วยเสริมและเพิ่มเนื้อกระดูกได้มาก ซึ่งควรจะใช้เวลาประมาณ 30-60 นาทีต่อครั้ง และออกกำลังกายประมาณ 3 ครั้งต่อสัปดาห์เป็นอย่างน้อย โดยการทำร่วมกับการออกกำลังกายแบบใช้ออกซิเจน(aerobic exercise) ซึ่งจะช่วยปรับปรุงระบบไหลเวียนเลือด หัวใจและปอด นอกจากนี้ยังช่วยในเรื่องความยืดหยุ่น และการยึดติดของข้อต่อกระดูก โดยเฉพาะในจุดที่เกิดการแตกหักได้ง่าย
3. หลีกเลี่ยงการใช้ยาหรือบริโภคสิ่งที่จะทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุน เช่น สุรา บุหรี่ เป็นต้น
4. ระวังอุบัติเหตุการหกล้ม
5. พยายามให้ได้รับแสงแดดบ้างโดยเฉพาะแสงแดดในช่วงเช้า
6. บริโภคอาหารที่เหมาะสม ทั้งด้านคุณภาพและปริมาณสารอาหาร

การดูแลสุขภาพให้ดีในช่วงวัยหนุ่มสาว ย่อมทำให้ชีวิตในบั้นปลายมีสุขภาพแข็งแรง ซึ่งถือว่าเป็นลาภอันประเสริฐทีเดียว

ข้อมูลสื่อ

190-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 190
กุมภาพันธ์ 2538
โรคน่ารู้
รศ.ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล