• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กลาก – โรคเชื้อราของผิวหนัง

กลาก – โรคเชื้อราของผิวหนัง
 

ข้อน่ารู้

1. โรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อรามีอยู่หลายชนิด ซึ่งมีสาเหตุและอาการต่างกัน ที่พบบ่อยได้แก่ กลากและเกลื้อน

2. กลาก (ring worm หรือ tinea) เกิดจากเชื้อรากลุ่มเดอร์มาโตไฟต์ ซึ่งชอบเจริญอยู่เฉพาะในผิวหนังชั้นนอกสุด รวมทั้งเส้นผมและเล็บ โรคนี้สามารถติดต่อได้ง่าย (ตรงข้ามกับเกลื้อนซึ่งติดต่อยาก) โดยการสัมผัสกับคนไข้โดยตรง หรือใช้ของร่วมกับคนไข้ หรือติดมาจากร้านตัดผม ร้านเสริมสวย หรือติดมาจากร้านตัดผม ร้านเสริมสวย หรืออาจติดมาจากสัตว์เลี้ยงในบ้าน เช่น สุนัข แมว ก็ได้

3. โรคนี้พบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็ก และในคนที่มีเหงื่อออกมาก ผิวหนังอับชื้นง่าย บางครั้งอาจพบเป็นพร้อมกันหลายคนในบ้าน ในโรงเรียน หรือในวัด

4. โรคเชื้อราชนิดนี้อาจขึ้นตามผิวหนังได้แทบทุกส่วนของร่างกาย เช่น คอ ลำตัว แขนขา ศีรษะ เล็บ เป็นต้น
ถ้าขึ้นที่ขาหนีบ เรียกว่า โรคสังคัง ซึ่งพบมากในคนที่มีเหงื่ออับชื้นในบริเวณนี้
ถ้าขึ้นที่ง่ามนิ้วเท้า เรียกว่า ฮ่องกงฟุต หรือน้ำกัดเท้า พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เพราะผู้ชายมักใส่ถุงเท้าและรองเท้าที่ทำให้อับชื้น นอกจากนี้ยังพบในคนที่ย่ำน้ำเท้าเปียกบ่อยๆ

5. โรคนี้ถ้าไม่ได้รักษามักจะเป็นเรื้อรังและลุกลาม ดูน่ารังเกียจ
ในรายที่เป็นกลากขึ้นที่ศีรษะ ถ้าหากปล่อยให้เป็นมาก ก็อาจทำให้หนังศีรษะเป็นแผลเป็น ผมร่วงเป็นหย่อมอย่างถาวรได้
ถ้ากลากขึ้นที่เล็บ ก็อาจทำให้เล็บผุกร่อนพร้อมกันเกือบทุกเล็บได้

6. การป้องกัน โรคนี้อาจป้องกันได้โดย
ก. อย่าคลุกคลีหรือสัมผัสใกล้ชิดกับคนและสัตว์เลี้ยงที่เป็นโรคนี้
ข. อย่าใช้ของใช้ เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ถุงเท้า รองเท้า หวี มีดโกน ฯลฯ ร่วมกับคนที่เป็นโรคนี้
ค. รักษาความสะอาดของร่างกายด้วยการอาบน้ำฟอกสบู่ และเช็ดตัวให้แห้ง ระวังอย่าให้มีเหงื่ออับชื้น
ง. สำหรับโรคสังคัง ควรป้องกันโดยการหลีกเลี่ยงการใช้กางเกงในที่รัดแน่นหรืออบเกินไป
จ. สำหรับฮ่องกงฟุต ควรป้องกันโดยอย่าใส่ถุงเท้าที่อบเกินไป(ควรใช้ถุงเท้าผ้า อย่าใช้ถุงเท้าไนลอน) หลังอาบน้ำควรเช็ดบริเวณง่ามนิ้วเท้าให้แห้ง ถ้าซอกนิ้วเท้าเปียกน้ำ (เช่น ย่ำน้ำ) หรือมีเหงื่อออกมาก ควรล้างเท้าให้สะอาดแล้วเช็ดให้แห้ง

 

รู้ได้อย่างไรว่าไม่ได้เป็นอื่น

โรคกลากที่ขึ้นตามผิวหนังจะมีลักษณะเป็นวงๆ หรือเป็นดวงๆ และมีอาการคัน เริ่มแรกจะขึ้นเป็นตุ่มแดงๆแล้วค่อยๆลุกลามออกไปเป็นวง มีขอบเขตชัดเจน ขอบจะนูนเล็กน้อย มีสีแดง มักมีตุ่มน้ำใสเล็กๆ หรือขุยขาวๆอยู่รอบๆวง วงนี้จะลุกลามขยายออกไปเรื่อยๆ ส่วนผิวหนังที่อยู่ตรงกลางวงจะมีลักษณะเป็นผิวหนังที่ปกติ เนื่องจากเป็นส่วนที่เป็นก่อนและเริ่มหายแล้ว อาจขึ้นเป็นวงติดๆกันหลายวง หรือเป็นวงซ้อนกันก็ได้ บางครั้งก็ขึ้นพร้อมกันหลายแห่งก็ได้ บางคนอาจเกาจนติดเชื้อแบคทีเรียอักเสบแทรกซ้อนได้

                                        

โรคกลากที่ขึ้นที่ศีรษะ จะมีอาการผมร่วงเป็นหย่อม หนังศีรษะมีลักษณะเป็นวงๆ มีสะเก็ดเป็นขุยขาวๆ มีปลายเส้นผมที่หักคาเป็นปลายสั้นๆ หรือเห็นเป็นจุดดำๆ

ส่วนสังคัง (กลากที่ขาหนีบ)จะขึ้นเป็นวงที่ขาหนีบ 2 ข้าง และลุกลามออกไปเรื่อยๆ มักมีสีคล้ำๆ บางคนอาจเกาจนน้ำเหลืองเฟอะหรือผิวหนังหนา

ฮ่องกงฟุต (กลากที่ง่ามนิ้วเท้า) จะขึ้นเป็นขาวๆและยุ่ย ต่อมาลอกเป็นแผ่นหรือสะเก็ด แล้วแตกเป็นร่องและมีกลิ่น
ถ้าแกะลอกขุยขาวๆที่เปื่อยยุ่ย จะเห็นผิวหนังข้างใต้มีลักษณะแดงๆ และมีน้ำเหลืองซึม มักมีอาการคันยิบๆ
กลากขึ้นที่เล็บ เล็บจะมีลักษณะขรุขระและยุ่ย ถ้าเป็นมากเล็บจะผุกร่อนทั้งเล็บ มักเกิดพร้อมกันหลายเล็บ


โรคผิวหนังที่ขึ้นเป็นผื่นคันนอกจากกลากแล้วยังอาจมีสาเหตุอื่น เช่น
1. ลมพิษ จะขึ้นเป็นปื้นนูนๆ ขอบหยักๆ พร้อมกันหลายแห่ง มีลักษณะคันมาก มักเกิดขึ้นฉับพลันทันทีหลังสัมผัสถูกสิ่งที่แพ้ มักจะเป็นอยู่เพียงไม่กี่วันก็หายได้ หรือกินยาแก้แพ้ก็อาจทำให้ทุเลาได้

2. ผื่นแพ้ จะขึ้นเป็นผื่นหรือตุ่มแดงเล็กๆ มีอาการคันมาก มักมีประวัติชอบแพ้อะไรง่ายๆ ถ้าเป็นที่ง่ามนิ้วเท้า มักเกิดจากการแพ้รองเท้า ถุงเท้า หรือแพ้เหงื่อ อาจมีลักษณะอาการคล้ายโรคกลากได้ บางครั้งอาจต้องลองใช้ยารักษา ถ้าเป็นผื่นแพ้มักจะทุเลาด้วยครีมสตีรอยด์ แต่ถ้าใช้ครีมนี้แล้วโรคกลับลุกลามก็มักจะเป็นโรคกลาก ตรงกันข้าม ในการใช้ยารักษาเชื้อรา ถ้าเป็นโรคกลากจะได้ผล แต่ถ้าเป็นผื่นแพ้จะไม่ได้ผล

3. เกลื้อน เกิดจากเชื้อราต่างชนิดกับกลาก จะขึ้นเป็นดวงเล็กๆ เป็นสีขาว หรือน้ำตาลแดง กระจายทั่วไปในบริเวณที่มีเหงื่อออกมาก เช่น ซอกคอ หน้าอก แผ่นหลัง เป็นต้น มักจะไม่มีอาการคัน
เมื่อไรควรไปพบแพทย์


ควรไปพบแพทย์เมื่อ
1. ทายาฆ่าเชื้อกลาก ประมาณ 1-2 สัปดาห์แล้วยังไม่ทุเลา
2. อาการลุกลามหรืออักเสบเป็นหนองเฟอะ
3. เป็นกลากขึ้นที่ศีรษะหลายแห่ง หรือขึ้นที่เล็บหลายเล็บพร้อมกัน


แพทย์จะทำอะไรให้

แพทย์อาจขูดเอาผิวหนังบริเวณที่เป็นโรคไปพิสูจน์ หากพบว่าเป็นโรคกลากจริง ก็จะให้การรักษาด้วยยาทาฆ่าเชื้อกลากดังกล่าว
ในรายที่เป็นกลากที่ศีรษะหรือเล็บ การทายาอาจไม่ได้ผล แพทย์จะให้ยาฆ่าเชื้อราชนิดกิน ได้แก่ ยาเม็ดกริซีโอฟุลวิน (griseofulvin) กินนาน 4-6 สัปดาห์ (สำหรับกลากที่เล็บ)
โดยสรุป กลากเป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา หากปล่อยทิ้งไว้มักจะลุกลามจนดูน่าเกลียด และสร้างความรำคาญ มีวิธีรักษาง่ายๆด้วยการทายาฆ่าเชื้อกลาก ข้อสำคัญต้องหมั่นทาทุกวัน ติดต่อกันนาน 3-4 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย การป้องกันอยู่ที่การรักษาความสะอาดและอย่าให้ผิวหนังอับชื้น
 

การดูแลรักษาตนเอง

ถ้าสงสัยเป็นโรคกลากขึ้นตามผิวหนัง ขาหนีบ หรือง่ามนิ้วเท้า ควรปฏิบัติตัวดังนี้
1. รักษาความสะอาดของร่างกายด้วยการอาบน้ำ ฟอกสบู่อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง

2. สำหรับฮ่องกงฟุต ให้ล้างเท้าให้สะอาดและเช็ดให้แห้ง อย่าปล่อยให้อับชื้น ควรใส่รองเท้าสานโปร่ง(เปิดเล็บเท้า) แทนการใส่ถุงเท้าและรองเท้าที่มิดชิด

3. ทาด้วยยาฆ่าเชื้อกลากวันละ 2-3 ครั้ง ถ้าจำเป็นต้องถูกน้ำบ่อย หลังทำความสะอาดและเช็ดให้แห้งแล้ว ควรทายาซ้ำทุกครั้ง
ยาฆ่าเชื้อกลากที่มีขายในท้องตลาดมีอยู่หลายยี่ห้อ เช่น ยารักษากลากเกลื้อนขององค์การเภสัชกรรม คานาโซล(Canazole) แคนดินาส(Candinas) แคนดิกซ์(Candix) คาเนสเตน(Canesten) โคลไตรซิน(Clotricin) โคเทรน(Cotren) แดกทาริน(Daktarin) ดีเซเนกซ์(Desenex) อีซอน-ที(Ezon-t) ฟูจิซิด(Fugicid) ฟังคอร์ต(Funcort) ฟังกา(Funga) กันติน(Guntin) ลิโคนาร์(Liconar) โทนาฟ(Tonaf) ทราโวเจน(Travogen) เป็นต้น ให้เลือกใช้เพียงชนิดใดชนิดหนึ่ง
ถ้าอาการดีขึ้น ควรทาติดต่อกันนาน 3-4 สัปดาห์ เพื่อรอให้ผิวหนังที่ปกติงอกขึ้นมาแทนที่ส่วนที่หลุดลอกไป หากหยุดยาเร็วเกินไป อาจกำเริบได้อีก

4. หลีกเลี่ยงการทายากลุ่มสตีรอยด์ ซึ่งใช้แก้อาการลมพิษ ผื่นคันจากการแพ้ เช่น ครีมเพร็ดนิโซโลน ครีมเดกซาเมทาโซน เป็นต้น ยานี้จะทำให้โรคกลากลุกลามมากขึ้นได้

5. ถ้ามีคนในบ้านหรือสัตว์เลี้ยงเป็นโรคนี้ด้วย ควรให้การรักษาพร้อมๆกันไป

 

 

 

ข้อมูลสื่อ

185-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 185
กันยายน 2537
แนะยา-แจงโรค
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ