• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน

หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน


ข้อน่ารู้
1. สันหลังของคนเราประกอบด้วยกระดูกสันหลังชิ้นย่อยๆกว่า 30 ชิ้นเรียงต่อกันเป็นแนวยาวจากต้นคอจรดก้นกบ โดยมีแผ่นเนื้อเยื่อที่เรียกว่า “หมอนรองกระดูกสันหลัง” (intervertebral disc) คั่นกลางรอยต่อระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละคู่ หมอนรองกระดูกนี้มีลักษณะยืดหยุ่นเพื่อช่วยให้สันหลังเคลื่อนไหวได้บ้าง มิใช่แข็งทื่อเหมือนท่อไม้
 

                                        


ภายในโพรงของกระดูกสันหลัง จะมีไขสันหลังบรรจุอยู่และมีเส้นประสาทแยกแขนงจากไขสันหลังไปยังส่วนต่างๆของร่างกาย เส้นประสาทส่วนต้นสุดที่แยกแขนงออกมาจากไขสันหลัง เรียกว่า “รากประสาท” ซึ่งอยู่ชิดกับหมอนรองกระดูก
บางคนอาจมีการเคลื่อนตัวของหมอนรองกระดูกไปรบกวนหรือกดทับถูกรากปะสารทดังกล่าว ทำให้เกิดอาการผิดปกติ เรียกว่า “โรคหมอนรองกระดูกคลื่อน” (herniated disc) บ้างก็เรียกว่า “โรคประสาทถูกกด”

2. โรคนี้มักพบในคนอายุ 20-40 ปี พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 2 เท่า มักเกิดกับคนที่ได้รับบาดเจ็บ หรือมีแรงกระเทือนที่บริเวณหลัง หรือคนที่แบกของหนัก หรือมีอิริยาบถที่ไม่ถูกต้อง เป็นเหตุให้มีการเคลื่อนตัวของหมอนรองกระดูก

3. ตำแหน่งที่พบบ่อยก็คือ หมอนรองกระดูกสันหลังบริเวณกระเบนเหน็บ หรือระดับบั้นเอว ทำให้มีการกดทับถูกเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงบริเวณน่องและปลายเท้า ทำให้มีอาการปวดร้าวจากแก้มก้นลงไปที่น่องหรือปลายเท้า ร่วมกับอาการปวดหลัง

4. โรคนี้นอกจากทำให้เกิดอาการเจ็บปวดน่าทรมานแล้ว หากปล่อยไว้นานๆก็อาจทำให้กล้ามเนื้อขาอ่อนแรงได้ ดังนั้นหากมีอาการน่าสงสัย ก็ควรปรึกษาแพทย์เสียแต่เนิ่นๆ
 

                                           

รู้ได้อย่างไรว่าไม่ได้เป็นอื่น

คนที่เป็นโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน มักจะมีอาการปวดหลังตรงระดับบั้นเอวหรือกระเบนเหน็บร่วมกับอาการปวดร้าวลงขา (จากแก้มก้นลงไปที่น่องหรือปลายเท้า) ข้างใดข้างหนึ่งร่วมด้วย อาจมีประวัติว่ายกของแล้วปวดขึ้นฉับพลันทันที มักปวดมากเวลาก้มหรือนั่งหรือเวลาไอ จาม หรือเบ่งถ่าย หากปล่อยทิ้งไว้นานๆ อาจมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อขาตามมาได้


สาเหตุอื่นที่อาจทำให้เกิดอาการคล้ายกันได้ เช่น

1. โรคปวดกล้ามเนื้อหลัง เกิดจากการนั่ง นอน หรือยกของผิดท่าทำให้ปวดยอกกล้ามเนื้อหลัง โดยที่ไม่มีอาการปวดร้าวลงขาร่วมด้วย การนวดหรือประคบด้วยความร้อนจะช่วยให้ทุเลา

2. กระดูกสันหลังเสื่อม พบในผู้สูงอายุ จะมีอาการปวดหลัง ก้มหรือเอี้ยวตัวลำบาก อาจมีอาการปวดขัดในข้อเข่าร่วมด้วย ในรายที่หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมและเคลื่อนไปกดทับถูกรากประสาท ก็อาจมีอาการปวดร้าวลงขาร่วมด้วย

3. เนื้องอกของไขสันหลัง จะมีอาการปวดหลังและปวดร้าวลงขาแบบเดียวกับหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน แต่จะพบในคนอายุมากกว่า 40 ปี อาการปวดจะเป็นเรื้อรัง แล้วต่อมาจะมีอาการอ่อนแรงของแขนขา ซึ่งจะค่อยๆเป็นมากขึ้นเรื่อยๆจนกระทั่งเป็นอัมพาต บางคนอาจมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดร่วมด้วย

เมื่อไรควรไปพบแพทย์

ผู้ที่มีอาการปวดหลัง ควรไปพบแพทย์โดยเร็วเมื่อมีอาการ
1. ปวดร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่งร่วมด้วย
2. เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
3. ปวดหลังนานเกิน 2 สัปดาห์ หรือเป็นๆหายๆเรื้อรัง

แพทย์จะทำอะไร

แพทย์อาจทดสอบโดยการให้คนไข้เหยียดขาตรงตั้งฉาก ถ้าหากมีการกดทับถูกรากประสาทจริง คนไข้จะไม่สามารถทำได้
นอกจากนี้แพทย์อาจต้องตรวจเอกซเรย์กระดูกสันหลัง หรือตรวจพิเศษอื่นๆ ถ้าเป็นโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนไม่รุนแรง อาจรักษาด้วยการให้คนไข้นอนพักบนที่นอนแข็งตลอดวัน ประมาณ 1 สัปดาห์ อาจให้ยาแก้ปวดพาราเซตามอล ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ ซึ่งใช้รักษาอาการข้ออักเสบ(ยานี้อาจทำให้เกิดโรคกระเพาะอักเสบหรือเป็นแผลได้) ยาคลายกล้ามเนื้อ
ถ้าหากไม่ได้ผลอาจต้องรักษาด้วยวิธีกายภาพบำบัด เช่น การนวด การดึงหรือถ่วงที่เชิงกราน การกระตุ้นปลายประสาทด้วยไฟฟ้า เป็นต้น



ถ้าหากทำทุกวิธีแล้วยังไม่ทุเลา อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดแก้ไข ซึ่งมักจะได้ผลดี

โดยสรุป อาการปวดหลังส่วนใหญ่เกิดจากโรคปวดกล้ามเนื้อหลังและกระดูกสันหลังเสื่อมเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้ามีอาการปวดร้าวลงขาร่วมด้วยก็พึงสงสัยว่าอาจเกิดจากหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน การรักษาอย่างถูกต้องเสียแต่เนิ่นๆ และการดูแลตนเองอย่างจริงจังจะช่วยให้หายขาดได้

การดูแลรักษาตนเอง
ทุกครั้งที่มีอาการปวดหลัง จะต้องสังเกตว่ามีอาการปวดร้าวลงมาที่ขาข้างใดข้างหนึ่งร่วมด้วยหรือไม่
ถ้าไม่มี ก็อาจเกิดจากโรคปวดกล้ามเนื้อหลัง (สำหรับคนอายุน้อย) หรือกระดูกสันหลังเสื่อม (สำหรับผู้สูงอายุ) ควรดูแลรักษาตนเองดังนี้
1. หลีกเลี่ยงอิริยาบถที่ทำให้ปวดหลัง เช่น การก้มลงยกของ การอุ้มเด็กหรือแบกของหนัก การนอนบนที่นอนนุ่มเกินไป การนั่งหรือยืนตัวงอ ตัวเอียง หรือการใส่รองเท้าส้นสูง เป็นต้น
2. ถ้ายังไม่ทุเลาให้ใช้ยาหม่อง หรือน้ำมันระกำทานวดหรือประคบด้วยน้ำร้อน หรือใช้นิ้วมือคลึงนวด
3. ถ้ายังไม่หายให้กินยาแก้ปวดพาราเซตามอล ครั้งละ 1-2 เม็ด ซ้ำได้ทุก 6 ชั่วโมง
4. ถ้ามีอาการนานเกิน 2 สัปดาห์ หรือเป็นๆหายๆเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์


แต่ถ้ามีอาการปวดร้าวลงมาที่ขาร่วมด้วย ก็ควรจะรีบปรึกษาแพทย์ ถ้าหากแพทย์ตรวจพบว่าเป็นหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน นอกจากรับการรักษาจากแพทย์ (เช่น กินยา ทำกายภาพบำบัด) แล้ว ก็ควรปฏิบัติตัวดังนี้
1. นอนพักบนที่นอนแข็งหรือบนพื้นแข็ง โดยเฉพาะในระยะที่มีอาการมาก ควรนอนพักตลอดวัน(ลุกเฉพาะช่วงกินอาหารและเข้าห้องน้ำ) สัก 2-3 วัน การนอนจะลดแรงกดดันที่มีต่อหมอนรองกระดูกให้เหลือน้อยที่สุด (การนั่งจะมีแรงกดดันมากที่สุด)
2. หลีกเลี่ยงอิริยาบถที่ทำให้ปวดหลัง
3. เมื่ออาการทุเลาแล้ว ให้บริหารกล้ามเนื้อหลังให้แข็งแรง โดยขอให้แพทย์ผู้รักษาสอนท่าบริหารที่เหมาะกับคนไข้แต่ละราย
 

ข้อมูลสื่อ

184-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 184
สิงหาคม 2537
แนะยา-แจงโรค
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ