• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ใส่ฟันปลอมทั้งปากอย่างไรให้สบาย

ใส่ฟันปลอมทั้งปากอย่างไรให้สบาย
 

ฟันปลอมทั้งปากในที่นี้ หมายถึง ฟันปลอมชนิดถอดได้ที่มีโครงหรือฐานเป็นพลาสติก หรือโลหะร่วมกับพลาสติก และมีฟันเป็นพลาสติก ที่เรียกกันว่า full denture ในทางทันตกรรมโดยมากแล้วผู้ที่จะใช้ฟันปลอมแบบนี้ มักจะเป็นผู้สูงอายุที่สูญเสียฟันธรรมชาติไปหมดแล้ว และประสงค์ที่จะได้ฟันปลอมมาทดแทน แทนการใช้เหงือกเคี้ยวอาหาร
ก่อนที่จะไปถึงวิธีการใช้ฟันปลอมชนิดนี้ ต้องขอตั้งเงื่อนไขไว้เบื้องแรกก่อนว่า ผู้ป่วยได้รับการทำฟันปลอมมาอย่างถูกต้อง ด้วยเทคนิคการทำที่ดีแล้ว แต่ใช่ว่าผู้ป่วยจะสามารถหรือได้รับความพอใจจากการใช้ฟันปลอมชนิดนี้โดยทันที ผู้ป่วยจำเป็นจะต้องผ่านขั้นตอนการการเรียนรู้ และฝึกฝนวิธีการใช้ฟันปลอมสักระยะหนึ่งก่อนจึงจะเห็นผลเป็นที่พอใจ


ขั้นตอนแรกที่ต้องเรียนรู้ คือ ฟันปลอมชนิดนี้ใช้แทนฟันธรรมชาติไม่ได้ นั่นคือประสิทธิภาพในการใช้งานไม่ดีเท่าฟันธรรมชาติ เช่น ฟันธรรมชาติสามารถใช้บดเคี้ยวด้วยแรง 22 กิโลกรัม แต่ฟันปลอมชนิดนี้ใช้แรงบดเคี้ยวได้ไม่เกิน 7 กิโลกรัม (ถ้ามากกว่านี้จะเป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อที่รองรับฟันปลอม)
ดังนั้นอาหารที่กินเมื่อใช้ฟันปลอมจึงต้องมีการปรับให้เหมาะสม โดยอาจจะตัดให้เป็นชิ้นเล็กๆ ก่อนใส่ปาก หรือใช้ช้อนเล็กลง เช่น ใช้ช้อนชาแทนช้อนโต๊ะ อาหารเหนียวๆก็ต้องละเว้นด้วย เป็นต้น
ขั้นต่อมาคือ ความเข้าใจต่อปฏิกิริยาของช่องปากต่อฟันปลอมชุดใหม่ (อาจจะเป็นชุดแรกหรือชุดที่ 2, 3, ...) อันได้แก่

ก. ความรู้สึกคับปากคับลิ้น เหมือนอมของชิ้นใหญ่ๆไว้ในปาก ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ บางคนอาจเกิดอาการขย้อนอยากอาเจียน กลืนน้ำลายลำบาก ก็ขอให้อดทนใส่ไปสัก 2-3 สัปดาห์ก็จะเคยชิน แล้วความรู้สึกที่ว่านี้จะหายไปเอง
พยายามมองถึงข้อดีของฟันปลอมไว้ให้มาก เช่น ถ้าส่องกระจกเปรียบเทียบดูลักษณะใบหน้าขณะที่ถอดกับใส่ฟันปลอม จะเห็นความแตกต่างชัดเจนว่าเมื่อถอดฟันปลอมออกใบหน้าจะดูเหี่ยวย่น มุมปากจะตก น้ำลายก็จะยืดออกจากมุมปากง่าย ยิ่งเวลายิ้มก็ไม่ต้องพูดถึงเลยว่าน่าประทับใจเพียงใด
ครั้นเอาฟันใส่เข้าไป ใบหน้าจะดูอูมตึงขึ้นมา เหมือนตอนที่ยังมีฟันธรรมชาติอยู่ (ลองหยิบรูปถ่ายเก่าๆมาเปรียบเทียบดูบ้างก็ดี) พอยิ้มสักหน่อยก็จะแลดูสดชื่นจากความสวยงามของฟันปลอมที่ทั้งขาว และเรียงตัวเป็นระเบียบเรียบร้อย ย่อมเป็นกำลังใจให้ยอมรับฟันปลอมได้อีกโขทีเดียว


ข. น้ำลายออกมาในระยะแรก เนื่องจากฟันปลอมที่ใส่ใหม่ทำให้ประสาทสัมผัสในปากแปลความรู้สึกเสมือนเป็นอาหารที่อมอยู่ น้ำลายจึงไหลออกมาเพื่อย่อยอาหาร ซึ่งอาจแก้ไขได้โดยกลืนน้ำลายนั้นลงไป อาจจะบ่อยสักหน่อย แต่ถ้าผ่านสัปดาห์แรกไปได้ก็จะค่อยๆดีขึ้นเอง หรือถ้าลำบากใจในการกลืนน้ำลายด้วยความรู้สึกผะอืดผะอม ก็ให้ใช้ลูกอมที่ชอบช่วยก็ได้ โดยอมลูกอมนั้นในปาก แล้วค่อยกลืนน้ำลาย คงจะง่ายขึ้น ถือเป็นอุบายในการฝึกให้ “ติดฟันปลอม”


ค. พูดไม่ค่อยชัด โดยเฉพาะเวลาออกเสียง ส, ซ, ช อันนี้ก็เช่นกัน ต้องหมั่นฝึกพูดเมื่อมีฟันปลอมอยู่ในปาก อาจซุ่มฝึกฝนในห้องรโหฐาน เช่น ห้องนอน หรือห้องน้ำ ด้วยการอ่านหนังสือที่ชอบ โดยอ่านช้าๆ เสียงดังสักหน่อย ลิ้นจะรู้เองว่าควรจะเคลื่อนไหวอย่างไรจึงจะให้เสียงชัด เช่นเดียวกับริมฝีปาก แก้ม ก็จะเคยชินไปเองทั้งระบบ
ที่สำคัญคือ เมื่อยังพูดได้ไม่เก่ง ควรหลีกเลี่ยงการพบปะเพื่อนฝูงหรือญาติที่มีนิสัยช่างสังเกต จับผิดและชอบล้อเลียนหรือแซวให้เรารู้สึกประหม่า


บางคนต้องล้มเหลวในการฝึกใช้ฟันปลอมชนิดนี้ เพราะสำคัญผิดว่าพอได้ฟันปลอมมาในวันแรกก็จะทำให้พูดชัดขึ้นเลยทันที ก็ไปกะเกณฑ์ให้ทันตแพทย์ทำให้เสร็จทันใช้งานแต่งงานลูกบ้างหลานบ้าง แล้วยังออกปราศรัยบนเวทีด้วยในฐานะเจ้าภาพเลยพาลให้เสียหน้า จึงเกิดความแค้นเคืองเจ้าฟันชุดใหม่จนเลิกใส่ไปเลย

 

ข้อมูลสื่อ

188-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 188
มกราคม 2537