• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การครอบฟัน (ตอนจบ)

การครอบฟัน (ตอนจบ)

ในฉบับที่แล้วผมได้เขียนถึงเรื่องการทำครอบฟันไปแล้ว และได้บอกว่าจะเขียนถึงเรื่องวัสดุที่ใช้ในการทำครอบฟัน เพื่อให้คนที่จะทำครอบฟันได้ทราบและสามารถเลือกได้ หรืออย่างน้อยก็มีส่วนในการตัดสินใจร่วมกับทันตแพทย์ที่รักษาท่านก็ยังดี


การทำครอบฟันฟันหน้าเราต้องทำการพิจารณาเลือกใช้วัสดุที่มีสีเหมือนธรรมชาติเป็นอันดับแรก เพื่อความสวยงาม ซึ่งมีให้เลือกดังนี้

1. พลาสติกหรืออะคริลิก วัสดุชนิดนี้มีความสวยงามดี ทั้งสีสัน และความแวววาว สดใสคล้ายฟันธรรมชาติ แต่มีข้อเสียคือ มีความคงทนน้อย อายุการใช้งานประมาณ 5 ปี ปัจจุบันจัดเป็นวัสดุสำหรับทำเป็นครอบฟันชั่วคราว

2.พอร์ซเลน (porcelain) ล้วนๆ ซึ่งมีศัพท์เทคนิค เรียกว่า porcelain full baked เป็นวัสดุที่มีความสวยงามดีและคงทนพอใช้ แต่มีความเปราะ แตกหักง่ายถ้าถูกกระทบแรงๆ จึงมักจะไม่เป็นที่นิยมมากนักอาจพิจารณาใช้ได้บ้างในรายที่มีการสบฟันแบบมีแรงกระทบน้อยๆ ความทนทานมีมากกว่าอะคริลิก

3. โลหะ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม

ก. โลหะผสมชนิดที่ไม่มีทองเป็นส่วนผสม (Non-precious allay) ซึ่งมีส่วนผสมคือโครเมียม Chromium) เบริลเลียม(beryllium) และโคบอลต์(cobalt) ผสมกันเป็นโลหะผสมที่มีคุณสมบัติแข็งแกร่ง ทนแรงบดเคี้ยวได้ดี แต่สีไม่สวยเหมือนฟันธรรมชาติ คือเป็นสีเงินวาว เหมือนสเตนเลส จึงนิยมใช้ในฟันกรามใหญ่ซึ่งมองไม่ให้เวลาพูดหรือยิ้ม นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นโครงของพอร์ซเลน เพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับพอร์ซเลน ดังจะกล่าวต่อไปในหัวข้อ 4

ข. โลหะผสมชนิดที่มีทองเป็นส่วนผสม(Gold allay) ซึ่งแบ่งเป็นหลายชนิดตามสัดส่วนของทองที่ผสมเข้าไป ได้แก่
(1) Palladium base allay (แพลเลเดียม) ซึ่งมีทองผสมอยู่ร้อยละ 2 โดยมีแพลเลเดียมเป็นส่วนประกอบหลัก
(2) Semi-precious allay มีทองผสมอยู่ประมาณร้อยละ 50 โดยผสมกับโลหะเงิน และแพลทินัม
(3) Precious allay มีทองผสมอยู่ร้อยละ 85 ดังภาพที่ 1 ด้านล่าง

                 

4. พอร์ซเลนที่ยึดอยู่บนฐานโลหะผสม(หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่ามีโครงเป็นโลหะผสม)ดังภาพที่ 2

                           

ตรงลูกศรชี้ ครอบฟันยังแบ่งออกได้เป็น 2 พวกใหญ่ๆ ตามชนิดของโลหะผสมที่ใช้ทำเป็นโครงของมัน เช่น ในข้อ 3ก. และ 3ข. ทั้งนี้เพื่อแก้จุดอ่อนที่เปราะและแตกง่ายของพอร์ซเลน ดังได้กล่าวแล้วในข้อ 2 การที่มีโลหะหลายชนิดเป็นโครงซึ่งบางอย่างก็มีทองเป็นส่วนผสม บางอย่างก็ไม่มีทองเป็นส่วนผสม ทำให้คุณสมบัติของครอบฟันชนิดนี้แตกต่างกันออกไปตามคุณสมบัติของโลหะนั้นๆ ทั้งในด้านสีสันและความแข็งแรง ซึ่งจะขออธิบายกว้างๆเป็น 2 กรณี คือ

ครอบฟันที่มีโครงเป็นโลหะผสมที่ไม่มีทองปนอยู่เลย จะมีสีสันด้อยกว่าและโอกาสเกิดการกะเทาะร่อนออกมาของพอร์ซเลนจากโครงโลหะก็มีมากกว่า
ส่วนครอบฟันที่มีโครงเป็นโลหะผสมที่มีทองปนอยู่ จะมีสีสันดีมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับปริมาณทองคำที่ผสมเข้าไป ยิ่งมีทองมากสีก็ยิ่งดีคือคล้ายฟันธรรมชาติมาก รวมทั้งการยึดเกาะระหว่างพอร์ซเลนกับโครงโลหะก็ยิ่งดีเมื่อมีเนื้อทองอยู่มาก

5. อินเซอแรม(Inceram) เป็นครอบฟันชนิดใหม่สุดในตลาดบ้านเรา นิยมทำในฟันหน้า เพราะเป็นพอร์ซเลนชนิดพิเศษที่มีความแข็งแกร่งกว่าพอร์ซเลนล้วนๆ (Porcelain full baked) สีสันดีมาก ใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติมากกว่าครอบฟันชนิดอื่นๆ เนื่องจากไม่ใช้โครงเป็นโลหะซึ่งทึบแสง แต่เป็นโครงที่ทำด้วยอะลูมิเนียมออกไซด์ ซึ่งมีความทึบแสงน้อยกว่าโลหะค่อนข้างมาก แต่ความแข็งแกร่งสู้โลหะไม่ได้ จึงไม่นิยมทำในฟันซี่ในที่ต้องการความคงทนต่อแรงบดเคี้ยว


ทั้งหมดนั้นก็คือ ครอบฟันชนิดต่างๆ จำแนกตามชนิดของวัสดุที่ใช้ทำครอบฟัน ซึ่งคงจะพอให้ประโยชน์แก่ท่านในการประกอบการตัดสินใจเลือก เมื่อมีความจำเป็นต้องทำครอบฟันของท่านเองหรือผู้ใกล้ชิด
ถ้าท่านไม่มั่นใจ ขออย่าได้ลังเลที่จะสอบถามเพิ่มเติมจากทันตแพทย์ของท่าน หรือขอดูตัวอย่างก่อนตัดสินใจ เนื่องจากการทำครอบฟันแต่ละครั้งต้องใช้เวลาและรายจ่ายค่อนข้างสูง อีกทั้งเมื่อทำเสร็จแล้วจะแก้ไขไม่ง่ายเลย

บางทีท่านอาจขอให้ทันตแพทย์ของท่านช่วยยึดครอบฟันที่ทำเสร็จแล้วเป็นการชั่วคราวก่อน เพื่อทดลองใช้สักระยะหนึ่งจนมั่นใจ แล้วจึงค่อยกลับไปให้ทันตแพทย์ทำการยึดถาวรต่อไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากเมื่อเกิดความผิดพลาดในระหว่างช่วงทดลองใช้อยู่ เพราะสามารถแก้ไขได้โดยง่าย ทันตแพทย์จะมีซีเมนต์ 2 ชนิดสำหรับยึดครอบฟันให้ติดกับตัวฟัน คือซีเมนต์แบบชั่วคราวและแบบถาวร


ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องยุ่งยากที่จะทำให้ท่านได้มั่นใจในครอบฟันที่ทำเสร็จนั้น

 

ข้อมูลสื่อ

184-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 184
สิงหาคม 2537