• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เกิดอะไรขึ้น! หลังจากเบียร์หรือเหล้าเข้าสู่ร่างกาย

เรื่องที่ผู้ดื่มควรตระหนัก เพราะท่านมีโอกาสทำลายชีวิตคน

เพียงชั่ววูบเดียวในคืนหนึ่ง คุณขวัญชัย บัวตะมะ ต้องกลายเป็นผู้พิการไปชั่วชีวิตเมื่ออายุเพียง 34 ปี แม้เหตุการณ์ได้ผ่านพ้นมา 2 เดือนแล้ว แต่ความปวดร้าวจากการสูญเสียยังตราตรึงในจิตใจของคุณขวัญชัยเรื่อยมา

คุณขวัญชัย
ทบทวนเหตุร้ายในคืนวันที่ 3 ตุลาคม 2543 เหตุเกิดประมาณตี 2 หลังจากงานกินเลี้ยงฉลองเงินเดือนออกกับเพื่อนร่วมงาน 4 คน ณ ร้านอาหารแห่งหนึ่งย่านถนนตลิ่งชัน- สุพรรณบุรี คุณขวัญชัยขับมอเตอร์ไซค์มุ่งหน้ากลับบ้าน

ในจังหวะที่เขากำลังกลับรถบนสะพานต่างระดับ ในทันใดเขารู้สึกถูกรถที่มาทางด้านหลังชนมอเตอร์ไซค์เสียหลักไกลไปบนขอบคอนกรีตของสะพานอย่างแรง โดยขาซ้ายของเขาครูดไปตลอดระยะทางราว 50 เมตร ก่อนที่ร่างของเขาจะร่วงหล่นลงจากสะพานแล้วตกลงไปในคูน้ำ

เมื่อสติกลับคืนมาใหม่ เขาพบว่าตัวเองลุกยืนไม่ได้ เพราะขาข้างซ้ายขาดหายไป จึงได้ตะโกนร้องขอความช่วยเหลือ อาสาสมัครกู้ชีพได้นำร่างอันบอบช้ำของเขาพร้อมขาซ้ายส่วนที่ขาดจากร่างตั้งแต่ระดับเหนือหัวเข่าลงมาส่งมาส่งที่โรงพยาบาลเอกชนที่อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ

แทนที่เขาจะได้รับการต่อขาในทันที กลับถูกปฏิเสธการรักษาที่เหมาะสม เขาถูกนำส่งโรงพยาบาลรัฐอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งก็ปฏิเสธการรักษาอีกเช่นกัน

จนในที่สุด 8 ชั่วโมงหลังเกิดเหตุ เขาได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี แต่ก็สายเกินกว่าที่แพทย์จะสามารถต่อขาที่ขาดเสียแล้ว

เมื่อถูกถามว่าอะไรคือสาเหตุของความสูญเสียถึงเพียงนี้ คุณขวัญชัยตอบว่า

“คนดื่มเหล้าเป็นอย่างนี้ทุกคน นาทีนั้นมั่นใจว่าไม่เมา มั่นใจว่ามีสติขับรถได้ จริง ๆ มันเป็นแค่การมองจากข้างนอกและเป็นความรู้สึกตนเอง แต่เอาเข้าจริงเราควบคุมตัวเองไม่ได้เต็มร้อย”


จากความผิดพลาดครั้งนี้ คุณขวัญชัยไม่เพียงกลายเป็นคนพิการ แต่ยังตกงาน ทำให้เสียรายได้เดือนละ 6,500 บาท รถมอเตอร์ไซค์ที่กำลังผ่อนถูกยึดคืนหลังจากที่เสียค่าซ่อมไป 4,000 บาท เป็นหนี้ค่ารักษาพยาบาลประมาณ 147,000 บาท ... 20 เท่าของเงินเดือน ภรรยาของเขาก็ตกงาน เพราะต้องคอยเฝ้าปรนนิบัติคุณขวัญชัย

น่าเสียดายที่วันเวลาไม่อาจย้อนกลับ หาไม่แล้วคุณขวัญชัยคงไม่ดื่มเหล้าในคืนนั้น เขากล่าวปิดท้ายเตือนสติคนที่ยังมีโอกาสกว่าว่า

“ถ้าคนที่สูญเสียหรือสูญเสียไม่มาก ไม่เข็ดหรอก แต่ถ้าคุณสูญเสียแล้วคุณจะเสียใจ แต่มันก็ไม่ทำให้อะไรดีขึ้น มันสายเกินไปสำหรับที่จะพูดว่า ผมเลิกดื่มเหล้า ผมเลิกเมาแล้วครับ”

เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทั้งหลาย เป็นที่รู้จักกันดีและดื่มกันอย่างแพร่หลายมาก ทั้งที่รู้ว่ามีโทษมากมาย แต่ก็ติดกันทั่วบ้านทั่วเมือง สร้างผลกำไรมหาศาลให้กับผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และรัฐเองก็ได้ภาษีเป็นกอบเป็นกำ

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่แพร่หลายในบ้านเรา คือ เหล้าและเบียร์ ส่วนไวน์ก็เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในบ้านเรา นอกจากนี้ยังมีอีกหลายรูปแบบ

โรคและความตายที่มากับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

อุบัติเหตุบนท้องถนน ผู้ขับขี่ยานพาหนะที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของอุบัติเหตุทางจราจร ทำให้สูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน

ฆ่าตัวตาย
พบว่าผู้ที่ฆ่าตัวตายมีมากที่ดื่มเหล้าก่อนที่จะฆ่าตัวตาย เนื่องจากเหล้าทำให้ความกลัวและความยับยั้งชั่งใจเสียไป บางคนมีเรื่องกลุ้มใจเพียงเล็กน้อย พอเหล้าเข้าปากแล้วการตัดสินใจชั่ววูบก็เกิดขึ้น

การฆาตกรรม ตามผับ บาร์ แหล่งเริงรมย์ที่มีการดื่มเหล้ากันเป็นกิจวัตรมีข่าวคราวการฆ่ากันตายเกิดขึ้นเสมอ บางคนแค่มองหน้ากันก็ชักปืนยิงแล้ว ซึ่งหากไม่เมาไม่มีทางทำอย่างนั้นได้เลย ศึกชิงนาง เดินเบียดกระแทกกัน เหยียบเท้า หรือเจอคู่ปรับเก่าก็ฆ่ากันได้เมื่อเมา บางคนตอนไม่เมานิสัยดีมาก เรียบร้อยมาก พอดื่มน้ำเมานิสัยเปลี่ยนทันที บางคนเลยเรียกน้ำเปลี่ยนนิสัย จากคนดีกลายเป็นโจรหรือเป็นฆาตกรไปเลย

เกิดการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ เนื่องจากแอลกอฮอล์ระงับความอายและความกลัว ขาดการควบคุมสติ จึงเกิดขึ้นเป็นปัญหาของสังคมตามมามากมาย

โรคเอดส์
เหล้าทำให้ขาดสติ ขาดการควบคุมอารมณ์และขาดความกลัว มีคนติดโรคเอดส์เป็นจำนวนมาก สาเหตุมาจากขาดการป้องกันในขณะที่มึนเมา เมื่อเป็นแล้วมาเสียใจภายหลัง ซึ่งก็สายไปแล้วครับ

สารเสพติด
ชนิดอื่นๆ เช่น ยาบ้า ยาอี ยาเค เฮโรอีน กัญชา สารพัดสารเสพติดมาตามหลัง เมื่อเครื่องดื่มแอลกฮอล์ควบคุมสติสัมปชัญญะของเราได้ มัจจุราชตัวอื่นๆ ก็เริ่มเข้ามา

ภาวะตับวาย
หรือตับแข็ง จากการทำลายตับโดยแอลกอฮอล์ ทำลายทีละเล็กทีละน้อยจนเสียการทำงานอย่างถาวร ไม่มีทางรักษา มีผลร้ายเกิดขึ้นกับร่างกายมากมายล้วนแล้วแต่หนัก ๆ และอันตรายทั้งสิ้น

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหลายทำมาจากอะไร

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำมาจากแอลกอฮอล์ชนิดที่เรียกว่า เอทิลแอลกอฮอล์ (ethyl alcohol) หรือ เอทานอล (ethanol) แอลกอฮอล์ชนิดที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์ที่ใช้ล้างแผลหรือที่ใช้ในอุตสาหกรรม ที่เรียกว่า เมทิลแอลกอฮอล์ (methyl alcohol) หรือ เมทานอล (methanol) แอลกอฮอล์ชนิดนี้ดื่มไม่ได้ อันตรายถึงตาย แต่ก็มีข่าวออกมาเป็นระยะว่ามีคนแอบเอาไปผสมอยู่ในสุรา มีอาการล้มป่วยและเสียชีวิตกัน ดังนั้นต้องระวังให้มาก ๆ ทางที่ดีอย่าเสี่ยงเลยครับ

เอทิล แอลกอฮอล์ หรือเอทานอลนี้ เกิดขึ้นจากการหมักส่วนผสมที่มีน้ำตาลหรือแป้งด้วยยีสต์ หลังจากหมักและกลั่นแล้วจะเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดต่างๆ เช่น เบียร์ ไวน์ เหล้าชนิดต่างๆ

ฉะนั้นความรุนแรงของความเมา ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณแอลกอฮอล์ที่ผสมอยู่ครับ ส่วนรสชาติก็แล้วแต่วิธีการผลิต และชนิดของส่วนผสมอื่นๆ ปกติแล้วเราสามารถดูเปอร์เซ็นต์ของแอลกอฮอล์ที่มีอยู่ข้างกระป๋อง หรือข้างขวด ซึ่งเขาจะระบุไว้ เว้นแต่เหล้าหรือเครื่องดื่มที่ทำกันเอง ต้องใช้ความรู้สึกของนักชิมวัดเอา

พฤติกรรมของคนติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
1. ประสบอุบัติเหตุบ่อยครั้ง
2. ขาดความสนใจในการทำงาน หรือการเรียน หรือการทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ผลการเรียนตกต่ำ
3. ขาดงาน หรือขาดเรียนบ่อย ๆ โดยไม่มีเหตุอันควร คือหายไปเฉย ๆ โดยที่ไม่บอกกล่าวล่วงหน้า
4. พฤติกรรมลับ ๆ ล่อ ๆ ต่อต้านสังคม
5. ดื่มเหล้าในปริมาณที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่ไม่เมา
6. หยุดดื่มน้ำเมาไม่ได้กระสับกระส่าย
7. ชอบพูดโกหกปฏิเสธเกี่ยวกับการดื่มน้ำเมา
8. ไม่สนใจการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์
9. มักเข้าร่วมการก่อเหตุ ทะเลาะวิวาท ความรุนแรง
10. อารมณ์แปรปรวน

ผลต่อร่างกายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
แอลกอฮอล์เมื่อเข้าปาก ไหลลงสู่กระเพราะอาหารและลำไส้ จะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องย่อยเลยครับ ยิ่งถ้าผสมคาร์บอนหรือแก๊สฟู่ ๆ การดูดซึมจะรวดเร็วขึ้น หรือหากดื่มขณะท้องว่าง การดูดซึมก็จะรวดเร็วขึ้นมากกว่าขณะมีอาหารอยู่เต็มกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะอาหารประเภทเนื้อ ๆ และมัน ๆ จะทำให้การดูดซึมช้าลง แต่อย่างไรก็ตามร่างกายเราก็ดูดซึมจนหมดไม่เหลือครับ

เมื่อแอลกอฮอล์ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจะเข้าสู่กระแสเลือด ในขณะที่ตับจะทำหน้าที่ทำลายแอลกอฮอล์ถ้าดื่มเร็วกว่าอัตราที่ตับจะทำลายได้ ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดจะสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่หากดื่มช้ากว่าอัตราที่ตับทำลายได้ ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดจะไม่สูงลำไม่เมาครับ

แต่ถ้าหากว่าเราดื่มด้วยอัตราที่เร็วกว่าอัตราที่ตับจะทำลายได้ ปริมาณแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ อาการเมาจะมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน แต่ทุกครั้งที่ดื่มรับรู้ไว้เลยว่าตับต้องทำงานหนักแน่นอนเหมือนหนึ่งว่าดื่มสารพิษนั้น ตับก็เป็นผู้กำจัดสารพิษ หากตับหยุดทำงานเมื่อไร คงตายแน่ครับ

จากการศึกษาพบว่าอาการต่าง ๆ ของการเมา จนกระทั่งเสียชีวิต มีความสัมพันธ์กับปริมาณแอลกอฮอล์ในกระแสเลือด กล่าวคือ หากปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดประมาณร้อยละ 0.05 จะเริ่มมีอาการเมา เมื่อปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูงประมาณร้อยละ 0.03 จะมีอาการหมดสติไม่รู้สึกตัว ไม่ใช่อาการหลับนะครับ ในที่นี่หมายถึงหมดสติแบบที่เรียกว่าโคม่า

และจากการศึกษาพบว่าปริมาณแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดประมาณร้อยละ 0.35 ขึ้นไป มักจะเสียชีวิต (หมายเหตุ ร้อยละที่ว่านี้คือ ปริมาณแอลกอฮอล์เป็นกรัม ต่อเลือด 100 ซีซี) น้ำเมานี้จึงอันตรายไม่น้อย เวลาที่คนถูกมอมเหล้าหรือถูกบังคับให้ดื่มน้ำเมาปริมาณมาก ๆ ในเวลาอันสั้นจึงมีโอกาสเสียชีวิตได้โดยง่ายเพราะความไม่รู้ หรือโดยจงใจ เพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง พึงระวังไว้นะครับ

การป้องกันการติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัญหาระดับชาติ ระดับโลก มาจนถึงระดับชุมชนครอบครัวและปัญหาส่วนบุคคล ใครมีหน้าที่อะไรในบทบาทไหน ก็คงต้องทำและรณรงค์อย่างจริงจัง การให้หมดไปไม่มีทางเป็นไปได้ แม้แต่ไม่ให้ปริมาณการดื่มมากขึ้น ยังทำได้ยากเลยครับ
ในส่วนของครอบครัวหรือบุคคล มีข้อแนะนำดังนี้ครับ
ไม่นำเข้ามาในบ้าน หรือหากมีให้ซ่อนไว้ไกลตา
• สร้างค่านิยมปฏิเสธน้ำเมาในเยาวชนลูกหลานในบ้าน
• ผู้ใหญ่ไม่ควรดื่มเป็นตัวอย่าง เมื่ออยู่ต่อหน้าเด็ก ๆ
• เมื่อไปงานเลี้ยง ขอน้ำส้มแทน เรียนรู้การปฏิเสธอย่างสุภาพ
วิพากษ์วิจารณ์สื่อที่โฆษณาชวนเชื่อการดื่มบ่อย ๆ จนเยาวชนเห็นคล้อยตามว่าเป็นสิ่งไม่ดี จนฝังเข้าไปในความรู้สึกส่วนลึก
• สำหรับท่านที่ยังดื่มบ่อย ๆ ก็เพลาลงให้น้อยลง ๆ จนหยุดไปในที่สุด ต้องมีกำลังใจที่เข้มแข็งมีสัญญากับตัวเอง

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับสุขภาพ
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลต่อสุขภาพทางร่างกายและจิตใจมากมาย จนเรียกได้ว่าแทบไม่มีดีเลย มีผลร้ายต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกายในทุกระดับ มากบ้าง น้อยบ้าง ซึ่งในส่วนสำคัญที่จะกล่าวถึงมีเป็นผลต่อเนื่องจากการกดทำงานของสมองและระบบประสาทส่วนกลาง กดการทำงานของระบบหายใจ กระตุ้นการทำงานของหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือทำให้การควบคุมการทำงานของสมองเสียไปที่สำคัญ เช่น
1. เสียความสามารถในการทำงานที่ซับซ้อน เช่น การขับรถ
2. หน้าด้านขึ้น หมดความละอาย
3. ความสนใจ สมาธิแย่ลง
4. ความจำเสื่อม
5. สูญเสียการทรงตัว การเคลื่อนไหว
6. การตอบสนองของร่างกายต่อการกระตุ้นช้าลง
7. มีอารมณ์รุนแรง ขาดการควบคุม
 

ปริมาณของแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มต่างๆ
ชนิดของเครื่องดื่มปริมาณของ
เอทิลแอลกอฮอล์
(ดีกรี)
เบียร์
เท (ale)
เบียร์ทำในประเทศไทย
เหล้าองุ่น
เชอรี่และพอร์ต
สุรา (แม่โขง, หงส์ทอง)
วิสกี้ บรั่นดี ยิน
รัม
4-6
6-8
06-12
10-15
15-20
20-35
40-50
50-60


ฉะนั้นการที่ทุกคน ทุกหน่วยงาน ทุกระดับของสังคม มีการตระหนักถึงภยันตรายและผลกระทบทั้งทางด้านบุคคล สุขภาพ สังคม เศรษฐกิจและประเทศชาติ ร่วมกันลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ป้องกันโรคและภยันตรายจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากปล่อยไว้และยังเป็นอยู่เช่นทุกวันนี้ คนป่วย คนบาดเจ็บ และคนตาย เนื่องมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะมากขึ้นครับ

เปิดตัว เครือข่าย “เหยื่อเมาแล้วขับ”

“เราไม่เคยรังเกียจคนเมา แต่สิ่งที่รังเกียจคือ พฤติกรรมเมาแล้วขับรถ เมาแล้วไม่รับผิดชอบ”


5 ปีที่แล้วที่ชมรม “เมาไม่ขับ” ได้รณรงค์สร้างจิตสำนึก ให้คนเมาไม่ขับรถ เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุบนท้องถนน แต่สถิติอุบัติเหตุที่มีสาเหตุมาจากการเมาสุราแล้วขับรถก็ยังไม่ได้ลดน้อยลง แต่กลับเพิ่มขึ้นทุกปี

ตัวเลขอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ปี พ.ศ. 2544 ที่ผ่านมา มีผู้บาดเจ็บด้วยอุบัติเหตุจราจร 65,663 ราย และเสียชีวิต 788 ราย โดยมีสุราเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บจราจรในช่วงดังกล่าวถึงเกือบครึ่งหนึ่ง คือ ร้อยละ 41

                                    

การรุกก้าวต่อไปของการรณรงค์เรื่องเมาไม่ขับ ณ วันนี้กำลังปรับการรณรงค์ใหม่ เป็นการลุกขึ้นมารวมตัวของกลุ่ม เหยื่อที่ประสบอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ ที่มีความตั้งใจว่า

“ควรจะตั้งชมรมเหยื่อจากคนเมาแล้วขับขึ้นมา เพื่อสร้างจิตสำนึกให้เกิดในสังคมให้ได้ว่า “เมาแล้วขับ สร้างภัยพิบัติให้กับเหยื่อผู้บริสุทธิ์” เพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้ในวงกว้าง ถึงผลของการเมาแล้วขับ ว่าได้สร้างความทุกข์ให้กับเหยื่อและสังคของเหยื่ออย่างไร”

โดยมีสมาชิกผู้ก่อตั้ง คือ คุณภาณุมาศ สุขอัมพร ดาราหนุ่มคนหนึ่งที่เคยโด่งดังเมื่อ 20 ปีก่อน แต่หลังจากประสบอุบัติเหตุเมื่อปีใหม่เพราะคนขับรถที่เมาแล้วขับชีวิตก็เปลี่ยนไป วันนี้เขามาเป็นตัวตั้งตัวตีของเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ

คุณคริสโตเฟอร์ เบญจกุล ดารานิสัยดีที่ลงไปช่วยเหลือคนประสบอุบัติเหตุบนท้องถนนแต่กลับประสบอุบัติเหตุเองเพราะคนเมาแล้วขับ จนต้องรักษาตัวตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2542 ถึงปัจจุบัน และคุณภัทรพันธุ์ กฤษณา นักศึกษาหนุ่มที่ต้องพิการจากอุบัติเหตุเพราะการช่วยเหลือเบื้องต้นที่ไม่ดีพอ

อุบัติเหตุของคนภาณุมาศจากการเมาแล้วขับเกิดขึ้นเมื่อ 18 ปีก่อน ส่วนของคุณคริส เกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีมานี้ โดยเหตุการณ์ยังเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

คนเมายังขับรถ คนบริสุทธิ์ยังตกเป็นเหยื่อ คนบาดเจ็บไม่ได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นอย่างดีพอ ถ้าไม่เสียชีวิตก็ต้องพิการตลอดชีวิต มีเหยื่อจำนวนมากที่เจ็บปวด ทุกข์ทรมาน และยังซุกซ่อนตัวในสังคม ถ้ายังปล่อยให้เป็นอย่างนี้ ภาพเดิม ๆ ก็จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก

ถ้าเราไม่ช่วยกัน อีกหน่อยคงไม่มีใครอยากช่วยใคร
เรื่องราวของคุณคริสโตเฟอร์ เบญจกุล ดาราหนุ่ม นิสัยดี ที่ตัดสินใจลงไปช่วยคนที่ประสบอุบัติเหตุบนท้องถนน เมื่อเกือบ 3 ปี ก่อน คงเป็นที่จดจำและประทับใจของคนในสังคม
“วันนั้นผมก็จำอะไรไม่ค่อยได้มาก นั่งรถมากับเพื่อน ก็เห็นไฟจากมอเตอร์ไซค์ ผมเป็นคนขี้สงสัย ก็บอกเพื่อนให้ช้าหน่อย จะดูว่าเกิดอะไรขึ้น พอเห็นแล้วก็บอกเพื่อนให้จอดรถจะลงไปช่วย เพื่อนถามว่า ทำไมต้องลงไปช่วยด้วยล่ะ ผมบอกว่าก็สงสารเขานี่ เขามาแค่ 2 คนเอง ไม่มีใครสนใจเขาเลย แล้วก็บอกเพื่อนไปตามรถพยาบาลมา แล้วก็บอกเขาว่าไม่ต้องกลัวนะ ไปตามรถพยาบาลมาแล้ว”
เพียงไม่กี่วินาทีที่ตัดสินใจลงไปช่วยคนในฐานะพลเมืองดี คนมีน้ำใจ ที่หาได้น้อยนักในสังคมเมือง คุณคริสต้องถูกรถชน จากคนขับที่เมาสุรา “โดยชนลอยไปทั้งตัว หัวสมองไปชนหลังคา แล้วก็ไม่รู้ตัวอะไรเลย”

จากวันนั้นนานถึงแปดเดือนที่คุณคริสต้องนอนเป็นเจ้าชายนิทราจากอุบัติเหตุพิการทางสมอง โดยมีครอบครัวเฝ้ารอคอยความหวัง กับการผ่าตัดครั้งแล้วครั้งเล่าจนฟื้น และรักษาตัวทำกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลมาตลอด 2 ปี

วันนี้คุณคริสกลับมาอยู่ที่บ้านโดยต้องไปทำกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลทุกวัน ยังต้องนั่งรถเข็นอยู่ เพราะมีปัญหาเรื่องกระดูกที่เข่า อาจจะต้องมีการผ่าตัดอีกครั้งหนึ่ง แต่วันนี้ก็ถือว่าดีกว่าเดิมมาก สามารถฟังเข้าใจ พูดสื่อสารได้ ได้กลับมาถ่ายรูป เล่นคอมพิวเตอร์อินเตอร์เน็ตอย่างที่ชอบ
ครั้งหนึ่งคุณคริสให้สัมภาษณ์ว่าอาจเสียใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น คืออาจจะเคยเสียใจ แต่ตอนนี้ไม่คิดแล้ว จำไม่ได้แล้ว คิดว่าก็ดีที่เราได้ช่วยคนอื่น เมื่อถามว่าเคยนึกโกรธคนที่เมาแล้วขับรถมาชนเราบ้างไหม คุณคริสบอกว่าไม่รู้ว่าโกรธแล้วได้อะไร

อยากฝากบอกอะไรกับคนที่เมาแล้วแล้วขับรถ ?
ถ้าเมาก็อย่าขับรถนะครับ นั่งรถแท็กซี่ก็ได้ครับ เสียเงินสักนิด ดีกว่าไปเสียเงินเยอะ อย่างผมนี่เสียเงินไปเป็นล้าน ๆ แล้วนะครับ ถ้าไปกันหลาย ๆ คน เวลาไปกินเหล้า ก็ให้จับไม้สั้นไม้ยาวยะครับ ถ้าใครจับได้ไม้สั้นก็ห้ามเมา ห้ามกินเหล้า เพราะจะต้องเป็นคนขับรถกลับ ถ้าเขากินเหล้าคนอื่นก็ต้องห้ามเขา อย่านั่งเฉย ๆ อย่างนี้ดีที่สุด

อยากพูดอะไรกับคนที่อาจจะตกเป็นเหยื่อเหมือนกัน ?
ก็อย่าเพิ่งท้อแท้นะครับ เรายังเป็นคนอยู่นะครับ ใจเย็นนะครับเราต้องหาทางที่ทำให้เราอาจจะหาย และจะหางานที่เราทำได้

ครอบครัวคุณคริสจะดูแลให้กำลังใจตลอดเลยใช่ไหมค่ะ ?
คุณพ่อ คุณแม่ และน้อง ทุกคนให้กำลังใจผมมากครับ เพื่อน ๆ ก็ให้กำลังใจครับ คุณแม่จะคอยพูดให้กำลังใจว่า เดี๋ยวก็หายนะ เดี๋ยวก็หายนะ ผมไปทำกายภาพบำบัดบอกว่าเจ็บ แม่ก็จะบอกให้พยายาม แม่จะพาไปว่ายน้ำเพื่อจะฝึกการยืดขา

กลับมาอยู่บ้านแล้ว เป็นอย่างไรบ้าง ?
กลับมาอยู่บ้านก็ดีครับ แต่ต้องไปทำกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลทุกวัน แต่ยังเดินไม่คล่องต้องใช้ที่ช่วยเดินเพราะจะมีปัญหาที่เข่ามีกระดูกงอกออกมา เดินขาตรงไม่ได้ ถ้าผ่าออกคงดีขึ้น อยู่บ้านถ้าว่าง ๆ ก็อ่านหนังสือ มีอะไรใครเอามาให้ก็อ่านหมด อ่านทุกหัวเลยครับ แล้วก็เล่นคอมพิวเตอร์ เล่นอินเตอร์เน็ต

ได้ถ่ายรูป เดินทาง ท่องเที่ยวอย่างที่ชอบบ้างหรือยัง ?
ถ่ายภาพก็ปกติครับ ก็ได้ไปซาฟารีเวิลด์ และเร็ว ๆ นี้คงได้ไปต่างจังหวัด (คุณคริสหันไปถามคุณแม่ว่าสงกรานต์นี้จะไปไหนหรือเปล่า) ช่วงสงกรานต์นี้คงไม่ได้ไปไหน กินบาบีคิวอยู่ที่บ้านครับ และก็อาจไปพัทยา เดือนหน้าไปเกาะพีพีกับภูเก็ต

คุณคริสมีความฝันอะไรที่อยากทำในอนาคตบ้าง ?

ก็ต้องรอให้หายก่อนครับ ถ้าหายนะครับก็อยากทำอะไรหลายอย่าง ผมอยากทำร้านอาหาร ร้านถ่ายภาพ อยากไปเรียนคอมพิวเตอร์กราฟฟิกให้จบจะได้มาช่วยในการถ่ายภาพด้วย เรียนพวกโปรแกรมเมอร์ก็ดีครับ เรียนในสิ่งที่เราชอบ เรื่องคอมพิวเตอร์ การถ่ายภาพ

อยากเชิญชวนให้คนมาร่วมเครือข่ายเมาแล้วขับไหม ?
อยากให้ทุกคนมาร่วมกิจกรรม จะได้ระลึกว่า ถ้าเมาแล้วขับ จะมีผลกระทบต่อหลายคนที่ต้องนั่งรถเข็นอย่างผมมาก ซึ่งมันจะไม่ดีเลยครับ ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ผมอยากให้เขาคิดว่าถ้าเพื่อน พ่อแม่เขาหรือลูกเขาต้องมานั่งรถเข็นอย่างผม เขาจะรู้สึกอย่างไรครับ

สุดท้ายคุณคริสเปรียบคนที่เมาแล้วขับเหมือนเป็นผู้ล่า “ถ้าเราไม่ให้มีผู้ล่า เราก็จะไม่โดนล่า และถ้าไม่มีผู้ล่า ก็ไม่มีใครต้องเป็นเหยื่อ” ผมชอบคำนี้มากเลยครับ

กิจกรรมและการรณรงค์ของเครือข่าย เหยื่อเมาไม่ขับ ที่กำลังจะเริ่มดำเนินการ
- จะมีการเดินและวีลแชร์รณรงค์เข้าพบนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้ส่งสัญญาณต่อเรื่องนี้อย่างจริงจัง (ในวันที่ 4 เมษายน)
- ให้มีการตรวจแอลกอฮอล์มากขึ้นโดยเฉพาะในถนนสายย่อยที่มักเกิดอุบัติเหตุบ่อย
- ให้มีการดูแลการโฆษณาสุราอย่างจริงจัง ให้โฆษณาขายสินค้าอย่างมีความรับผิดชอบ
- ให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลจริงจังในการบังคับใช้กฎหมายเรื่องสุรา
- การให้ความรู้ในเรื่องการช่วยเหลือเบื้องต้น (First aid) เพื่อผู้ประสบอุบัติเหตุได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นอย่างถูกวิธี
- ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวไปตามสถานศึกษาเพื่อให้ข้อมูลและสร้างจิตสำนึกที่ถูกต้อง ทั้งในเรื่องการเมาไม่ขับ และเรื่องอื่น ๆ เช่น ยาเสพติด
- เป็นการรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือผู้ที่เป็นเหยื่อจากการเมาแล้วขับด้วยกัน มีการสังสรรค์ แลกเปลี่ยน ปรับทุกข์ และรณรงค์ให้กลุ่มเหยื่อมีความตื่นตัวเข้ามาร่วมมือกัน รวมทั้งประสานพลังจากคนกลุ่มต่าง ๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมโดยมีเว็บไซต์เป็นช่องทางหนึ่งในการสื่อสาร

ชมรมเหยื่อเมาแล้วขับ ยินดีต้อนรับสมาชิกที่จะเข้าร่วมแสดงพลังในการรณรงค์เรื่องเมาไม่ขับ ทั้งคนที่เป็นเหยื่อ คนทั่วไป รวมทั้งคนที่เคยเมาแล้วขับที่จะมาร่วมกิจกรรม ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.maomaikup.com หรือ ชมรมเมาไม่ขับ โทร 0 – 2576 – 1515 หรือที่ สสส. โทร. 0 – 2298 – 0500

 

ข้อมูลสื่อ

276-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 276
พฤษภาคม 2545
นพ.สมชาญ เจียรนัยศิลป์