• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สาหร่ายอัดเม็ด : จำเป็นหรือที่จะต้องบริโภค

สาหร่ายอัดเม็ด : จำเป็นหรือที่จะต้องบริโภค
 

ทุกวันนี้สภาพการจราจรที่ติดขัด ความเป็นอยู่ที่แออัด และมลพิษทางอากาศต่างๆ ทำให้วิถีการดำรงชีวิตของคนในเมืองหลวงต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ภาพการร่วมโต๊ะกินอาหารร่วมกันในครอบครัวสำหรับอาหารมื้อเช้าแทบมองไม่เห็นแล้ว จะเห็นก็แต่ภาพของเด็กนักเรียนกินอาหารกันในรถขณะที่พ่อแม่พาไปส่งโรงเรียน
เมื่อความจำเป็นเร่งด่วน(ตามที่อ้างกัน)มากขึ้นทุกวัน ความพิถีพิถันในการเลือกอาหารเตรียมอาหารเพื่อให้ได้คุณค่าจึงเป็นไปได้ยาก ประกอบกับหลายคนอ้างว่าไม่มีเวลาออกกำลังกาย ทำให้สุขภาพของคนเราย่ำแย่ลงทุกวัน ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ “อาหารเสริมสุขภาพ” จึงเข้ามามีบทบาทอย่างมากในปัจจุบัน
เมื่อมีการแข่งขันทางการตลาดของอาหารเสริมสุขภาพหลายชนิด ผู้ขายอาหารเสริมแต่ละชนิดจึงพยายามกล่าวอ้างสรรพคุณต่างๆมากมายจนอาหารนั้นแทบจะกลายเป็น “อาหารวิเศษ” แต่เดิมผู้ขายจะเจาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักธุรกิจ หรือคนที่ค่อนข้างมีฐานะ แต่สมัยนี้เพราะเป็นธุรกิจที่มีผลกำไรมหาศาล ทำให้ผู้ขายจำนวนมากเล็งเป้ามาที่คนทุกระดับ แม้กระทั่งชาวนาชาวสวนที่อาจจะมีความรู้ในเรื่องโภชนาการน้อย หากไม่มีข้อมูลที่เป็นความจริงมานำเสนอ ต่อไปอาหารเสริมเหล่านี้อาจกลายเป็นเครื่องแสดงเศรษฐฐานะอย่างหนึ่งไปเลยก็ได้ ถ้าถึงเวลานั้นจริงๆคงมีประชาชนค่อนประเทศที่เข้าใจผิดและใช้เงินไปโดยเปล่าประโยชน์

การเริ่มต้นของสาหร่ายอัดเม็ด
สาหร่ายเป็นอาหารเสริมสุขภาพชนิดหนึ่งที่เป็นที่นิยม สาหร่ายนั้นเคยถูกมองว่าจะเป็นแหล่งโปรตีนเพื่อทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ทั้งนี้เพราะสามารถผลิตได้ในปริมาณมาก และมีปริมาณโปรตีนสูง
สาหร่ายจัดเป็นพืชที่มีคลอโรฟีลล์จึงสามารถสังเคราะห์แสงได้ สร้างอาหารได้ด้วยตัวเอง สาหร่ายประเภทที่นำมาเป็นอาหารของมนุษย์คือ สาหร่ายเซลล์เดียวที่เรียกว่า คลอเรลลา(Chlorella) และสาหร่ายหลายเซลล์ที่เรียกว่าสไปรูลินา(Spirulina) หรือที่รู้จักกันว่า สาหร่ายเกลียวทอง
สาหร่ายเหล่านี้จะถูกเลี้ยงด้วยอาหารที่มีส่วนผสมของสารเคมีที่มีคุณภาพสูง แล้วนำมาทำให้แห้งบดเป็นผงละเอียด แล้วอัดเม็ดซึ่งอาจจะมีการผสมเลซิตินหรือทำเป็นน้ำเชื่อมโดยผสมกับน้ำผึ้ง

คุณค่าทางโภชนาการ
สาหร่ายทั้งเซลล์เดียวและหลายเซลล์จัดว่าเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดี คือมีปริมาณโปรตีนคิดเป็นร้อยละ 60 ในขณะที่ถั่วเหลืองมีร้อยละ 37 เนื้อไก่ร้อยละ 34 เนื้อวัวร้อยละ 20-30 เนื้อปลาร้อยละ 15-20 แต่โปรตีนที่มีมากนี้เมื่อเทียบคุณภาพแล้วยังด้อยกว่าโปรตีนจากสัตว์ อย่างไรก็ตามอาจใช้ทดแทนโปรตีนจากสัตว์ได้
ในด้านไขมันแล้วจัดว่ามีปริมาณต่ำคือคิดเป็นร้อยละ 11 ในขณะที่ถั่วเหลืองมีร้อยละ 18 และถั่วลิสงมีร้อยละ 48 แต่มีข้อดีคือมีแอลฟาไลโนเลนิกสูง ซึ่งสารนี้มีผลทำให้ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดลดลง แต่ปริมาณที่สูงเกินไปนั้นอาจยับยั้งการเปลี่ยนกรดไลโนเลนิกไปเป็นกรดอะราชิโดนิก (arachidonic) ซึ่งเป็นกรดไขมันที่จำเป็นชนิดหนึ่งได้เหมือนกัน
ส่วนของวิตามินและเกลือแร่พบว่ามีค่อนข้างสูง ได้แก่ บี 12, เอ, เบต้าแคโรทีน หรือที่เรียกว่าสารตั้งต้นของวิตามินเอ และพบว่ามีกรดนิวคลิอิก(nucleic acid) ได้แก่ RNA DNA มากถึงร้อยละ 4

สาหร่ายอัดเม็ดมีคุณค่าดี แต่มีข้อจำกัด

จากคุณค่าทางโภชนาการที่กล่าวมานี้จะเห็นว่าเป็นแหล่งโปรตีน วิตามิน เกลือแร่ที่ดี แต่ไม่แนะนำให้บริโภคในปริมาณมากตามที่ผู้ขายพยายามยัดเยียดให้ซื้อ เพราะว่ามีกรดนิวคลิอิกสูงซึ่งหากกินในปริมาณมากทุกวันๆละ 10-15 เม็ด อาจทำให้เป็นโรคเกาต์ได้ ทั้งนี้เพราะกรดนิวคลิอิกสามารถเปลี่ยนเป็นกรดยูริกทำให้กรดยูริกในเลือดสูง ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเกาต์

มีสรรพคุณเป็นยาจริงหรือ

ผู้ขายหลายท่านพยายามโอ้อวดสรรพคุณว่าสาหร่ายเป็นยาวิเศษ สามารถรักษาโรคต่างๆ(ของคนรวย)ได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคอ้วน ที่เกิดจากความมีอันจะกินของเศรษฐี หรือปัญหาโคเลสเตอรอลสูง จนกระทั่งโรคร้าย เช่น มะเร็ง โดยที่ผู้ขายพยายามใช้คุณค่าทางโภชนาการของสาหร่ายมาเกี่ยวโยงหาความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคสาหร่ายกับการรักษาโรคต่างๆ เพื่อทำให้ขายได้ในปริมาณมาก
เช่น การโฆษณาสรรพคุณว่าการบริโภคสาหร่ายอัดเม็ดแทนอาหารมื้อหนึ่ง เนื่องจากปริมาณไขมันต่ำ และมีใยอาหาร(Fiber)ในสาหร่ายสูง หากผู้บริโภคทำใจที่จะยอมอดข้าว อดอาหารได้ ก็ย่อมจะลดความอ้วนได้แน่นอน เพราะความที่คิดว่าได้คุณค่าทางอาหารจากสาหร่ายเพียงพอแล้ว และก็คงมีผลต่อการทำให้ไขมันในเลือดต่ำด้วย ซึ่งก็คงต่ำลงเหมือนๆกับการบริโภคอาหารไขมันต่ำ หรือการบริโภคผักผลไม้ที่มีใยอาหารมากๆนั่นเอง
ส่วนสรรพคุณในการรักษาโรคมะเร็งนั้นเป็นการที่ผู้ขายเอาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เข้ามาสัมพันธ์กัน แล้วสรุปเอาเองว่าการที่สัตว์ทดลองได้รับสารตั้งต้นของวิตามินเอหรือเบต้าแคโรทีน จะช่วยทำให้อัตราการเป็นมะเร็งเนื่องจากสารก่อมะเร็งบางชนิดลดลง ซึ่งในสาหร่ายมีสารชนิดนี้สูงมากก็ควรที่จะให้ผลในคนเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม แหล่งธรรมชาติของสารเบต้าแคโรทีนนั้นจะมีอยู่ในแครอท มะละกอ ผักบุ้ง ผักตำลึง ในปริมาณมากเช่นกัน

การทดสอบฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ของสาหร่าย
สถาบันวิจัยโภชนาการ ได้สนใจศึกษาความเป็นพิษของสาหร่ายเซลล์เดียวที่เรียกว่าคลอเรลลา และสาหร่ายหลายเซลล์ที่เรียกว่าสาหร่ายเกลียวทอง โดยทดสอบฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ โดยวิธีที่เรียกว่าเอมส์เทสต์ ซึ่งเป็นวิธีที่ค่อนข้างเชื่อถือได้และมีความไวในการทดสอบต่อสารก่อมะเร็งค่อนข้างสูง คือร้อยละ ๙o ของสารก่อมะเร็ง ส่วนใหญ่จะให้ผลกับการทดสอบวิธีนี้ จากการทดสอบเราพบว่าไม่พบฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ในสาหร่ายที่นำมาศึกษา
 

อันตรายของการบริโภคสาหร่ายร่วมกับอาหารบางประเภท
เมื่อเราสนใจศึกษาต่อไปว่า แล้วการบริโภคสาหร่ายร่วมกับอาหารบางประเภทที่มีโอกาสเกิดสารก่อกลายพันธุ์ เช่น อาหารเนื้อหมักต่างๆที่มีไนไตรท์และไนเตรทเป็นองค์ประกอบ เช่น แหนม กุนเชียง ปลาร้า ปลาส้ม ปลาจ่อม ส้มเนื้อ ส้มหมู ไส้กรอก เบคอน เหล่านี้เป็นต้นนั้น จะเกิดสารก่อกลายพันธุ์ขึ้นได้หรือไม่ ก็ปรากฏผลว่ามีสารบางอย่างเกิดขึ้นจากการที่สาหร่ายทำปฏิกิริยากับไนไตรท์แล้วแสดงฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ ทั้งๆที่เราคาดว่าสารเบต้าแคโรทีนที่มีอยู่สูงในสาหร่ายจะช่วยยับยั้งการเกิดสารก่อกลายพันธุ์ก็กลับไม่เป็นไปตามที่คาดไว้
    
ข้อแนะนำในการบริโภคสาหร่ายให้ปลอดภัย
อย่างที่ทราบแล้วว่าสาหร่ายมีคุณค่าทางโภชนาการ หากบริโภคอย่างถูกวิธีและถูกต้อง มิได้เป็นยาวิเศษ หรือมีสรรพคุณทางยาใดๆ ดังนั้นการบริโภคเพื่อให้ได้คุณค่ามากที่สุดโดยปราศจากอันตราย หรือโรคภัยที่จะเกิดจากสาหร่าย ผู้บริโภคควรปฏิบัติดังนี้
1. หากจะกินสาหร่ายควรกินในปริมาณน้อยคือ2-3 เม็ดต่อมื้อเพื่อเสริมสร้างโปรตีน
2 หลีกเลี่ยงการกินสาหร่ายร่วมกับอาหารที่มีไนเตรท หรือไนไตรท์เป็นองค์ประกอบ เช่น อาหารเนื้อหมักที่มีการใส่สารกันบูดดังกล่าวมาแล้ว
3. ผู้ที่กินมังสวิรัติอาจบริโภคสาหร่ายเซลล์เดียว หรือหลายเซลล์ เพื่อเป็นแหล่งของวิตามินบี 12 เพื่อทดแทนวิตามินบี 12 ที่มีในเนื้อสัตว์
4. อย่าหวังว่าสาหร่ายเซลล์เดียวหรือสาหร่ายหลายเซลล์ซึ่งจัดเป็นสาหร่ายน้ำจืด จะเป็นแหล่งของไอโอดีน ถ้าต้องการไอโอดีนจะพบว่ามีมากในอาหารทะเล และสาหร่ายทะเล
5. อย่าหลงเชื่อว่าเป็นยาชะลอความชรา ทั้งนี้เพราะการกินอาหารที่มีกรดนิวคลิอิกสูงมีผู้เชื่อว่าจะช่วยทดแทนสมรรถภาพของร่างกายได้ แต่ปริมาณกรดนิวคลิอิกในสาหร่ายสูงมากจนอาจทำให้เกิดการสะสมของกรดยูริกจนทำให้เสี่ยงต่อโรคเกาต์ได้
6. การบริโภคสาหร่ายเพียงอย่างเดียวโดยไม่บริโภคอาหารอื่นๆ อาจทำให้ขาดสารอาหารสำคัญในร่างกาย ทั้งนี้เพราะสาหร่ายมีโปรตีนที่มีคุณภาพต่ำ มีกรดอะมิโนไม่ครบตามที่ร่างกายต้องการ และกรดไขมันมีสัดส่วนไม่ดีนัก

คุณค่าเมื่อเทียบกับราคา
จากตารางที่แสดงจะเห็นได้ว่าปริมาณที่ได้รับต่อวันคือ 3-6 กรัม นั้นมากเกินไป โดยทั่วไปแล้วปริมาณการบริโภคในคนทั่วไปไม่ควรจะมากเกิน 2-5 กรัม ผู้ขายบางคนอ้างว่าได้รับเครื่องหมาย อย. เพื่อให้คนซื้อมั่นใจว่าได้บริโภคของดีที่หน่วยงานราชการรับผิดชอบหรือพิจารณาแล้ว อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์สาหร่ายมีการขึ้นทะเบียนเป็นอาหาร มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ดังนั้นสรรพคุณในการรักษาโรคต่างๆนั้นยังไม่เป็นที่รับรอง

ท่านผู้อ่านก็ลองพิจารณาดูแล้วกันว่าคุณค่าทางอาหารที่ได้นั้นคุ้มค่ากับเงินที่ต้องจ่ายไปหรือไม่ หรือควรจะเก็บเงินไว้ซื้ออาหารที่ให้คุณค่าทางโภชนาการที่ดีเหมือนกัน(หรืออาจจะดีกว่า) เพื่อประหยัดเงินในกระเป๋าของคุณ นั่นก็คงเป็นวิจารณญาณของคุณ ผู้เขียนทำได้เพียงแค่บอกข้อมูลไว้ให้ท่านพิจารณาประกอบการตัดสินใจซื้อเท่านั้
 

ข้อมูลสื่อ

186-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 186
ตุลาคม 2537
เรื่องน่ารู้
ผศ.ชนิพรรณ บุตรยี่