ดื้อเงียบ
ครั้งนี้หมอจะขอยกเอาเหตุการณ์จริงที่เพิ่งประสบมากับตัวเอง มาสาธกให้พิจารณากัน เป็นเรื่องของเด็กชายคนหนึ่งอาจจะคล้ายกับเด็กที่ท่านเคยรู้จักหรือกำลังอยู่ในปกครองของท่าน อาจจะเป็นลูกเป็นหลานของท่าน หรือเป็นศิษย์น้อยๆ แม้เรื่องนี้จะไม่มีความน่าตื่นเต้นมากมายอะไร ทว่าก็นับเป็นเรื่องที่แฝงเร้นบางอย่างที่ไม่เล็กเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์เอาไว้ให้ชวนคิด เผื่อว่าเราทั้งหลายจะได้เป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อกันชดเชยสิ่งแวดล้อมหลายๆ ด้านที่กำลังพร่องไป
“น้องตูม” เด็กชายอายุ 6 ปี นักเรียนประจำของโรงเรียนที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในเมืองหลวงของเรานี้ ได้ถูกคุณพ่อพามาพบหมอในบ่ายวันหนึ่ง เพื่อมารับการอุดฟันน้ำนมเมื่อมาถึงห้องทำฟัน คุณแม่ก็จูงน้องตูมมาส่งหน้าห้อง ให้แกเดินเข้ามาเอง
จากการสังเกตแวบแรกที่แกปรากฏตัวเข้ามาในห้องของหมอ แกไม่ได้แสดงสีหน้าหวาดกลัวจนผิดปกติ เพียงแต่ไม่มีท่าทีที่ยินดียินร้าย แกเดินช้าๆ เข้ามาที่เก้าอี้ทำฟัน แล้วขึ้นไปนั่งตามปกติเช่นคนไข้ทั่วๆ ไป เมื่อหมอกล่าวทักทาย แกก็เงียบและไม่ยอมตอบคำถามใดๆ เลย นอกจากคำว่า “ไม่” อย่างห้วนๆ
เมื่อถูกถามว่า มีฟันซี่ไหนที่เจ็บและปวดอยู่บ้าง กิริยาของแกก็บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า ไม่ต้องการรับการรักษาใดๆ และยอมให้หมอตรวจฟันในช่องปากเพียงครู่เดียวเท่านั้น หมอตรวจพบฟันน้ำนมที่ผุปานกลาง 3 ซี่ด้านซ้ายล่าง กับอีก 2 ซี่ที่ด้านซ้ายบน และด้านขวาล่างซึ่งผุเล็กน้อย ความสะอาดในช่องปากพอใช้ หมอบอกให้แกรู้ถึงสิ่งที่ตรวจพบ และคาดว่าแกคงไม่ยอมให้อุดฟันโดยสะดวกอย่างแน่นอน หมอจึงลองถามแกว่าจะให้หมออุดฟันให้ 1 หรือ 2 ซี่ดี
คำตอบคือ เงียบเช่นเคย หมอจึงต้องเลือกให้ โดยบอกแกว่าจะทำการอุดฟันด้านซ้ายล่างให้ก่อนเนื่องจากมีการผุมากกว่า หมอตัดสินใจให้ยาชาแกก่อนที่จะลงมืออุดให้ เพื่อป้องกันอาการเสียวฟันขณะทำการกรอฟัน หมอสามารถฉีดยาชาให้แกได้ 1 เข็ม โดยบอกว่าหมอจะหยอดยามให้น้องตูม น้องตูมจะมีความรู้สึกคล้ายที่ติ่งหูอย่างนี้ ขณะพูดพลางหมอใช้เล็บมือกดเบาๆ ที่ติ่งหูด้านซ้ายของแกเพื่อแสดงการเปรียบเทียบ แล้วจึงลงมือแทงเข็ม
พอเริ่มเดินยาชา แกก็ร้องทันทีและทำท่าจะยกมือขึ้นมาปัดมือหมอแต่ยังช้ากว่ามือผู้ช่วยหมอที่ตั้งกันเอาไว้อยู่ก่อนแล้ว หลังจากให้ยาชาเสร็จแกก็ไม่ยอมอ้าปากอีกเลย มิหนำซ้ำยังยกมือปิดปากเอาไว้อย่างแน่นหนา คราวนี้ไม่ว่าจะหว่านล้อมหรือหลอกล่ออย่างไรก็ไม่ได้ผล หมอจึงเชิญคุณพ่อเข้ามา คุณพ่อน้องตูมตัวโตบึกบึน เสียงทุ้มใหญ่ดูน่าเกรงขามไม่น้อย เมื่อคุณพ่อเข้ามาแล้วพบว่าน้องตูมไม่ยอมรับการรักษาแต่โดยดี ก็พยายามพูดหว่านล้อมต่างๆ นานาแล้วตามด้วยการขู่ว่าจะตี แต่ดูเหมือนว่า ความน่าเกรงขามของคุณพ่อในมุมมองของหมอ คงจะต่างกับมุมของน้องตูม เพราะแกยังคงไม่เชื่อฟัง กระทั่งถูกคุณพ่อตีที่ขาไป 1 ที ก็ไม่อาจเปลี่ยนมุมมองของน้องตูมได้
หมอจึงตัดสินใจบอกคุณพ่อไปว่า แกคงไม่ยอมแน่ๆ แล้ว ให้พาแกกลับไปก่อนดีกว่า เพราะแกตัวโตเกินว่าจะบังคับได้ แต่คุณพ่อก็ยังยืนกรานจะให้หมอทำให้ได้ โดยอาสาจะจับลูกเองไม่ให้แกดิ้น หมอจึงต้องอธิบายย้ำอย่างหนักแน่นกับคุณพ่ออีกครั้งและแนะให้พาลูกมากับคนที่แกเกรงกลัว คุณพ่อจึงยอมยกธงขาวพาน้องตูมกลับบ้านไป
ราวๆ ครึ่งชั่วโมงต่อมา น้องตูมก็กลับมาหาหมออีกคราวนี้ทั้งคุณพ่อคุณแม่เป็นผู้พาน้องตูมมาด้วยกัน ต่างก็แต่ครั้งนี้คุณแม่ได้เดินโอบไหล่น้องตูมมาส่งถึงห้องทำฟัน ส่วนคุณพ่อเดินตามหลังมา แล้วขอตัวกลับก่อนที่น้องตูมกับคุณแม่จะเข้ามาในห้องหมอ เมื่ออยู่กับคุณแม่ น้องตูมดูสงบลงและเชื่อฟังดี มีความมั่นอกมั่นใจมากกว่าเมื่ออยู่กับคุณพ่อ ส่วนคุณแม่ดูสุภาพอ่อนโยนทั้งกิริยาและคำพูด รู้สึกเป็นคนมีเหตุผลและเยือกเย็น แม้ไม่ได้ใช้ท่าทีแข็งกร้าวอะไรลูกก็ไม่กล้าดื้อ ซึ่งหมอคิดว่าน้องตูมก็คงรู้สึกคล้ายๆ หมอ เมื่อจัดเตรียมทุกอย่างพร้อมหมอก็ลงมืออุดฟันให้น้องตูมได้ตามที่บอกไว้ โดยไม่ต้องหว่านล้อมด้วยวาจาอีกเลย
ในขณะที่คุณหมอทำงาน คุณแม่ก็ยืนอยู่ไม่ห่างจากเก้าอี้ทำฟันนัก โดยพูดให้กำลังใจลูกเป็นระยะๆ แต่ไม่เน้นคำว่า “ไม่เจ็บ” ซึ่งตรงข้ามกับคุณพ่อที่ย้ำคำนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า คุณแม่เพียงแต่พูดในสิ่งที่ลูกต้องทำในขณะนั้นด้วยน้ำเสียงรวบเรียบเหมือนปกติ ไม่ได้ให้ความสำคัญอะไรเป็นพิเศษ และไม่ได้พูดเชิงติดสินบนอะไรกับลูกด้วย
หมอใช้เวลาประมาณ 20 นาทีก็เสร็จ ก่อนจะกลับน้องตูมยังให้สัญญากับหมอว่าจะกลับมารับการอุดฟันอีก 2 ซี่ในคราวหน้า ในการทำฟันให้เด็กนั้น ปัญหาสำคัญไม่ได้อยู่ที่ความยากง่ายในการทำฟัน แต่มักจะเป็นเรื่องของการช่วยเด็กปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมในการยอมรับการทำฟันมากกว่า และผู้นำเด็กมาพบหมอนับว่ามีบทบาทความสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะสำหรับเด็กที่อายุเกิน 4 ขวบไปแล้ว อุทธาหรณ์จากเรื่องนี้คงพอจะนำให้แนวคิดแก่ท่านได้ว่า ท่านจะช่วยเหลือบุตรหลานของท่านในการปรับตัวต่อการทำฟันหรือแม้ต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เด็กไม่คุ้นเคยได้อย่างไร
- อ่าน 2,343 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้