• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มะกรูดบำรุงผม

มะกรูดบำรุงผม


คุณค่าของมะกรูดในการบำรุงเส้นผมนั้นอาจเป็นสิ่งที่หลายๆ ท่านรู้กันดีอยู่แล้ว เพราะแม้กระทั่งผู้ผลิตยาสระผมบางรายยังใช้เป็นประเด็นในการโฆษณาว่า แชมพูของตนผสมมะกรูด มะกรูดไม่เพียงแต่ทำให้ผมดำเป็นเงางามเท่านั้น แต่ยังช่วยกำจัดรังแคแก้คันศีรษะ แก้ผมแตกปลายป้องกันผมร่วง และทำให้ผมหงอกช้า  มะกรูดเป็นสมุนไพรธรรมชาติ จึงไม่ต้องกลัวแพ้เหมือนแชมพูที่ทำจากสารเคมี ที่สำคัญมะกรูดบำรุงผมได้ทุกชนิด คนผมแห้งหรือผมมันก็ใช้ได้
 

วิธีใช้มะกรูดสระผม

การนำมะกรูดมาสระผมนั้นมีหลายวิธีให้เลือก ดังนี้

1. เอามะกรูดสดๆ มาผ่าครึ่ง แคะเอาเม็ดออก บีบเอาน้ำมาใช้สระผม แต่วิธีนี้จะไม่ได้ใช้ประโยชน์จากน้ำมันที่ผิวมะกรูด

2. ปอกผิวมะกรูดออก นำมาตำให้ละเอียด แล้วบีบน้ำมะกรูดผสมลงไป เติมน้ำลงไปอีกพอให้ส่วนผสมเริ่มเหลว คนให้เข้ากันดี ทิ้งไว้ 5-10 นาที แล้วกรองคั้นเอาแต่น้ำไปใช้ วิธีนี้เวลาสระจะได้กลิ่นเหม็นเขียวจากผิวมะกรูด แต่สระเสร็จแล้วจะหอมได้ผลดีที่สุด

3. เอาลูกมะกรูดมาหั่นเป็นชิ้นและนำมาเข้าเครื่องปั่นจนละเอียดที่สุด เอาออกมาใส่ชามเติมน้ำอุ่นลงไปจนท่วม คนให้ทั่ว ตั้งทิ้งไว้ 10-20 นาที คั้นเอาแต่น้ำใส่ขวดแช่ตู้เย็นไว้ น้ำมะกรูดจะอยู่ได้ 1-2 สัปดาห์ สำหรับมะกรูดนั้นจะใช้มะกรูดสดหรือเผาไฟก่อนก็ได้

เมื่อได้น้ำมะกรูดแล้วก่อนสระผมควรราดผมให้เปียกชุ่มเสียก่อน เนื่องจากน้ำมะกรูดมีฤทธิ์เป็นกรดแก่ กัดหนังศีรษะได้ น้ำมะกรูดเมื่อเจือจางลง ฤทธิ์อ่อนลงไปด้วย ขณะที่สระผมควรนวดศีรษะไปด้วย ทิ้งไว้สองสามนาที ล้างออกและสระซ้ำอีกครั้ง แล้วล้างออกให้สะอาด อย่าให้มีเศษมะกรูดหลงเหลืออยู่ เพราะจะทำให้ผมเสีย ที่สำคัญระวังอย่าให้น้ำมะกรูดเข้าตาหรือถูกปาก เพราะจะรู้สึกแสบตาและชาปาก เวลาใช้ตอนแรกอาจจะรู้สึกแสบที่หนังศีรษะบางแห่ง แสดงว่าตรงนั้นมีแผลอยู่ ไม่เป็นอันตรายอะไรใช้ไปเรื่อยๆ จะหายเอง แต่ถ้ารู้สึกแสบทั้งหนังศีรษะแสดงว่าน้ำมะกรูดข้นไป ต้องผสมน้ำให้เจือจางอีก หลายๆ คนอาจจะเคยอยากใช้มะกรูดสระผม แต่ขี้เกียจยุ่งยาก

ดิฉันอยากให้ลองทำดูนะคะ มะกรูดเราก็มีขายอยู่ทั่วไป ขั้นตอนการทำก็เพลิดเพลินดี ที่สำคัญผลที่ได้นั้นทำให้ผมสวยจริงๆ ค่ะ สระผมครั้งต่อไป ใช้มะกรูดกันเถอะค่ะ
 

ขอขอบคุณ โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง ที่เอื้อเฟื้อข้อมูล

ข้อมูลสื่อ

170-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 170
มิถุนายน 2536
ทานตะวัน