• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

นิ่วในถุงน้ำดี

นิ่วในถุงน้ำดี
 

                       

ข้อน่ารู้
1. นิ่ว เป็นก้อนแข็งคล้ายเม็ดกรวดทราย เกิดจากการตกผลึกของสารเคมีภายในร่างกาย โรคนิ่วที่พบภายในช่องท้องของคนเรา (ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวดท้อง) ที่สำคัญมีอยู่ 2 อย่าง ได้แก่ โรคนิ่วในทางเดินน้ำดี (ถุงน้ำดี ท่อน้ำดี) และโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ (ไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ)
2. นิ่วในถุงน้ำดี (gallstone) เกิดจากการตกผลึกของสารโคเลสเตอรอล (ไขมัน) ปกติน้ำดีซึ่งเป็นน้ำย่อยที่ย่อยอาหารกลุ่มไขมันจะมีสารโคเลสเตอรอลละลายอยู่ในปริมาณที่พอเหมาะจำนวนหนึ่ง
คนที่จะเป็นนิ่วมักจะมีการหลั่งโคเลสเตอรอลออกมาในน้ำดีมากเกินปกติ ประกอบกับเยื่อบุผิวภายในถุงน้ำดีมีความผิดปกติอันเกิดจากการติดเชื้อเรื้อรัง (แบบไม่รู้ตัวคือไม่มีอาการผิดปกติให้เห็น) ทำให้มีการดูดซึมน้ำและกรดน้ำดีออกไปจากน้ำดี ทำให้สัดส่วนของสารต่างๆในน้ำดีเสียดุลไป เป็นเหตุให้มีการตกผลึกของโคเลสเตอรอลขึ้น โดยมีสารแคลเซียม (หินปูน) จับตัวร่วมด้วยในสัดส่วนต่างๆ กลายเป็นก้อนนิ่วในถุงน้ำดี ซึ่งอาจเป็นก้อนนิ่วเดี่ยว หรือเป็นก้อนเล็กๆหลายก้อนก็ได้
                        
3. โรคนี้มักพบในคนอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป (มักไม่พบในคนอายุต่ำกว่า 20 ปี) คนที่มีระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูง คนที่เป็นเบาหวาน หรือหญิงที่มีบุตรหลายคน มีโอกาสเป็นนิ่วในถุงน้ำดีมากกว่าคนทั่วไป
4. คนบางคนอาจเป็นนิ่วในถุงน้ำดีโดยไม่มีอาการ (ไม่รู้ตัว) มักจะพบขณะตรวจเช็กสุขภาพ หรือไปหาแพทย์ด้วยโรคอื่น เช่น ตรวจเอกซเรย์ หรืออัลตราซาวนด์พบเข้าโดยบังเอิญ คนกลุ่มนี้แพทย์อาจแนะนำว่าไม่ต้องทำอะไร จนกว่าจะเริ่มมีอาการ (เช่น ปวดท้อง) ปรากฏให้เห็น จึงค่อยผ่าตัดรักษา
5. คนที่มีนิ่วขนาดที่ทำให้เกิดการอุดตันของทางเดินน้ำดี มักจะมีอาการปวดท้องเป็นๆหายๆ เป็นครั้งคราว แพทย์มักจะทำการรักษาด้วยการผ่าตัดเอาก้อนนิ่วออกไป การปล่อยทิ้งไว้อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เกิดการอักเสบของถุงน้ำดี (มีไข้สูง ปวดท้อง และดีซ่าน) ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้

                                    
รู้ได้อย่างไรว่าไม่ได้เป็นอื่น
คนที่เป็นนิ่วในถุงน้ำดี หากมีการเคลื่อนตัวของก้อนนิ่วไปอุดตันของทางเดินน้ำดี จะมีอาการปวดท้องตรงบริเวณใต้ชายโครงขวาหรือลิ้นปี่ ลักษณะปวดบิดเกร็งเป็นพักๆ (แบบท้องเดิน) อาจมีอาการปวดร้าวไปที่ไหล่ขวาหรือบริเวณหลังตรงใต้สะบักขวา มักปวดนานเป็นชั่วโมง อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย
อาการปวดท้องมักเกิดขึ้นหลังกินอาหารมันๆ หรือหลังกินอาหารมื้อหนัก
อาการปวดท้องอาจทุเลาไปได้เอง แต่ก็อาจกำเริบเป็นครั้งคาว โดยเฉพาะหลังมื้ออาหาร
เวลาปวดท้อง ใช้มือกดดูบริเวณที่ปวดจะไม่เจ็บ

อาการปวดท้องบริเวณดังกล่าว อาจมีสาเหตุจากโรคอื่น เช่น
1. โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน
จะมีอาการปวดจุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ ถ้าเป็นถึงขั้นมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย คนไข้จะมีอาการปวดรุนแรงและปวดนาน (ไม่ทุเลา) ร่วมกับอาการเป็นลม หน้ามืด ตัวเย็น
ถ้าเป็นเพียงในขั้นหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ จะมีอาการเพียงไม่กี่นาที เมื่อนั่งพักหรือนอนพักก็จะทุเลาไปได้เอง คนไข้อาจมีอาการปวดร้าวขึ้นไปที่ขากรรไกร คอ ไหล่ และต้นแขนข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง มักมีอาการขณะที่มีความเครียด หรือออกแรงมาก พบมากในคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป
2. ถุงน้ำดีอักเสบ ในรายที่เป็นเฉียบพลันจะมีไข้สูง ปวดและกดเจ็บบริเวณใต้ชายโครงขวาอย่างมาก บางครั้งอาจมีอาการดีซ่านร่วมด้วย อาการจะไม่ทุเลาจนกว่าจะได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง จัดเป็นโรคฉุกเฉินที่ต้องพบแพทย์ทันที
ส่วนในรายที่เป็นเรื้อรังจะมีอาการแบบท้องอืดเฟ้อเป็นประจำ หากสงสัยควรปรึกษาแพทย์
3. ฝีในตับ จะมีไข้สูง ปวด และกดเจ็บบริเวณใต้ชายโครงขวาอย่างมาก อาจมีอาการดีซ่านร่วมด้วย คนไข้อาจมีประวัติถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือดมาก่อน จัดเป็นโรคฉุกเฉินที่ต้องพบแพทย์ทันที
4. กระเพาะอาหารทะลุ จะมีอาการปวดแน่นตรงใต้ลิ้นปี่นานเกิน 2-3 ชั่วโมงขึ้นไป กดดูบริเวณหน้าท้องจะรู้สึกแข็งเป็นดานและเจ็บ อาจมีอาการหน้ามืดวิงเวียนร่วมด้วย หากสงสัยควรพบแพทย์ทันที
5. ไส้ติ่งอักเสบระยะแรก เริ่มแรกอาจมีอาการปวดบิดเป็นพักๆตรงบริเวณรอบๆสะดือ ต่อมาจะมีไข้ต่ำ คลื่นไส้ อาเจียน และอาการปวดท้องจะย้ายไปที่บริเวณท้องน้อยข้างขวา ซึ่งกดถูกจะเจ็บมาก อาการปวดท้องมักเป็นติดต่อกันนานเกิน 2-3 ชั่วโมงขึ้นไป                                        
6. นิ่วในท่อไตข้างขวา จะมีอาการปวดบิดเกร็งเป็นพักๆตรงซีกขวาของท้อง และมักมีอาการปวดร้าวไปที่หลังและช่องคลอด (หรืออัณฑะ) ข้างขวา หากสงสัยควรปรึกษาแพทย์
7. ตับอักเสบจากไวรัส จะมีอาการอ่อนเพลีย จุกแน่น คลื่นไส้ อาเจียน และดีซ่าน
8. โรคกระเพาะ จะมีอาการจุกแน่นหรือปวดแสบบริเวณใต้ลิ้นปี่ มักเป็นเวลาก่อนหรือหลังมื้ออาหาร ปวดครั้งละไม่เกิน 30 นาที หรือสามารถทุเลาปวดหลังกินนมหรือยาลดกรด (ถ้ากินยาลดกรดแล้วไม่ทุเลาปวดมักจะไม่ใช่โรคกระเพาะ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุ)

เมื่อไรควรไปพบแพทย์
ควรไปพบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการปวดรุนแรง ปวดนานเป็นชั่วโมงขึ้นไป กดหรือแตะถูกเจ็บ ท้องแข็งเป็นดาน หรือหน้ามืดเป็นลม
และควรไปพบแพทย์เมื่อ
1. กินยาลดกรดแล้วไม่ทุเลา
2. มีไข้สูงหรือดีซ่านร่วมด้วย
3. เป็นๆหายๆบ่อย
4. มีความวิตกกังวล

แพทย์จะทำอะไรให้
นอกจากซักถามอาการและตรวจร่างกายอย่างถี่ถ้วนแล้ว แพทย์อาจส่งตรวจอัลตราซาวนด์ เพื่อดูว่ามีก้อนนิ่วหรือไม่
นอกจากนี้อาจเอกซเรย์ ตรวจเลือด ปัสสาวะ อุจจาระ หรือตรวจพิเศษอื่นๆตามสาเหตุที่สงสัย
ถ้าหากพบว่าเป็นนิ่วในถุงน้ำดีมักจะต้องลงเอยด้วยการผ่าตัด ซึ่งในปัจจุบันมีพัฒนาการในเทคนิคการผ่าตัดก้าวหน้าขึ้นมาก
ส่วนยาละลายนิ่วในถุงน้ำดีนั้นถึงแม้จะมีให้เลือกใช้ แต่มักจะได้ผลไม่สู้ดีนักและใช้ได้กับคนไข้บางรายเท่านั้น นอกจากนี้ยังต้องกินยานานเป็นปีๆ ราคายาค่อนข้างแพง และมีผลข้างเคียง (ท้องเดิน) จึงไม่เป็นที่นิยม
ส่วนการใช้เครื่องสลายนิ่วในถุงน้ำดี ยังอยู่ในขั้นทดลองเท่านั้น ไม่เหมือนนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ซึ่งใช้เครื่องสลายนิ่วได้ผลดีจนใช้แทนการผ่าตัดได้แล้ว


โดยสรุป คนที่มีอาการปวดบิดเกร็งเป็นพักๆ ตรงบริเวณใต้ชายโครงขวาหรือลิ้นปี่ หลังกินข้าวใหม่ๆอาจมีสาเหตุจากนิ่วในถุงน้ำดีมากกว่าโรคกระเพาะ วิธีแยกง่ายๆก็คือลองกินยาลดกรดดู ถ้าทุเลาก็น่าจะเป็นโรคกระเพาะ ถ้าไม่ทุเลาหรือกลับกำเริบใหม่ ก็ควรปรึกษาแพทย์ หากเป็นนิ่วในถุงน้ำดีจริงมักจะต้องลงเอยด้วยการผ่าตัด ก็จะหายขาดได้

การดูแลรักษาตนเอง
เมื่อมีอาการปวดตรงบริเวณลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวา ให้สังเกตลักษณะอาการว่าเข้ากับโรคกระเพาะหรือไม่
ถ้าคิดว่าเป็นโรคกระเพาะให้กินยาลดกรด 1-2 ช้อนโต๊ะ ถ้าทุเลาก็ให้รักษาแบบโรคกระเพาะ
แต่ถ้าไม่ทุเลาหรือมีอาการอื่นๆที่คิดว่าอาจเกิดจากสาเหตุอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีลักษณะการปวดแบบบิดเกร็งเป็นพักๆ และปวดนานกว่าปกติ ก็ควรจะปรึกษาแพทย์
ในรายที่แพทย์ตรวจพบว่าเป็นนิ่วในถุงน้ำดี แพทย์จะนัดไปผ่าตัด ระหว่างรอเข้าโรงพยาบาลเพื่อผ่าตัด (อาจกินเวลาเป็นแรมเดือน) ก็ควรลดการกินอาหารมัน และเมื่อมีอาการปวดท้องก็ควรกินยาบรรเทา (แพทย์อาจจ่ายยากลุ่มแอนตี้สปาสโมดิก เช่น ไฮออสซีน กินบรรเทา)
 

ข้อมูลสื่อ

181-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 181
พฤษภาคม 2537
แนะยา-แจงโรค
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ